×

Virtual Bank ไทย…มีเท่าไรถึงพอ?

28.08.2023
  • LOADING...

“โจทย์ในการเซ็ตอัพ Virtual Bank คือ เราอยากเห็นการให้บริการกลุ่มที่ Underserved…และอยากเห็นการกระตุ้นการแข่งขันในรูปแบบใหม่ๆ ถ้าเราอยากเห็นการแข่งขัน จำนวน (ผู้ให้บริการ) อาจจะไม่ต้องมากนัก และต้องใหญ่พอ” เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ไทยกำลังจะมีสถาบันการเงินรูปแบบใหม่ที่มีชื่อว่า Virtual Bank

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศว่าจะเริ่มเปิดให้ภาคเอกชนยื่นขอจัดตั้ง Virtual Bank ภายในปี 2024 โดยในช่วงเริ่มต้น ธปท. จะให้ใบอนุญาตกับผู้ให้บริการ 3 ราย ที่จะเปิดให้บริการภายในปี 2026

 

Virtual Bank หรือธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล โดยไม่มีสาขาที่มีสถานที่ตั้งทางกายภาพ จุดเด่นของ Virtual Bank คือการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศในการออกแบบและเสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น การใช้ข้อมูลธุรกรรมทางการเงินของผู้กู้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อและประเมินความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้    

 

คุณลักษณะทั้งหมดนี้ ทำให้ Virtual Bank ตอบโจทย์การพัฒนาทางการเงินถึง 2 ข้อ คือ 1. ส่งเสริมให้คนในระบบเศรษฐกิจเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบอย่างทั่วถึงขึ้น และ 2. สามารถผลักดันให้เกิดการแข่งขันภายในระบบธนาคารพาณิชย์ ซึ่งคาดหมายว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการเงินของระบบ ธพ.

 

คนส่วนใหญ่น่าจะเห็นตรงกันว่า Virtual Bank จะสร้างประโยชน์ให้กับระบบเศรษฐกิจไทย แต่ที่ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ คือ

 

ไทยควรมี Virtual Bank กี่แห่ง?

 

ทำไม ธปท. จึงเริ่มอนุญาตแค่ 3 ราย แทนที่จะอนุญาตผู้ให้บริการจำนวนมากเข้ามาแข่งกัน…มาหาคำตอบด้วยกันครับ

 

จำนวนไม่สำคัญเท่าคุณภาพ

 

ในทางทฤษฎี การแข่งขันเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ ธพ. โดยจะสร้างแรงจูงใจให้ ธพ. แข่งขันกันปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อสร้างรายได้จากดอกเบี้ย และปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อระดมเงินฝาก ส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากปรับลดลง (Freixas and Rochet, 1997) กล่าวคือ คนในระบบเศรษฐกิจจะได้รับบริการทางการเงิน ณ ต้นทุนที่ต่ำลง

 

แล้วข้อมูลจริงเป็นอย่างไร?

 

รูปที่ 1 แกนนอนแสดงดัชนีชี้การแข่งขัน ซึ่งสะท้อนทั้งจำนวนและขนาดของผู้เล่นในระบบ ธพ. ได้ในระดับหนึ่ง ส่วนแกนตั้งแสดงดัชนีประสิทธิภาพของระบบ ธพ. ในปี 2021 ผมเก็บข้อมูลทั้งสองชุดจาก Global Financial Development Database ของธนาคารโลก

 

รูปที่ 1 การแข่งขันและประสิทธิภาพ

อ้างอิง: ธนาคารโลก

 

จากรูปจะพบว่า การแข่งขันกับประสิทธิภาพไม่ได้ไปด้วยกันเสมอไป มีหลายประเทศที่การแข่งขันสูง แต่ประสิทธิภาพกลับไม่สูงตาม เช่น บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา และปารากวัย ในทางตรงข้าม กลับมีหลายประเทศที่การแข่งขันต่ำ แต่กลับมีประสิทธิภาพสูง เช่น ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก จึงไม่อาจสรุปว่าการแข่งขันกับประสิทธิภาพสัมพันธ์กันในทิศทางใด

 

ทำไมการแข่งขันกับประสิทธิภาพถึงไม่ไปด้วยกันในเชิงประจักษ์ ผมคิดว่ามีคำอธิบายที่เป็นไปได้ 3 ประการ

 

ประการแรก จำนวนหรือขนาดของ ธพ. ไม่ได้วัดการแข่งขันอย่างครบถ้วนทุกมิติ ดัชนีไม่สามารถสะท้อนรูปแบบและความเข้มข้นในการแข่งขัน ยกตัวอย่างเช่น ฝรั่งเศสที่มี ธพ. ขนาดใหญ่มาก 2 ราย นั่นคือ BNP Paribas และ Crédit Agricole แข่งขันกันอย่างเข้มข้น แม้สัดส่วนสินทรัพย์ของ ธพ. ขนาดใหญ่จะสูง แต่ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิกลับต่ำกว่าประเทศอื่น

 

ประการที่สอง การแข่งขันสมบูรณ์อาจไม่ได้ดีที่สุดเสมอไป เพราะ ธพ. ที่มีอำนาจตลาดจะมีลูกค้าที่ทำธุรกรรมกับ ธพ. อยู่เป็นประจำ จึงสามารถเก็บสะสมข้อมูลทางการเงิน และใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการออกแบบบริการทางการเงิน นอกจากนี้ ธพ. ที่มีอำนาจตลาดจะมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะได้รับอานิสงส์จากความประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) จึงสามารถให้บริการ ณ ต้นทุนที่ต่ำกว่าตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Cetorelli and Peretto, 2000)

 

ประการที่สาม อานิสงส์ของการแข่งขันต่อประสิทธิภาพขึ้นกับโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การกำกับดูแล และเทคโนโลยีของแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างเช่น กรณีของเดนมาร์กที่มีธนาคาร Danske Bank ครองสัดส่วนสินทรัพย์สูงกว่า 50% ของสินทรัพย์รวมของ ธพ. ทั้งระบบ แม้สินทรัพย์จะกระจุกตัว แต่ระบบ ธพ. กลับทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

หนึ่งใน Success Factor ที่สำคัญ คือการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน การสำรวจของ IMF ในปี 2021 พบว่า ประชากรเดนมาร์กที่มีอายุมากกว่า 15 ปีกว่า 99.93% ใช้ Mobile Payment เทคโนโลยีทางการเงินช่วยลดต้นทุนในการให้บริการทางการเงิน ส่งผลให้ระบบ ธพ. ของเดนมาร์กทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

โดยสรุป คำถามที่ว่าไทยควรมี Virtual Bank ‘จำนวน’ กี่แห่ง ไม่ได้สำคัญเท่ากับว่า ไทยจะเตรียมความพร้อมอย่างไร เพื่อสนับสนุนให้ Digital Banking ทำงานอย่างมี ‘คุณภาพ’ นั่นคือ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการเงิน และเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบ

 

เปิดเสรีอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดีกว่าเปิดเสรีใหญ่ในครั้งเดียว

 

คำถามอีกหนึ่งข้อที่ถามทิ้งไว้ คือระบบ ธพ. ไทยควรเปิดรับผู้ให้บริการ Virtual Bank จำนวนมากเข้ามาแข่งกันในคราวเดียว หรือจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป การเปิดรับผู้ให้บริการจำนวนมากเข้ามาแข่งกันในคราวเดียวมีข้อดีคือ สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการแข่งขันอย่างเต็มที่ ผู้เล่นน่าจะตื่นตัวในการใช้เทคโนโลยีทางการเงินสมัยใหม่ และการบริหารจัดการต้นทุนอย่างเข้มข้น ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อผู้รับบริการทางการเงิน

 

อย่างไรก็ตาม ผลดีอาจไม่ยั่งยืน เพราะการแข่งขันที่เข้มข้นอาจจูงใจให้ผู้ให้บริการทางการเงินเปิดรับความเสี่ยงจนเกินตัว สร้างความเปราะบางให้กับระบบ ธพ. นอกจากนี้ หากมีผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่สามารถแข่งขันต่อได้ตัดสินใจเลิกกิจการ อาจเกิดต้นทุนจำนวนมหาศาลต่อระบบเศรษฐกิจไทย ในเบื้องต้น ผู้กำกับดูแลจะต้องเผชิญกับต้นทุนในการชำระบัญชี และการบริหารจัดการ โดยงานศึกษาของ Kang Lowery and Wardlaw (2015) ประมาณการต้นทุนจากการปิดกิจการธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1985-1992 โดยพบว่าการปิดกิจการมีต้นทุนเฉลี่ยสูงถึง 25.6 ล้านดอลลาร์ต่อธนาคาร หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 21.9% ของมูลค่าสินทรัพย์ของธนาคารโดยเฉลี่ย

 

นอกจากต้นทุนในรูปของตัวเงินแล้ว การปิดกิจการธนาคารพาณิชย์ยังบั่นทอนความเชื่อมั่นของคนที่มีต่อระบบ ธพ. หรือระบบการเงินโดยรวม จึงอาจเกิดการแห่ถอนเงินฝาก หรือการระงับการให้สินเชื่อ ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินก็จะปรับสูงขึ้นตามค่าชดเชยความเสี่ยง ซึ่งล้วนกระทบกับการทำงานของระบบการเงิน และระบบเศรษฐกิจโดยรวม ตามลำดับ

 

Virtual Bank ที่เศรษฐกิจไทยต้องการ

 

เราจะเตรียมระบบ ธพ. ไทยอย่างไร เพื่อสนับสนุนให้ Digital Banking เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการเงิน และเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบ? ระบบ ธพ. และระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวมต้องการโครงสร้างเชิงสถาบันที่สร้างแรงจูงใจให้การดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินเพื่อแสวงหาผลกำไรให้ผลลัพธ์สอดคล้องกับผลประโยชน์ส่วนรวมของคนในระบบเศรษฐกิจ

 

รูปที่ 2 โครงสร้างเชิงสถาบันที่ Virtual Bank สนับสนุนเศรษฐกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

หากถอดบทเรียนจากประสบการณ์ต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จะพบว่าระบบเศรษฐกิจเหล่านี้มีโครงสร้างเชิงสถาบันที่ประกอบไปด้วยรากฐาน 2 ชั้น รากฐานชั้นแรก ประกอบไปด้วย

 

  1. โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่สมบูรณ์ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบอินเทอร์เน็ต โครงสร้างพื้นฐานเบื้องหลัง Application Programming Interface ตลอดจนเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลและประมวลผลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่

 

  1. การบังคับใช้กฎกติกาที่ปกป้องสิทธิ และรักษาความปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนข้อมูล เช่น การประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลและความเป็นส่วนตัวที่เข้มงวดและใช้งานได้จริง

 

รากฐานชั้นแรกจะสร้างระบบ ธพ. ที่มีความสมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร และปลอดภัย ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการประเมินผลตอบแทนและความเสี่ยงของบริการทางการเงิน จึงสนับสนุนให้ ธพ. เสนอบริการทางการเงินที่ลึกและหลากหลาย สอดคล้องกับผลตอบแทนความเสี่ยงของคนในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นรากฐานชั้นแรกจึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบ

 

รากฐานชั้นที่สองคือ ‘มีกรอบแรงจูงใจที่สัมฤทธิ์ผล’ นั่นคือ การวางกฎกติกา และนโยบายระยะสั้นที่จูงใจให้ ธพ. จัดสรรทรัพยากรทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง กฎหมายที่สำคัญมากคือ กฎหมายที่ส่งเสริมการแข่งขันในระบบ ธพ. ซึ่งจะต้องเขียนให้สอดคล้องกับรูปแบบ ‘กึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด’ ที่เป็นสมดุลเฉพาะตัวของธุรกิจธนาคาร

 

นอกจากนี้ การสนับสนุนให้ผู้ให้บริการทางการเงินขนาดเล็กเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนเข้าใจกฎกติกาในการประกอบธุรกิจธนาคาร จะช่วยเพิ่มโอกาสที่ผู้ให้บริการขนาดเล็กที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดจะประสบความสำเร็จ และทำให้ความเสี่ยงที่ผู้ให้บริการขนาดเล็กจะเลิกกิจการลดลง

 

โจทย์สำคัญของระบบการเงินไทยในระยะข้างหน้าเป็นการวางโครงสร้างเชิงสถาบันทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และการกำกับดูแลเพื่อสนับสนุนการทำงานของ Virtual Bank และระบบ ธพ. โดยรวม จะเป็นรากฐานเชิงสถาบันที่เข้มแข็ง ช่วยสร้าง ‘สภาพแวดล้อม’ ที่ปลดล็อกประสิทธิภาพในระบบ ธพ. และ ‘ปรับแรงจูงใจ’ ของผู้เล่นให้สอดรับกับประโยชน์ของระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม

 

กุญแจสำคัญจึงไม่ใช่ ‘จำนวน’ แต่เป็น ‘คุณภาพของระบบ ธพ.’ ที่ไทยต้องการ

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising