วันนี้ (16 มิถุนายน) สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้แก่ ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย, สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ, พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ, วิรัตน์ วรศสิริน, นภาพร เพ็ชร์จินดา ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย, นิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ร่วมกันยื่นญัตติเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช.… พร้อมหลักการและเหตุผลความสำคัญในการขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จำนวน 5 ร่าง แก่ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา
สมพงษ์กล่าวว่า หากร่างของพรรคเพื่อไทยถูกที่ประชุมรัฐสภาตีตกก็ยืนยันที่จะเสนอเข้ามาใหม่ในประเด็นการแก้มาตรา 256 ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มายกร่างฉบับใหม่ แต่เชื่อว่าจะได้รับการพิจารณา แต่จะผ่านความเห็นชอบหรือไม่อยู่ที่เสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภา
ด้านประเสริฐกล่าวเพิ่มเติมว่า ญัตติทั้ง 5 ร่าง ที่นำโดยพรรคเพื่อไทยนั้นประกอบด้วย
- การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 โดยการตั้ง สสร. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยที่ไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 โดยมีสมาชิกพรรคฝ่ายค้านเข้าชื่อบางส่วน
- การเสนอตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในมาตรา 272 ซึ่งเป็นมาตราที่พรรคร่วมฝ่ายค้านร่วมกันลงรายชื่อครบทุกพรรคการเมือง
- มาตรา 29 เรื่องการเพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม มาตรา 45 และ 47 เรื่องสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
- การแก้ไขมาตรา 83 ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ ให้มี ส.ส. แบ่งเขต 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน แทนระบบจัดสรรปันส่วนผสม
- ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 275 และมาตรา 279 ในเรื่องการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการยกเลิกอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ขณะที่พิธาชี้แจงถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลร่วมลงรายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของพรรคเพื่อไทยในมาตรา 272 เพียงร่างเดียวว่า เป็นร่างที่มีเจตนารมณ์เดียวกับพรรคก้าวไกล ซึ่งในมาตราดังกล่าวถือเป็นต้นตอและสาเหตุที่สำคัญในการสร้างความบิดเบี้ยวของรัฐธรรมนูญ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดในการแก้รัฐธรรมนูญขณะนี้ก็คือการจัดการกับที่มาของ ส.ว. รวมถึงอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
สำหรับความเห็นต่างในประเด็นระบบเลือกตั้งระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ที่เกี่ยวกับรูปแบบในการเลือกตั้งนั้นเป็นเรื่องปกติตามระบบประชาธิปไตยที่มีเรื่องถกเถียงกัน เพราะระบบเลือกตั้งมีหลายรูปแบบและรูปแบบใดจะเหมาะกับการเมืองไทย และการแสดงความเห็นของ ส.ส. เป็นเรื่องปกติและเป็นเอกภาพของแต่ละพรรคการเมืองในการทำงาน ดังนั้นจึงไม่ใช่ประเด็นที่จะนำมาโจมตีกัน
ขณะที่มงคลกิตติ์กล่าวยืนยันในประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของพรรคไทยศรีวิไลย์ว่า ยืนยันเจตนารมณ์เดิมคือต้องการให้มีการตั้ง สสร. ขึ้น สำหรับประเด็นเรื่องบัตรเลือกตั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นแบบใดพรรคไทยศรีวิไลย์ไม่มีปัญหา ซึ่งหากประชาชนจะเลือกท่านเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎรไม่ว่าใช้บัตรเลือกตั้งแบบใดประชาชนจะเลือกเขาก็เลือก ถ้าเขาไม่เลือกอย่างไรก็ไม่เลือก
ด้าน ชวน หลีกภัย กล่าวว่า ได้กำหนดวาระประชุมรัฐสภาระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายนนี้ โดยวันที่ 22 มิถุนายน เป็นการประชุมร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ ส่วนวันที่ 23 มิถุนายน จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ จะพยายามทำให้เสร็จในวันเดียว หากไม่เสร็จจะต่อการพิจารณาในวันที่ 24 มิถุนายนอีกหนึ่งวัน
ในส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะดูว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคเสนอร่างแก้ไขมาจำนวนเท่าใด เพื่อจะได้นำไปพิจารณาพร้อมกับฉบับของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ยื่นมารอไว้แล้ว โดยมาตรการประชุมรัฐสภานั้นยังคงเคร่งครัดเรื่องมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยให้สวมหน้ากากอนามัย 100% ส่วนการเว้นระยะที่นั่งคงทำได้ไม่เต็มที่เพราะจำนวนสมาชิกค่อนข้างมาก สิ่งที่ดีที่สุดคือการสวมหน้ากาก
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น