‘OR’ เปิดแผนลงทุน 5 ปี วางงบ 7.46 หมื่นล้านบาท หนุนค้าปลีก-ต่างประเทศ หวังเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น ส่วนธุรกิจน้ำมันมองเป็น Cash Cow ช่วยสร้างกระแสเงินสดต่อเนื่อง
พิจินต์ อภิวันทนาพร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารการเงิน บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR กล่าวว่า แผนการลงทุนระยะ 5 ปีของบริษัท วางงบลงทุนไว้ 74,600 ล้านบาท เพื่อลงทุนและพัฒนาทุกแขนงธุรกิจของบริษัท แบ่งเป็น
- 34.6% สำหรับลงทุนในธุรกิจน้ำมัน โดยเน้นการขยายสถานีบริการน้ำมันเพิ่มเป็น 2,500 สาขาภายในปี 2568 ทั้งนี้ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาด
- 28.6% สำหรับลงทุนในธุรกิจค้าปลีก อาทิ การเพิ่มสาขาของร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอนนอกพื้นที่สถานีบริการน้ำมัน การลงทุนในโรงงานเบเกอรีและศูนย์กระจายสินค้า
- 21.8% สำหรับการขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยใช้โมเดลธุรกิจที่ประสบควมสำเร็จในประเทศไปปักหมุดในต่างประเทศ
- 15% สำหรับการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่อยู่กรอบของ Mobility Ecosystem และ Lifestyle Ecosystem เพื่อเชื่อมโยงกับธุรกิจและเศรษฐกิจแบบ New Normal
พิจินต์ กล่าวว่า จากผลประกอบการที่ผ่านมา ธุรกิจที่จะเป็น Growth Engine ของบริษัทคือธุรกิจค้าปลีก ซึ่งมี EBITDA สูงกว่าธุรกิจน้ำมัน เช่นเดียวกับธุรกิจในต่างประเทศ เนื่องจากบริษัทยกโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแล้วไปตั้งในต่างประเทศเลย ขณะที่ธุรกิจน้ำมันจัดเป็น Cash Cow (กลุ่มของธุรกิจที่ทำรายได้ให้บริษัทมากที่สุด) ของบริษัท เนื่องจากมีสาขาจำนวนมาก และตั้งอยู่ในพิกัดที่ดี ทำให้มีทราฟฟิกค่อนข้างสูง เช่นเดียวกับยอดจับจ่ายใช้สอย
ฉะนั้น ในการวางแผนลงทุนระยะกลางถึงยาว บริษัทจึงมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจต่างประเทศ เพื่อค่อยๆ ผลักดันความสามารถในการทำกำไรของบริษัทให้เพิ่มสูงขึ้น สอดรับกับพื้นฐานธุรกิจของบริษัทอย่างแท้จริง
สำหรับการระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้นไอพีโอครั้งนี้ ราว 4.17-4.69 หมื่นล้านบาทบริษัทจะใช้สำหรับขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน การขยายธุรกิจสำหรับตลาดพาณิชย์ การลงทุนในคลังเก็บผลิตภัณฑ์และศูนย์กระจายสินค้า การขยายเครือข่ายร้านค้าปลีก การลงทุนในธุรกิจต่างประเทศ รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
ราชสุดา รังสิยากูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์องค์กร นวัตกรรมและความยั่งยืน กล่าวว่า OR ได้วาง 6 กลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและขยายธุรกิจ ประกอบด้วย
- รักษาความเป็นผู้นำทั้งตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ในประเทศไทย
- มุ่งส่งเสริมการเติบโตของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ (Non-Oil) สร้างฐานรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไร
- ต่อยอดความสำเร็จ ความชำนาญ เพื่อการขยายตัวสู่ระดับภูมิภาค และระดับโลก
- เสริมสร้างศักยภาพ ขยายโอกาสการเติบโตด้วยเทคโนโลยี และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Big Data Analytics)
- ลงทุนครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน บริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี
- มุ่งสร้างคุณค่าและการมีส่วนร่วมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ทั้งประเทศชาติ สังคมชุมชน ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า และพนักงานอย่างสมดุล
จิราพร ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ OR กล่าวว่า จุดแข็งและปัจจัยสนับสนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่อง OR ในฐานะบริษัทแฟลกชิปของกลุ่ม ปตท. ด้านการดำเนินธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีก มีสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ด้วยส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 38.9% และเป็นสถานีบริการน้ำมันแห่งแรกที่พัฒนาธุรกิจค้าปลีกขึ้นในสถานีบริการ ซึ่งรวมถึงร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่น-อีเลฟเว่น ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อต่อสัญญากับ CPALL
นอกจากนี้ ยังมีศักยภาพในการเติบโตสูงในต่างประเทศ ปัจจุบันมีฐานการตลาดที่มั่นคงในประเทศกัมพูชา ฟิลิปปินส์ และ สปป.ลาว อีกทั้งยังมีความสามารถในการขยายธุรกิจสู่ประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ OR เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 2,610 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 22.5% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่ออก และจำหน่ายได้แล้วของบริษัทภายหลังที่มีการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ โดยกำหนดช่วงราคาเสนอขาย 16.00-18.00 บาทต่อหุ้น
สำหรับผู้จองซื้อรายย่อย สามารถจองซื้อได้ที่ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย และกรุงไทย ที่สำนักงานใหญ่และทุกสาขาทั่วประเทศ และผ่านช่องทางออนไลน์ ในวันที่ 24 มกราคม 2564 เวลา 12.00 น. ของวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 โดยจะจัดสรรหุ้นไอพีโอแบบ Small Lot First เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับการกระจายหุ้นอย่างทั่วถึง
สำหรับผู้ถือหุ้น ปตท. เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับจัดสรรหุ้น สามารถจองซื้อได้ที่บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 25-28 มกราคม 2564
โดยคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้ชื่อย่อหลักทรัพย์ ‘OR’ ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้
ผลประกอบการของบริษัท เป็นดังนี้
รายได้จากการขายและการให้บริการงวดปี 2560
9 เดือนปี 2563 จำนวน 543,275.7 ล้านบาท 592,072.8 ล้านบาท 577,134.0 ล้านบาท และ 319,308.4 ล้านบาท
กำไรสุทธิงวดปี 2560
9 เดือนปี 2563 จำนวน 9,768.7 ล้านบาท 7,851.3 ล้านบาท 10,895.8 ล้านบาท และ 5,868.5 ล้านบาท
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์