×

เวทีประชุม UNGA 2023: ความจริงและความหวังในเวทีโลก

24.09.2023
  • LOADING...

“การประชุมผู้นำสูงสุดของสหประชาชาติเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของความสนใจและข้อถกเถียงสาธารณะ แต่การทดสอบที่ใหญ่กว่าคือ เวทีการประชุมสหประชาชาติจะผลักดันให้เกิดการปฏิบัติตามมาได้อย่างไร”

 

John W. McArthur
Director, Center for Sustainable Development

 

“นักยุทธศาสตร์ตะวันตกให้ความสนใจน้อยมากต่อประเด็นการพัฒนาและสถาบันแบบพหุภาคี ซึ่งสำหรับการต่อสู้เพื่อกำหนดระเบียบโลกในวงกว้างแล้ว ประเด็นเหล่านี้เป็นพื้นที่การรบที่สำคัญ และโลกตะวันตกกำลังสูญเสียพื้นที่เช่นนี้”

 

Bruce Jones
Senior Fellow, Strobe Talbott Center for Security, Strategy and Technology 

 

 

 

เวทีการประชุม ‘สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ’ (UN General Assembly: UNGA) นั้น เป็นหนึ่งในเวทีการประชุมที่สำคัญของการเมืองโลกเสมอ ไม่ว่าเราจะมีมุมมองแบบ ‘Pro’ หรือ ‘Con’ ต่อบทบาทของสหประชาชาติก็ตาม 

 

ดังนั้น ในการประชุมใหญ่ที่เกิดขึ้นที่นครนิวยอร์กในเดือนกันยายนนี้ จึงเป็นที่จับตามองอย่างมากว่า ‘The 2023 UNGA’ หรือการประชุมสมัชชาใหญ่สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ของสหประชาชาติ จะมีข้อเสนออะไรต่อเวทีโลก เพราะในช่วงเวลาเช่นนี้โลกดูจะมีปัญหาต่างๆ รุมเร้าในทุกด้าน อันทำให้สหประชาชาติต้องมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาของโลกนั้น ส่งผลให้การประชุมครั้งนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสงคราม เช่น สงครามยูเครน สงครามกลางเมืองในซูดาน สงครามต่อต้านรัฐบาลทหารในเมียนมา เป็นต้น อีกทั้งยังมีปัญหาสำคัญที่ไม่ใช่เรื่องทางทหาร เช่น ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ปัญหาการพัฒนาและความยากจนในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา ปัญหาช่องว่างทางเพศ (Gender Gap) และรวมถึงปัญหาการศึกษาของเยาวชนโลก 

 

ปัญหาเหล่านี้มีสภาวะที่เป็นวิกฤตมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ท้าทายต่อบทบาทของสหประชาชาติในการแก้ไขอย่างมาก และยังท้าทายต่อบทบาทของเลขาธิการสหประชาชาติที่จะต้องผลักดันให้การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นได้จริงด้วย

 

ประเด็นและวาระการประชุม

 

สมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติคือองค์การหลักในกระบวนการทำนโยบายของสหประชาชาติ และประกอบด้วยทุกประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การนี้จำนวน 193 ประเทศ และประเทศในสหประชาชาติมีสถานะของการเป็นสมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน (Equal Representation) ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ (ประเทศสุดท้ายที่เข้าเป็นสมาชิกคือ ซูดานใต้ ในปี 2011) สำหรับเวทีการประชุมสมัชชาใหญ่นี้เป็นการประชุมประจำปี โดยจะครอบคลุมประเด็นสำคัญต่างๆ ที่ปรากฏในกฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) 

 

เวทีการประชุมใหญ่เช่นนี้ นอกจากจะเป็นความพยายามที่จะดำรงไว้ซึ่งสันติภาพระหว่างประเทศและเสถียรภาพระหว่างประเทศแล้ว เวทียังให้ความสนใจในเรื่องของการพิทักษ์สิทธิมนุษยชน การให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม การรักษากฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้งสนับสนุนแนวคิดในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) อีกด้วย ซึ่งประเด็นเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นหัวข้อที่ถูกตั้งเป็น ‘วาระสำคัญ’ มาตั้งแต่การประชุมสมัชชาใหญ่ในปี 2015 แล้ว

 

สำหรับการประชุมระหว่างวันที่ 18-19 กันยายนที่ผ่านมา ต้องถือว่าเป็น ‘หมุดหมายเวลาสำคัญ’ สำหรับการเดินทางสู่อนาคตของปี 2030 โดยจะต้องมีการผลักดัน ‘เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน’ (Sustainable Development Goals: SDGs) 17 ประการ ให้สามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง จนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ในปี 2030 ซึ่งหลายๆ ฝ่ายอาจจะมองว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่สหประชาชาติจะผลักดันวาระทั้ง 17 ประการให้บรรลุผลได้อย่างแท้จริงในอีก 7 ปีข้างหน้า

 

นอกจากการประชุมของผู้นำสูงสุดดังที่กล่าวไปแล้ว ยังมีการประชุมในวันที่ 20 กันยายน ในเรื่องเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเลขาธิการสหประชาชาติได้ตั้งชื่อว่า The Climate Ambition Summit เพราะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังสร้างผลร้ายอย่างน่ากังวลต่อความเป็นไปของโลกในอนาคต ดังจะเห็นได้ถึงความแปรปรวนของอากาศที่เกิดขึ้นกับหลายพื้นที่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาไฟป่าที่เกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วด้วย หรือปัญหาน้ำท่วมที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุดที่เมืองเดอร์นาในลิเบีย และมีผู้เสียชีวิตเกือบ 2 หมื่นคน เป็นต้น

 

ในการนี้ เลขาธิการสหประชาชาติตั้งความหวังว่า การจะรับมือกับความเร่งด่วนของปัญหา ‘วิกฤตอากาศ’ (Climate Crisis) ให้ได้นั้น จะต้องแสวงหาหนทางปฏิบัติใหม่ในเรื่องของอากาศ (New Climate Action) และข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาจะต้องวางอยู่บนเงื่อนไขทางธรรมชาติ (Nature-Based Solutions) ฉะนั้น วาระ ‘การประชุมสูงสุดเรื่องอากาศ’ เช่นนี้จึงเป็นเสมือนการยกระดับปัญหาและผลักดันแนวทางการแก้ไขปัญหาผ่านผู้นำในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ ภาคเมือง ภาคประชาสังคม และสถาบันการเงิน ให้เข้ามามีส่วนในการแก้ปัญหาวิกฤตชุดนี้ร่วมกัน เพราะปัญหาวิกฤตอากาศเป็นปัญหาในระดับโลก และกระทบกับทุกภาคส่วนของสังคมโลกด้วย

 

นอกจากนี้ ในวันดังกล่าวยังมีการประชุมในระดับสูงร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อเตรียมรับและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค (High-Level Meeting on Pandemic Prevention, Preparedness and Response) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และการประชุมเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับประชาชนในประเทศทางฝ่ายใต้ที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา ทั้งยังหวังว่าการประชุมดังกล่าวจะนำไปสู่การประกาศแนวทางทางการเมืองในเรื่องนี้ เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาในอนาคตด้วย

 

ส่วนวันที่ 21 กันยายนเป็นการประชุมในระดับรัฐมนตรี เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมใหญ่ในเดือนกันยายน 2024 (Preparatory Ministerial Meeting for the Summit of the Future) โดยมุ่งหวังที่จะจัดการกับความท้าทายที่สำคัญ ลดช่องว่างของปัญหาธรรมาภิบาลของโลก การผลักดันระบบพหุนิยมในเวทีโลกเพื่อให้เป็นผลประโยชน์ต่อชีวิตของประชาชนโดยรวม ตลอดรวมถึงการยืนยันถึงพันธะเดิมของรัฐในการดำเนินการตามเป้าหมาย 17 ประการของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

ในอีกส่วนหนึ่งของวันที่ 21 คือ การประชุมในระดับสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในงานด้านสาธารณสุขสำหรับประชาชนทั่วโลก (High-Level Meeting on Universal Health Coverage) อันมีนัยถึงการสร้างระบบสาธารณสุขอย่างถ้วนหน้า การดำเนินการเช่นนี้เป็นความหวังของการสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขในอนาคต ดังได้กล่าวแล้วว่าประเด็นนี้เป็นประโยชน์กับประชาชนในฝ่ายใต้โดยตรง เพราะการสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขยังเป็นประเด็นสำคัญของประเทศฝ่ายใต้ และยังเป็นการเดินตามแนวทางที่ได้ประกาศไว้แล้วในปี 2019 อีกด้วย

 

ประเด็นสืบเนื่อง

 

1. การทบทวน SDGs

 

การผลักดัน ‘เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน’ (SDGs) ซึ่งเป็นสิ่งที่สหประชาชาติเคยนำเสนอและผลักดันมาตั้งแต่ปี 2015 แล้ว แต่ก็เป็นที่รับรู้กันในความเป็นจริงว่า การขับเคลื่อน SDGs นั้นประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้น้อยมาก ดังนั้น ในการประชุมครั้งนี้จึงมีการตั้งกรอบเวลาว่า วัตถุประสงค์ของ SDGs จะต้องทำให้ประสบความสำเร็จให้ได้ภายในปี 2030 หรือในอีกราว 7 ปีข้างหน้า

 

ฉะนั้น เลขาธิการสหประชาชาติจึงได้เสนอว่า การประชุมผู้นำสูงสุดครั้งนี้จะเป็นการทำ ‘แผนกอบกู้โลก’ (Global Rescue Plan) เพราะมีสถานการณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นหลังจากปี 2015 และยังเผชิญกับข้อจำกัดเก่า โดยเฉพาะความต้องการในเรื่องของการสร้าง ‘สถาปัตยกรรมทางการเงินของโลก’ (Global Financing Architecture) ตลอดรวมถึงข้อถกเถียงในเรื่องของ ‘ธนาคารเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคี’ (Multilateral Development Bank) 

 

การแสวงหาข้อยุติในประเด็นเช่นนี้จะมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างโมเมนตัมของโลกที่จะขับเคลื่อนประเด็นของ SDGs รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องในเรื่องของวิกฤตอากาศของโลกด้วย อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยอมรับว่า การจะผลักดัน 17 ข้อของ SDGs ให้บรรลุเป้าหมายให้ได้ในปี 2030 คงไม่ใช่เรื่องง่าย ดังจะเห็นได้ว่า จากปี 2015 ที่สหประชาชาติประกาศการผลักดัน SDGs จนถึงปัจจุบันนั้น ประสบความสำเร็จที่บรรลุเป้าหมายเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น ซึ่งในเวลาอีก 7 ปีที่เหลือจะทำให้ประสบความสำเร็จได้จริงนั้น เป็นเรื่องที่ท้าทายในการผลักดันของเลขาธิการสหประชาชาติอย่างมาก เพราะแนวโน้มของหลายปัญหามีภาวะที่เป็นวิกฤตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความยากจน การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง วิกฤตอาหาร วิกฤตการศึกษา และปัญหาสงคราม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสงครามยูเครน หรือปัญหาสงครามกลางเมืองทั้งในซูดานและในเมียนมา เป็นต้น

 

2. การขยายบทบาทของโลกฝ่ายใต้ (The Global South)

 

ในการประชุมที่นิวยอร์กครั้งนี้ เราอาจจะเห็นถึงวาระที่เป็นทางการดังที่เรารับทราบกันจากสื่อ เช่น ปัญหาวิกฤตอากาศ วิกฤตอาหาร วิกฤตหนี้ระหว่างประเทศ วิกฤตสงคราม และปัญหาการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่สิ่งที่มาพร้อมกับการประชุมเช่นนี้ในอีกส่วนคือ ความพยายามของประเทศในฝ่ายใต้ที่ต้องการขับเคลื่อนทิศทางการเมืองโลก ดังนั้น ในระยะที่ผ่านมาทั้งหลังจากการระบาดใหญ่ของโควิดและการมาของสงครามยูเครน ประเทศฝ่ายใต้ได้แสดงออกถึงบทบาทเพื่อเป็นดัง ‘ทางเลือกใหม่’ ในเวทีระหว่างประเทศ

 

ดังจะเห็นได้ว่า ประเทศในฝ่ายใต้นี้ไม่ได้ตอบรับกับข้อเรียกร้องของประเทศฝ่ายเหนือ (The North) โดยเฉพาะทัศนะที่เห็นว่าระเบียบระหว่างประเทศ (ซึ่งมีลักษณะเป็น Rule-Based International Order) นั้น ดูจะเอื้อให้กับประเทศในฝ่ายเหนือมากกว่า เช่น ผู้นำประเทศเหล่านี้เชื่อว่าพลวัตและปัญหาเศรษฐกิจ สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่อยู่ในอำนาจของประเทศฝ่ายใต้แต่อย่างใด ประเทศเหล่านี้ยังเห็นอีกด้วยว่าประเทศมหาอำนาจของโลกไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป จีน และรัสเซีย ไม่ได้มีความจริงใจในการช่วยเหลือและแก้ปัญหาของประเทศฝ่ายใต้ หากแต่ต้องการเสียงโหวตในเวทีระหว่างประเทศ อีกทั้งต้องการทรัพยากร ความภักดี และความผูกพัน 

 

ฉะนั้น ข้อเรียกร้องของประเทศฝ่ายใต้ในปัจจุบันจึงได้แก่

 

  1. สนับสนุนทางด้านงบประมาณในการต่อสู้กับปัญหาวิกฤตอากาศ ความยากจนทางเศรษฐกิจ ความขาดแคลนด้านพลังงาน และการผ่อนชำระหนี้ระหว่างประเทศ

 

  1. การมีที่นั่งในสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ที่จะมีส่วนในการกำหนดทิศทางและนโยบายทางเศรษฐกิจต่อประเทศฝ่ายใต้ (หรือในความหมายคือประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตกทั้งหลาย)

 

เสียงเรียกร้องที่มาพร้อมกับการขยายบทบาทของประเทศในฝ่ายใต้ที่อาจนำโดยอินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้ เป็นภาพสะท้อนในเรื่องนี้ หรือประเทศเหล่านี้พยายามที่จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาสงครามยูเครนด้วยการงดออกเสียงในเวทีสหประชาชาติ ฉะนั้น การขยับตัวของประเทศฝ่ายใต้ในเวทีโลกจึงเป็นประเด็นที่เห็นชัดเจนขึ้นในการประชุมครั้งนี้ และเป็นประเด็นที่ต้องติดตามดูต่อการกำหนดสถานการณ์โลกในอนาคตด้วย

 

3. การใช้ประโยชน์จากโลกดิจิทัลเพื่อการพัฒนา

 

นอกเหนือจากประเด็นหลักดังที่กล่าวแล้ว การประชุมสหประชาชาติในครั้งนี้พยายามที่จะนำเสนอวาระในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของโลก เช่นคำถามว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วของโลกจะเสริมสร้างแนวทางการแก้ปัญหาที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง หรือแนวทางที่มีสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐานได้อย่างไร ดังจะเห็นจากประสบการณ์ของประเทศยูเครนในสงครามที่รัฐบาลเคียฟพยายามให้การช่วยเหลือประชาชนผ่านระบบดิจิทัล แม้จะมีสถานการณ์สงครามเป็นภาวะแวดล้อมก็ตาม

 

รัฐบาลยูเครนได้จัดสร้างระบบดิจิทัลชื่อ ‘เทรมบิตา’ (Trembita) ขึ้นในปี 2019 ก่อนที่รัสเซียจะเปิดการโจมตีในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ระบบนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาลผ่านอุปกรณ์ของตนเอง และเป็นระบบที่ช่วยเหลือและช่วยอำนวยความสะดวกทั้งแก่ฝ่ายรัฐและฝ่ายประชาชนในยามสงครามอย่างมาก เช่น การรายงานความเสียหายจากการโจมตีของรัสเซีย การช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้พลัดถิ่นยามสงคราม ตลอดรวมถึงการรายงานความเคลื่อนไหวทางทหารของรัสเซีย 

 

สิ่งสำคัญที่เห็นได้จากกรณีนี้คือ การติดต่อสื่อสาร การให้ความช่วยเหลือ และการบริการของภาครัฐในยูเครน เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างมาก แม้จะเป็นในยามสงครามก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่สร้างขวัญและกำลังใจสำหรับชาวยูเครนในการต่อสู้กับการรุกรานของรัสเซียด้วย เพราะทำให้ประชาชนมีความผูกพันกับรัฐบาลเคียฟ

 

ปัญหาและอุปสรรคในอนาคต

 

นอกเหนือจากประเด็นทั้ง 3 ที่ยกมาข้างต้นแล้ว ยังมีประเด็นเกี่ยวข้องทั้งในเรื่องปัญหาการจัดความเร่งด่วนของการพัฒนาในทวีปแอฟริกา ปัญหาที่เกี่ยวพันกันระหว่างสภาพภูมิอากาศ การศึกษา และเพศสภาพ ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนอีกส่วน และเป็นเรื่องที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด ปัญหาเร่งด่วนอีกส่วนที่เป็นประเด็นใหญ่ของโลกคือ ความหิวโหยที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโควิด และเป็นเรื่องด่วนของปัญหาในทวีปแอฟริกาด้วย

 

เมื่อพิจารณาจากข้อเสนอที่ถูกผลักดันจากเวทีการประชุมในครั้งนี้ที่มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการแก้ปัญหาวิกฤตของโลกนั้น ความหวังที่จะทำ SDGs ให้บรรลุเป้าหมายในปี 2030 ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และอุปสรรคสำคัญเฉพาะหน้าอีกส่วนคือ การต่อสู้และแข็งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ในเวทีโลก ที่ทำให้โลกเกิดปัญหาเสถียรภาพและความมั่นคงอย่างมาก 

 

อย่างไรก็ตาม การชูประเด็น SDGs ของสหประชาชาติในครั้งนี้ก็เป็นความหวังที่จะทำให้รัฐต่างๆ ในเวทีโลกตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา และยังเป็นการยืนยันว่า สหประชาชาติไม่ละเลยต่อปัญหาที่เกิดในโลกฝ่ายใต้ โดยเฉพาะปัญหาของประเทศในทวีปแอฟริกา ไม่ใช่ยุ่งและติดพันอยู่กับปัญหาของโลกฝ่ายเหนือเท่านั้น!

 

ภาพ: Liu Guanguan / China News Service / VCG via Getty Images

 

ความท้าทายต่อรัฐบาลไทยในอนาคต

 

การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่กรุงเทพฯ สอดรับกับการประชุมของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติพอดี การประชุมที่นิวยอร์กในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสให้ผู้นำใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งได้เปิดตัวในเวทีโลก แม้ว่าก่อนหน้านี้ในเวทีการประชุมสูงสุดของผู้นำอาเซียน ผู้นำไทยจะยังไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมได้ เนื่องจากในวันดังกล่าวเป็นวันถวายสัตย์ปฏิญาณของการเป็นรัฐบาล

 

เวทีสหประชาชาติได้กลายเป็นโอกาสทั้งทางการเมือง การทูต และเศรษฐกิจ ที่จะใช้สำหรับการขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคต เนื่องจากในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 (2014) นั้น สถานะของรัฐบาลทหารไทยหลังปี 2014 หรือแม้จะผ่านการเลือกตั้งในปี 2019 แต่ก็มีสถานะของการเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจเพราะผู้นำรัฐบาลมาจากการรัฐประหาร ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในเวทีสากลเท่าที่ควร ประกอบกับด้วยความเป็นทหารที่ไม่คุ้นเคยกับงานในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ บทบาทของผู้นำประเทศที่เป็นทหารที่ไม่สามารถ ‘เล่น’ ในเวทีระหว่างประเทศได้ จึงเสมือนกับทำให้ไทยหายไปจาก ‘จอเรดาร์โลก’ ไปโดยปริยาย

 

ในเงื่อนไขเช่นนี้ บทบาทของไทยจึงไม่มีความโดดเด่นที่จะเป็น ‘จุดขาย’ และดูจะเปรียบเทียบไม่ได้เลยกับบทบาทของอินโดนีเซียและเวียดนาม ประกอบกับในอีกด้าน ไทยถูกมองว่าเป็นประเทศที่ ‘ติดกับดักทหาร’ ที่มีสถานะไม่ต่างจากเมียนมา แม้ในรายละเอียดอาจจะดูดีกว่าเมียนมา เนื่องจากไทยไม่มีสถานการณ์สงครามกลางเมืองที่มีความรุนแรงก็ตาม แต่ก็ถูกมองว่าการเมืองไทยยังมีปัญหาเสถียรภาพของการเมืองภายในค่อนข้างมาก

 

ดังนั้น การเดินทางเข้าร่วมการประชุมใหญ่สหประชาชาติของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่น่าจะเป็นบวก ทั้งยังจะเป็นโอกาสอีกส่วนให้ผู้นำไทยพบกับกลุ่มนักธุรกิจและนักลงทุนจากสหรัฐฯ ที่วันนี้พวกเขาอาจต้องแสวงหาพื้นที่การลงทุนในเอเชียที่เหมาะสม และสอดรับกับปัญหาการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งหากผู้นำไทยสามารถดึงการลงทุนในส่วนนี้มาได้ ก็จะเป็นส่วนสำคัญของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในยุคหลังโควิดและยุคสงครามยูเครน

 

ฉะนั้น หลังการประชุมสหประชาชาติเสร็จสิ้นลงแล้ว สิ่งที่ ‘รัฐบาลเศรษฐา 1’ จะต้องทำให้ได้คือ การเก็บเกี่ยวผลจากการเดินทางครั้งนี้ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องพยายามดึงการลงทุนระหว่างประเทศให้กลับเข้ามาเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ได้ 

 

การดำเนินการเช่นนี้ท้าทายต่อรัฐบาลไทยอย่างมาก และยังรวมถึงการผลักดันเรื่อง SDGs ในไทย ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้นำไทยได้กล่าวเป็นคำมั่นในเวทีสหประชาชาติ รวมถึงการผลักดันการแก้ไขปัญหาวิกฤตอากาศและการใช้พลังงานสะอาด ที่เป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดรวมถึงปัญหาสิทธิมนุษยชน และปัญหาความเท่าเทียมทางเพศ อีกทั้งยืนยันว่า รัฐบาลไทยจะให้ความสำคัญกับ ‘สันติภาพ ประชาชน และโลก’ เพื่ออนาคตร่วมกัน (คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 กันยายน คือ “Peace, People and Planet”) 

 

ปัญหาเฉพาะหน้าคือ รัฐบาลไทยจะขับเคลื่อนประเด็นที่ถูกนำเสนอในเวทีโลกดังกล่าวอย่างไร เพราะภายใต้เงื่อนไขของ ‘เศรษฐกิจการเมืองไทย’ ในแบบที่เป็นอยู่นั้น ไม่ง่ายเลย…ว่าที่จริงแล้ว เรื่องนี้เป็นความท้าทายที่ไม่แตกต่างกันในการผลักดันการปฏิบัติระหว่างเลขาธิการสหประชาชาติกับนายกรัฐมนตรีไทย เพราะการกล่าวถึงหลักการในภาพรวมอาจดูเป็นภาพที่สวยหรู แต่การขับเคลื่อนคำมั่นเหล่านี้จะเป็นบททดสอบนายกรัฐมนตรีอย่างแท้จริง และคำกล่าวเหล่านี้จะต้องไม่เป็นเพียง “วาทะหรูๆ” ที่นิวยอร์กเท่านั้น

 

อีกส่วนในเชิงภาพลักษณ์นั้น การเดินทางครั้งนี้คือการนำเสนอภาพของผู้นำคนใหม่ของไทยที่เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่คณะที่สืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหาร เนื่องจากผู้นำทหารเดิมอาจไม่ตระหนักว่า การยึดอำนาจไม่ใช่สิ่งที่สอดรับกับบรรทัดฐานของการเมืองโลกที่เน้นในเรื่องของประชาธิปไตย…ภาพของผู้นำประเทศที่ ‘สวมเครื่องแบบ’ คือตัวแทนการเมืองของประเทศด้อยพัฒนา ภาพลักษณ์ดังกล่าวไม่ใช่ ‘สินค้าทางการเมือง’ ที่จะนำเสนอขายในเวทีโลกของศตวรรษที่ 21 ได้เลย และเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ไทยต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศไปในทางที่ ‘นิยมตะวันออก’ เพื่อการแสวงหาการสนับสนุนทางการเมืองในยุคหลังรัฐประหาร

 

อย่างไรก็ตาม อาจต้องถือเรื่องภาพลักษณ์ของผู้นำคนใหม่ของรัฐบาลไทยในเวทีสหประชาชาติเช่นนี้ เป็นปัจจัยเชิงบวกในการทำ ‘PR’ สำหรับประเทศไทยในอนาคต และการสร้างบทบาทผ่านเวทีสากลเช่นนี้จะช่วยให้ประเทศกลับมาอยู่ใน ‘จอเรดาร์’ ของโลกอีกครั้ง พร้อมกับจะต้องผลักดันคำแถลงในเวที UN ให้ได้ด้วย!

 

หมายเหตุ: ดูคำแถลงของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน บนเวทีสหประชาชาติ ในวันที่ 22 กันยายน 2023 ได้จากเว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X