×

มองสังคมผ่าน ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ว่าด้วยตำนาน ความเชื่อ อาถรรพ์ สิ่งเร้นลับในยุค 4.0

26.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เด็กและโค้ช 13 คนหายไปอย่างน่าอัศจรรย์ในถ้ำหลวง พิธีกรรมเหล่านี้มีส่วนเติมเต็มช่องว่างที่เกิดจากความไม่รู้ ความไม่ชัดเจน และความคลุมเครือนั้น และยังเป็นส่วนช่วยสร้างความหวัง สร้างพลัง สร้างกำลังใจให้คนที่รอ คนที่หา และคนที่หายไปพร้อมๆ กัน
  • ดังนั้นจึงหวังให้ทุกคนเข้าใจพิธีกรรมความเชื่อในแง่ของการตอบสนองในเชิงจิตวิทยามากกว่าจะไปมองประโยชน์ในเชิงรูปธรรม
  • แต่สำหรับใครที่หวังจะสร้างกระแสหากินโดยการสร้างดราม่ามาบั่นทอนความหวัง ถ้าเป็นการกระทำเช่นนี้ ผู้เขียนคิดว่าควรหยุดกระทำ เพราะมันไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นมาเลย

‘ถ้ำ’ ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญประเภทหนึ่ง เป็นสถานที่ที่เราจะพบความสวยงามที่สร้างสรรค์ด้วยธรรมชาติ ไม่ว่าจะหินงอก หินย้อย ความสวยงามเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ดึงดูดความสนใจของผู้ที่ชื่นชอบและพร้อมที่จะผจญภัยเพื่อจะได้ชื่นชมเสน่หาของความสวยงามแห่งธรรมชาตินั้น

แต่ภายใต้ความสวยงามแห่งธรรมชาติที่เย้ายวนใจให้ผู้คนหลงใหลเหล่านั้น ‘ถ้ำ’ กลับมีความพิศวง ความเร้นลับ อาถรรพ์ต่างๆ ที่ปรากฏออกมาตามความเชื่อ ตำนาน และคำเล่าลือกันของคนในพื้นที่

 

อย่างกรณีถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่ได้เกิดเหตุการณ์สะเทือนใจขึ้นอีกครั้งเมื่อมีเด็กและโค้ชจำนวน 13 คนได้หายเข้าไปในถ้ำแห่งนั้นตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังหากลุ่มเด็กที่หลงหายเข้าไปในถ้ำไม่พบ สร้างความฉงนงงงวยให้กับผู้คนในสังคมจนทำให้เกิดกระแสความเชื่อที่เล่าลือกันไปต่างๆ

 

 

ว่าด้วยตำนานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน

อุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนนี้ตั้งอยู่ในภูเขาหรือดอยที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘ดอยนางนอน’ ผู้เขียนในฐานะคนที่เกิดและโตในพื้นที่แถบนี้จึงพอจะได้ยินตำนานเรื่องราวต่างๆ อยู่พอสมควร

 

โดยมีตำนานเล่าขานกันมาหลายสำนวน เช่น เล่ากันว่าเป็นหญิงสูงศักดิ์หนีตามนายทหาร ได้อยู่ร่วมกันจนผู้หญิงท้องแก่ วันหนึ่งสามีของเธอได้ออกไปทำนาและถูกพ่อของผู้หญิงฆ่าตาย เมื่อเธอออกไปส่งข้าวส่งน้ำให้สามีแต่พบว่าสามีหายไป เธอจึงนอนรออยู่ที่นั่น เมื่อสามีไม่กลับมาจึงกลั้นใจตาย กลายเป็น ‘ดอยนางนอนรอผัว’ หรือว่ากันว่าเป็นผู้หญิงท้องแก่ที่ถูกผัวทิ้ง นอนรอคอยผัว จนถึงทุกวันนี้ดวงวิญญาณก็ยังคงรอคอยสามีของเธออยู่ 

 

แน่นอน ตำนานดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อให้สัมพันธ์กับรูปทรงสัณฐานของแนวเขาลูกนี้ที่มีลักษณะคล้ายกับผู้หญิงท้องคนหนึ่งนอนเหยียดยาวกั้นชายแดนไทย-พม่าอยู่

 

ซึ่งหากกล่าวในเชิงวิชาภูมิศาสตร์ ชื่อแนวเขาลูกนี้คือ ‘เทือกเขาแดนลาว’ เป็นแนวเขาที่ใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า ดังนั้นด้วยตำนานดังกล่าวจึงทำให้เชื่อกันว่าพื้นที่ขุนเขาแห่งนี้ เจ้าแม่นางนอน รวมถึงผีป่า ผีเขา หรือผีอารักษ์คอยดูแลรักษาอยู่

 

 

3 ปัจจัยที่นำสู่ความเชื่อและตำนานต่างๆ

ความเชื่อ ตำนาน และสิ่งเร้นลับที่เกิดจาก ‘ถ้ำ’ รวมถึงที่อื่นๆ มีเหตุที่สามารถอธิบายหลักๆ ได้ 3 ปัจจัยสำคัญ

 

1.  ตำนานที่เร้นลับเกี่ยวกับถ้ำ ที่สัมพันธ์กับเรื่องราวเหนือธรรมชาติต่างๆ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดจาก ‘ความไม่รู้’ และ ‘ไม่สามารถอธิบายได้’ ว่าลักษณะที่แปลกประหลาดของธรรมชาตินั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรด้วยการใช้วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นถ้ำ แหล่งน้ำใหญ่ๆ ภูเขา ฯลฯ จึงถูกสร้างคำอธิบายขึ้นมาเป็นตำนานที่ผูกโยงกับเรื่องราวเร้นลับต่างๆ ไม่ว่าจะเชื่อกันว่าถ้ำเป็นที่อยู่ของพญานาค เป็นการกระทำของพญานาคดังในความเชื่อแถบอีสาน หรือแม้แต่ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นในอดีตก็จะถูกผูกโยงอยู่กับเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ เช่น กรณีเวียงหนองหล่ม ที่มีตำนานเกี่ยวกับการกินปลาไหลเผือก เป็นต้น

 

 

2.  ศาสนาผี (animism) และแนวคิดเรื่องการบูชาธรรมชาติ (nature worship) ความเชื่อนี้ถือเป็นความเชื่อทางศาสนาแรกๆ ของโลกเลยก็ว่าได้ เกิดขึ้นจากความกลัวที่เกิดจากความไม่รู้ว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติ ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า น้ำท่วม แผ่นดินไหว เกิดขึ้นจากอะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร จึงเกิดการบูชาธรรมชาติและการสร้างเทพาอารักษ์ตามสิ่งเหล่านั้น เช่น ถ้ำหลวงเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ก็เชื่อกันว่าเป็นที่สิงสถิตหรือเป็นที่อยู่ของเจ้าหลวงคำแดง ผู้ที่เป็นใหญ่ที่สุดในผีอารักษ์เมืองเชียงใหม่ หรือแม้แต่บนยอดดอยหลวงเชียงดาวที่เรียกกันว่าอ่างสลุง ก็เชื่อกันว่าเป็นพื้นที่ชุมนุมของเหล่าผีอารักษ์เมืองเชียงใหม่

 

และแน่นอนว่าคำอธิบายตำนานเกี่ยวกับดอยนางนอน ถ้ำหลวง รวมถึงขุนน้ำนางนอน จึงเกิดพิธีกรรมการเซ่นสรวงบูชาเพื่ออ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นเกิดขึ้น แม้ว่าพุทธศาสนาได้เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนอุษาคเนย์ แต่ความเชื่อดังกล่าวกลับผสานอยู่กับความเชื่อพุทธศาสนาอย่างลงตัว กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘พุทธศาสนาแบบชาวบ้าน’ คือพุทธศาสนาที่คอยตอบสนองความคาดหวังในการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม ไม่ใช่พุทธศาสนาในเชิงปรัชญาที่เน้นให้ความสำคัญกับเรื่องสัจธรรมเป็นหลัก และพุทธศาสนาแบบชาวบ้านยังคงดำรงอยู่ในวิถีชีวิตคนในปัจจุบันอย่างแยกไม่ออก

 

 

3. ดังที่กล่าวไปแล้ว ด้วยไม่สามารถอธิบายได้ว่าถ้ำเกิดขึ้นได้อย่างไร รวมถึงแนวคิดการบูชาธรรมชาติ บูชาผี รวมถึงความเร้นลับของธรรมชาติที่สร้างขึ้นนั้น ทำให้ถ้ำถูกทำให้กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์’ จึงมีการสร้างรูปเคารพต่างๆ ตามศาสนา ความเชื่อ หรือตำนานไว้ภายในถ้ำ

 

หรือบางแห่งก็มีการสร้างพระธาตุองค์เล็กๆ หรือปั้นพระพุทธเพื่อประดิษฐานไว้ในถ้ำจำนวนมาก หรือเล่าลือถึงการเชื่อมโยงถ้ำกับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อด้วย เช่น เล่าว่าถ้ำหลวงดอยนางนอนเชื่อมไปถึงถ้ำหลวงเชียงดาว หรือแม้แต่ทะลุไปเมืองพญานาคได้  

 

ไม่เพียงเท่านั้น เพราะยังอาจจะเกิดคำเล่าลือในกลุ่มชาวบ้านในแง่ความมหัศจรรย์ที่ว่า ‘วันพระวันศีลจะได้ยินเสียงฆ้องเสียงกลองดังออกมาจากภายในถ้ำ’

 

สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้จึงเป็นพื้นที่สร้างบารมีของพระเกจิ ดังกรณีที่เล่ากันว่ามีครูบาสำคัญรูปหนึ่งในเชียงรายสามารถจุดเทียนเล่มหนึ่งเดินผ่านถ้ำหลวงดอยนางนอนไปโผล่ที่ถ้ำหลวงเชียงดาวบ้าง ไปโผล่ที่เมืองหงสา เมืองเงี้ยว เมืองม้าน (ผู้เขียนเขียนตามคำบอกเล่า)

 

 

ความเชื่อที่ยังดำรงอยู่กับยุคสมัยที่เรียกว่า 4.0

อย่างไรก็ตาม แม้ในปัจจุบันนี้จะอยู่ในยุคที่เชื่อกันว่าเป็นยุค 4.0 ผู้คนมีความรู้และสามารถเข้าใจปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ ด้วยหลักการวิทยาศาสตร์ได้แล้ว แต่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าพื้นฐานความเชื่อเหล่านั้นยังคงดำรงอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน

 

ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังที่เกิดขึ้นคือมีคน 13 คนหายไปอย่างน่าอัศจรรย์ในถ้ำหลวง แล้วก็ยังหาไม่เจอแม้จะใช้หน่วยงานหรือเทคโนโลยีเข้าช่วย เหตุการณ์นี้จึงถูกอธิบายด้วยพื้นฐานความเชื่อดังกล่าวที่ยังดำรงในวิธีคิดของชาวบ้าน จึงปรากฏเรื่องเล่าลือไปต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเรื่อง ‘ผีบังตา’ ‘เจ้าป่าเจ้าเขาเอาซ่อน’ ‘เจ้าแม่ดอยนางนอนต้องการคน’ ซึ่งก็วิพากษ์วิจารณ์กันไปว่าอาจจะเกิดเพราะผู้ประสบภัยได้ไปกระทำการอะไรให้เจ้าป่าเจ้าเขาไม่พอใจ จึงทำให้ถูกลงโทษ หรือทำให้หาไม่เจอ

 

ดังนั้นเมื่อความเชื่อนี้ยังดำรงอยู่ และความไม่รู้ ความไม่ชัดเจน ความคลุมเครือที่ครอบงำจิตใจผู้คน โดยเฉพาะผู้ปกครองและญาติๆ ของเด็กๆ ที่หายตัวไป เช่น ไม่รู้ว่าเด็กอยู่ที่ไหน ไม่รู้จะหาเด็กเจอไหม เด็กจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร พิธีกรรมการเซ่นสรวงบูชาเพื่อกราบไหว้อ้อนวอนต่อสิ่งเหนือธรรมชาติที่คอยดูแลรักษาขุนเขาเหล่าถ้ำทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความไม่สบายอกไม่สบายใจที่เกิดขึ้นจากความคลุมเครือ ความไม่รู้ ความไม่ชัดเจนนั้น ควบคู่ไปกับการปฏิบัติการค้นหาของหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือ

 

 

ในเชิงจิตวิทยา พิธีกรรมมีส่วนเติมเต็ม แต่บางคนใช้หากิน

ถึงแม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมภายนอกว่าเป็นการกระทำที่ไร้สาระและไม่มีประโยชน์ แต่อย่าลืมว่าพิธีกรรมเหล่านี้มีส่วนเติมเต็มช่องว่างที่เกิดจากความไม่รู้ ความไม่ชัดเจน และความคลุมเครือนั้น และยังเป็นส่วนช่วยสร้างความหวัง สร้างพลัง สร้างกำลังใจให้คนที่รอ คนที่หา และคนที่หายไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นจึงหวังอยากให้ทุกคนเข้าใจพิธีกรรมความเชื่อในแง่ของการตอบสนองในเชิงจิตวิทยามากกว่าจะไปมองประโยชน์ในเชิงรูปธรรม

 

สุดท้าย ณ ตอนนี้ผู้เขียนคิดว่าพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นพื้นที่ที่กำลังต้องการความหวัง เป็นพื้นที่ที่ต้องการกำลังใจ ดังนั้นการประกอบพิธีกรรมหรืออะไรก็ตามที่จะสามารถช่วยสร้างความหวัง สร้างกำลังใจให้กับ ‘คนที่รอ คนที่หา และคนที่หาย’ โดยไม่ไปรบกวนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ผู้เขียนก็คิดว่าน่าจะสามารถกระทำได้เท่าที่สมควร

 

แต่สำหรับใครที่หวังจะสร้างกระแสหากินโดยการสร้างดราม่ามาบั่นทอนความหวังและกำลังใจของ ‘คนที่รอคอยและคนที่ค้นหา’ อย่างกรณีของร่างทรงที่อ้างได้ว่าสัมผัสได้ถึงสภาพของเด็กในถ้ำที่นั่งร้องไห้ บอกว่าเด็กไม่ไหวแล้ว หิวข้าว หิวน้ำ คิดถึงบ้าน ถ้าเป็นการกระทำเช่นนี้ ผู้เขียนคิดว่าควรหยุดกระทำ เพราะมันไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นมาเลย  

 

อ้างอิง:

  • จุฑามาศ สุวิมลเจริญ, “กระบวนการสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ส่งผลต่อการจัดการสิ่งแวดล้อมในบริเวณรอยพระพุทธบาทและรอยพระพุทธหัตถ์ห้วยหลวงแม่แอน”, การศึกษาอิสระ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2555.
  • ฉลาดชาติ รมิตานนท์, (พิมพ์ครั้งที่ 2), ผีเจ้านาย , เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, 2545.
  • ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์, “ศาสนาผี”, sinchaichao.blogspot.com/2015/06/blog-post_4.html. (ค้นหาเมื่อ 26 มิถุนายน 2561).
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising