×

อยากมั่งคั่ง? ก้าวข้ามปัจจัย 4 ให้ได้เสียก่อน…

17.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค การจัดการกับค่าใช้จ่ายเรื่องเหล่านี้ให้ดี คือ จุดเริ่มต้นที่ดี สำหรับการสร้างความมั่งคั่ง
  • รายจ่ายกลุ่มที่เป็นปัจจัย 4 ถือเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า ‘สภาพคล่อง’ ซึ่งหมายถึง การบริหารเงินให้พอ มีกิน มีใช้ตามวัตถุประสงค์ และมีเหลือเก็บเพื่อสะสมเป็น ‘ความมั่งคั่ง’ ต่อไปได้
  • คนเรานิยามความสุขไม่เหมือนกัน และต้องจ่ายเพื่อสิ่งที่เรียกว่าความพอเหมาะพอดีคู่ควรแก่ชีวิตไม่เท่ากัน แต่ไม่ว่าอย่างไร โดยพื้นฐานความจำเป็นของชีวิตเราเท่ากัน นั่นคือ การมีปัจจัยในการดำรงชีวิตครบโดยสมบูรณ์ ดังนั้นก่อนจะฝันไกลถึงความมั่งคั่ง ต้องเริ่มที่จุดนี้ก่อน

     เรื่องมันเกิดขึ้นเมื่อน้องที่รู้จักกันคนหนึ่งเอ่ยปากถามขึ้นมาว่า “โค้ชครับ! ชีวิตการเงินระดับไหน หรือต้องมั่งคั่งสักเท่าไร? ถึงจะทำให้คนเราเบาสบายความกังวลเรื่องเงินๆ ทองๆ ในชีวิตประจำวันได้”

     นั่งนึกอยู่สักพัก คำตอบอันแสนเรียบง่ายคำตอบหนึ่งก็ลอยผ่านเข้ามาในหัว

     “ถ้าเอาแบบง่ายๆ เริ่มเบาสบายปัญหาการเงินในชีวิตได้จริงๆ ผมว่ามันน่าจะเริ่มต้นเมื่อเราสามารถจัดการกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือ ‘ปัจจัย 4’ ได้อย่างไม่เดือดร้อนเป็นอันดับแรกนะ”

     หลังได้ยินคำตอบ เจ้าของคำถามนิ่งไปครู่ใหญ่ ก่อนจบการสนทนาเพื่อขอคำปรึกษาไว้เพียงเท่านั้น (ฮา)

     ฟังดูแล้วอาจเหมือนน้อยเกินไปใช่ไหมครับ แต่เอาเข้าจริง หากเรานั่งคิดถึงภาพการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ตัดเรื่อง ‘ความอยากได้อยากมี’ ประเภทดีต่อใจออกไปก่อน แล้วร่อนเอาเฉพาะกิจกรรมที่ ‘จำเป็น’ ต่อชีวิต

     อาหาร . ที่อยู่อาศัย . เครื่องนุ่งห่ม . ยารักษาโรค … การจัดการกับค่าใช้จ่ายเรื่องเหล่านี้ให้ดี ผมว่านี่คือ จุดเริ่มต้นที่ดี สำหรับการสร้างความมั่งคั่ง ทั้งในแง่ของการเงินที่จับต้องได้ และ Mindset ครับ

     ลองคิดดูสิ ถ้าตั้งแต่ตื่นเช้าจนถึงเข้านอน เราสามารถควบคุมเรื่องการเงินของเราให้จัดการกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ ความกังวลหรือเวลาที่จะต้องเอามาใช้กับการนั่งคิดนั่งกลุ้มเรื่องเงิน จะลดน้อยลงไปขนาดไหน

 

     1) มีอาหารรับประทาน

     ในแต่ละวัน แต่ละมื้อ เรามีกินไม่อดอยาก หาของมีประโยชน์ใส่ปากท้องได้ ไม่ต้องคอยกังวลว่าพรุ่งนี้จะมีเงินใช้ไหม หรือพรุ่งนี้จะเอาอะไรกิน หรือจะกินในแต่ละครั้ง ก็ไม่ต้องถึงขั้นจำกัดจำเขี่ย ด้วยกลัวไม่มีกินในวันถัดไป

 

     2) มีที่อยู่อาศัยที่อบอุ่นปลอดภัย

     จะซื้อเอง หรือจะเช่าเขาอยู่ก็เอาเถอะ สำคัญคือ มีปัญญาจ่ายเขา ไม่ว่าจะแบบไหน เช่าเขาก็มีเงินจ่ายเจ้าของบ้าน ผ่อนเขาก็มีเงินส่งธนาคาร ไม่ขาดตกบกพร่อง ไม่เดือดร้อน พร้อมก็ซื้อ ไม่พร้อมก็ขอยืมเขาอยู่ไปก่อน สำคัญคือ ตกดึกแล้วมีที่หลบภัย ซุกหัวนอนแล้วรู้สึกปลอดภัย

 

     3) มีเครื่องนุ่งห่มสวยงามตามฐานะ

     เสื้อผ้าอาภรณ์มีใช้อย่างไม่ขัดเขิน พอเหมาะพอดีแก่ฐานะ และรูปแบบชีวิต (Lifestyle) มีเยอะก็จัดแยะ มีน้อยก็กระจุ๋มกระจิ๋มตามสมควร

 

     4) เจ็บป่วยมีเงินรักษาพยาบาล

     เจ็บไข้ได้ป่วยมีเงินหรือสวัสดิการพร้อมรักษา คลายความกังวลว่าจะไปหาเงินจากไหนมาจ่ายค่าหยูกยา พร้อมๆ กันก็ดำรงชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย มีเวลาดูแลสุขภาพตัวเองตามสมควร

 

     ทั้ง 4 ข้อนี้ ถ้าทำได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ไม่ต้องคอยหยิบยืมเขา หรือไม่ต้องกังวลว่าจะมีพอหรือไม่ ก็น่าจะเร่ิมทำให้ชีวิตการเงินของเรามีความสุขได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว

     ถ้าพูดกันเป็นภาษาการเงิน รายจ่ายกลุ่มที่เป็นปัจจัย 4 นี้ ถือเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า ‘สภาพคล่อง’ ครับ ซึ่งหมายถึง การบริหารเงินให้พอ มีกิน มีใช้ตามวัตถุประสงค์ (ทั้ง ‘จำเป็น’ และ ‘อยากได้’) และมีเหลือเก็บเพื่อสะสมเป็น ‘ความมั่งคั่ง’ ต่อไปได้

     หลายครั้งคนที่มาขอคำปรึกษาเรื่องการลงทุนจากผม มีสถานะการเงินพื้นฐานที่ไม่ดีเลย พอเอ่ยปากชวนเขาว่า “ก่อนไปเรียนรู้เรื่องการลงทุน หันมาแก้ปัญหาเงินไม่ค่อยพอใช้ก่อนดีไหม”

     คำตอบที่ดูเหมือนจะวนเป็นงูกินหาง ก็คือ “นี่ไงครับ เงินไม่พอใช้ ถึงต้องมาคิดหาเงินเพิ่มยังไงล่ะ”

     เพราะไม่พอเลยต้องมาหาเพิ่ม ต้องมาเหนื่อยเพิ่ม … แต่ไม่เริ่มที่ใช้ให้พอเสียก่อน!!

     ที่จริงการหารายได้เพิ่มทั้งจากการทำงานเสริมและการลงทุน ก็ถือเป็นสิ่งที่ดีครับ แต่ถ้าหากการเงินยังเป็นปัญหาอยู่ทุกวัน เงินสำหรับจัดการกับปัจจัย 4 ประเมินดูแล้วยังเสี่ยง ยังไม่ค่อยพอ แบบนี้ลงทุนไปก็จะลำบาก เพราะปัญหาสภาพคล่องคอยแต่จะรังควาน คอยติดตามเราให้ร้อนใจอยู่เสมอ และเมื่อร้อนใจมากเข้า ก็จะส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาการลงทุนของเจ้าของปัญหา

     อยากได้เร็ว อยากรวยเร็ว เพื่อจะได้เอาเงินมาแก้ปัญหาให้หมดไปเร็วๆ … สุดท้ายก็พลาดเจ็บตัวหนักขึ้นไปอีก

     ‘เงิน’ กับ ‘ความสุข’ ผูกโยงกันอยู่เล็กๆ เหมือนกันนะครับ คนหลายคนเชื่อว่า มีเงินแล้วจะมีความสุข (จริงหรือเปล่าขออนุญาตไม่ตัดสิน) แต่เท่าที่ผมเห็น คนที่มีความสุข หรือมีชีวิตที่ร่มเย็นนั้น เขาคือคนที่มีเงินในระดับที่ตอบโจทย์รูปแบบชีวิตที่ต้องการของตัวเองได้อย่างพอเหมาะพอดีครับ

     ซึ่งพอเหมาะพอดีในที่นี้ ก็หมายถึง ก้าวข้ามปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต และยกระดับชีวิตให้เหนือกว่าพื้นฐาน ไปสู่ระดับที่ต้องการได้ ดังน้ันถ้าพูดถึงความสุข ความพอเหมาะพอดี สองคำนี้ค่อนข้างปัจเจกครับ คนเรานิยามความสุขไม่เหมือนกันแน่ๆ และต้องจ่ายเพื่อสิ่งที่เรียกว่าความพอเหมาะพอดีคู่ควรแก่ชีวิตไม่เท่ากันแน่ๆ

     แต่ไม่ว่าอย่างไร โดยพื้นฐานความจำเป็นของชีวิต (เอาที่จำเป็นจริงๆ) เราเท่ากันครับ นั่นคือ การมีปัจจัยในการดำรงชีวิตครบโดยสมบูรณ์ ดังนั้นก่อนจะฝันไกลถึงความมั่งคั่ง มาเริ่มกันที่จุดนี้ครับ

     ถามตัวเองดูสิว่า…

     กินอิ่มครบวันละ 3 มื้อหรือยัง ค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัยชิลล์ๆ ไม่กังวลหรือเปล่า จับจ่ายใช้สอยข้าวของส่วนตัวได้สบายๆ และที่สำคัญ หากเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุไม่คาดฝัน มั่นใจว่าดูแลตัวเองได้หรือไม่ และทุกๆ 30 วัน ไม่ต้องคอยมากังวลกับเรื่องเหล่านี้ใช่หรือไม่

     ถ้าทำได้ ถ้าดูแลได้ครบ ก็มองไปเรื่องของการสร้างเนื้อสร้างตัวเพื่อความมั่งคั่ง เพื่อรูปแบบชีวิตในแบบที่ต้องการ ที่มากไปกว่าความจำเป็นพื้นฐานได้

     แต่ถ้าแค่เรื่องพื้นฐาน แค่ปัจจัย 4 ที่จำเป็นต้องมี ยังก้าวข้ามไปไม่ได้ ก็อยากให้หันกลับมาดู กลับมาจัดการให้สถานะทางการเงินจัดการกับ 4 ปัจจัยนี้ให้แข็งแรง ไม่ต้องลำบากก่อน ก็น่าจะดี

     เพราะถ้าปัจจัย 4 ยังเหนื่อย… ก็อย่าเพิ่งฝันไปไกลถึงความมั่งคั่งร่ำรวยเลยครับ

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X