It is very hard to envisage the effective functioning of the economy without credit to oil the wheels. Its role is to allow flexibility in the timing of expenditures, enabling them to be separated in time from the receipt of income
Robin Leigh-Pemberton (Governor of the Bank of England, 1983-1993)
สุนทรพจน์ใน The Annual Luncheon of the Newspaper Conference
29 มกราคม 1988
ในทางเศรษฐศาสตร์ ‘สินเชื่อภาคเอกชน’ มีบทบาทสำคัญในการโยกย้ายทรัพยากรทางการเงินในอนาคตมาใช้จ่ายในปัจจุบัน ผู้บริโภคขอสินเชื่อครัวเรือนมาใช้จ่ายชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปโดยไม่คาดคิด ขณะที่ผู้ผลิตขอสินเชื่อธุรกิจเพื่อลงทุนเพิ่มผลิตภาพ ลดต้นทุนการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ การขยายสินเชื่อภาคเอกชนจึงควรสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม สินเชื่อภาคเอกชนไทยกลับสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยกว่าประเทศอื่น สะท้อนจากรายได้ต่อหัวของไทยที่อยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศที่มีสัดส่วนสินเชื่อภาคเอกชนต่อ GDP ใกล้เคียงกัน เช่น ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และมาเลเซีย
รูปที่ 1: สัดส่วนสินเชื่อภาคเอกชนต่อ GDP และรายได้ที่แท้จริงต่อหัว (2019)
ภาพ: BIS และ Penn World Table 10.01
ทำไมการขยายสินเชื่อภาคเอกชนไทยจึงสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้น้อยกว่าประเทศอื่น?
การขยายสินเชื่อภาคเอกชนจะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มศักยภาพหากขยายสินเชื่อครัวเรือนและสินเชื่อธุรกิจในอัตราส่วนที่เหมาะสม สินเชื่อครัวเรือนและสินเชื่อธุรกิจต่างมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่หากมีสินเชื่อประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป ระบบเศรษฐกิจอาจไม่ได้จัดสรรทรัพยากรการเงินไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างประโยชน์สูงสุด อีกทั้งอาจเป็นที่มาของความเปราะบางภายในระบบเศรษฐกิจการเงิน หากมีสินเชื่อครัวเรือนมากเกินไปอาจสะท้อนว่าระบบเศรษฐกิจจัดสรรทรัพยากรทางการเงินไปสนับสนุนการบริโภคมากเกินไป ขณะที่สนับสนุนการลงทุนน้อยเกินไป จะได้เห็นว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเกินไป อาจไม่สำคัญเท่ากับว่าสัดส่วนสินเชื่อครัวเรือนและสินเชื่อธุรกิจสมดุลกันมากเพียงใด
สำหรับไทย สินเชื่อภาคเอกชนของเราเป็นสินเชื่อครัวเรือนมากถึง 53% สูงกว่าค่าเฉลี่ยภายในกลุ่มตัวอย่างที่ 38% อย่างมีนัยสำคัญ กลายเป็นที่มาของปัญหา ‘หนี้ครัวเรือน’ ที่กำลังฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ในปัจจุบัน
สิ่งที่น่ากังวลคือเศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาหนี้ครัวเรือนพร้อมกับปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ซ้ำเติมกันและกันเป็นวงจร ในบทความเรื่อง ‘ชักหน้าให้ถึงหลัง’ แก้กับดักหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนด้วยการปรับโครงสร้างเชิงสถาบันของระบบการเงินและพลังท้องถิ่น เราพูดคุยกันว่าคนในระบบเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหารายได้เติบโตช้า ไม่สม่ำเสมอ และไม่แน่นอน ขณะที่รายจ่ายตัดลดได้ยาก ปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายทำให้คนในระบบเศรษฐกิจไทยต้องขอสินเชื่อครัวเรือนมาใช้จ่ายและชำระหนี้ แต่ยิ่งก่อหนี้ รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ซ้ำเติมปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย
นอกจากนี้การมีสินเชื่อครัวเรือนมากเกินไปยังมี ‘ค่าเสียโอกาส’ จากทรัพยากรทางการเงินที่ควรจะจัดสรรไปลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพและยกศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ หากมีสินเชื่อครัวเรือนมากเกินไป สถาบันการเงินจะเผชิญกับความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ จึงต้องโยกย้ายทรัพยากรเงินที่มีมาเพื่อตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญ และจำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อทุกประเภท สถาบันการเงินจึงขยายสินเชื่อธุรกิจน้อยลงตามไปด้วย
สัดส่วนสินเชื่อครัวเรือน-ธุรกิจควรสูงแค่ไหน ระบบการเงินไทยจึงจะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้เต็มที่
คำถามสำคัญคือ ระบบเศรษฐกิจควรแบ่งสัดส่วนระหว่างสินเชื่อครัวเรือนและสินเชื่อธุรกิจอย่างไร การขยายสินเชื่อภาคเอกชนจึงจะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากที่สุด บทความฉบับนี้ประมาณการ Growth Regression* (Barro and Sala-i-Martin, 2004, Cecchetti, Mohanty and Zampoll, 2011) เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการขยายตัวของสินเชื่อภาคเอกชนในวันนี้กับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยในช่วง 5 ปีข้างหน้า และคำนวณว่าสัดส่วนสินเชื่อครัวเรือน (ต่อสินเชื่อภาคเอกชน) มีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ดังกล่าวอย่างไร บทความฉบับนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 43 ประเทศ รวมทั้งไทย โดยศึกษาในช่วงปี 1950-2009
ผลการศึกษาพบว่า ผลของการขยายสินเชื่อภาคเอกชนในวันนี้ต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 5 ปีข้างหน้า ขึ้นกับสัดส่วนสินเชื่อครัวเรือนอย่างมีนัยสำคัญ (รูปที่ 2) โดยการขยายสินเชื่อภาคเอกชนจะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากที่สุดหากสัดส่วนสินเชื่อครัวเรือนอยู่ที่ 35-40% ของสินเชื่อภาคเอกชนทั้งหมด หากสัดส่วนสินเชื่อครัวเรือนสูงหรือต่ำเกินไป การขยายสินเชื่อภาคเอกชนจะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้น้อยลง
รูปที่ 2: อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยที่จะเพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า หากสินเชื่อภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้น 1% ณ สัดส่วนสินเชื่อครัวเรือนต่อสินเชื่อภาคเอกชนรวมที่แตกต่างกัน (68% Confidence Interval)
ภาพ: BIS และ Penn World Table 10.01 คำนวณโดยผู้เขียน
ย้อนกลับมาที่ไทย รูปที่ 3 ชี้ว่าสัดส่วนสินเชื่อครัวเรือนของไทยจนสูงเกินช่วง 35-40% ไปมาก โดยปัจจุบันสัดส่วนสินเชื่อครัวเรือนของไทยสูงกว่าระดับเหมาะสมถึงเกือบ 15% ขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มตัวอย่างอยู่ในระดับที่เหมาะสม
รูปที่ 3: สัดส่วนสินเชื่อครัวเรือนต่อสินเชื่อภาคเอกชนรวม
ภาพ: BIS และ Penn World Table 10.01 คำนวณโดยผู้เขียน
‘ซ่อม-สร้าง’ สินเชื่อภาคเอกชนไทย
จากผลการศึกษา ระบบการเงินไทยจำเป็นต้อง ‘ซ่อม’ โครงสร้างสินเชื่อภาคการเงิน เพื่อลดสัดส่วนของสินเชื่อครัวเรือน และ ‘สร้าง’ กลไกโยกย้ายทรัพยากรทางการเงินจากสินเชื่อครัวเรือนไปเป็นสินเชื่อธุรกิจที่ภาคเอกชนจะนำไปลงทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
‘การซ่อม’ จะให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างหนี้ และการบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ การเพิ่มประสิทธิภาพในการปรับโครงสร้างหนี้มีความท้าทาย เพราะหนี้ครัวเรือนแต่ละกลุ่มมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน เช่น หนี้มีวงเงินสูงหรือต่ำ ครัวเรือนมีหนี้กับสถาบันการเงินเดียว หรือมีกับสถาบันการเงินหลายแห่งพร้อมกัน การปรับโครงสร้างหนี้แต่ละกลุ่มจึงต้องทำอย่างเจาะจงและมีกลยุทธ์ สำหรับประสิทธิภาพของการบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ขึ้นกับประสิทธิภาพของกระบวนการล้มละลาย การประเมินราคาสินทรัพย์ และศักยภาพของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งจะต้องทบทวนและพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับ ‘การสร้าง’ ในบทความเรื่อง ‘ลดหนี้ครัวเรือนอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระยะยาว’ ความท้าทายของการขยายสินเชื่อธุรกิจส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างแรงจูงใจของสถาบันการเงินเอง โดยเฉพาะแรงจูงใจในการให้สินเชื่อธุรกิจ SMEs ทั้งการที่สถาบันการเงินเข้าไม่ถึงข้อมูลฐานะและประวัติทางการเงินของ SMEs ทำให้สถาบันการเงินไม่ทราบความเสี่ยงที่แท้จริงของธุรกิจ SMEs ประกอบกับประสบการณ์จากวิกฤตการเงินในปี 1997 ที่ทำให้สถาบันการเงินกลัวความเสี่ยง สถาบันการเงินจึงรักษามาตรฐานการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้ในระดับสูง เมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่น ดังนั้นการสร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินขยายสินเชื่อธุรกิจจึงเกี่ยวข้องกับการเพิ่มการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกลไกตลาดสินเชื่อธุรกิจ
ในบทความฉบับต่อไป เราจะมาพูดคุยกันถึงกลยุทธ์ในการซ่อมและสร้างตลาดสินเชื่อ เพื่อให้การขยายสินเชื่อภาคเอกชนไทยมีส่วนร่วมในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มศักยภาพ
หมายเหตุ:
- Growth Regression มีตัวแปรควบคุมดังนี้: การเติบโตของประชากร, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว, ทุนมนุษย์, ความเปิดเสรีทางการค้า และเงินเฟ้อ โดยการใส่ตัวแปรปฏิสัมพันธ์ (Interaction Term) ระหว่างอัตราการเติบโตของสินเชื่อกับสัดส่วนของสินเชื่อครัวเรือนเข้าไปในแบบจำลอง นอกจากนี้แบบจำลองยังควบคุมผลของ Unobserved Fixed Effects ที่อธิบายความแตกต่างระหว่างประเทศและความแตกต่างระหว่างเวลา
อ้างอิง:
- https://www.bankofengland.co.uk/-/media/boe/files/quarterly-bulletin/1988/personal-credit-in-perspective.pdf
- https://www.bis.org/publ/work352.htm
- https://thestandard.co/household-debt-sustainable-solving-system/
- https://books.google.co.th/books/about/Economic_Growth_second_edition.html?id=jD3ASoSQJ-AC&redir_esc=y
- https://www.bis.org/publ/work352.htmhttps://thestandard.co/household-debt-thai-economy/