ผมเคยทำงานในบริษัทที่มีเพื่อนร่วมงานเป็นคนญี่ปุ่น หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าชอบเมืองไทย นอกจากอาหารที่อร่อยแล้ว พวกเขายังชื่นชมความ ‘ยืดหยุ่น’ ในสังคมไทย เพื่อนคนหนึ่งเคยตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ว่า “It seems that your society consists of both ‘BTS people’ and ‘on-the-street people,’ but they appear to move freely between the two.”
ประโยคนี้ทำให้ผมตั้งคำถามว่า จริงหรือไม่ที่สังคมไทยเปิดโอกาสให้คนสามารถเคลื่อนตัวขึ้นลงในโครงสร้างทางสังคมได้อย่างเสรี หรือแท้จริงแล้วความยืดหยุ่นนี้เป็นเพียงภาพลวงตาที่ซ่อนปัญหาเชิงโครงสร้างเอาไว้ บทความนี้จะพาผู้อ่านสำรวจคำถามสำคัญนี้ไปด้วยกัน
จากข้อมูล Social Mobility Index ในปี 2020 ของ World Economic Forum ไทยมีคะแนนการเลื่อนชั้นทางสังคมอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค และประเทศที่อยู่ในระดับการพัฒนาเดียวกัน Social Mobility Index ของไทยอยู่ที่ 55.4 ต่ำกว่าสิงคโปร์ (74.6) มาเลเซีย (62) หรือแม้กระทั่งเวียดนาม (57.8)
ข้อจำกัดในการเลื่อนชั้นทางสังคมสะท้อนปัญหาการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจ Muthitacharoen and Burong (2023) จัดกลุ่มคนไทยตามระดับรายได้ (จากฐานข้อมูลการจ่ายภาษี) แล้วคำนวณว่าคนไทยในแต่ละระดับรายได้มีโอกาสเลื่อนชั้นมากแค่ไหน จากภาพที่ 1 ผู้วิจัยพบว่าคนไทยในกลุ่มรายได้ต่ำสุด 10% แรกมีโอกาสตกอยู่ในกลุ่มรายได้เดิมต่อไปถึงเกือบ 65% ในช่วงปี 2014-2018 เพิ่มสูงขึ้นมาจากประมาณ 60% ในช่วงปี 2009-2013 กล่าวคือ คนไทยที่มีรายได้น้อยที่สุด 10% แรกมีโอกาสน้อยกว่าครึ่งที่จะเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจ และสถานการณ์กำลังเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ
ภาคธุรกิจก็สะท้อนภาพที่คล้ายคลึงกัน หากนำข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามาสำรวจดูว่าธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาสเลื่อนชั้นขึ้นเป็นธุรกิจขนาดใหญ่มากแค่ไหน จะพบว่าธุรกิจขนาดเล็กที่มีศักยภาพมีโอกาสเลื่อนชั้นเป็นธุรกิจขนาดใหญ่เพียง 4-5% ในช่วงปี 2013-2019 แม้โอกาสจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงโควิด ซึ่งน่าจะเป็นผลจากนโยบายช่วยเหลือจากภาครัฐในช่วงเวลาดังกล่าว แต่เมื่อหมดความช่วยเหลือแล้วโอกาสในการเลื่อนชั้นกลับตกลงมาที่เพียง 3.5% ในปี 2022
น่าสังเกตว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่ 30-40 ปีที่ผ่านมา อาจทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณ 6.0% ต่อปี แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ ‘คุณภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจ’ ที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในระดับชั้นรองลงมาขยับสูงขึ้นได้มากเท่าที่ควร เศรษฐกิจไทยจึงแยกออกเป็น ‘โลกสองใบ’
เศรษฐกิจไทยแบ่งออกเป็นโลกสองใบใน 3 มิติ คือ ‘อ่อน-แข็ง’ ‘เก่า-ใหม่’ และ ‘ใหญ่-เล็ก’
มิติที่ 1: อ่อน-แข็ง
โลกสองใบของครัวเรือนที่มีฐานะการเงินอ่อนแอกับที่มีฐานะการเงินเข้มแข็ง จากบทความเรื่อง ‘ปฏิรูปจากแรงจูงใจ’ เราพูดคุยกันว่าครัวเรือนไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงความมั่งคั่งรุนแรงมาก โดยครัวเรือนที่มีฐานะการเงินอ่อนแอมีรายได้ไม่พอรายจ่ายและมีรายได้เข้ามาไม่สม่ำเสมอ เมื่อครัวเรือนที่มีฐานะการเงินอ่อนแอเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้ขาดรายได้ พวกเขาจะได้รับผลกระทบมากกว่าและฟื้นตัวช้ากว่าครัวเรือนที่มีฐานะการเงินเข้มแข็ง
วิกฤตโควิดเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน หากเรานำข้อมูลครัวเรือนที่มีหนี้มาจัดกลุ่มตามระดับรายได้ อาชีพ และสถานะการทำงาน แล้วประเมินว่าครัวเรือนจะใช้ระยะเวลาแค่ไหนในการฟื้นตัวจากปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย จะพบว่าครัวเรือนที่ฟื้นตัวช้าเป็นครัวเรือนรายได้น้อยในภาคเกษตรและภาคบริการที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน และครัวเรือนในภาคอุตสาหกรรมที่มีรายได้น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ในทางตรงข้าม ครัวเรือนที่ฟื้นตัวได้เร็วเป็นครัวเรือนรายได้สูง
มิติที่ 2: เก่า-ใหม่
โลกสองใบของภาคการผลิตโลกเก่ากับโลกใหม่ ภาคการผลิตโลกเก่าไม่ได้เติบโตไปกับกระแสการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี หรือจะเผชิญความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ ขณะที่ภาคการผลิตโลกใหม่มีโอกาสเติบโตตามการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์และได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงที่น้อยกว่า
มิติที่ 3: ใหญ่-เล็ก
โลกสองใบของธุรกิจใหญ่กับธุรกิจเล็ก ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่ากำไรของธุรกิจขนาดเล็กมีความผันผวนมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ถึงสองเท่า โดยเฉพาะในช่วงโควิด จากภาพที่ 5 จะเห็นได้ชัดว่ารายได้ของธุรกิจขนาดใหญ่ในช่วงโควิดไม่ได้ลดลงเลย และสามารถเติบโตได้เกือบ 10% หลังจากวิกฤตสิ้นสุดลง ในทางตรงข้าม รายได้ของธุรกิจขนาดเล็กหดตัวประมาณ 2-3% ในช่วงโควิด และยังไม่ฟื้นกลับมาที่เดิม
ปลายทางของโลกสองใบ
หากเราปล่อยให้โลกสองใบยังคงอยู่ต่อไป โลกสองใบจะแยกออกจากกันมากขึ้น เพราะไม่เกิดการเลื่อนชั้น ก็จะมีคนจำนวนมากที่ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ขาดโอกาสพัฒนาทักษะเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานทักษะสูง และถ้าธุรกิจขนาดเล็กเข้าไม่ถึงทรัพยากรและโอกาสในการแข่งขัน ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่แข่งอย่างไรก็ชนะ ก็จะไม่มีใครมีแรงจูงใจที่จะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว เมื่อเศรษฐกิจและรายได้ของคนในประเทศไม่เติบโต ก็จะยิ่งมีคนหรือธุรกิจที่ประสบปัญหาทางการเงินและตกชั้นลงมาที่โลกใบรองมากขึ้น
ดังนั้นถ้าปล่อยให้อยู่ต่อไป โลกสองใบจะถ่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยให้ชะลอลง โดย World Economic Forum ประเมินว่าการที่ดัชนี Global Social Mobility Index ปรับแย่ลงทุก 1 คะแนน ไทยจะสูญเสียโอกาสในการเติบโตคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 0.1% ของ Nominal GDP ไทย
เมื่อคนส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง พวกเขาจะแก่งแย่งเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เหลืออยู่ เมื่อนั้นก็จะขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ เกิดความขัดแย้ง และท้ายที่สุด การมีโลกสองใบของเศรษฐกิจไทยจะไม่ใช่ปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่จะกลายเป็น ‘ปัญหาทางสังคม’ ของประเทศไทย
การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ลดระยะห่างระหว่างโลกสองใบ
แล้วการพัฒนาแบบใดที่เศรษฐกิจไทยต้องการ? เราต้องการการพัฒนาที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปพร้อมกับการลดระยะห่างระหว่างโลกสองใบ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้หากการเติบโตทางเศรษฐกิจมีคุณภาพ 3 ประการดังต่อไปนี้
คุณภาพที่ 1 คนในระบบเศรษฐกิจควรมีภูมิคุ้มกันต่อสถานการณ์เลวร้าย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่มั่นคงให้คนในโลกใบรองออกไปคว้าโอกาสในการเติบโต ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนจากโลกใบรอง ผู้ดำเนินนโยบายมีบทบาทเป็นกลไกเสริมผ่านการช่วยเหลือทางสังคมและประกันทางสังคม ควบคู่ไปกับการออกแบบกติกาในภาคการเงินเพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาตลาดประกันภัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็ก
แม้ตลาดประกันภัยในไทยจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในระดับการพัฒนาเดียวกัน แต่ปัจจุบันครัวเรือนรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงประกันภัยได้อย่างเหมาะสม ส่วนหนึ่งมาจากอุปสรรคด้านข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมบูรณ์ในการประเมินความเสี่ยง ทำให้การจัดทำสัญญาประกันไม่คุ้มค่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยง ทั้งการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลและ Remote Sensing ช่วยให้ผู้รับประกันเข้าถึงข้อมูลที่แม่นยำและหลากหลายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ACRE Africa ที่ประสบความสำเร็จในการออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยพืชผลในประเทศแถบแอฟริกาตะวันออก สำหรับไทย ความหลากหลายระหว่างพื้นที่ทั้งในแง่ของประเภทของผลผลิตทางการเกษตรและช่วงเวลาเพาะปลูกจะเอื้อให้บริษัทประกันสามารถกระจายความเสี่ยงในการรับประกันภัยได้ดียิ่งขึ้น
คุณภาพที่ 2 คนในระบบเศรษฐกิจควรเติบโตจากการพัฒนาและปรับตัวให้ทันกับภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ที่กำลังเปลี่ยนไป
ในการสนับสนุนให้คนจากโลกใบแรกปรับตัวและพัฒนาให้ทันภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ ผู้ดำเนินนโยบายจะเป็นกลไกเสริมผ่านการหาโอกาสทางธุรกิจผ่านการเจรจาทางการค้าและการลงทุนกลับมาให้ธุรกิจภายในประเทศ มองไปข้างหน้า ห่วงโซ่การผลิตโลกเปลี่ยนแปลงไปจากผลของความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ไทยยังมีโอกาสที่จะเชื่อมต่อเข้ากับห่วงโซ่การค้าที่กำลังเปลี่ยนไป หากสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน ปรับกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนให้กระชับและยืดหยุ่น และพัฒนาระบบการเงินเพื่อส่งเสริมการระดมทุนเพิ่มเติม
คุณภาพที่ 3 ทุกคนในระบบเศรษฐกิจควรมีโอกาสในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและเติบโตไปพร้อมกัน
เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและเติบโตไปพร้อมกัน ผู้ดำเนินนโยบายจะมีบทบาทในฐานะผู้ออกแบบกติกาของการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจและการแข่งขัน เพื่อการสร้างโอกาสให้คนจากโลกใบรองเข้าถึงทรัพยากร สามารถแข่งขันและเติบโตได้ นั่นคือ
- โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะทรัพยากรทางการเงิน คนตัวเล็กมักเผชิญข้อจำกัดในการบริหารสภาพคล่องทางการเงินและการเข้าถึงเงินลงทุน OECD (2020) ชี้ว่าระบบการเงินไทยยังไม่ได้รองรับการระดมทุนที่รองรับคนตัวเล็ก ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่าคนตัวใหญ่ โดยเฉพาะการระดมทุนผ่านตราสารทุน เช่น Equity Crowdfunding และ Private Equity การพัฒนาระบบการเงินเพื่อเพิ่มความลึกและหลายของช่องทางการระดมทุนที่สอดคล้องกับผลตอบแทนและความเสี่ยงของคนตัวเล็ก จะช่วยเพิ่มโอกาสให้พวกเขาเข้าถึงทรัพยากรทางการเงินได้
- โอกาสในการแข่งขัน จากการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของคนตัวเล็ก เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาด ณ ต้นทุนที่เข้าถึงได้มากขึ้น ลดกฎระเบียบที่สร้างต้นทุนที่ไม่จำเป็น ปรับปรุงกฎหมายที่ส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าให้ทันต่อบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปและบังคับใช้อย่างโปร่งใส รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายล้มละลายให้มีประสิทธิภาพและให้โอกาสคนตัวเล็กที่แพ้ได้กลับเข้าสู่ตลาด
วันนี้เราตั้งต้นแก้ปัญหาโลกสองใบในวันที่เศรษฐกิจไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง ลำพังการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจด้วยกลไกตลาดภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและโครงสร้างแรงจูงใจในปัจจุบันยังไม่อาจสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพครบ 3 ประการ ดังนั้นผู้ดำเนินนโยบายจึงต้อง ‘ปรับกติกา’ หรือโครงสร้างแรงจูงใจไปพร้อมกับการเป็น ‘กลไกเสริม’ ที่มาทดแทนบางตลาดที่ไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรให้เกิดการเติบโตที่มีคุณภาพได้
การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ
เศรษฐกิจไทยโลกสองใบไม่ใช่เรื่องที่ควรเคยชินและยอมรับ แต่เป็นปัญหาที่เราต้องตระหนักและหาทางลดระยะห่างระหว่างโลกสองใบให้ใกล้กันมากขึ้นให้ได้ เพราะแม้จุดตั้งต้นจะต่างกัน แต่คนไทยทุกคนควร ‘ได้รับโอกาส’ ในการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจ โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา โอกาสที่จะมีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ดี จนกระทั่งจากโลกนี้ไปด้วย ‘ความรู้สึกพอใจในชีวิต’
และนั่นคือ ‘การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ’ ที่ประเทศไทยต้องการ
ภาพ: Hiroshi Watanabe / Getty Imgaes
อ้างอิง: