วานนี้ (23 พฤศจิกายน) ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่าที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา โดยได้พิจารณากรอบการทำงานและท่าทีของฝ่ายค้านใน 4 ประเด็น ได้แก่
- พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าคณะกรรมาธิการควรพิจารณาแต่งตั้งประธาน เลขาธิการ โฆษก และอื่นๆ โดยควรพิจารณาจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
- การพิจารณาของคณะกรรมาธิการต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจน โดยฝ่ายค้านเสนอให้แล้วเสร็จเร็วกว่า 45 วัน เพื่อเร่งรัดให้นำญัตติที่เกี่ยวกับการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. บรรจุเป็นวาระที่ 3
- สาระสำคัญของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในญัตติที่ 1 และญัตติที่ 2 ของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมีความแตกต่างกัน คือที่มาของ สสร. ของฝ่ายค้านต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่ญัตติของรัฐบาลที่มาจาก สสร. มี 3 แนวทาง ทั้งมาจากการเลือกตั้ง การคัดเลือกจากรัฐสภา และการคัดเลือกจากที่ประชุมอธิการบดีและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาจจะทำให้การได้มาซึ่ง สสร. มีความหมิ่นเหม่ ไม่เป็นธรรมกับประชาชน ขณะที่ร่างของฝ่ายค้านมีความสำคัญมากกว่าและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
นอกจากนี้ร่างรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน เมื่อได้มาซึ่ง สสร. แล้วจะสามารถแก้ไขเพิ่มเติมยกร่างและนำไปทำประชามติโดยขอความคิดเห็นจากประชาชนก่อน แต่ร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาล เมื่อได้ สสร. แล้วจะนำเสนอต่อรัฐสภาแล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศใช้ได้ทันที ทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสได้รับรู้รายละเอียดในกฎหมาย ไม่มีโอกาสที่จะพิจารณาว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ
- พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าคณะกรรมาธิการควรนำร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชนที่ตกไปกลับมาพิจารณาใหม่ เพราะหลายประเด็นมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ในส่วนของพรรคร่วมฝ่ายค้านจะนำมาศึกษาว่ามีประเด็นใดบ้างที่มีความสำคัญเพื่อนำมาเสนอต่อคณะกรรมาธิการอีกครั้ง โดยมอบหมายให้ ส.ส. ของแต่ละพรรคกลับไปศึกษาและแปรญัตติในประเด็นสำคัญอื่นๆ ให้รอบด้านมากขึ้น
พรรคฝ่ายค้านเห็นว่าทั้ง 4 ประเด็นมีความสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของประชาชน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์