×

ว่าด้วยภาษีเงินได้ตัดคืน (Toward Negative Income Tax)

30.08.2024
  • LOADING...

การเป็นองค์ปาฐกของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่ปรึกษาส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ในงาน Vision for Thailand 2024 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย โดยเฉพาะเนื้อหาสาระที่คุณทักษิณเสนอไว้ แต่หัวข้อหนึ่งที่กระตุ้นความสนใจของสังคมส่วนรวมพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นฟากของนักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย หรือสถาบันวิจัย ก็คือภาษีเงินได้ตัดคืน หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Negative Income Tax

 

จุดเริ่มต้นของแนวคิดภาษีเงินได้ตัดคืนเกิดจากตำราเรื่อง Capitalism and Freedom ที่ตีพิมพ์เมื่อคริสต์ศักราช 1962 ของศาสตราจารย์มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวถูกเชื่อว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการบรรเทาปัญหาความยากจน และนำมาซึ่งประโยชน์เพิ่มเติมที่เหนือกว่ามาตรการบรรเทาปัญหาความยากจนอื่นๆ ที่ใช้กันในปัจจุบัน

 

กลไกการทำงานของภาษีเงินได้ตัดคืนมิได้มีความสลับซับซ้อน เพียงแต่เป็นการพึ่งพากลไกการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ใช้กันทุกวันนี้ กล่าวคือ ภาษีเงินได้ตัดคืนเป็นการใช้เงินได้สุทธิเป็นตัวกำหนดว่าใครหรือผู้ใดที่สมควรจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐหากมีเงินได้สุทธิต่อปีน้อยกว่าที่รัฐกำหนดไว้ กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า หากบุคคลมีเงินได้สุทธิถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บุคคลดังกล่าวก็จะต้องจ่ายภาษีตามอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่หากบุคคลใดก็ตามกลับมีเงินได้สุทธิต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้เสียภาษีเงินได้ รัฐจะพิจารณาว่าบุคคลผู้นั้นกำลังเผชิญหรือประสบกับภาวะความยากจนที่รัฐจำเป็นที่จะต้องมีบทบาทเข้าไปปัดเป่าบรรเทาความทุกข์ร้อนด้วยการมอบเงินช่วยเหลือตัดคืนไปให้ตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ อัตราหรือจำนวนที่ตัดคืนไปจะอ้างอิงกับระดับเงินได้สุทธิและอัตราตัดคืนที่กฎหมายกำหนดบนพื้นฐานของกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายกำหนดว่าเงินได้สุทธิตั้งแต่ 150,001 บาทเป็นต้นไป จะต้องเริ่มต้นเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ดังนั้นเกณฑ์เริ่มต้นของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่ากับ 150,001 บาท แต่หากรัฐบังคับใช้นโยบายภาษีเงินได้ตัดกลับ โดยกำหนดให้บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้สุทธิเท่ากับหรือต่ำกว่า 150,000 บาท จะได้รับภาษีเงินได้ตัดคืนในอัตราร้อยละ 50

 

หากนายสมชายมีเงินได้สุทธิเท่ากับ 80,000 บาท รัฐจะให้เงินชดเชยผ่านกลไกของภาษีเงินได้ตัดคืนเท่ากับส่วนต่างของเกณฑ์เริ่มต้นกับเงินได้สุทธิของนายสมชาย หรือ 70,000 (150,000 – 80,000) บาท คูณด้วยร้อยละ 50 ซึ่งภาษีเงินได้ตัดคืนที่นายสมชายได้รับจะเท่ากับ 70,000 x 50% = 35,000 บาท

 

แต่ถ้านางสมหญิงไม่มีเงินได้สุทธิแม้แต่บาทเดียวหรือเท่ากับ 0 บาท นางสมหญิงจะได้รับภาษีเงินได้ตัดคืนจากรัฐเท่ากับ 150,000 x 50% = 75,000 บาท ซึ่งจำนวนเงิน 75,000 บาท คือจำนวนภาษีเงินได้ตัดคืนสูงที่สุดที่รัฐจะชดเชยให้แก่ผู้มีเงินได้สุทธิที่รัฐเห็นว่ากำลังเผชิญกับปัญหาความยากจน

 

ความน่าสนใจเชิงนโยบายของภาษีเงินได้ตัดคืนประกอบด้วย 2 ประการ อันได้แก่ ประการแรก วัตถุประสงค์ของกลไกการทำงานของภาษีเงินได้ตัดคืนมุ่งเน้นการบรรเทาปัญหาความยากจนโดยตรง และเป็นการโอนทรัพยากรทางเศรษฐกิจจากรัฐไปสู่คนที่ประสบปัญหาโดยไม่ผ่านตัวแทนใดๆ คำว่า ‘คนจน’ ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องประกอบอาชีพหรืออยู่ในอุตสาหกรรมใด แต่หากเขาไม่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยรายได้ของตน รัฐก็มีหน้าที่ที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือดูแลให้เขาสามารถดำรงชีพภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันให้ได้ เช่น ชาวนาคนหนึ่งมีเงินได้สุทธิต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด รัฐจะชดเชยเงินช่วยเหลือคืนให้แก่เขาผ่านกลไกของภาษีเงินได้ตัดคืน ความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นผลจากความยากจน มิได้เป็นผลจากเพราะเขาเป็นชาวนา

 

ดังนั้นภาษีเงินได้ตัดคืนจึงเป็นมาตรการบรรเทาปัญหาความยากจนโดยไม่คำนึงถึงอาชีพ สถานะ อายุ หรือลักษณะอื่นใด ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ดังกล่าวจึงสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของผู้มีรายได้น้อยได้อย่างมีประสิทธิผล

 

ประการถัดมา กลไกการทำงานของภาษีเงินได้ตัดคืนไม่ใช่นโยบายที่แทรกแซงกลไกตลาด หรือรบกวนการทำงานของตลาด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการบิดเบือนในกลไกราคาจนผิดเพี้ยนและยากต่อการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ นโยบายนี้ย่อมแตกต่างจากนโยบายรับจำนำพืชผลทางการเกษตร หรือนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่ย่อมส่งผลกระทบต่ออุปสงค์และอุปทานของสินค้าในตลาดโดยตรง

 

แนวคิดของภาษีเงินได้ตัดคืนได้รับการตอบรับที่ดีในแวดวงวิชาการและวงการบริหารรัฐกิจ เนื่องจากภาษีเงินได้ตัดคืนช่วยเสริมสร้างหรือปรับปรุงประสิทธิภาพของนโยบายหรือมาตรการบรรเทาปัญหาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิผล ด้วยการให้เงินสดโดยตรงแทนที่จะอำนวยสวัสดิการสังคมทางอ้อม เช่น เงินอุดหนุนค่ารักษาพยาบาล หรือเงินอุดหนุนการศึกษา เป็นต้น

 

การได้รับเงินสดโดยตรงจะช่วยให้คนที่รัฐช่วยเหลือสามารถตัดสินใจได้อย่างสมเหตุสมผลว่าเขาควรจะใช้จ่ายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของเขาอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ การบริหารนโยบายก็ไม่ได้ยากลำบากมากนัก เพียงแต่อาศัยระบบหรือกลไกการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกรมสรรพากรที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็เพียงพอที่จะบรรลุผลสัมฤทธิ์แล้ว อันแตกต่างจากโครงการอุดหนุนอื่นๆ ที่รัฐจะต้องจัดสร้างกระบวนการบริหารนโยบายขึ้นมาใหม่และมีต้นทุนทางธุรกรรม (Transaction Costs) และต้นทุนแฝง (Hidden Costs) เป็นจำนวนมาก

 

อย่างไรก็ดี แม้ประโยชน์ของภาษีเงินได้ตัดคืนจะเป็นรูปธรรม แต่กลไกดังกล่าวก็นำมาซึ่งข้อโต้แย้งและปัญหาในทางปฏิบัติไม่น้อย ประเด็นแรกที่รัฐควรให้ความใส่ใจและกังวลอย่างยิ่ง ได้แก่ เกณฑ์เริ่มต้นของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ผู้เสียภาษีพึงได้รับภาษีเงินได้ตัดคืนควรเป็นเท่าใด จำนวนเริ่มต้นมิใช่เพียงตัวเลขเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจะต้องแบกรับเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับแรงจูงใจในการทำงานของประชาชนด้วย หากรัฐกำหนดตัวเลขต่ำเกินไปก็จะซ้ำเติมคนจนให้แย่กว่าเดิมอีก เนื่องจากรายได้ที่เขามีไม่เพียงแต่จะใช้จ่ายเพื่อดำรงชีพประจำวันแล้ว เงินของเขายังคงต้องนำไปจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมด้วย แต่ถ้ารัฐกำหนดตัวเลขสูงเกินไปก็จะเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้คนไม่ทำงาน เนื่องจากผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์จะได้รับเงินอุดหนุนเป็นเงินสดจากรัฐ เขาก็จะยังคงสถานะผู้มีรายได้น้อยต่อไปเรื่อยๆ และย่อมก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาสังคมตามมาเป็นลูกโซ่โดยไม่จำเป็น

 

กล่าวโดยสรุปแล้ว นโยบายว่าด้วยภาษีเงินได้ตัดคืนมิใช่นวัตกรรมเชิงนโยบาย แต่ถือกำเนิดมาร่วม 60 ปีแล้ว แต่ก็มิได้ประสบความสำเร็จในภาคปฏิบัติมากนัก เนื่องจากความซับซ้อนของการกำหนดรายละเอียดการได้รับภาษีเงินได้ตัดคืนและผลกระทบต่อแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ แต่การยกเป็นประเด็นขึ้นมาในสังคมไทยก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยที่สุด การบรรเทาปัญหาความยากจนด้วยการใช้กลไกทางภาษีก็เป็นเรื่องที่รัฐควรให้การสนับสนุน เพราะต้นทุนการดำเนินนโยบายที่ต่ำกว่าและมีความเป็นธรรมมากกว่ามาตรการอื่นๆ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising