×

ผิดการเมือง-พลาดการทูต! เวทีประชุมเรื่องเมียนมาในไทย

19.06.2023
  • LOADING...

“ปัจจัยหนึ่งที่จะมีส่วนต่อการจัดระเบียบโลกก็คือ การทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย”

Richard N. Haass 

The World: A Brief Introduction (2020)

 

ต้องยอมรับว่าสังคมกำลังเห็นสิ่งที่อยู่เหนือความคาดการณ์ในบริบทของงานด้านการต่างประเทศของรัฐบาลไทยอย่างมาก เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ออกจดหมายในวันที่ 14 มิถุนายน เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศในอาเซียนมาร่วมประชุมที่พัทยาในวันที่ 18-19 มิถุนายนนี้

 

ที่ต้องถือว่าเรื่องนี้อยู่เหนือความคาดหมาย เนื่องจากไม่มีผู้นำประเทศใดในอาเซียนคิดว่ารัฐมนตรีต่างประเทศไทยจะส่ง ‘เทียบเชิญ’ การประชุมเรื่องเมียนมาในเวลาเช่นนี้

 

ฉะนั้นเมื่อเกิดความพยายามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งมีสถานะทางการเมืองหลังการเลือกตั้งว่าเป็น ‘รัฐมนตรีรักษาการ’ ตัดสินใจเดินงานการทูตเช่นนี้ จึงเป็นการสร้างความฉงนสนเท่ห์ให้แก่วงการทูตอาเซียนอย่างมาก เท่าๆ กับการมีคำถามอย่างมากไม่แตกต่างกันในสังคมไทยว่า… ทำไมรัฐมนตรีต่างประเทศไทยจึง ‘เลือก’ เชิญประชุมในเวลาดังกล่าว

 

ผิดเวลา!

ผลสืบเนื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของการเชิญครั้งนี้ทำให้ไทยตกเป็นเป้าของการวิจารณ์อีกครั้ง ซึ่งว่าที่จริงแล้วบทบาทของไทยในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ในเมียนมาเป็นสิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาโดยตลอด เพราะท่าทีไทยดูจะไม่เอื้อไปในทางที่จะช่วยแก้ปัญหา แต่กลับถูกมองว่า ‘แอบปันใจ’ ให้กับรัฐบาลทหารเมียนมามากกว่า หรือบางครั้งก็ถูกมองในแบบที่ว่าไทย ‘ไม่จริงใจ’ ในการแก้ปัญหา เพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำรัฐบาลที่ต่างก็เป็นผู้นำรัฐประหารด้วยกันทั้งคู่  

 

การดำเนินนโยบายไทย-เมียนมาหลังรัฐประหารในปี 2021 ในทิศทางดังกล่าวย่อมส่งผลให้สถานะทางการทูตของไทย ‘ตกต่ำลง’ ในสายตาของประชาคมระหว่างประเทศ และดูจะทำให้ไทยไม่เป็นที่น่าไว้วางใจทางการทูตเท่าใดนัก

 

นอกจากนี้ สถานะของตัวรัฐบาล และ/หรือตัวรัฐมนตรีเองมี ‘เงื่อนเวลา’ ทางการเมืองเป็นเครื่องกำกับด้วย ฉะนั้นผลของการเชิญประชุมในครั้งนี้อาจจะต้องถือว่า เป็นการ ‘ผิดเวลาทางการเมือง’ อย่างมาก เพราะสถานะของรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเพียงรัฐบาลรักษาการที่รอเวลาของการเข้ามารับหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ เช่นเดียวกันกับตัวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย อีกทั้งรัฐบาลเดิมก็ไม่ได้เป็นฝ่ายที่ชนะเลือกตั้ง ที่จะมีนัยถึงการได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลในอนาคต ถ้าเช่นนี้แล้ว ‘รัฐมนตรีรักษาการ’ จะเปิดเวทีทางการทูตครั้งนี้เพื่ออะไร และการกระทำเช่นนี้จะเหมาะสมในทางการทูตหรือไม่

 

หากตอบจากบริบทของเวลาทางการเมืองแล้ว เราอาจจะต้องยอมรับว่าความพยายามที่จะเปิดเวทีการทูตของไทยในครั้งนี้มีความ ‘ไม่เหมาะสม’ ด้วยประการทั้งปวง ซึ่งถ้า ‘ที่ปรึกษารัฐมนตรี’ ต้องวิเคราะห์สถานการณ์แล้ว ก็ตอบได้ไม่ยากว่าโอกาสที่รัฐมนตรีต่างประเทศของชาติอาเซียนจะตอบรับคำเชิญของรัฐมนตรีต่างประเทศไทยสำหรับการประชุมในครั้งนี้คงมีไม่มาก และก็ไม่น่าจะเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศได้แต่อย่างใด 

 

แม้อาจจะมีบางประเทศตอบรับ แต่โอกาสจะสร้างความสำเร็จในทางการทูตก็ดูจะมีไม่มาก หรือแม้กระทั่งว่าทางฝ่ายเมียนมาจะตอบรับที่จะมา แต่เราจะคาดหวังอะไรได้จริง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลทหารเมียนมาไม่เคยแสดงท่าทีตอบรับกับข้อเสนอของอาเซียนเท่าใดนัก

 

แต่คำตอบทางการเมืองในเบื้องต้นที่ง่ายกว่าในการมีความเห็นแย้งกับการจัดเวทีของไทยก็คือ ใครจะอยากมาเจอกับรัฐมนตรีที่กำลัง ‘เก็บของกลับบ้าน’… วันนี้ผู้นำในภูมิภาคคงรอและอยากที่จะเห็นหน้าตาของรัฐบาลใหม่ที่กรุงเทพฯ และรอฟังแนวนโยบายของรัฐบาลใหม่ด้วย เพราะผลการเลือกตั้งเป็นคำตอบในตัวเองที่ชัดเจนว่าสถานะของรัฐบาลเก่าได้สิ้นสุดลงไปแล้ว และเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการที่จะหมดวาระไปในระยะเวลาอันสั้น 

 

ถ้าเช่นนั้นแล้ว ใครเล่าที่อยากจะมาเจอกับผู้นำรัฐบาลเก่าที่หมด ‘เวลาทางการเมือง’ ไปเรียบร้อยแล้ว… กฎเกณฑ์ทางการเมืองง่ายๆ และไม่ซับซ้อนคือ ทุกฝ่ายอยากพบรัฐบาลใหม่ที่กรุงเทพฯ 

 

เสียเอกภาพ!

ในอีกด้านของปัญหาที่เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเวทีภูมิภาคคือ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างผู้นำทหารไทยกับผู้นำทหารเมียนมาในระดับรัฐบาลนั้นบ่งบอกถึง ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ อันเป็นผลของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในแบบ ‘ทหารต่อทหาร’ (Military to Military Relationship) ที่เกิดขึ้น จนเกิดความสัมพันธ์ที่มีลักษณะเป็นแบบ ‘แอบให้ใจ’ ระหว่างผู้นำสองประเทศ

 

ผลจากเงื่อนปมของความสัมพันธ์เช่นนี้ยังทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าความใกล้ชิดระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยที่เป็นอดีตผู้นำรัฐประหารกับผู้นำรัฐประหารเมียนมาปัจจุบันนั้น เป็นความแนบแน่นที่ผ่านบทบาทของความเหมือนกันในการยึดอำนาจ การ ‘หนุนช่วย’ ที่ผู้นำไทยให้แก่ฝ่ายรัฐประหารในเมียนมาจึงเป็นมากกว่าการสนับสนุนทางการเมืองอย่างแน่นอน… แม้จะเป็นเรื่อง ‘Moral Support’ กับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร และใช้อำนาจในการปราบปรามประชาชน ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องของ ‘ความไร้ศีลธรรม’ ทางการเมืองในแบบหนึ่งด้วย

 

ฉะนั้นในช่วงที่ผ่านมานั้น ถ้าเกิดการล้มลงของรัฐบาลทหารเมียนมาจากการชุมนุมต่อต้านขนาดใหญ่แล้ว อาจจะส่งผลต่อสถานะทางการเมืองของผู้นำรัฐประหารที่มีอำนาจในการเมืองไทยได้ด้วย ดังนั้นทางเลือกในทางการเมืองของรัฐบาลไทยจึงต้องช่วยประคับประคองรัฐบาลรัฐประหารเมียนมาให้ ‘ทรงตัว’ อยู่ให้ได้ท่ามกลางแรงกดดันจากเวทีอาเซียน พร้อมกับเรียกร้องให้อาเซียนยอมรับ ‘หลักการของการไม่แทรกแซงการเมืองภายใน’ หรือที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าหลักการนี้คือการยอมรับรัฐประหารในชาติสมาชิกโดยไม่คัดค้าน 

 

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันของอาเซียน รวมถึงชาติตะวันตกและญี่ปุ่นด้วยนั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในสภาพเช่นนี้ดูเหมือนไทยเล่นบทเป็น ‘ช่องระบาย’ แรงกดดันทางการเมืองที่เกิดขึ้นให้แก่รัฐบาลทหารเมียนมา จนทำให้หลายฝ่ายกังวลกับท่าทีทางการทูตเช่นนี้อย่างมากว่าเสมือนกับไทยไม่ต้องการ ‘คว่ำบาตร’ รัฐบาลทหารเมียนมาตามทิศทางของอาเซียน (ดูคำแถลงของเลขานุการรัฐมนตรีต่างประเทศ, 18 มิถุนายน 2023)

 

อีกทั้งความพยายามที่จะเปิดเวทีที่พัทยานั้นยังทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่ารัฐมนตรีของไทยพยายามที่จะมีบทบาทเอง โดยไม่ยอมเดินไปพร้อมกับข้อมติของอาเซียนหรือไม่ ซึ่งส่งผลต่อ ‘เอกภาพอาเซียน’ ในการแก้ปัญหา และประเด็นนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ไทยถูกวิจารณ์อย่างมาก แม้ไทยจะแถลงว่าเวทีนี้ทำเพื่อช่วยแก้ปัญหาก็ตาม แต่หลายฝ่ายในอาเซียนรวมทั้งฝ่ายประชาธิปไตยในเมียนมาดูจะไม่เชื่อไปในทิศทางนั้น

 

ผลที่ตามมาอย่างเห็นได้ชัดคือ อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน 2023 ไม่ตอบรับที่จะเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ เพราะข้อริเริ่มของไทยขัดแย้งกับมติของการประชุมอาเซียนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อีกทั้งการปฏิเสธของอินโดนีเซียเช่นนี้อาจอธิบายได้ว่าอาเซียนเองดำเนินการในเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมาเปิดเวทีใหม่ตามที่รัฐมนตรีของไทยเสนอ (จดหมายตอบจากจาการ์ตานั้นเขียนตรงไปตรงมาพอสมควร)

 

นอกจากนี้ ในทางการทูตก็คือการบอกว่าเวทีประชุมในไทยไม่น่าจะมีประโยชน์อะไร เพราะผู้นำทหารเมียนมาเองก็ไม่ได้มี (หรือไม่เคยมี) ท่าทีตอบสนองต่อความพยายามในการลดระดับของสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศแต่อย่างใด และต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาความรุนแรงจากการใช้กำลังของฝ่ายรัฐมีมากขึ้นด้วย และยังรวมถึงการใช้กำลังเปิดการโจมตีคนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนไทย ซึ่งส่วนหนึ่งก็ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนไทยตามแนวชายแดน เช่น ทางด้านอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ดังตัวอย่างกรณีเครื่องบิน MiG-29 ของเมียนมาล้ำน่านฟ้า เพื่อตีวงโจมตีเป้าหมายชนกลุ่มน้อยที่อยู่ใกล้แนวชายแดนไทย เป็นต้น

 

ผิดมารยาท!

สภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดการประเมินว่า ถ้าวันนี้ไม่มีสงครามยูเครนที่โลกตะวันตกต้องเข้าไปมีบทบาทอย่างมากแล้ว แรงกดดันของตะวันตกต่อปัญหาการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลทหารเมียนมาจะมีมากขึ้น และเรื่องเมียนมาจะเป็นประเด็นใหญ่กว่านี้ในเวทีการเมืองโลกอย่างแน่นอน ซึ่งต้องยอมรับว่าชาติตะวันตกที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารในเมียนมานั้นติดอยู่กับวิกฤตสงครามยูเครนที่มีความรุนแรงและเร่งด่วนมากกว่า

 

แท้ที่จริงแล้วผู้นำอาเซียนหลายประเทศพยายามอย่างมากที่หาทางยุติปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงของการใช้กำลังปราบปรามในเมียนมานับตั้งแต่หลังรัฐประหารในปี 2021 แต่ความพยายามดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก เพราะ ‘ข้อมติ 5 ประการ’ ของอาเซียนที่ออกมาจากเวทีการประชุมของชาติสมาชิกนั้นก็ยังไม่สามารถผลักดันให้เป็นจริงได้แต่ประการใด เนื่องจากไม่มีท่าทีตอบรับอย่างจริงจังจากรัฐบาลทหารเมียนมาดังที่กล่าวไปแล้ว  

 

ดังนั้นความพยายามของรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยที่จะ ‘ฉีกตัวเอง’ ออกไปมีบทบาทใหม่ในภาวะที่การเมืองภายในบ้านกำลังถึงเวลาของการเปลี่ยนรัฐบาลนั้นน่าจะไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำ และควรจะปล่อยให้บทบาทเช่นนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่มากกว่า การเตรียมจัดเวทีประชุมของไทยครั้งนี้จึงต้องถือว่าเป็นความริเริ่มที่ ‘ผิดกาลเทศะ’ อย่างมาก และเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก รัฐมนตรีของไทยกลับตอบว่า เวทีพัทยาไม่ใช่การประชุม เป็นแต่การจัดเพื่อรับฟังความเห็นถึงพัฒนาการทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเมียนมา

 

ข้อแก้ตัวเช่นนี้ดูจะยิ่งไปกันใหญ่… เพราะจดหมายเชิญประชุมลงวันที่ 14 มิถุนายน ระบุชัดเจนในเรื่องนี้ ซึ่งดูจะยิ่งทำให้ภาพของงานทางการทูตของไทยในภูมิภาคตกต่ำลงอย่างมาก เสมือนกับว่ารัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานด้านต่างประเทศนั้นไม่มีความรู้และความเข้าใจเพียงพอกับทั้งงานทางการทูต และกับงานการเมืองในภูมิภาค ที่วันนี้ชาติสมาชิกอาเซียนมีความ ‘อึดอัด’ กับรัฐบาลทหารเนปยีดอ ขณะเดียวกันก็อึดอัดกับรัฐบาลกรุงเทพฯ อีกแบบด้วย ผลเช่นนี้ทำให้มองไม่ออกว่าประเทศไทยได้อะไรจากความริเริ่มทางการทูตในครั้งนี้ 

 

ในอีกด้านหนึ่ง ความพยายามเช่นนี้ในทางการทูตเองก็อาจต้องถือว่าเป็นการ ‘ผิดมารยาท’ อย่างมากเช่นกัน เพราะผู้นำไทยควรจะต้องมีการปรึกษาหารือเพื่อให้เกิด ‘เอกภาพอาเซียน’ ในการแก้ไขวิกฤตเมียนมา ซึ่งการกระทำของไทยแบบเอกเทศเช่นนี้อาจจะไม่เอื้อให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้จริง และไทยอาจถูกมองจากผู้นำชาติสมาชิกของอาเซียนว่าไทยกลายเป็น ‘ตัวปัญหา’ อีกแบบที่คอย ‘แอบ’ ช่วยเหลือรัฐบาลเมียนมาอยู่ลับหลัง ซึ่งแน่นอนว่าทัศนะดังกล่าวไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลไทย

 

ประเทศเสียมากกว่าได้!

ข้อเสนอของรัฐมนตรีต่างประเทศไทยเรื่องเมียนมาครั้งนี้จึงสรุปได้ว่า ‘ผิดกาละ-นอกเทศะ’ อย่างยิ่ง แต่ที่สำคัญกว่าคือการกระทำเช่นนี้ทำให้สถานะด้านการต่างประเทศของไทยต้องตกต่ำลงไปอีก จนกลายเป็นอาการ ‘ความผิดพลาดทางการทูต’ อย่างที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นด้วย ทั้งที่ตัวรัฐมนตรีเองก็เป็นนักการทูตไทยระดับสูงที่ผ่านงานการเมือง-การทูตมาก่อนในหลายเวที

 

สุดท้ายนี้เราอาจสรุปได้อีกประการว่า งานนี้ ‘ประเทศไทยเสียมากกว่าได้’ และทำให้ตัวรัฐบาลรักษาการเองก็เสียหายในทางการเมืองไปด้วย จนอาจต้องสรุปว่าทั้งหมดนี้คือ  ‘ผิดการเมือง-พลาดการทูต’ นั่นเอง!

 


 

หมายเหตุผู้เขียน:

บทความนี้ใช้คำว่า ‘การประชุม’ ในนัยที่เป็น ‘ความริเริ่มของตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ’ (และอาจรวมถึงผู้ใกล้ชิด) ซึ่งเชื่อว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศที่ยังมี ‘สติและวิจารณญาณ’ ไม่ได้มีส่วนร่วมในความริเริ่มดังกล่าว และไม่มีทัศนะที่สนับสนุนการกระทำเช่นนี้ของฝ่ายการเมืองแต่อย่างใดด้วย

 

ภาพ:

  • (1) SVFA / Shutterstock
  • (2) Brendan Smialowski / AFP
  • (3) Jack Taylor / AFP
  • (4) Thet Aung / AFP
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising