นับตั้งแต่การดีเบต (Debate: การอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์) เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างประธานาธิบดีคนปัจจุบัน โจ ไบเดน ตัวแทนพรรคเดโมแครต และอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2567 ทำให้ตลาดหุ้นกลับมาผันผวนอีกครั้งจากคะแนนความนิยมของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้หลายฝ่ายมองว่าอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญต่างๆ ในปัจจุบันได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อ โจ ไบเดน ได้ประกาศถอนตัวจากการลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี และล่าสุดที่ คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน จะขึ้นมาเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งแทน ซึ่งดูเหมือนว่าจะทำให้คะแนนนิยมของพรรคเดโมแครตปรับตัวดีขึ้น แต่ยังเป็นการยากที่จะชี้ชัดว่าใครจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ในท้ายที่สุด ซึ่งทั้งคู่มีกำหนดการที่จะดีเบตกันอีกครั้งในช่วงต้นเดือนกันยายน โดยมีหลายประเด็นสำคัญที่นักลงทุนต้องจับตามองจากนี้ เนื่องจากคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดลงทุนได้
เกาะติด 4 นโยบายต่างขั้วของ (ว่าที่) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
- นโยบายภาษี พรรครีพับลิกันมีนโยบายที่จะขยายการลดอัตราภาษีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ที่ประกาศใช้ในปี 2017 (Tax Cuts and Jobs Act) และจะหมดอายุลงในช่วงปลายปี 2025 ซึ่งน่าจะได้รับการขยายเวลาหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ขณะที่นโยบายลดภาษีอาจถูกยกเลิก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้สูงกว่า 4 แสนดอลลาร์สหรัฐ ที่จะถูกปรับขึ้นภาษีจาก 21% ไปที่ 28%
- นโยบายด้านภาษีการค้า ซึ่งนโยบายของทรัมป์ค่อนข้างเกิดผลกระทบรุนแรงหากมีการดำเนินการจริง จากแผนการภาษีการค้าในสินค้านำเข้าทั้งหมดที่ระดับ 10% ซึ่งจะกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรและหุ้นส่วนเดิม เช่น เม็กซิโก แคนาดา และสหภาพยุโรป นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะขึ้นภาษีการค้ากับจีนไปถึงระดับกว่า 60% ซึ่งประเมินกันว่า หากได้ดำเนินการจริงจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนอย่างมาก อย่างไรก็ดี นโยบายของพรรคเดโมแครตไม่ได้สนับสนุนการขึ้นภาษีในทุกสินค้า และจะยังคงระดับภาษีการค้ากับจีนไว้เช่นเดิม
- นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ทรัมป์มีนโยบายลดวงเงินใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และอาจให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมแก่ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งต่างกับนโยบายของเดโมแครต ที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาดในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและโครงการพลังงานสะอาด โดยนำเงินทุนมาจากการขึ้นภาษีนิติบุคคลและคนมีรายได้สูง เป็นต้น
- นโยบายด้านการย้ายถิ่นฐาน ค่อนข้างชัดเจนที่ทรัมป์ไม่สนับสนุนการเข้ามาของแรงงานต่างชาติเลย หากพิจารณาในช่วงปี 2022-2023 พบว่าการอพยพเข้าสหรัฐฯ ของแรงงานต่างชาติมีตัวเลขสูงถึง 3 ล้านคน มีการประเมินว่าการเข้ามาของแรงงานต่างชาติส่งผลบวกต่อสหรัฐฯ ในแง่การเพิ่มขึ้นของอุปทานแรงงาน ช่วยผลักดันให้ GDP สหรัฐฯ เติบโตสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยคงที่และต้นทุนค่าจ้างลดลง ทำให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ ไม่สูงขึ้นมาก ดังนั้นการปิดชายแดนอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการกระตุ้นให้ค่าจ้างพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งก็เป็นได้
สำหรับผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุน พบว่าตลาดหุ้นอาจจะมีความผันผวนสูงขึ้นในปีเลือกตั้งเมื่อเทียบกับปีอื่นๆ จากความกังวลต่อนโยบายเศรษฐกิจของผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี และตลาดหุ้นมักจะปรับตัวขึ้นต่อหลังวันเลือกตั้งผ่านไปเมื่อความกังวลคลี่คลาย อย่างไรก็ดี การปรับฐานของตลาดหุ้นก็น่าจะเป็นโอกาสของนักลงทุนเช่นเดียวกัน ซึ่งจากการศึกษาของ Morningstar โดยใช้ข้อมูลการลงทุนในตลาดหุ้น S&P 500 ตั้งแต่ปี 1953-2023 สรุปได้ว่า นักลงทุนอาจจะไม่มีความจำเป็นต้องปรับสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้น โดยพิจารณาว่าประธานาธิบดีจะมาจากพรรคการเมืองไหน เนื่องจากตลาดหุ้นปรับขึ้น-ลงเหมือนกันไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดี เพราะในท้ายที่สุดแล้วการถือลงทุนในตลาดหุ้นระยะยาวยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และให้ผลตอบแทนสูงที่สุด
ทั้งนี้ ในด้านอุตสาหกรรมพบว่า นโยบายของทรัมป์จะสนับสนุนอุตสาหกรรม เช่น พลังงาน โทรคมนาคม และสาธารณูปโภค และหุ้นขนาดเล็กที่ได้ประโยชน์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านภาษี สำหรับกลุ่มเทคโนโลยี นักลงทุนอาจกังวลว่าการขึ้นภาษีการค้ากับจีนอาจจะกระทบต่อกำไรของบริษัท เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้นอกสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่สูง อย่างไรก็ดี หากย้อนไปในช่วงที่ทรัมป์ขึ้นภาษีการค้ากับจีนในระหว่างเดือนกันยายน 2019 ถึงเดือนกันยายน 2020 ผลตอบแทนของหุ้น Apple ซึ่งเป็นบริษัทที่มีรายได้จากจีนสูงที่สุดในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ยังสามารถปรับขึ้นได้กว่า 160% เทียบกับหุ้นขนาดใหญ่สหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นเพียง 23% ซึ่งยังชี้ว่าการเลือกลงทุนในหุ้นเติบโตสูงในอุตสาหกรรมที่ยังขยายตัวได้ เช่น กลุ่มเทคโนโลยีที่ได้ประโยชน์จาก AI อาจยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้
สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ในระยะถัดไปคาดว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยยังมีทิศทางสนับสนุนกับการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยลดลง เปิดช่องให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยนี้คาดว่าจะส่งผลบวกต่อสินทรัพย์ทางเลือก เช่น REITs จากอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่สูง และแรงกดดันจากการรีไฟแนนซ์ลดลงตามไปด้วย