×

ข้อคิดทางการเงินสำหรับคนรุ่นใหม่

07.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • หนึ่งในข้อคิดด้านการเงินสำหรับเด็กจบใหม่คือ อย่าก่อหนี้จน หรือหนี้บริโภคต่างๆ ถ้าให้ดี 10 ปีแรกของการทำงานไม่ควรมีหนี้บริโภค เพราะถ้าเป็นหนี้ตั้งแต่เริ่มทำงาน พอจะสร้างครอบครัวภาระจะยิ่งทับถมชีวิต จนไม่สามารถตั้งหลักทางการเงินได้
  • ความรู้ซื้อหาได้ แต่ประสบการณ์หาซื้อไม่ได้ ถ้าอายุ 30 แล้วยังตอบตัวเองไม่ได้ว่าเก่งอะไร เชี่ยวชาญอะไร หรือชอบอะไร แสดงว่าชีวิตมีปัญหา และมีโอกาสติดกับดักรายได้แน่นอน
  • ถ้าอยากสำเร็จทางการเงิน ต้องรอคอยความสำเร็จให้เป็น บ้าน รถยนต์ หรือหนี้สินก้อนใหญ่ให้ซื้อเมื่อพร้อม และถ้าจะให้ดี ให้สร้างทรัพย์สินก่อนซื้อหนี้สิน จะได้ไม่เป็นภาระทางการเงิน

     น้องบัณฑิตจบใหม่มาขอคำปรึกษาว่า ควรวางแผนชีวิตการทำงานอย่างไร เลยได้คุยกันหลายเรื่อง และเรื่องหนึ่งที่ฝากไปก็คือ ข้อคิดด้านการเงิน หลังพูดคุยจบเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ เลยนำมาฝากคุณผู้อ่านกัน

     ทั้งหมดเรียบเรียงข้อมูลจากการให้คำปรึกษา และตัวอย่างในชีวิตจริงของผู้คนที่ได้พบเห็นมาตลอด 12 ปีท่ีทำหน้าที่ผู้ให้คำแนะนำทางการเงินครับ

 

     1. อย่าก่อหนี้จน

     ‘หนี้จน’ ในที่นี้หมายถึง หนี้บริโภคต่างๆ ที่เมื่อเราก่อขึ้นแล้ว จะทำให้เรามีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรกดเงินสด ผ่อนของ รวมถึงหนี้นอกระบบ

     ทั้งนี้ไม่ได้บอกว่ามีบัตรเครดิตไม่ได้ แต่ให้บริหารให้ดี อย่าให้มีหนี้ค้าง อย่าชำระขั้นต่ำ เพราะถ้าต้องจ่ายขั้นต่ำ ดอกเบี้ยที่สูงถึง 20-24 เปอร์เซ็นต์ จะคอยกัดกินความสามารถในการสร้างฐานะของเรา

     บ้าน รถยนต์ ถ้ายังไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ต้องรีบซื้อ หรือถ้าซื้อ ก็อย่าให้เกินตัว เพราะทั้งบ้านและรถเป็นภาระระยะยาว บ้านว่าเหนื่อยแล้ว รถยิ่งเหนื่อย เพราะนอกจากผ่อนหนัก ค่าใช้จ่ายเยอะ มูลค่ายังลดลงเรื่อยๆ ด้วย

     ถ้าให้ดี 10 ปีแรกของการทำงาน ไม่มีหนี้บริโภคเหล่านี้เลยจะดีมาก จำไว้ว่าชีวิตของเรานั้น ยิ่งเติบโตยิ่งมีภาระทางการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงอายุ 30-40 ปี ที่เป็นช่วงสร้างครอบครัว ถ้าเราก่อภาระหนี้ตั้งแต่ช่วงเริ่มทำงาน พอถึงช่วงสร้างครอบครัว ภาระจะย่ิงทับถมชีวิตเราให้หนักยิ่งขึ้นไปอีก จนทำให้เราไม่สามารถตั้งหลักทางการเงินได้

 

     2. ออม 20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้

     ถ้าไม่มีภาระต้องส่งเสียครอบครัว ลองหาวิธีออมให้ได้ 20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ใช้วิธีตัดออมก่อนใช้จ่าย และกินให้พอกับเงินที่เหลือ ออมให้เป็นนิสัย อย่าผัดวันประกันพรุ่ง ยิ่งเริ่มออมเร็ว ยิ่งสร้างโอกาสมั่งคั่งได้เร็ว

     สำหรับคนที่มีภาระทางการเงิน ต้องส่งเงินสนับสนุนเลี้ยงดูพ่อแม่หรือน้องๆ ก็น่าจะลองเก็บออมที่อัตรา 10 เปอร์เซ็นต์ให้ได้ และเป้าหมายแรกของการออม ก็คือ การมีเงินสำรองให้พร้อมใช้จ่ายยามฉุกเฉินได้อย่างน้อย 6-12 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน

 

     3. ศึกษาเรื่องการเงินการลงทุน

     อย่าคิดว่าที่เรียนมานั้นพอ เรียนจบแล้วน้องยังต้องเรียนรู้อะไรอีกหลายอย่าง ทั้งในเรื่องการงาน การสร้างอาชีพ การพัฒนาตัวเอง และที่ขาดไม่ได้คือ การเรียนรู้เรื่องการเงินและการลงทุน

     คนในยุคสมัยหน้า ถ้าไม่รู้เรื่องเงินและการลงทุนจะกลายเป็นคนล้าหลัง เงินออมที่ให้ดอกเบี้ยระดับ 0.5-1 เปอร์เซ็นต์ พาเราไปถึงความมั่งคั่งไม่ได้ ดังนั้นต้องรู้จักวิธีต่อยอดเงิน และบริหารเงินให้เป็น

 

     4. เน้นทำงานเพื่อสร้างประสบการณ์

     10 ปีแรก อย่ามองแต่ตัวเงิน อย่าหวังแค่น้ำบ่อหน้า ทำงานหวังเศษเงินเดือนที่แตกต่างกันไม่กี่พันบาท แต่ให้โฟกัสที่การสร้างประสบการณ์ จำไว้ว่า ความรู้ซื้อหาได้ แต่ประสบการณ์หาซื้อไม่ได้ ประสบการณ์มือสอง (ฟังเรื่องคนอื่น) ทำให้รู้มากขึ้น แต่ประสบการณ์ตัวเองจะทำให้เราเก่งมากขึ้น

     นานวันเข้าเราจะเข้าใจว่า ประสบการณ์เปลี่ยนเป็นเงินได้ แต่ความรู้ใครๆ ก็มี คนเราถ้าอายุ 30 ขึ้น แล้วตอบตัวเองไม่ได้ว่าเก่งอะไร เชี่ยวชาญอะไร หรือชอบอะไร ผมว่าชีวิตคุณมีปัญหาแล้ว และมีโอกาสติดกับดักรายได้แน่นอน

 

     5. สร้างทรัพย์สิน (ก่อนซื้อหนี้สิน)

     ถ้าอยากสำเร็จทางการเงิน ต้องรอคอยความสำเร็จให้เป็น บ้าน รถยนต์ หรือหนี้สินก้อนใหญ่ให้ซื้อเมื่อพร้อม และถ้าจะให้ดี ให้สร้างทรัพย์สินก่อนซื้อหนี้สิน เพื่อให้ทรัพย์สินสร้างกระแสเงินสดรายเดือนผ่อนหนี้ให้กับเรา จะได้ไม่เป็นภาระทางการเงิน

     ผมเองอดทนรอ ซื้อรถตอนอายุ 34 ปี ตอนนั้นเอาเงินที่ได้จากการแปลหนังสือสองเล่มไปเป็นเงินดาวน์ ส่วนเงินผ่อนก็ใช้รายได้จากธุรกิจที่ไม่ต้องลงมือทำทุกวันช่วยจ่ายให้ ทำให้แม้จะมีหนี้ซื้อรถยนต์ แต่ก็ไม่เหนื่อยและไม่เครียด บ้านผมก็ทำในแบบเดียวกัน

     จำไว้ว่า คนที่ประสบปัญหาทางการเงินมักซื้อหนี้สิน ซื้อความสบายก่อน แล้วก็ต้องมาอดทนกัดฟันผ่อนหน้ีไปเรื่อยๆ ในขณะที่คนประสบความสำเร็จทางการเงิน อดทนสร้างทรัพย์สิน เพื่อให้ทรัพย์สินผ่อนจ่ายหนี้สินให้กับตัวเอง

 

     6. ทำอะไรนึกถึงวันข้างหน้าไว้เสมอ

     ทำอะไรคิดถึงวันข้างหน้าเอาไว้ ถามตัวเองเสมอว่า สิ่งที่เราทำในวันนี้มันเป็นจิ๊กซอว์ของความสำเร็จ หรือเป้าหมายเราในอนาคตหรือไม่ ถ้าใช่ ใส่ให้หนัก ถ้าไม่ใช่ ก็หลีกเลี่ยง

     อีกเรื่องคือ การเตรียมตัวให้พร้อมรับความเสี่ยงทางการเงิน ทั้งเจ็บป่วย อุบัติเหตุ เสียชีวิต ตกงาน ขาดรายได้ ฯลฯ ทั้งหมดนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคนในโลกยุคใหม่ ดังนั้น ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันข้างต้น เราพร้อมรับมือกับมันหรือไม่ อย่างไร และจัดการความเสี่ยงนั้นให้ดี

 

     7. จบความกังวลทางการเงินให้ได้ภายในอายุ 40

     ถ้าเป็นเรื่องเกษียณทางการงานนั้น แล้วแต่คุณว่าอยากจะหยุดทำงานเมื่อไร แต่ถ้าเป็นการเงิน ผมมองว่าคนเราควรหยุดและหมดกังวลกับเรื่องเงินตั้งแต่อายุ 40 ปี

     ผมเองมีอิสรภาพตั้งแต่อายุ 34 ปี รู้เลยว่าตัวเองโชคดีมาก การหมดกังวลเรื่องเงินได้เร็ว ทำให้คุณมีเวลาในชีวิตทำสิ่งสำคัญๆ ได้มากมายไม่ว่าจะเป็น ดูแลครอบครัว ท่องเที่ยวแบบไร้ความกังวล ทำงานสาธารณประโยชน์เต็มกำลังโดยไม่ต้องห่วงปากท้อง การใช้เวลากับงานอดิเรกที่รักตลอดเวลา ฯลฯ

 

     ทั้งนี้การหมดกังวลไม่ได้หมายถึง ร่ำรวยมีเงินเป็น 100 ล้าน 1,000 ล้าน แต่หมายถึง เราจัดการเรื่องการเงินทุกเรื่องในชีวิตได้มีระบบและเป็นระเบียบ มีเงินพอกินพอใช้ทั้งครอบครัว จัดการรายจ่ายต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม มีเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด จัดการความเสี่ยง ทำประกันที่จำเป็นไว้ครอบคลุม หรือพูดอย่างง่ายๆ การหมดกังวลทางการเงินก็คือ การมีอิสระในการใช้ชีวิตในระดับที่อยู่รอดปลอดภัย สุขกายสบายใจได้เหมาะสมกับฐานะนั่นเอง

     ทั้งหมดนี้คือ ข้อคิดทางการเงินสำหรับคนรุ่นใหม่ที่พอคิดออก และตอบน้องเขาไปในวันนั้น หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคน ไม่มากก็น้อยนะครับ

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X