วันนี้ (1 ตุลาคม) จิรายุ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในช่วงของการปิดสมัยประชุมนี้ พรรคเพื่อไทยมีนโยบายให้ประธานกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทยได้ดำเนินการตรวจสอบกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ และทำสรุปส่งให้พรรคผ่านสำนักงานปราบโกงทุกสัปดาห์ เพื่อเตรียมพร้อมในการเปิดสมัยประชุมต่อไปในเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งอาจจะมีการยื่นอภิปรายเป็นการทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นครั้งที่สำคัญที่จะชี้ให้ประชาชนเห็นว่าฝ่ายค้านได้ทำงานอย่างเต็มที่ หลายเรื่องที่อภิปรายไม่ไว้วางใจและติดตามตรวจสอบ แต่รัฐบาลก็ไม่เคยตั้งคณะกรรมการ หลายประเด็นตนก็ไปยื่นร้องถึงนายกรัฐมนตรีก็ตั้ง ‘ลูกพี่สอบลูกน้อง’ และบางเรื่องก็ดองเรื่องเอาไว้ และที่สำคัญการแก้ไขในเรื่องการทุจริตของรัฐบาลปัจจุบันมีมากมายหลายกระทรวง ทบวง กรม และไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างจริงจัง สนใจแต่จะลงพื้นที่แบ่งพรรคแบ่งพวก แบ่งกลุ่มแบ่งก้อนกัน ซึ่งประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร
“อยากฝากไปยังรัฐบาล ท่านอย่าเพิ่งวุ่นวายอะไรกับเรื่องของส่วนตัวมากมายนัก กรุณายุ่งและวุ่นวายความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้มากจะเป็นประโยชน์ยิ่ง อะไรที่เป็นเชิงนโยบาย อะไรที่เป็นการแก้ไขปัญหาทุจริตก็ทำ ไม่ใช่พอฝ่ายค้านไปแตะอะไรก็ออกมาแอ็กชันหน่อย อันนี้ถือว่าพี่น้องประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร” จิรายุกล่าว
จิรายุยังกล่าวต่อว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ดำเนินการแก้ไขอะไรนอกจากแก้ต่าง พูดเอาดีใส่ตัวและโยนให้ข้าราชการประจำ ซึ่งตนได้ติดตามโดยเฉพาะสองกระทรวงที่อภิปรายไปคือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กับ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในส่วนของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลนั้นได้เรียกเอกสารไปถึง 2 ครั้ง และเมื่อวานนี้ (30 กันยายน) ได้ลงนามหนังสือส่งไปเป็นครั้งที่ 3 จึงขอเรียนไปยังส่วนราชการว่า พ.ร.บ. คำสั่งเรียก ที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าบังคับใช้ไม่ได้มีเพียง 2 มาตรา แต่มาตราอื่นยังบังคับใช้ เช่น มาตรา 15 ที่มีทั้งโทษจำและปรับ
ดังนั้นหากไม่ส่งเอกสารหรือมีเจตนาบิดพลิ้วที่จะไม่ให้ความร่วมมือฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นฝ่ายตรวจสอบฝ่ายบริหาร โดยตนจะรอจนถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ซึ่งหากครั้งที่ 3 นี้ยังไม่มาอีกก็จะใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ