×

หุ้น OR ปลุกกระแส IPO กลับสู่ยุคทอง เอกชนหลายแห่งจ่อระดมทุน วงการไอบีชวนคัดบริษัทคุณภาพเข้าจดทะเบียน

19.02.2021
  • LOADING...
หุ้น OR ปลุกกระแส IPO กลับสู่ยุคทอง เอกชนหลายแห่งจ่อระดมทุน วงการไอบีชวนคัดบริษัทคุณภาพเข้าจดทะเบียน

HIGHLIGHTS

  • หุ้น ‘OR’ สร้างปรากฏการณ์ดึงนักลงทุนหน้าใหม่มากกว่าแสนราย เข้าสู่โหมดนักลงทุนเต็มตัว
  • ตลาดหลักทรัพย์เผย ปัจจุบันมีบริษัทจ่อคิวเข้าตลาด 15-30 บริษัท และอีก 100 กว่าผู้ประกอบการแสดงความสนใจอย่างต่อเนื่อง 
  • วงการที่ปรึกษาทางการเงินระบุหุ้น IPO จะได้รับความน่าสนใจได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานแผนธุรกิจ 

การเสนอขายหุ้น IPO ของ OR ทำให้มีนักลงทุนหน้าใหม่จำนวนมากสนใจการลงทุนในตลาดทุน ทั้งนี้หุ้น IPO เป็นเพียงหนึ่งในสินทรัพย์ด้านการลงทุนในตลาดทุนเท่านั้น ผลิตภัณฑ์ทางการเงินในตลาดหลักทรัพย์ยังมีอีกหลายประเภท ซึ่งจะเหมาะกับนักลงทุนที่แตกต่างกันออกไป โดยการลงทุนในหุ้นจัดเป็นการลงทุนที่สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายและเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย 

 

แมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากกรณีของหุ้น IPO ‘OR’ นี้ เชื่อว่าจะทำให้มีจำนวนผู้เปิดบัญชีหลักทรัพย์ใหม่ค่อนข้างมาก เพราะจากข้อมูลการจองซื้อหุ้น IPO ของ OR  พบว่ามีผู้จองซื้อที่ขอรับเป็นใบหุ้นจำนวนมาก ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเชื่อว่ากลุ่มนี้จะผันตัวมาเป็นนักลงทุนในที่สุด 

 

ภาคเอกชนจ่อคิวเข้าตลาด 15-30 บริษัทตามปกติ

อย่างไรก็ตาม กระแสการตอบรับนี้สะท้อนถึงความสนใจจากฝั่งนักลงทุนเท่านั้น ในมิติของความสนใจเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ของฝั่งผู้ออกหลักทรัพย์ (ผู้เสนอขายหุ้น IPO) ก็ยังคงเหมือนเดิม โดยปัจจุบันมีบริษัทที่ต้องการระดมทุนโดยการเสนอขายหุ้น IPO ราว 15-30 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการรอการอนุมัติไฟลิ่งจากสำนักงาน ก.ล.ต. และยังมีบริษัทที่สนใจระดมทุนโดยขายหุ้น IPO อีกมากกว่า 100 บริษัท

 

“กรณีของ OR ทำให้ผู้ประกอบการมองเห็นโอกาสในการระดมทุนไปขยายกิจการ และ OR เป็น Best Practice ที่ดี เช่นเดียวกับหุ้น IPO บริษัทอื่นที่เสนอขายหุ้นและได้รับการตอบรับอย่างดีเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ในการเข้าระดมทุนด้วยการขายหุ้น IPO นั้นก็มีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้องด้วย” แมนพงศ์ กล่าว

 

โดย 3 ปัจจัยหลักของการนำบริษัทเข้าระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ ประกอบด้วย

 

  • ความพร้อมของการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเป็นบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องการดูแลการเปิดเผยข้อมูล (Information Disclosure) ของผู้ออกหลักทรัพย์ให้ถูกต้องตามมาตรฐานกำหนด
  • ความต้องการใช้เงินระดมทุน ซึ่งเป็นบทบาทที่ผู้ประกอบการต้องพิจารณาว่า ต้องการระดมทุนเพื่อใช้เงินไปทำอะไร 
  • ความน่าสนใจของตลาดหุ้น และความคาดหวังของนักลงทุน 

 

 

ไทยพาณิชย์เตรียมดันอีก 2-3 ดีลเข้าเทรดปีนี้ 

วีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวาณิชธนกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ปรากฏการณ์หุ้น IPO ที่ได้รับการตอบรับอย่างร้อนแรงนั้น มีกระแสของหุ้น OR ช่วยสร้างความสนใจในการลงทุนหุ้น IPO ด้วย 

 

อย่างไรก็ตาม แต่ละหุ้นจะมีความแตกต่างในลักษณะของธุรกิจ หุ้นที่จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมากและสร้างผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจ คือหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดีและมีแผนธุรกิจที่สอดรับยุค New Normal 

 

โดยในส่วนของฝ่ายงานวาณิชธนกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์นั้น จะเลือกดีล IPO ที่เป็นธุรกิจที่มีแผนธุรกิจชัด มองเห็นทิศทางการเติบโตได้ และมีวิธีบริหารจัดการธุรกิจที่ดี ปรับตัวเมื่อต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยภายในปีนี้น่าจะมีดีล IPO อีกราว 2-3 บริษัท

 

ฟินันเซียชวนเน้น ‘คุณภาพ’ หุ้น

ขณะที่ สมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า ปรากฏการณ์ OR ช่วยเพิ่มจำนวนนักลงทุนได้จริง อย่างไรก็ตาม ในการเตรียมตัวเข้าตลาดมักจะใช้เวลาในการปรับโครงสร้างองค์กรและการจัดการต่างๆ ให้ได้มาตรฐาน ซึ่งใช้เวลาราว 1-2 ปี ฉะนั้นฝั่งผู้ออกหลักทรัพย์ หรือผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าระดมทุนคงไม่ได้รับอานิสงส์จากปรากฏการณ์ OR นัก 

 

อย่างไรก็ตาม หากประเมินตลาด IPO โดยรวมแล้ว จะเห็นว่ากระแสเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะดีตามบรรยากาศการลงทุนโดยรวม อีกส่วนมาจากปัจจัยพื้นฐานของแต่ละบริษัทเอง 

 

“ในการปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงของราคาหุ้น IPO รวมถึงหุ้นอื่นๆ ด้วย ถูกขับเคลื่อนด้วยความคาดหวังนักลงทุน ซึ่งก็มีมุมมองต่อหุ้นนั้นๆ แตกต่างกันออกไป โดยในสภาวะที่ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ เม็ดเงินก็จะมีเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น เพื่อหาผลตอบแทนที่ดีกว่า หุ้น IPO ก็มักได้รับความสนใจในสภาวการณ์แบบนี้ด้วย แต่ในทางกลับกันเมื่อสภาวะตลาดนิ่ง ไร้ปัจจัยบวกหรือปรับตัวลดลงรุนแรง หุ้น IPO ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ฉะนั้นนักลงทุนจึงควรศึกษาหุ้น IPO แต่ละบริษัทให้ดีก่อนวางแผนลงทุน” 

 

‘เมย์แบงก์ กิมเอ็ง’ ชี้การกำหนดราคาเสนอขายสำคัญ 

มนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กระแสการลงทุนในหุ้น IPO ดีขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ไม่ว่าเป็น OR หรือ KEX ที่เสนอขายหุ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว 

 

สิ่งที่ควรเรียนรู้คือวิธีการกระจายหุ้น การกำหนดราคาเสนอขาย และคุณภาพของกิจการ ซึ่งหุ้น IPO ที่ประสบความสำเร็จส่วนมากล้วนมีวิธีการจัดสรรหุ้นที่เหมาะสมกับขนาดของบริษัท และการกำหนดราคาเสนอขายที่เหมาะสมกับกิจการและนักลงทุน 

 

“ความสำเร็จของหุ้น IPO คือต้องเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัท เจ้าของกิจการเดิม รวมถึงนักลงทุนที่เข้าลงทุนในหุ้น IPO ด้วย ทุกฝ่ายต้องได้รับความคุ้มค่า” 

 

สำหรับวิธีการกระจายหุ้นนั้น มองว่าวิธีการในปัจจุบันที่มีการจัดสรรผ่านโบรเกอร์ผู้จัดจำหน่ายและผู้รับประกันการจัดจำหน่ายเป็นวิธีที่เหมาะสม และเหมาะกับนักลงทุนผู้มีความสนใจลงทุนในหุ้น IPO แล้ว 

 

ส่วนกรณีของหุ้น OR นั้นถือเป็นกรณีพิเศษ ​เพราะ 1. เป็นกิจการที่รัฐเคยเป็นเจ้าของมาก่อน จึงเป็นที่รู้จักในคนหมู่มากและได้รับความสนใจมากเช่นกัน 2. บริษัทเองมีนโยบายกระจายหุ้นสู่ประชาชนมากที่สุด 3. ขนาดของการเสนอขายหุ้นค่อนข้างใหญ่ บริษัทมีหุ้นในการจัดสรรสู่ประชาชาชนจำนวนมาก วิธีการอย่างที่ OR ทำจึงเหมาะ แต่หากจะให้บริษัทผู้เข้าระดมทุนอื่นๆ ใช้วิธีจัดสรรหุ้นแบบเดียวกับ OR เกรงว่าจะไม่เหมาะ และเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ 

 

วรชาติ ทวยเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด อีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญงานที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า หลังจากที่ซบเซามาระยะหนึ่ง ตลาด IPO เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งในช่วงปลายปีที่แล้ว และต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ โดยมีหุ้น OR เข้ามาจุดกระแส สะท้อนว่านักลงทุนเริ่มหันมาสนใจลงทุนในหุ้น IPO เพิ่มขึ้นแล้ว 

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยพื้นฐาน แผนธุรกิจของบริษัทผู้เข้าระดมทุน และการตั้งราคาเสนอขายยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดว่าหุ้น IPO นั้นๆ จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากเพียงใด 

 

โดยปีนี้ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ฟินเน็กซ์จะยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ราว 3 บริษัท ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจในหมวดอาหารและยา ผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูป และโลจิสติกส์ โดยน่าจะมี 2 บริษัทที่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ mai ได้ในปีนี้ 

 

สำหรับภาพรวมหุ้น IPO ปี 2564 (YTD) มี 4 บริษัทที่เสนอขายหุ้น IPO ที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ mai และได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนอย่างมาก โดยเฉพาะหุ้นที่เข้าซื้อขายหลังจากหุ้น OR 

 

โดยหุ้น บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR เสนอขายหุ้น IPO ที่ราคา 18 บาท ราคาปิดการซื้อขายวันแรก (11 กุมภาพันธ์) เพิ่มขึ้นจากราคา IPO 62.5% และราคาปิดล่าสุด (19 กุมภาพันธ์) ปิดที่ 31.5 บาท เพิ่มขึ้นจากราคา IPO 75% 

 

บมจ. ที คิว อาร์ หรือ TQR เสนอขายหุ้น IPO 5.10 บาท ราคาปิดการซื้อขายวันแรก (17 กุมภาพันธ์) เพิ่มขึ้นจากราคา IPO 200% และราคาปิดล่าสุด (19 กุมภาพันธ์) ปิดที่ 19.8 บาท เพิ่มขึ้นจากราคา IPO 288.24% 

 

บมจ. โรจูคิส อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ KISS เสนอขายหุ้น IPO 9 บาท เข้าซื้อขายวันแรกวันที่ 19 กุมภาพันธ์ โดยราคาปิดการซื้อขายที่ 14 บาท เพิ่มขึ้น 55.56% จากราคา IPO  

 

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X