×

เปิดยุทธการ ‘เด็ดหัว สอยนั่งร้าน’ ฝ่ายค้านเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ล็อกเป้าชำแหละนายกฯ และ 9 รัฐมนตรี

โดย THE STANDARD TEAM
09.06.2022
  • LOADING...
อภิปรายไม่ไว้วางใจ

วันนี้ (9 มิถุนายน) ที่อาคารรัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย สุทิน คลังแสง ส.ส. จังหวัดมหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. จังหวัดนครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย ผู้แทนจากพรรคร่วมฝ่านค้าน ประกอบด้วย นิคม บุญวิเศษ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย วิรัตน์ วรศสิริน ส.ส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ ซูการ์โน มะทา ส.ส. จังหวัดยะลา พรรคประชาชาติ 

 

ร่วมกันแถลงข่าวถึงมติที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านในการยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 151 ว่าฝ่ายค้านจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันพุธที่ 15 มิถุนายนนี้ เวลา 10.00 น. ภายใต้ยุทธการ ‘เด็ดหัว สอยนั่งร้าน’ 

 

ดังนั้นการอภิปรายครั้งนี้จะเป็นการอภิปรายรายบุคคล โดยการเด็ดหัวหมายถึง นายกรัฐมนตรี นั่งร้านหมายถึง รายบุคคล สำหรับข้อกล่าวหาจะประกอบด้วย

 

  1. ความผิดพลาด บกพร่องล้มเหลว ในการบริหารราชการแผ่นดิน 
  2. จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ กระทำผิดต่อกฎหมาย และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม
  3. การทุจริตเพื่อเอื้อเพื่อประโยชน์
  4. การไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา
  5. การละเมิดสิทธิมนุษยชน
  6. การทำลายระบอบประชาธิปไตยและระบอบรัฐสภา

 

นพ.ชลน่านกล่าวว่า มั่นใจในข้อมูลที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านมีอยู่ โดยเฉพาะตัวรัฐมนตรีที่ถูกกล่าวหาในเรื่องของการทุจริตและกระทำผิดต่อกฎหมาย และตัวนายกรัฐมนตรีเองก็จะได้รับผลพวงทั้งการปฎิบัติหน้าที่และการกำกับดูแล 

 

สำหรับเสียงของฝ่ายค้านเองถือว่ายังคงมีความเหนียวแน่น ซึ่งอาจจะมีการแปรปรวนบ้างในช่วงของการลงมติเรื่องต่างๆ ที่ผ่านมา ซึ่งไม่เคยนับรวมเป็นคะแนนของฝ่ายค้านอยู่แล้ว 

 

ขณะเดียวกันต้องอาศัยพลังที่ไม่ใช่พรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งจะต้องมาจากฝ่ายที่เห็นพ้องกับฝ่ายค้านว่าเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถยอมรับได้ 

 

นพ.ชลน่านกล่าวว่า กรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เตรียมยื่นขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ซึ่งจะเป็นการฟอกขาวต่อรัฐบาลหรือไม่นั้น ต้องมาดูเนื้อหาในรัฐธรรมนูญว่า ส.ว. สามารถเข้าชื่อยื่นได้ แต่ต้องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มาแถลงข้อเท็จจริงในการบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ถือเป็นการทำหน้าที่ของ ส.ว. ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งหากมากไปกว่านี้ก็อาจจะเข้าข่ายการฟอกขาวให้รัฐบาล

 

นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า เมื่อ ส.ว. ยื่นญัตติต้องเฝ้าจับตาว่าเป็นการขอให้แถลงข้อเท็จจริงที่เป็นปัญหาของประเทศหรือไม่ และต้องติดตามพฤติกรรมระหว่างการอภิปรายด้วย ซึ่งหากเป็นไปในทิศทางการแถลงผลงานหรือตอบคำถามการอภิปรายของสมาชิกในเชิงผลสัมฤทธิ์ก็อาจไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 

 

ด้านนายสุทินกล่าวว่า เบื้องต้นเด็ดหัวคือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาล ส่วนนั่งร้านมี 9 คน เป็นรัฐมนตรีจาก 3 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ประกอบด้วยพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าสำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ‘3 ป.’ จะถูกฝ่ายค้านยื่นรายชื่อซักฟอกด้วยหรือไม่ ชัยธวัชกล่าวว่า ในส่วนของ 3 ป. ถูกอภิปรายครบ และนั่งร้านพิเศษอีก 2 คน

 

มีรายงานว่า สำหรับรายชื่อ ครม. ที่จะถูกยื่นอภิปรายรวม 10 คน มีรายชื่อดังนี้

 

  1. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  2. พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
  3. พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  4. สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
  5. ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  6. สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง
  7. จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 
  8. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 
  9. อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  10. ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X