×

THE SUBSTANCE (2024) สวยชั่วคราว สาวชั่วคืน เหยื่อโอชะของสังคมชายหื่นกลัดมัน

27.09.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • Demi Moore ให้สัมภาษณ์ในพอดแคสต์ของ The New York Times อย่างแบ่งรับแบ่งสู้ทำนองว่า ระหว่างเธอกับ Elisabeth Sparkle ไม่ใช่คนคนเดียวกัน หรืออย่างน้อยเธอก็รู้สึกเช่นนั้น แต่ในทางกลับกันเธอก็บอกอีกด้วยว่า ลึกๆ แล้วระหว่างเธอกับตัวละครก็มีบางสิ่งที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเจ็บปวดจากการถูกปฏิเสธ รวมถึงความไม่รักและเคารพนับถือตัวเอง ซึ่งนำไปสู่การเคี่ยวกรำหรือแม้กระทั่งทำร้ายตัวเองอย่างไม่ปรานีปราศรัยผ่านการคุมน้ำหนัก การอดอาหาร และการออกกำลังกายอย่างบ้าคลั่ง ทั้งหมดนั้นก็เพียงเพื่อหล่อเลี้ยงภาพของผู้หญิงในอุดมคติให้ยังคงโลดเต้นอยู่ในจินตภาพและการจ้องมองของผู้ชาย
  • หนึ่งในฉากที่สะเทือนความรู้สึกมากๆ คือ ตอนที่ Elisabeth ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้ อุทิศทั้งชีวิตให้แก่อาชีพการงาน จนหันไปมองซ้ายขวาแล้วพบว่าไม่มีใคร ตัดสินใจออกเดตกับเพื่อนสมัยเรียนที่เพิ่งพบเจอ และไม่ว่าเธอจะพยายามสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ ตลอดจนแต่งหน้าทาปากสีสันสดใส เพื่อหล่อเลี้ยงจินตภาพว่าเธอยังคงเปล่งปลั่งและมีน้ำมีนวลอย่างไร ภาพสะท้อนของเธอในกระจกเงากลับบอกความหมายที่ตรงกันข้าม วิธีการที่คนทำภาพยนตร์แทรกภาพบิลบอร์ดของ Sue ที่สายตาของเธอจ้องเขม็งมาที่ตัวละคร ก็แทบจะแทนเสียงหัวเราะเยาะที่เสียดเย้ยทิ่มแทง และฉากนี้ลงเอยด้วยเหตุการณ์ที่น่าตื่นตระหนกที่สุด และที่แน่ๆ พูดได้เต็มปากว่า นี่คือหนึ่งในการแสดงที่ยอดเยี่ยมและทุ่มเทที่สุดของ Demi Moore

เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ถ้าหากใครได้ดูภาพยนตร์เรื่อง THE SUBSTANCE ซึ่งนำแสดงโดย Demi Moore ซูเปอร์สตาร์แห่งทศวรรษ 1990 จะอดคิดไม่ได้ว่า ภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องที่พ้องพานกับชีวิตของเธอไม่โดยตรงก็โดยอ้อม

 

 

ตามท้องเรื่อง Demi Moore รับบท Elisabeth Sparkle ผู้ซึ่งในตอนที่พวกเราคนดูได้พบและรู้จักกับตัวละครนี้ ข้อมูลเบื้องต้นซึ่งภาพยนตร์ปูพื้นได้เฉลียวฉลาด (จนอยากจะเรียกว่านี่เป็นหนึ่งในฉากเปิดที่แยบยล คมคาย และน่าจดจำที่สุดเรื่องหนึ่งในรอบหลายปี) บอกให้รู้ว่าเธอเป็นซูเปอร์สตาร์ในระดับที่ชื่อของเธอถูกจารึกบนถนนสายดวงดาว หรือ Hollywood Walk of Fame แต่ช่วงพีคของชีวิตการแสดงของเธอผ่านพ้นไปนานแล้ว และบทบาทล่าสุดของเธอก็คือเจ้าของรายการเต้นแอโรบิกที่ออกอากาศสำหรับคุณแม่บ้านตอนกลางวัน หรือโดยอ้อมคือเธออยู่ในช่วงขาลงของการมีชื่อเสียงและความโด่งดัง

 

แต่ทั้งหมดที่ภาพยนตร์อารัมภบทก็เป็นเพียงเมฆหมอกที่ตั้งเค้าดำทะมึน เพราะพายุและมรสุมยังจะถาโถมเข้ามาอีกหลายลูก

 

ประเด็นก็คือ Demi Moore ให้สัมภาษณ์ในพอดแคสต์ของ The New York Times อย่างแบ่งรับแบ่งสู้ทำนองว่า ระหว่างเธอกับ Elisabeth Sparkle ไม่ใช่คนคนเดียวกัน หรืออย่างน้อยเธอก็รู้สึกเช่นนั้น สิ่งที่ละไว้ในฐานที่เข้าใจและไม่ได้พูดออกมาตรงๆ ก็คือ นี่เป็นการสวมบทบาท ไม่ใช่การตีแผ่หรือเปิดเปลือยชีวิตส่วนตัว

 

แต่ในทางกลับกันเธอก็บอกอีกด้วยว่า ลึกๆ แล้วระหว่างเธอกับตัวละครก็มีบางสิ่งที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเจ็บปวดจากการถูกปฏิเสธ รวมถึงความไม่รักและไม่เคารพนับถือตัวเอง ซึ่งนำไปสู่การเคี่ยวกรำหรือแม้กระทั่งทำร้ายตัวเองอย่างไม่ปรานีปราศรัยผ่านการคุมน้ำหนัก การอดอาหาร และการออกกำลังกายอย่างบ้าคลั่ง ทั้งหมดนั้นก็เพียงเพื่อหล่อเลี้ยงภาพของผู้หญิงในอุดมคติให้ยังคงโลดเต้นอยู่ในจินตภาพและการจ้องมองของผู้ชาย

 

 

ข้อเท็จจริงก็คือ ไม่น่าจะมีนักแสดงที่ซาบซึ้งและเข้าใจเรื่องเหล่านี้อย่างถ่องแท้เท่ากับ Demi Moore เพราะในช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ ผลงานการแสดงของเธอผ่านภาพยนตร์เรื่องสำคัญของทศวรรษ 1990 มีหลายเรื่อง เช่น Ghost, Indecent Proposal, A Few Good Men, Disclosure และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Striptease ล้วนสะท้อนภาพลักษณ์ของเธอทั้งในฐานะนางอัปสร สัตว์สาวแสนสวย และแน่นอน Sex Symbol ทั้งหลายทั้งปวง ยังไม่ต้องเอ่ยถึงตอนที่เธอถ่ายภาพเปลือยขณะตั้งครรภ์ได้ 7 เดือนขึ้นปกนิตยสาร Vanity Fair ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความฮือฮาไปทั่วทั้งวงการแฟชั่น และสามารถเรียกได้ว่าเธอคือหญิงมีครรภ์ที่เซ็กซี่ที่สุดในโลก หากยังก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมทางสังคมอย่างรุนแรงทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้าน

 

การเลือก Demi Moore สำหรับบทซูเปอร์สตาร์ผู้ซึ่งคุณค่าของเธอผูกติดอยู่กับเรือนร่างที่ ‘ฟิตแอนด์เฟิร์ม’ ความพยายามรักษาความเยาว์วัยให้เนิ่นนาน ซึ่งหมายรวมถึงการทำสงครามกับสังขารที่ร่วงโรย จึงกลายเป็นแต้มต่อที่สำคัญของภาพยนตร์เรื่อง THE SUBSTANCE เพราะชีวิตจริงกับสิ่งที่ภาพยนตร์เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมันส่งเสริมซึ่งกันและกันจนแยกแยะไม่ได้ง่ายๆ หรืออีกนัยหนึ่ง มันดูเหมือนว่าบทนี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อ Demi Moore โดยเฉพาะ

 

 

ปมเรื่องของ THE SUBSTANCE ซึ่งชนะรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีล่าสุด ปะทุจากเหตุการณ์ที่ Elisabeth ถูกผู้บริหารสถานีที่ชื่อ Harvey (รับบทโดย Dennis Quaid ในบุคลิกที่ชวนให้นึกถึง Harvey Weinstein มากๆ) ปลดฟ้าผ่าในวันเกิดครบรอบ 50 ปีพอดิบพอดี ด้วยเหตุผลทำนองว่ามันถึงเวลาของเธอ (หรือพูดตรงๆ ก็คือเธอแก่แล้วและต้องปลดระวาง) นั่นกลายเป็นการล้มของโดมิโนตัวแรกของชีวิตที่กำลังจะพังพินาศ

 

การประสบอุบัติเหตุของ Elisabeth นำพาให้เธอได้รู้จักกับยาวิเศษชื่อเดียวกับชื่อภาพยนตร์ผ่านตัวละครนิรนาม ซึ่งเสนอทางเลือกให้เจ้าตัวได้กลับไปมีเรือนร่างที่ไม่เพียงแค่สวยและสาวขึ้นเท่านั้น แต่มันคือการหวนคืนสู่ความ ‘สมบูรณ์แบบ’ อีกครั้ง เงื่อนไขก็คือ ระหว่างเธอกับ Sue (Margaret Qualley) ร่างที่ถูกโคลนขึ้นใหม่จากไขสันหลังของเธอจะต้องผลัดกันใช้ชีวิตคนละ 7 วันโดยไม่มีข้อยกเว้น (ระหว่างนี้อีกคนก็นอนหมดสติไป) นัยว่าเพื่อรักษาดุลยภาพของการอยู่ร่วมกัน เพราะทั้งสองคือคนคนเดียวกัน ซึ่งเป็นประโยคที่ถูกเน้นย้ำให้ทั้งตัวละครและคนดูได้ยินหลายครั้ง

 

แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ระหว่าง Elisabeth กับ Sue ไม่ได้เพียงแค่กลายเป็นคนแปลกหน้าที่ถูกคุมขังภายใต้กฎกติกาและมารยาท (และอพาร์ตเมนต์หรูหรา) เดียวกัน ทว่ายิ่งเวลาผ่านพ้นไป ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองคนก็คุกรุ่น เดือดพล่าน และอบอวลไปด้วยบรรยากาศของการปฏิปักษ์มากขึ้นเรื่อยๆ

 

ในมุมของ Sue ผู้ซึ่งแจ้งเกิดในฐานะราชินีนักเต้นแอโรบิกที่มาแทน Elisabeth อย่างเต็มภาคภูมิ ชีวิตที่น่าสนุกและเต็มไปด้วยความเป็นไปได้นานัปการก็นำพาให้เธอมองเห็น Elisabeth เป็นเสมือนตัวถ่วงความเจริญ และหญิงสาวก็เลือกที่จะเล่นตุกติกกับข้อตกลงเรื่องการสลับร่างทุกๆ หนึ่งสัปดาห์ ขณะที่ Elisabeth ผู้ซึ่งลำพังเพียงแค่ตื่นขึ้นมาและพบว่าเธอต้องรับ ‘ผลกรรม’ จากการที่ Sue ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนเวลาอย่างเคร่งครัดก็เป็นเรื่องน่าเดือดดาลอย่างชนิดที่ให้อภัยไม่ได้แล้ว

 

เรื่องราวหนักหนาสาหัสมากขึ้นไปอีกก็คือการได้เห็นความสะสวย ความขบเผาะ ทรวดทรงองค์เอว ส่วนเว้าส่วนโค้ง ร่องก้นที่ถูกขับเน้นและกระตุ้นเร้ากำหนัดของ Sue ผ่านป้ายบิลบอร์ดนอกห้องพักและรายการเต้นแอโรบิกทางโทรทัศน์ และผู้ชมรับรู้ได้ไม่ยากว่ามันโหมกระพือความอิจฉาริษยาของเธอ หรือพูดง่ายๆ ยิ่ง Elisabeth มองเห็นเรือนร่างที่อวบอั๋นและเย้ายวนเซ็กซี่ของ Sue มากเท่าใด เธอก็ยิ่งเกลียดความเหี่ยวย่น ทรุดโทรม และแก่เฒ่าของตัวเองมากขึ้นเท่านั้น

 

 

 

หนึ่งในฉากที่สะเทือนความรู้สึกมากๆ คือตอนที่ Elisabeth ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้ อุทิศทั้งชีวิตให้แก่อาชีพการงานจนหันไปมองซ้ายขวาแล้วพบว่าไม่มีใคร ตัดสินใจออกเดตกับเพื่อนสมัยเรียนที่เพิ่งพบเจอ และไม่ว่าเธอจะพยายามสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ ตลอดจนแต่งหน้าทาปากสีสันสดใสเพื่อหล่อเลี้ยงจินตภาพว่าเธอยังคงเปล่งปลั่งและมีน้ำมีนวลอย่างไร ภาพสะท้อนของเธอในกระจกเงากลับบอกความหมายที่ตรงกันข้าม วิธีการที่คนทำภาพยนตร์แทรกภาพบิลบอร์ดของ Sue ที่สายตาของเธอจ้องเขม็งมาที่ตัวละคร ก็แทบจะแทนเสียงหัวเราะเยาะที่เสียดเย้ยทิ่มแทง และฉากนี้ลงเอยด้วยเหตุการณ์ที่น่าตื่นตระหนกที่สุด และที่แน่ๆ พูดได้เต็มปากว่านี่คือหนึ่งในการแสดงที่ยอดเยี่ยมและทุ่มเทที่สุดของ Moore

 

แต่ก็นั่นแหละ ภาพยนตร์เรื่อง THE SUBSTANCE ของ Coralie Fargeat ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ไม่ได้เป็นเพียงภาพยนตร์ดราม่าที่ว่าด้วยดารารุ่นใหญ่ผู้ยอมรับความอับแสงของตัวเองไม่ได้ และยังคงพยายามโบกมือให้กับขบวนพาเหรดซึ่งเคลื่อนผ่านเธอไปแล้วแสนนาน แต่อีกส่วนหนึ่งที่เป็นแก่นสารแท้จริงของภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็อย่างที่จั่วไว้เป็นหัวเรื่องนั่นคือ การโจมตีสังคมที่หมกมุ่นลุ่มหลงกับการตั้งมาตรฐานความงามในแบบที่ผู้ชายเป็นองค์ประธาน และเทิดทูนบูชาความแรกรุ่นและกำดัดของหญิงสาวอย่างหน้ามืดตามัว การเลือกแนวย่อยของภาพยนตร์สยองขวัญแบบที่เรียกว่า Body Horror ที่น่าขยะแขยงชวนให้คลื่นเหียน ผสมผสานกับความเป็นภาพยนตร์ตลกร้ายที่อารมณ์ขันแห้งผากเหลือเกิน ก็กลายเป็นแท็กติกและกลวิธีในการเสียดสี ถากถาง และลำเลิกเบิกประจานโดยที่ไม่ต้องยึดติดอยู่กับความเป็นจริงอย่างได้ผลชะงัดทีเดียว

 

 

ฉากที่อาจนับเป็นเสมือนออเดิร์ฟหรือการเกริ่นนำสำหรับความวิปริตวิตถารที่จะติดตามมาอย่างท่วมท้นพรั่งพรูก็คือ ฉากบนโต๊ะอาหารระหว่าง Harvey กับ Elisabeth ช่วงต้นเรื่อง บทสนทนาระหว่างคนทั้งสองก็เรื่องหนึ่ง การใช้ภาพมุมกว้างที่สัดส่วนบิดเบี้ยว การพาคนดูไปเผชิญหน้ากับตัวละครที่น่ารังเกียจในระยะใกล้มาก สุ้มเสียงของการเขมือบอาหารที่บั่นทอนโสตประสาทอย่างรุนแรง การแทรกเหตุการณ์ที่บอกถึงความลามกจกเปรตของตัวละคร ก็ล้วนแล้วช่วยปะติดปะต่อให้คนดูมองเห็นภาพอันแสนอัปลักษณ์ของ Harvey ในภาพที่ยิ่งคมชัด

 

ไม่ว่าจะอย่างไร ความน่าสนุกอย่างหนึ่งของการเฝ้าติดตามภาพยนตร์เรื่อง THE SUBSTANCE ก็คือการที่คนทำภาพยนตร์อ้างอิงและหยิบยืมสิ่งละอันพันละน้อยจากผลงานชั้นครูหลายๆ เรื่องมาผสมปนเปอยู่ในภาพยนตร์ของเธอ ไล่เลียงได้ตั้งแต่ The Shining ของ Stanley Kubrick, The Fly ของ David Cronenberg, Carrie ของ Brian de Palma, The Elephant Man ของ David Lynch, Vertigo ของ Alfred Hitchcock ไปจนถึงวรรณกรรมคลาสสิกของ Oscar Wilde เรื่อง The Picture of Dorian Gray และอื่นๆ

 

 

ส่วนที่น่าทึ่งก็คือ นอกจาก THE SUBSTANCE ไม่ได้เป็นแค่ร่างทรงของภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ แต่ยังเป็นภาพยนตร์ที่มีวิธีการนำเสนอเด็ดเดี่ยว กล้าหาญและเป็นตัวของตัวเอง เป็นไปได้ว่าหลายคนอาจจะรู้สึกว่าช่วงท้ายของเรื่องออกจะเกินกว่าเหตุ หรือดูเตลิดเปิดเปิงและเข้ารกเข้าพง (ซึ่งตรงนี้โต้เถียงกัน) แต่ถึงที่สุดแล้ว จังหวะที่ภาพยนตร์ตลบทุกสิ่งทุกอย่างกลับเข้าสู่แก่นสารที่คนทำภาพยนตร์จุดประเด็นไว้ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง ก็ทำให้ความเลยเถิด หนักข้อ เสียสติ และบ้าคลั่ง เป็นสิ่งที่สามารถยกผลประโยชน์ให้ได้ หรือแม้กระทั่งเป็นเรื่องชอบธรรม

 

หรือถ้าสรุปอย่างรวบยอด THE SUBSTANCE เป็นภาพยนตร์ที่น่าจะสร้างความปั่นป่วนทางอารมณ์ (และรวมถึงระบบน้ำย่อย) ให้กับคนดูมากที่สุดเรื่องหนึ่ง หลายครั้งเรารู้สึกอยากเบือนหน้าหนีไปจากสิ่งที่มองเห็น แต่ในทางกลับกันอะไรบางอย่างก็สะกดให้เราไม่อาจละสายตา และในขณะที่ภาพเหล่านั้นทำร้ายความรู้สึกของเราอย่างจงใจ แต่สุดท้ายมันก็ไม่ใช่การฉวยโอกาสอย่างไร้ความรับผิดชอบ แต่มันกะเทาะให้คนดูตระหนักในความจริงที่เข้าใจได้ง่าย แต่ทว่ายอมรับได้ยากในความผุพังของสังขารและชื่อเสียงที่ไม่เคยเข้าใครออกใคร

 


 

THE SUBSTANCE (2024)

กำกับ: Coralie Fargeat

นักแสดง: Demi Moore, Margaret Qualley และ Dennis Quaid

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X