ความเคลื่อนไหวหุ้น บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR ในการซื้อขายช่วงเช้า ปิดการซื้อขายที่ 26.75 บาท เพิ่มขึ้น 8.75 บาท จากราคา IPO ที่ 18 บาท หรือเพิ่มขึ้น 48.61% ระหว่างการซื้อขายช่วงเช้า ราคาทำระดับสูงสุดที่ 28 บาท มูลค่าการซื้อขายหนาแน่นเป็นอันดับหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์ที่ 31,692.84 ล้านบาท
ขณะที่ความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยช่วงเช้า ปิดการซื้อขายที่ 1,506.28 จุด -10.66 จุด หรือ -0.70% โดยแรงขายยังกระจุกในหุ้นขนาดใหญ่กลุ่มพลังงานและแบงก์
จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ OR กล่าวว่าในการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ มีผู้จองซื้อที่เป็นบุคคลธรรมดาประมาณ 4.8 แสนราย และในจำนวนนี้เป็นผู้ที่จองซื้อหุ้นโดยที่ยังไม่มีบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (พอร์ตหุ้น) ราว 30% ซึ่งสะท้อนถึงการได้รับความสนใจอย่างสูงจากประชาชนทั่วไป และเป็นไปตามเจตนาบริษัทที่ต้องการกระจายหุ้นสู่ประชาชนให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ ในจำนวนหุ้น IPO ที่จัดสรรทั้งสิ้นราว 3,000 ล้านหุ้น (รวมหุ้นส่วนเกิน) จะมีนักลงทุนทั่วไปและสถาบันในประเทศในสัดส่วน 85% และนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ 15%
“สภาพคล่องหุ้นน่าจะอยู่ราว 30% จึงไม่กังวลเรื่องหุ้นขาดสภาพคล่องหมุนเวียน และเชื่อว่าหุ้น OR จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะมีโอกาสเข้าคำนวณในดัชนี SET50 และ SET100 ราววันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ และมีโอกาสเข้ากลุ่มดัชนี FTSE ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ และดัชนี MSCI ต้นเดือนมีนาคม”
จิราพรกล่าวว่าแผนการขยายธุรกิจจากนี้ OR จะดำเนินการตามแผนลงทุน 5 ปีตามที่ระบุไว้ในไฟลิ่ง โดยจัดสรรงบลงทุน 5 ปี มูลค่า 74,600 ล้านบาท โดยจะกระจายการลงทุนสำหรับธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและการตลาดพาณิชย์ ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจในต่างประเทศทั้งในระดับต้นน้ำและปลายน้ำ ทั้งนี้ เพื่อผลักดันยอดขาย ลดค่าใช้จ่าย เพื่อให้ศักยภาพการทำกำไร OR เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
OR มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วน EBITDA ของธุรกิจค้าปลีกเป็น 32-33% จากปัจจุบันอยู่ที่ 25% รวมถึงเพิ่มสัดส่วน EBITDA ธุรกิจในต่างประเทศเป็น 13% จากปัจจุบันอยู่ที่ 5-6% ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและการตลาดพาณิชย์ สัดส่วน EBITDA จะลดลงมาอยู่ที่ 52% จากปัจจุบันอยู่ที่ 68%
สาเหตุที่ปรับสัดส่วน EBITDA เพราะต้องการเพิ่มศักยภาพการทำกำไรของ OR โดยอัตรากำไรของธุรกิจค้าปลีกจะสูงกว่าธุรกิจน้ำมัน
โดยกลยุทธ์สร้างการเติบโตจากนี้จะเน้นทั้ง Organic Growth และ Inorganic Growth ควบคู่กันไป ทั้งนี้ เฉพาะการสร้างการเติบโตแบบ Inorganic Growth จะเน้นการร่วมทุนและการเข้าซื้อกิจการ ซึ่งจัดสรรงบลงทุนเอาไว้ราว 10,000 ล้านบาท
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์