เริ่มต้นปี 2567 มาแล้วกว่า 2 เดือน บรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นโลกค่อนข้างคึกคักและมีสีสัน โดยเฉพาะตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) ที่ยังคงมีโมเมนตัมเชิงบวกต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX 600 ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ฝ่าความกังวลเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว และสุดท้าย ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ดัชนี Nikkei 225 ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับเป็นการทำระดับสูงสุดใหม่เป็นครั้งแรกในรอบ 34 ปี ถือเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดทศวรรษที่สูญหายหรือ Lost Decade และตลาดหุ้นใหญ่ อย่างตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P 500 ที่ทำนิวไฮขึ้นมาแตะระดับ 5,000 จุด เอาชนะจุดสูงสุดเดิมที่ทำไว้เมื่อเดือนมกราคม 2565 ซึ่งหลังจากนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไร คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกัน
3 แรงขับเคลื่อนหนุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า
อย่างแรกเลย คือ 1. โอกาสการเกิด Soft Landing หลังจากที่ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่รายงานออกมาค่อนข้างแข็งแกร่ง ทั้งตลาดแรงงานและภาคการบริการ ทำให้ตลาดมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจมีโอกาสเกิด Soft Landing หรือหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้อีกครั้ง ซึ่งล่าสุดโมเดล GDPNow ของ Fed สาขา Atlanta คาดการณ์การเติบโตของ GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 1/67 ไว้ค่อนข้างสูงราว 3.0% (ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567) ในขณะที่โบรกเกอร์ต่างชาติหลายแห่ง เริ่มปรับเป้าหมายของดัชนี S&P 500 ตั้งแต่ต้นปี โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลคล้ายๆ กัน คือ มีมุมมองเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน
ถัดมาคือ 2. นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง เมื่อวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นถึงจุดสิ้นสุด และธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณเตรียมปรับดอกเบี้ยลงในปีนี้ ตามทิศทางเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี Fed ส่งสัญญาณในการประชุมเมื่อเดือนมกราคม 2567 ว่าไม่จำเป็นต้องรีบปรับลดดอกเบี้ย ทำให้มุมมองของตลาดล่าสุด ผ่าน CME FedWatch Tool ปรับลดจำนวนครั้งของการลดดอกเบี้ยในปี 2567 จากเดิม 6 ครั้ง เหลือประมาณ 3-4 ครั้ง ซึ่งปรับลงมาใกล้เคียงกับ Dot Plot ของ Fed ที่ให้ไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ดังนั้นสำหรับการประชุม Fed ในเดือนมีนาคมนี้จะมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะเป็นการเปิดเผย Dot Plot รอบใหม่ ซึ่งจะทำให้เห็นภาพแนวทางการลดดอกเบี้ยมีความชัดเจนขึ้น รวมถึงอาจเริ่มพูดคุยถึงการลดอัตราเร็วในการดึงสภาพคล่องออกจากระบบ (Quantitative Tightening หรือ QT) ด้วยแรงขับเคลื่อน
สุดท้าย คือ 3. ผลประกอบการและกระแส AI หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หรือ Big Tech ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มนางฟ้าหรือ MAG7 ที่มีความโดดเด่นอย่างมากในปีที่ผ่านมา และยังคงอยู่ค้างฟ้าในปีนี้ แม้ว่าสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งได้แก่ Microsoft, Apple, Google, Amazon, Meta (หรือ Facebook เดิม), NVIDIA และ Tesla มีราคาหุ้นที่อาจไม่ได้ขึ้นแรงเท่ากันทุกตัว แต่ก็สามารถทำผลงานอย่างโดดเด่นและมีพลังมากพอที่จะขับเคลื่อนบรรยากาศการลงทุนของตลาดโดยรวมได้ โดยเฉพาะ NVIDIA ที่ถือว่าเป็นผู้จุดกระแส AI Boom ในรอบนี้ ที่ผลประกอบการในไตรมาสล่าสุดยังคงเติบโตได้ดีกว่าคาดการณ์ของตลาด ทำให้ธีมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ AI ยังคงอยู่ในความสนใจของนักลงทุน
แม้ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ดูค่อนข้างสดใส แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงซ่อนอยู่ และอาจทำให้มีความผันผวนอยู่บ้าง นั่นคือการเกิดขึ้นของแรงขายทำกำไรระยะสั้นหลังเสร็จสิ้นฤดูกาลรายงานผลประกอบการ (Earnings Season) เพราะดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นมามากถึง 24% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อีกทั้งต้นปีนี้ก็ยังบวกขึ้นมาอีกประมาณ 6.3% (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567) นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของตลาดมีลักษณะกระจุกตัวคล้ายกับปีก่อน นั่นคือหุ้นกลุ่ม Big Tech ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าค่อนข้างมากในดัชนีตลาดหุ้น อีกทั้งเป็นกลุ่มผู้นำตลาดที่อยู่บนความคาดหวังต่อการเติบโตสูง สะท้อนจากดัชนี S&P 500 Equal Weight ซึ่งให้น้ำหนักหุ้นแต่ละตัวในดัชนีเท่าๆ กัน บวกแค่ 2.5% ตั้งแต่ต้นปีนี้ (เทียบกับ S&P 500 + 6.3%YTD)
ดังนั้นหากราคาหุ้น Big Tech มีการปรับตัวลงจากแรงขายทำกำไร หรือผิดหวังต่อผลประกอบการ ก็มีโอกาสที่จะดึงให้ดัชนีตลาดหุ้นโดยรวมผันผวนตามไปด้วยเช่นกัน ซึ่งในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ดัชนีชี้วัดความเสี่ยงหรือ VIX Index แกว่งตัวอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำไม่เกิน 20 จุด สะท้อนถึงความผันผวนที่ไม่ค่อยสูงนัก และดูจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการลงทุน แต่หากมองในทางกลับกัน ด้วยระดับที่ค่อนข้างต่ำในปัจจุบัน จึงอาจทำให้มองได้ว่าโอกาสที่ VIX Index จะปรับตัวขึ้นน่าจะมีมากกว่าการปรับลง ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะแกว่งตัวผันผวนมากขึ้นในระยะถัดไป
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจสำหรับการลงทุนในระยะกลางถึงยาว แต่ก็ต้องยอมรับว่าสำหรับการลงทุนในระยะสั้น อาจมีความผันผวนหรือการพักตัวเกิดขึ้นระหว่างทางได้ ดังนั้นการกระจายความเสี่ยงถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการวางแผนการลงทุน สำหรับนักลงทุนที่สนใจการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถลงทุนกองทุนรวมดัชนี (Index Fund) กับ บลจ.ไทยพาณิชย์ โดยมีให้เลือกลงทุนในหลายดัชนีหลัก เช่น ดัชนี S&P 500 (กองทุน SCBS&P500), ดัชนี Dow Jones (กองทุน SCBDJI), ดัชนี Nasdaq 100 (กองทุน SCBNDQ) และดัชนี Russell 2000 (กองทุน SCBRS2000) ข้อดีของกองทุน Index Fund คือ ค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ยถูกกว่า Active Fund และนักลงทุนสามารถติดตามการเคลื่อนไหวของราคาได้ไม่ยาก
คำเตือน:
- ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจ ลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และขอรับหนังสือชี้ชวนที่ธนาคารไทยพาณิชย์ทุกสาขา หรือ บลจ.ไทยพาณิชย์ โทร. 0 2777 7777