ผ่านเดือนแรกของปีไปแบบนิ่งๆ แต่มีสั่นๆ ช่วงปลายเดือน หลายปัจจัยที่เป็นโมเมนตัมต่อเนื่องจากปีที่แล้วยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความกังวลที่มาจากนโยบาย America First, ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็น่าจะมาพร้อมกับ Executive Order หรือประกาศฉุกเฉินในการใช้อำนาจประธานาธิบดีโดยไม่ต้องผ่านสภา โดยมีเป้าหมายหลักๆ คือจัดการผู้อพยพ และขึ้นภาษีนำเข้าจากเม็กซิโก แคนาดา และจีน ถัดมาก็น่าจะเป็นเรื่องทิศทางของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกว่าจะรับมือกับสงครามการค้าครั้งใหม่อย่างไร
สำหรับในประเทศไทยถือว่าเป็นช่วงจับจ่ายใช้สอยตามนโยบายรัฐบาล เช่น ช้อปดีมีคืน และแจกเงิน 10,000 บาทสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งน่าจะช่วยเรื่องการบริโภค แต่ไม่น่าจะช่วยภาพรวมการลงทุนมากนัก
สำหรับสถานการณ์ตลาดหุ้น ภาพรวมตลาดหุ้นต่างประเทศในเดือนมกราคม (ณ วันที่ 30 มกราคม) ให้ผลตอบแทนเชิงบวก โดยดัชนี MSCI ACWI ให้ผลตอบแทนเป็นบวกที่ 3.3% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จากผลตอบแทนเชิงบวกในตลาดหุ้นหลักอย่างตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขณะที่ดัชนี Dow Jones ให้ผลตอบแทนเชิงบวกในระดับ 4.7% ทำผลตอบแทนได้ดีกว่า S&P 500 และ Nasdaq จากการที่หุ้น Value ทำได้ดีกว่าหุ้น Growth
สำหรับตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในเดือนมกราคมคือตลาดในกลุ่มประเทศยุโรป อย่างประเทศเยอรมนีที่ดัชนี DAX ให้ผลตอบแทนเป็นบวก 9.2% และดัชนี CAC 40 ของฝรั่งเศส ที่ให้ผลตอบแทนเชิงบวกราว 7.7% ขณะที่ดัชนี FTSE 100 ของอังกฤษ ให้ผลตอบแทนราว 6.1% แต่สำหรับกลุ่มในประเทศเอเชียอย่างญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนติดลบ หลังจากที่ BOJ ขึ้นดอกเบี้ย
ปัจจัยสำคัญในเดือนมกราคมคือการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่สร้างความไม่แน่นอนทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่ง โดยเฉพาะดัชนีภาคบริการของสหรัฐฯ ที่สูงสุดในรอบ 2 ปี รวมถึงข้อมูลตลาดการจ้างงานที่ดีกว่าคาด ทำให้มุมมองการลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในปีนี้อาจมีโอกาสแค่ครั้งเดียวหรืออาจไม่ลดเลย โดยเมื่อวันที่ 29 มกราคม Fed มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 4.50% ตามคาด พร้อมส่งสัญญาณไม่รีบลดอัตราดอกเบี้ย
อีกประเด็นคือ การมาของ AI จากประเทศจีนชื่อ DeepSeek และ Qwen2.5 จาก Alibaba ที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าหรือเหนือกว่า ChatGPT โดยที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก ทำให้ตลาดหุ้น Nasdaq เจอกับความผันผวนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะหุ้น Chips Maker เช่น NVIDIA ปรับตัวลงอย่างรุนแรง สำหรับตลาดในยุโรป ดัชนีปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นจากเศรษฐกิจที่มีสัญญาณฟื้นตัวจากภาคการผลิต รวมถึงผลประกอบการกลุ่มสินค้าแบรนด์หรูที่เกี่ยวข้องกับเครื่องประดับและนาฬิกาที่ดีกว่าคาด และการที่ทรัมป์ยังไม่มีการส่งสัญญาณขึ้นภาษีกับยุโรป ทำให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปยังดีอยู่
ขณะที่ตลาดฝั่งเอเชียอย่างตลาดญี่ปุ่นปรับตัวลดลง -0.8% จากการที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวขึ้น ด้านตลาดจีนและฮ่องกงได้รับปัจจัยบวกจากการที่รัฐบาลจีนสั่งการให้กองทุนหุ้นและบริษัทประกันเพิ่มสัดส่วนการลงทุนหุ้นสามัญในประเทศ โดยจะเพิ่มสัดส่วน 10% ทุกปีภายใน 3 ปีสำหรับกองทุนรวม และสำหรับกองทุนประกันต้องจัดสรรเงินลงทุน 30% ของรายได้จากเบี้ยประกันใหม่ (New Premium Revenue) ในการลงทุนหุ้นภายในประเทศจีน อีกทั้งมีการเพิ่มสภาพคล่องจาก BOC ราว 2.2 ล้านล้านหยวน ผ่านตลาดรับซื้อคืนพันธบัตรประเภทไม่เกิน 14 วัน
สำหรับตลาดหุ้นไทยในเดือนมกราคมปรับตัวลดลงราว 6.1% ตลาดโดยรวมยังคงดูอ่อนแอในเกือบทุกอุตสาหกรรม ยกเว้นกลุ่มธนาคารที่ได้รับประโยชน์จากเม็ดเงินไหลออกจากอุตสาหกรรมอื่น และจากผลกำไรที่คาดว่าจะยังดีอยู่ ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มอัตราการจ่ายปันผลและการซื้อหุ้นคืน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นในสภาวะที่มีการเติบโตต่ำ นอกจากนี้ ตลาดยังคงไร้ปัจจัยใหม่เข้ามาเสริมนอกเหนือไปจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างช้อปดีมีคืนและเงินดิจิทัลเฟส 2
มุมมองการลงทุนในเดือนกุมภาพันธ์ ยังคงมีมุมมองเป็นบวกในตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกยังมีมุมมองที่ปรับตัวลง ในขณะที่หุ้นทุนดูเหมือนจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากสงครามการค้าที่อาจปะทุขึ้นเมื่อไรก็ได้ นอกนั้นยังคงเป็นปัจจัยเดิมคือภาวะตึงเครียดในตะวันออกกลางและยูเครน สิ่งที่ต้องจับตาและตลาดให้ความสำคัญคือการเริ่มนโยบายของทรัมป์ในการขึ้นภาษีนำเข้าประเทศอื่นเพิ่มเติม การรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 4 ของไทย และติดตามการประชุมธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก
พอร์ตการลงทุนเดือนกุมภาพันธ์ SET Index อยู่ในระดับที่ต่ำมาก พอร์ตการลงทุนยังควรที่จะมีหุ้น 50% แต่มีมุมมองที่ระมัดระวังมากขึ้น โดยแบ่งเน้นที่สหรัฐฯ 15% ส่วนยุโรปและญี่ปุ่น รวมกัน 15%, เวียดนาม อินเดีย และไทย รวมกันไม่เกิน 15% และจีน 5% ตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% แบ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 15%, ตราสารหนี้ระยะกลางของเอกชนที่อยู่ในระดับ Investment Grade 15% และตลาดเงิน 10% ที่เหลือลงทุนในทอง น้ำมัน และ REIT รวมกันเป็น 10%
ภาพ: Steve Christensen / Getty Images