ใครเคยรู้สึกแบบนี้บ้างครับ?
เห็นเพื่อนๆ เขาทำธุรกิจกันก็นึกอยากลองทำดูบ้าง แต่ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดีนะ เพราะไม่ได้มีความสนใจด้านใดเป็นพิเศษ
เห็นเพื่อนๆ ที่ทำงานหลายคน เวลาประชุมดูเขามีไอเดียเยอะจัง แล้วทำไมฉันถึงคิดอะไรไม่ค่อยออกและได้แต่นั่งเงียบ ในใจคิดว่าคนอื่นเขาจะมองว่าฉันไม่มีความคิดหรือเปล่า
ยิ่งถ้าเป็นการสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ฉันมักจะกลัวทุกครั้งว่าจะทำได้ไม่ดี ฉันไม่ชอบเลยกับความไม่ชัดเจนของโจทย์ บอกฉันมาเลยได้ไหมว่าจะให้ทำอะไร เดี๋ยวฉันจัดให้ รับรองถูกเป๊ะตามสั่ง
เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ที่ใครๆ พูดถึงกัน มันเป็นแค่เรื่องของคนกลุ่มหนึ่ง อย่างศิลปิน สถาปนิก นักการตลาด ที่เขามีพรสวรรค์มาทางด้านนี้อยู่แล้ว ตัวฉันเอง เป็นเด็กเรียนดี เรียนได้ มีเหตุผล เป็นเด็กสายวิทย์โดยแท้ เรื่องศิลป์ๆ อย่างความคิดสร้างสรรค์หรือ ก็ฉันไม่ได้เรียนมาด้านนั้น จะให้คิดอะไรเพ้อฝันมากมายก็คงจะไม่ถูกจริตนัก หากแต่ว่าลึกลงไปข้างในหัวใจของฉัน ก็หวังว่าจะสามารถคิดอะไรใหม่ๆ กับเขาได้บ้าง
ผมชื่อ ต้อง ครับ ปัจจุบันทำงานเป็นหัวหน้าทีมด้านนวัตกรรม (Innovation) ของบริษัท ปตท. จำกัด เรียนจบการศึกษาทางด้านนวัตกรรมที่เรียกว่า Design Thinking มาจาก Stanford d.school ต้นตำรับกระบวนการ Design Thinking ที่องค์กรยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น P&G, Apple, Google, Facebook, Disney, IBM, GE, Marriott และอื่นๆ อีกมากมาย
ผมเองก็เป็นหนึ่งคนที่เคยมีความรู้สึกอย่างข้างต้น
ผมเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาปิโตรเลียม เรียนจบปุ๊บก็เริ่มงานปั๊บที่แท่นเจาะน้ำมันกลางทะเล ทุกอย่างต้องทำตามกฎ ตามระเบียบ และเป็นขั้นตอน ต้องใช้ตรรกะวิชาที่ร่ำเรียนมาในการแก้ปัญหาตลอดเวลา
เรื่องของความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมนั้น เรียกได้ว่าห่างไกลจากชีวิตผมมาก อาวุธของผมคือตรรกะ และผมคิดมาตลอดว่า สิ่งนี้จะเป็นสิ่งเดียวในชีวิตการทำงานของผม เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวที่จะทำให้ผมก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้ไม่แพ้ใคร
ผมคือคนคนนั้นที่นั่งเงียบในที่ประชุม ถ้าไม่มั่นใจในเรื่องใดจะไม่ปริปากพูด ลองถ้าผมได้ออกความเห็น มันจะต้องถูกและสามารถโน้มน้าวคนได้
ผมมักจะยิ้มเยาะคนที่เสนอไอเดียแปลกๆ ที่แค่ฟังก็อยากจะหัวเราะออกมาดังๆ จนต้องแสดงความเห็น ชี้ให้รู้ถึงข้อดี-ข้อเสีย จนคนคนนั้นต้องเงียบไป ชัยชนะเล็กๆ บนโต๊ะประชุมที่บางครั้งทำให้อีโก้ของผมเฟื่องฟู
ความคิดสร้างสรรค์ไม่เคยจะอยู่ในสิ่งที่ผมพิจารณาว่าสำคัญในสายอาชีพ จนกระทั่งวันแรกของคลาสที่ d.school ชีวิตของผมก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
อาจารย์เดินเข้ามาแจกกระดาษหนึ่งแผ่นให้กับทุกคนในห้องพร้อมกับดินสอ
“จับคู่กับคนที่คุณไม่รู้จักครับ” อาจารย์บอก พวกเรางงๆ แต่ก็รีบสลับที่นั่งและทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่
“อย่าเพิ่งคุยกัน ทีนี้ผมให้เวลาพวกคุณ 1 นาทีวาดหน้าเพื่อนของคุณลงไปในกระดาษ เริ่มครับ”
เสียงหัวเราะดังขึ้นเบาๆ จากนักเรียนหลายคน ผมเองในฐานะเด็กสายวิทย์ บอกเลยไม่ถนัดอย่างแรง ตอนวาดต้องแอบเอียงตัวเล็กๆ เพราะไม่อยากให้เพื่อนฝรั่งเห็นว่าเราวาดห่วยแค่ไหน ดูตอนจบทีเดียวเลยก็แล้วกัน
“หมดเวลาครับ วางดินสอ” อาจารย์บอกทุกคน เสียงถอนหายใจพร้อมเสียงหัวเราะแปลกๆ ดังออกมาจากลำคอของนักเรียนหลายคน
“ทีนี้ ยื่นให้เพื่อนของคุณดูตอนนี้เลย”
เสียงหัวเราะดังขึ้นอีกครั้ง ระหว่างที่ทุกคนแลกเปลี่ยนรูปวาดกันและกัน ผมยอมรับเลยครับว่าโคตรอาย กลัวเพื่อนจะมองว่าไอ้นี่มันวาดรูปไม่เป็นเลยเหรอวะ หน้าฉันทำไมเป็นอย่างนี้ แต่ก็ยื่นๆ ไปครับ อยากจะออกไปจากความมาคุนี้เร็วๆ ในใจก็นึกว่า นี่ฉันมาเรียนวาดรูปหรือ ดูทรงไม่น่าจะดีแล้ว คะแนนต้องแย่แน่ๆ
อาจารย์เงียบไป ปล่อยให้นักเรียนคุยกันสักพัก ก่อนที่จะถามขึ้นมาว่า
“รู้สึกอย่างไรกันบ้างครับ”
ส่วนใหญ่ก็จะหัวเราะแหะๆ แล้วตอบว่าแปลกๆ บางคนบอกว่า “เขินสิ อาจารย์”
อาจารย์จึงถามต่อว่า “ผมได้ยินเสียงหัวเราะของพวกคุณ ตอนที่ให้วาดหน้าเพื่อน และตอนที่วาดเสร็จแล้วยื่นให้เพื่อน มันเป็นเสียงหัวเราะของความสนุกใช่ไหม”
หลายคนมองบนแล้วตอบว่า “ไม่น่าจะใช่ครับ มันเป็นเสียงหัวเราะกลบเกลื่อนถึงความห่วยของพวกเราเอง”
อาจารย์ถามต่อ “ดีมาก แล้วถ้าผมเอาแบบฝึกหัดนี้ไปให้เด็กๆ อนุบาลทำ พวกเขาจะรู้สึกอย่างไร”
พวกเราตอบพร้อมกัน “ก็สนุกสิครับ เด็กๆ เขาน่าจะชอบกัน”
อาจารย์ถามต่ออีกว่า “แล้วตอนที่เขายื่นกระดาษที่มีหน้าเพื่อนให้กับเพื่อนของเขา เขาจะรู้สึกอย่างไร”
เราก็ตอบพร้อมกัน “ภูมิใจสิครับ เด็กๆ จะภูมิใจกับผลงานของพวกเขา”
อาจารย์เงียบไปพักหนึ่งแล้วพูดขึ้นว่า “เด็กๆ เขาทำอะไรสักอย่าง เขาจะไม่คิดว่าคนอื่นคิดอย่างไรกับพวกเขา เขาแค่มีความสุขที่ได้ทำมัน ภูมิใจกับสิ่งที่ทำ พวกคุณยังมีความรู้สึกแบบนั้นหลงเหลืออยู่ไหม”
พวกเราเริ่มรู้ว่า ได้บทเรียนแรกเข้าให้แล้ว
ที่ d.school จะมีคำขวัญที่พูดกันบ่อยๆ ‘Innovator, Not Innovation’ (นวัตกรไม่ใช่นวัตกรรม)
เขาเชื่ออย่างแรงกล้าว่า ‘นวัตกรรม’ คือ ผล แต่ ‘นวัตกร’ คือ เหตุ
หากคนอย่างเราๆ สามารถมีทัศนคติและทักษะที่เหมาะสมกับการสร้างสรรค์ ได้แล้ว นวัตกรรมจะตามมาเองโดยอัตโนมัติ
ทักษะที่ว่าเช่น การฟังเพื่อเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง ไม่ใช่การสัมภาษณ์ประกอบเช็กลิสต์อย่างผิวเผิน
การสร้างไอเดียปริมาณมาก ต่อยอดไอเดียของผู้อื่น กล้าเสี่ยงที่จะดูไร้สาระในสายตาคนอื่นในบางครั้ง
การลงมือทำให้ไอเดียเกิดขึ้นจริงผ่านการสร้างต้นแบบที่ไม่ใช้เงินเยอะ และใช้เวลาน้อย
การรับฟังคำติชมจากลูกค้าบ่อยๆ ด้วยใจเปิด ไม่หลงรักผลิตภัณฑ์ของตัวเองเร็วจนเกินไป
การมองว่า คำติ คือการเรียนรู้ ไม่ใช่ความล้มเหลว
สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ d.school สอน โดยที่ไม่ได้ผ่านการเล่าให้ฟัง แต่ผ่านการลงมือทำงานอย่างผู้ใหญ่ เพื่อค่อยๆ เปลี่ยนทัศนคติทีละนิด ไม่ได้เป็นวิทยาศาสตร์ที่เห็นผลชัดเจน หรือวัดผลได้ แต่เจ้าตัวจะรู้เองว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน
นวัตกรที่จริงแล้วไม่ได้มีอะไรดีเด่นกว่าคนอื่นครับ บางครั้งออกจะมีความเป็นเด็กอยู่ในตัวมากกว่าคนอื่นด้วยซ้ำไป สิ่งที่เขามีมากกว่าคนอื่นเพียงอย่างเดียว เป็นสิ่งที่เด็กๆ มี เราเรียกมันว่า Creative Muscle หรือกล้ามเนื้อความคิดสร้างสรรค์
เป็นกล้ามเนื้อมัดเดียวที่แข็งแรงเมื่อตอนเราเด็กๆ แต่โตขึ้นมามักจะอ่อนเปลี้ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเริ่มเข้าไปในระบบการศึกษา
กล้ามเนื้อที่อ่อนเปลี้ยเกิดจากการไม่ได้ใช้งาน อาจจะเป็นระบบการศึกษาที่มีกรอบมากำหนดให้เราไม่ได้ใช้มันเหมือนตอนที่เรายังแบเบาะ หรือแม้แต่วัฒนธรรมองค์กรที่ผิด ทำให้เราไม่กล้าเสี่ยงในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
เมื่อกล้ามเนื้อไม่ได้ถูกใช้งานมันก็ลีบครับ ข่าวดีก็คือเรายังมีกล้ามเนื้อลีบๆ ห้อยต่องแต่งอยู่กับตัวอยู่
ถ้าอยากทำให้มันแข็งแรงต้องทำอย่างไร คำตอบก็คือต้องกลับมาใช้มันบ่อยๆ
ลองถามคำถามที่ไม่เคยถาม ลองแชร์ไอเดียบ้าๆ บอๆ ของตัวเองโดยไม่กลัวว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร ลองทำอะไรใหม่ๆ ออกมาให้คนอื่นได้ติชมกัน อย่าคิดมากแล้วลงมือทำ สักวันกล้ามเนื้อก็จะกลับมาแข็งแรงเอง
ความคิดสร้างสรรค์เป็นกล้ามเนื้อ ไม่ใช่พรสวรรค์ครับ ใครใช้บ่อยก็จะใช้คล่อง สร้างความเป็นนวัตกรได้ในที่สุด
คอลัมน์นี้เกิดขึ้นด้วยความเชื่ออย่างแรงกล้าที่ว่า ใครๆ ก็เป็น The Innovator (นวัตกร) ได้
ผมจะแบ่งปันเทคนิคการทำงาน แนวคิดต่างๆ ที่ผมได้เรียนมาจาก d.school และประสบการณ์ทำงานด้าน Innovation ในองค์กรยักษ์ใหญ่ ซึ่งหลายๆ ท่านคงพอเดาได้ว่าท้าทายยิ่ง
แต่ผมก็พบว่าหลายๆ เรื่องสามารถทำได้จริง ถ้าไม่อิงหลักวิชาจนเกินไป เล่นจริง ใช้จริง เจ็บจริง เรียนรู้จริงๆ รับรองเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่อยากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย
สุดท้ายแล้วประเทศไทยของเราเปลี่ยนได้ครับ ถ้าองค์กรต่างๆ เริ่มเปลี่ยนแปลง องค์กรเปลี่ยนได้เริ่มจากวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป
มีคนเคยบอกว่า ‘Culture is the collective behavior of employees’ (วัฒนธรรมคือผลรวมของพฤติกรรมคนในองค์กรนั้นๆ)
เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ ประเทศนี้ หรือองค์กรของคุณก็เริ่มที่ตัวคุณครับ
ถ้าคุณพร้อมจะเป็น The Innovator แล้ว
ครั้งหน้าเจอกันครับ