วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง กลับมาอีกครั้งกับผลงานสไตล์จัดจ้าน ที่ถ้าให้นับตั้งแต่ยุคทองของเขาอย่าง ฟ้าทะลายโจร (2002), หมานคร (2004) และ เปนชู้กับผี (2006) ก็ร่วมๆ เกือบ 20 ปีแล้วที่เราไม่ได้เห็นงานแนวนี้ แม้ช่วงเวลาหนึ่งหลายคนอาจมองว่าจุดสูงสุดในอาชีพการเป็นผู้กำกับของเขาได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่หลังจากการมาถึงของยุคสตรีมมิงเราก็เริ่มเห็นชื่อของวิศิษฏ์กลับมามากขึ้นอีกครั้ง ทั้งในฐานะคนเขียนบทและผู้กำกับ
ส่วน เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ เป็นผลงานที่เขาจับมืออีกครั้งกับ อภิเษก จิรธเนศวงศ์ คนเขียนบทที่เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่ ปริศนารูหนอน (2021) เพียงแต่คราวนี้วิศิษฏ์เลือกที่จะนำเสนอเรื่องราวให้ออกมาเป็นแนวสืบสวนสอบสวนที่มีกลิ่นอายของความตลกร้ายอยู่เต็มเปี่ยม ผ่านการใช้สำเนียงอีสานผสมภาษาอังกฤษตลอดทั้งเรื่อง
เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ ว่าด้วยเรื่องราวของเหตุการณ์คดีฆาตกรรมฆ่าเกือบยกครัวในบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งมีผู้ต้องสงสัยเป็นชายหนุ่มชาวอังกฤษชื่อ Earl (James Laver) ที่แทบจะไม่รู้เรื่องอะไรเลยนอกจากตื่นมาพร้อมกับเลือดที่โชกไปทั้งตัว โดยมี ทราย (อุ้ม-อิษยา ฮอสุวรรณ) แฟนสาวผู้คอยยืนยันความบริสุทธิ์ให้กับเขา และด้วยท่าทีที่เกิดขึ้นนี้เอง จึงให้ สารวัตรณวัฒน์ (หม่ำ-เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา) ต้องตามสืบหาความจริงเบื้องหลังของคดีนี้ให้ได้
ว่ากันตามเนื้อผ้า ภาพยนตร์เลือกที่จะเล่าเรื่องผ่านสายตาสารวัตรณวัฒน์ แห่งสถานีตำรวจภูธรดอนกระโทก โดยแบ่งเส้นเรื่องออกเป็น 2 เส้นคือ เหตุการณ์ปัจจุบันที่เขากำลังสอบปากคำผู้ต้องหา และเหตุการณ์ในอดีตในวันที่เกิดเหตุฆาตกรรมขึ้น ผ่านมุมมองของพยาน 3 คนที่แตกต่างกัน ซึ่งการวางวิธีเล่าเรื่องแบบนี้ทำให้เรื่องราวที่กำลังดำเนินอยู่ในสองฟากฝั่งดูมีความสนใจมากยิ่งขึ้น และถึงที่สุดมันคือการที่โยนปมประเด็นต่างๆ มากมายใส่คนดูจนเกิดเป็นคำถามว่า แท้จริงแล้วปลายทางของเรื่องนี้จะจบลงแบบไหน
และเมื่อมองถึงองค์ประกอบของภาพยนตร์อย่างการเลือกใช้สีที่ฉูดฉาดตัดกันไปมาตลอดทั้งเรื่อง เหมือนที่เคยทำในภาพยนตร์ที่สร้างชื่อให้กับเขาเมื่อหลายสิบปีก่อน เราก็อาจพูดได้ว่านี่น่าจะเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้ชื่อของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง กลับมายืนอยู่ในใจของคนดูได้อีกครั้ง เพราะนอกจากสีเหล่านี้จะทำหน้าที่ในการดึงดูดสายตาท่ามกลางเรื่องราวที่ขับเคลื่อนด้วยความเข้มข้นของความจริงจัง แต่อีกมุมหนึ่งก็สร้างความเคลือบแคลงภายใต้บรรยากาศขบขันให้กับสถานการณ์ที่กำลังถูกเล่าออกมาได้อย่างไม่ลดละ
องค์ประกอบของสีที่ใช้ได้หลอมรวมกับเนื้อหาของภาพยนตร์ โดยตั้งอยู่บนแนวทางของการสืบสวนสอบสวน ยิ่งทำให้เรื่องตลกร้ายโชกเลือดนี้สำแดงพลังของมันออกมาได้โดยไม่จำเป็นต้องใส่ฉากที่ชวนน่าสะอิดสะเอียนใดๆ
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นภาพยนตร์สืบสวนสอบสวน การวางเส้นเรื่องให้คนดูจับต้นชนปลายได้ถูกนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ง่ายเกินกว่าที่จะคาดเดาตอนจบได้ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้เองก็อยู่ในขอบข่ายนั้น นั่นคือ ‘ดูง่ายแต่ไม่ได้คาดเดาง่าย’ โดยเขาเลือกที่จะเรียบเรียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องให้ออกมาไม่ชวนสับสนจนเกินไป แม้จะเล่าด้วยเส้นเรื่องของเหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบันผสมปนเปกันไป แต่เนื้อหาจะเดินไปตามลำดับเสมอ ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้คนดูที่อาจจะไม่ได้ถนัดในการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ สามารถเข้าใจเนื้อเรื่องได้ง่ายขึ้น
แต่สิ่งที่ต้องชื่นชมคนทำภาพยนตร์จริงๆ ก็คือ การหยิบยกความเป็นอีสานมาใช้ในภาพยนตร์ โดยเฉพาะเมื่อมันกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้พูดถึงสภาวะแวดล้อมที่ตัวละครต้องประสบพบเจอ ทั้งเรื่องของวัฒนธรรม ความเชื่อ ภาษา ไปจนถึงความแตกต่างของเชื้อชาติ ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเรื่องที่น่าเสียดายตรงที่ภาษาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของภาพยนตร์ ยังดูขาดความลึกซึ้งและเป็นธรรมชาติไปเสียหน่อย ไม่ใช่ในแง่ของไวยากรณ์ แต่เป็นการคุมอารมณ์ของคนดูให้รู้สึกไปพร้อมกับสิ่งที่ตัวละครกำลังเผชิญ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ภายใต้บรรยากาศของการสืบสวน วิศิษฏ์ก็ยังคงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของภาครัฐ ลากยาวไปจนถึงการพาคนดูไปสำรวจล้วงลึกถึงด้านมืดและความน่ากลัวในตัวของมนุษย์ด้วยกันเอง จนชื่อ ‘อิหยังวะ’ ของภาพยนตร์อาจไม่ได้หมายถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว เมื่อขมวดปมในช่วงท้ายนำไปสู่การเฉลยเรื่องราวที่ชวนให้หลายคนเหวอได้ไม่ยาก
กระนั้นในอีกมุมหนึ่ง ปัจจัยต่างๆ ที่ภาพยนตร์แง้มให้เห็นตลอดทั้งเรื่องก็ล้วนแล้วแต่ส่งสัญญาณให้คนดูเดาต้นสายไปเหตุได้ด้วยเช่นกัน เพียงแต่สิ่งสำคัญที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำได้ก็คือ การทำให้คนดูยังคงอยากติดตามความเป็นไปของภาพยนตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราอาจมองข้ามปัจจัยต่างๆ ที่ดูจะเป็นบาดแผลของภาพยนตร์ได้ เพื่อโฟกัสกับประเด็นหลักที่คนทำต้องการจะนำเสนอ
นอกจากสารของภาพยนตร์ อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพูดถึงก็คือ การแสดงของเหล่าบรรดานักแสดงมากหน้าหลายตาทั้ง อุ้ม-อิษยา ฮอสุวรรณ ในบทบาทของ ทราย พยานที่เป็นเมียฝรั่ง ผู้ต้องทำให้เห็นถึงความดราม่าและน่าเชื่อถือในเวลาเดียวกัน, ชนันทิชา ชัยภา ในบทบาทของ จูน พยานเด็กคนสุดท้ายที่ถึงแม้ภายนอกจะดูหน้าตาน่ารักน่าชัง แต่ความสำคัญของเธอไม่แพ้กับผู้ใหญ่คนหนึ่งภายในเรื่อง และ James Laver ในบทบาทของ Earl สามีฝรั่งของทราย ที่ต้องบาลานซ์ระหว่างความน่ากลัวและความน่าสงสารให้อยู่ในจุดที่ตั้งคำถามให้กับคนดู
จนมาถึงคนสุดท้ายที่ดูเหมือนจะเป็นที่เชิดหน้าชูตาที่สุดของภาพยนตร์อย่าง หม่ำ-เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา ในบทบาทของ สารวัตรณวัฒน์ ที่เปรียบเหมือนตัวแทนที่จะเข้าไปค้นหาความจริงแทนคนดู ซึ่งด้วยภาพลักษณ์ที่ดูเข้าถึงง่ายของเขานี่เองที่ส่งผลให้อารมณ์ของตัวละครนี้มีน้ำหนักส่งผลต่อคนดูได้หลายทาง
ท้ายที่สุดแล้ว เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ อาจไม่ใช่ภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบที่สมบูรณ์ แต่เป็นภาพยนตร์ที่อัดแน่นด้วยความทะเยอทะยานที่สุดอีกครั้งหนึ่งของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ที่ถึงแม้จะขาดความลึกซึ้งไปบ้างในบางมุม แต่เมื่อมองถึงภาพใหญ่แล้วก็ยังคงเป็นภาพยนตร์ไทยที่ควรค่าแก่รับชมทุกประการอยู่ดี
สามารถรับชม เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ ได้แล้ววันนี้ทาง Netflix
รับชมตัวอย่างได้ที่: www.youtube.com/watch?v=IcwKGxqsuAA