×

รวมตัวค้านสร้างสะพานราชวงศ์-ท่าดินแดง ผู้ค้าชี้ สะพานเสร็จเตรียมปิดตำนานสำเพ็ง

19.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนราชวงศ์-ถนนท่าดินแดง เคยถูกประชาชนต่อต้านจนยกเลิกโครงการไปแล้ว แต่ปัจจุบันถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่
  • ภาคประชาชนไม่เห็นประโยชน์ของสะพาน ชี้ทำรถติดกว่าเดิม แถมยังทำลายการค้าย่านสำเพ็ง
  • กทม. มีแผนสร้างให้แล้วเสร็จในปี 2561 นอกจากนี้ กทม. ยังมีโครงการก่อสร้างเพื่อแก้รถติดกว่า 9 โครงการ รวมวงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท

     โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนราชวงศ์-ถนนท่าดินแดง เป็นโครงการที่ถูกอนุมัติตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2547 โดยคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีมติมอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการสำรวจ ออกแบบ และก่อสร้าง

     ในมติ คจร. เดียวกันนี้ยังมอบหมายให้ กทม. รับผิดชอบก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาอีก 3 แห่ง โดยโครงการแรกคือโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ซึ่งปัจจุบันติดปัญหาเวนคืนและการคัดค้านจากประชาชน ซึ่งเฉพาะงบประมาณค่าเวนคืนอย่างเดียวของโครงการนี้มีมูลค่ากว่า 9,000 ล้านบาท

     ส่วนอีกสองโครงการคือที่บริเวณถนนลาดหญ้า-ถนนมหาพฤฒาราม และบริเวณถนนจันทน์-ถนนเจริญนคร ซึ่งถูกคัดค้านโดยประชาชนเช่นกัน ปัจจุบันยังไม่มีข่าวความคืบหน้าใดๆ

 

 

     สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนราชวงศ์-ถนนท่าดินแดง กทม. ได้ว่าจ้าง บริษัท เทสโก้ จำกัด ให้ศึกษา สำรวจ ออกแบบท่ามกลางการเดินหน้าคัดค้านจากคนในชุมชนทั้งฝั่งราชวงศ์และฝั่งท่าดินแดง

     โดยแผนการก่อสร้างเดิมมีการออกแบบสะพานขนาดกว้างถึง 6 ช่องจราจร ในขณะที่ถนนราชวงศ์มีขนาดเล็กและเป็นย่านค้าขายสำคัญของกรุงเทพฯ เชื่อมชุมชนค้าขายทั้งสำเพ็ง สะพานเหล็ก และเยาวราช การจราจรหนาแน่นตลอดวัน ต่อมาในปี 2554 กทม. พยายามลดแรงต่อต้านจากชุมชนโดยมีการปรับโครงการให้สะพานเล็กลงเหลือ 2 ช่องจราจรและมีความกว้าง 10 เมตร เพื่อจะไม่ต้องเวนคืนที่ดิน

     แต่ก็ถูกต่อต้านจากหลายภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และสมาชิกสภากรุงเทพฯ ในพื้นที่ ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการสร้างสะพานขนาดแค่ 2 ช่องจราจรไม่ช่วยแก้ปัญหาจราจร และยังทำให้การจราจรบริเวณนั้นติดขัดกว่าเดิม เสี่ยงต่อการกระทบกับชุมชนและโบราณสถานบริเวณใกล้เคียง รวมถึงอาจเสียงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์

     จนในที่สุด 12 กันยายน 2554 พรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้นให้สัมภาษณ์ว่า กทม. มองเห็นในทิศทางเดียวกับประชาชน เพราะนอกจากสะพานแห่งนี้จะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ แล้วยังจะทำให้กระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่อีกด้วย พร้อมยืนยันกับตัวแทนชุมชนว่าจะไม่มีการก่อสร้างสะพานแห่งนี้แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นสะพานรูปแบบใดๆ

 

 

ปี 2560 กทม. ผุด 9 โครงการแก้ปัญหาจราจร คืนชีพสะพานราชวงศ์-ท่าดินแดง

     เมื่อมาถึงยุค พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม. ได้เสนอของบประมาณรัฐบาลสนับสนุนโครงการแก้ปัญหาการจราจรใน กทม. ระยะที่ 1 โดยจะก่อสร้าง 9 โครงการ รวมวงเงิน 23,590,000,000 บาท

     โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนราชวงศ์-ถนนท่าดินแดงกลับมาอีกครั้ง และยังเป็นโครงการแรกๆ ที่ กทม. ตั้งใจจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ

     ล่าสุด กทม. ได้ว่าจ้าง บริษัท พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด โดยเริ่มงานวันที่ 3 สิงหาคม 2560 และสิ้นสุดวันที่ 30 มีนาคม 2561 รวมระยะเวลาการศึกษาทั้งสิ้น 240 วัน

     และทำการเปิดประชุมสัมมนาครั้งที่ 1 หรือปฐมนิเทศโครงการ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ท่ามกลางความมึนงงจากประชาชน เพราะเข้าใจว่าโครงการนี้ถูกพับเก็บไปเรียบร้อยแล้ว

     การประชุมดังกล่าวมี ณัฏฐ์ ศรีสุคนธนันท์ ผู้อำนวยการสำนักโยธา เป็นประธานเปิดงาน เมื่อกล่าวเปิดงานจบ ณัฏฐ์และตัวแทนกรุงเทพมหานครทั้งหมดเดินทางกลับทันทีโดยอ้างว่าติดงานพระราชพิธีฯ ทำให้การประชุมดำเนินไปโดยบริษัทที่ปรึกษากับประชาชน

 

 

     กฤษดารักษ์ แพรัตกุล ผู้แทนบริษัทที่ปรึกษากล่าวชี้แจงว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาและลดปริมาณการจราจรบริเวณสะพานพระปกเกล้าและสะพานพุทธฯ โดยปรับปรุงจากแผนเดิมเมื่อปี 2554 ซึ่งจะมีการสร้างสะพานและขยายถนนยาว 1.9 กิโลเมตร

     ปัจจุบันถอยมาเหลือสร้างสะพานเพียงอย่างเดียวยาว 450 เมตร เป็นสะพาน 2 ชั้น ชั้นบนเป็นถนนรถวิ่ง

     ส่วนชั้นล่างเป็นทางเดินคนกว้าง 12 เมตร ในอนาคตมีแผนจะพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะเพิ่มเติม ซึ่ง กทม. ต่อยอดขึ้นมาเพื่อให้คนในพื้นที่ได้ประโยชน์จากสะพานนี้เต็มที่

     ระหว่างการก่อสร้างยืนยันว่ารถจะไม่ติด เพราะสะพานมีขนาดไม่ยาวและเป็นโครงเหล็ก การขนส่งทำผ่านทางเรือโดยขนโครงเหล็กมาต่อประกอบ งานหลักบนผิวถนนมีแค่สร้างตอม่อเท่านั้น

 

 

ภาคประชาชนยัน สะพานทำรถติดกว่าเดิม ผู้ค้าสำเพ็งครวญ ทำมาหากินไม่ได้

     เมื่อการประชุมครั้งล่าสุดนี้เดินมาถึงช่วงถาม-ตอบ ปรากฏว่าประชาชนทุกคนล้วนคัดค้านและจี้ถามถึงสาเหตุที่โครงการนี้กลับมาอีกครั้ง หลังเคยถูกต่อต้านจนประกาศยกเลิกไปแล้ว ขณะที่ในที่ประชุมไม่มีตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร มีเพียงผู้แทนจากบริษทที่ปรึกษา ซึ่งก็ให้คำตอบไม่ได้

     ขณะที่การแสดงความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่เห็นไปในทางเดียวกันคือ ยืนยันว่าสะพานจะไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาจราจร เพราะรถที่ลงมาจากสะพานจะไปติดที่แยกเยาวราช สะพานจะกลายเป็นที่จอดรถซึ่งสร้างปัญหาหนักกว่าเดิม ขณะที่ผู้ค้าสำเพ็งกังวลว่าสะพานจะทำลายพื้นที่การค้าขาย ส่งผลเสียหายต่อธุรกิจ และเอกลักษณ์ของการค้าย่านสำเพ็ง

 

 

     “ตกลงจะสร้างสะพานนี้ให้ได้ใช่หรือไม่ ถ้าต้องสร้าง แต่ยังตอบไม่ได้ว่าสร้างทำไม สร้างแล้วการจราจรจะเป็นแบบใดก็อย่าเพิ่งสร้างเลย อย่าถึงกับต้องให้เปลี่ยนอาชีพทำมาหากินเลย” ผู้ค้าสำเพ็งคนหนึ่งพูดกลางที่ประชุม

     ที่ประชุมทั้งประชาชนและภาคประชาสังคมยังมีการเสนอแนวทางแก้ปัญหาจราจรโดยจัดแผนการเดินรถใหม่และเสนอให้พัฒนาระบบขนส่งมวลชน ไม่ต้องเสียงบประมาณนับพันล้านบาทเพื่อสร้างสะพาน

     ชุมศิลป์ โสตถิปรีดาวงศ์ ผู้ประสานงานชุมชนราชวงศ์-ท่าดินแดง ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า โครงการสะพานที่เสนอมาใหม่นี้ไม่แตกต่างจากของเก่าที่เคยคัดค้านเมื่อปี 2554 โดยชุมชนเคยต่อสู้คัดค้านและปรากฏเป็นข่าวทั่วไปจนมีการยกเลิกโครงการไปแล้ว แต่แปลกใจมากที่โครงการกลับมาอีก อีกทั้งการประชุมวันนี้ก็ประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง ทางเครือข่ายชุมชนมีสมาชิกเป็นร้อยคน แต่มีจดหมายเชิญที่ส่งมาถึงเพียงคนเดียว

     ชุมศิลป์กล่าวด้วยว่า ถนนราชวงศ์เป็นถนนที่แคบและระยะทางสั้นมาก มองไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งนอกจากจะไม่แก้ปัญหาจราจรแล้วยังส่งผลกระทบกับชุมชน รวมถึงการทำธุรกิจย่านสำเพ็ง แหล่งค้าปลีก-ส่งที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ซึ่งปัจจุบันมีทั้งรถขนส่งสินค้าและผู้คนเดินข้ามถนนไปมา ลองนึกภาพว่าถ้ามีสะพานซึ่งคอสะพานอยู่หน้าสำเพ็งเลย ต่อไปคนจะเดินข้ามถนนอย่างไร รถที่ขนส่งสินค้าจะทำอย่างไร

     “ต่อไปถ้ามีสะพานเกิดขึ้นจริง พื้นที่ย่านนี้รถจะติดอย่างหนัก แล้วจะกลายเป็นว่าผู้ค้าสำเพ็งและคนย่านนี้เป็นตัวปัญหาทำให้รถติด ทั้งที่คนในชุมชนอยู่มาก่อน แต่สะพานมาทีหลัง” ชุมศิลป์กล่าว

 

 

อ้างมติที่ประชุมดันโครงการที่ประชาชนต่อต้าน

     ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ ตัวแทนมูลนิธิโลกสีเขียว ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า การประชุมวันนี้ไม่มีผู้แทนจากกรุงเทพมหานครมาร่วมรับฟังเลย ซึ่งแสดงถึงความไม่จริงใจในการรับฟัง เอ็นจีโอและภาคประชาชนไม่ได้ขัดขวางการพัฒนา เพียงแต่ตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของโครงการที่กำลังจะทำขึ้น ซึ่งใช้งบประมาณหลักพันล้านบาท

     ที่ผ่านมาโครงการที่ถูกประชาชนคัดค้านแล้วกลับมาใหม่ก็มักใช้เหตุผลอ้างว่าเป็นมติที่ประชุม ซึ่งหน่วยงานต้องทำตามกฎหมาย แล้วมาบอกประชาชนว่าโครงการนี้สำคัญ ถ้าไม่ทำตอนนี้ ปัญหาก็จะสะสมไปเรื่อยๆ แต่ทำไมไม่คิดกลับกันว่าโครงการที่ถูกคิดไว้เมื่อสิบปีที่แล้วเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันหรือไม่ การแก้ปัญหารถติดที่ผ่านมาก็มักจะแก้ไขด้วยโครงการก่อสร้างงบประมาณมากมาย แต่ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลกลับปล่อยให้รถเมล์ซึ่งเคยขนส่งคนได้วันละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนเมื่อปี 2535 เหลือเพียงหลักแสนคนต่อวันในปัจจุบัน

     สำหรับโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนราชวงศ์-ถนนท่าดินแดง เป็นหนึ่งใน 9 โครงการแก้ปัญหารถติดของ กทม. ซึ่งถูกคาดหมายให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 โดยมีค่าที่ปรึกษาเพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจำนวน 6 ล้านบาท เพราะบริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้แหล่งชุมชนและโบราณสถานที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้มากกว่า 200 แห่ง ตั้งเป้าจะศึกษาแล้วเสร็จช่วงต้นปีหน้าก่อนส่งให้กรุงเทพมหานคร เพื่อส่งต่อให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาต่อไป งบประมาณค่าก่อสร้างสะพานดังกล่าวประมาณ 1,000 ล้านบาท

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X