×

ความสามารถในการแข่งขัน นิยามใหม่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนไป

06.10.2024
  • LOADING...

ในเดือนกุมภาพันธ์ 1956 Robert M. Solow นักเศรษฐศาสตร์จาก MIT ตีพิมพ์บทความวิชาการเรื่อง ‘A Contribution to the Theory of Economic Growth’ ซึ่งนำเสนอแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคที่อธิบายการเติบโตทางเศรษฐกิจ Solow เสนอว่าเศรษฐกิจจะเติบโตตามการผลิต ซึ่งหมายถึงการสร้างกิจกรรมที่เปลี่ยนจาก ‘ทรัพยากร’ ไปเป็น ‘ผลผลิต’ แบบจำลองนี้กลายมาเป็นพื้นฐานของทฤษฎีการเติบโตทางเศรษฐกิจมาเป็นเวลากว่า 70 ปี

 

แบบจำลองของ Solow สะท้อนบริบทของเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งมีลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ 

 

ประการแรก ‘คนมากขึ้น’ นั่นคือ ประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยสหประชาชาติประมาณการว่าประชากรโลกในช่วงปี 1950-1960 เติบโตประมาณ 1.9% ต่อปี การเพิ่มขึ้นของประชากรนี้ส่งผลให้มีแรงงานเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น เกิดชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อ และความต้องการสินค้าและบริการก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย สิ่งนี้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคนั้น

 

ประการที่สอง ‘ร่วมมือกันมากขึ้น’ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศต่างๆ ตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศ นำไปสู่การก่อตั้งองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง เช่น สหประชาชาติ และการเจรจาข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การก่อตั้ง GATT (General Agreement on Tariffs and Trade) ในปี 1947 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยงานศึกษาของ WTO ชี้ให้เห็นว่า การเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ GATT ช่วยผลักดันให้การส่งออกของประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นถึง 171% ความร่วมมือนี้นำไปสู่การแลกเปลี่ยนสินค้า เทคโนโลยี และความรู้ระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง

 

ประการที่สาม ‘สภาวะแวดล้อมเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น’ โดยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีการนำเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมากในช่วงก่อนสงครามมาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจ เช่น เทคโนโลยีการผลิตแบบสายพาน (Assembly Line) ที่ทำให้ผลิตสินค้าได้ในปริมาณมากและมีต้นทุนต่ำลง นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีการบินพาณิชย์ ทำให้การขนส่งระหว่างประเทศทำได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมที่ทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศทำได้ง่ายขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเอื้อให้ธุรกิจสามารถขยายตัวและดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

บริบททั้ง 3 ประการนี้ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจมุ่งเน้นการผลิตสินค้าในปริมาณมาก (Mass Production) และการแบ่งงานกันทำตามข้อต่อของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยผู้ที่จะมีสิทธิ์เข้าร่วมในกิจกรรมการผลิตคือผู้ที่ ‘เก่งที่สุด’ ซึ่งหมายถึงผู้ที่ผลิตได้ ‘มากที่สุดและถูกที่สุด’ สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้นักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายในยุคนั้นมองเศรษฐกิจจากมาตรวัดเชิง ‘ปริมาณ’ และพยายามหาคำตอบว่า ‘จะผลิตอย่างไรให้ได้สินค้าปริมาณมากที่สุดจากทรัพยากรที่มีจำกัด?’ ซึ่งกลายเป็นที่มาของคำว่า ‘ผลิตภาพการผลิต’ หรือ ‘Productivity’ ที่เรารู้จักกันดี

 

จาก 3 มากขึ้น สู่ 3 น้อยลง

 

เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันแตกต่างไปจากเศรษฐกิจโลกในยุคของ Solow อย่างมีนัยสำคัญ โดยเปลี่ยนจาก ‘3 มากขึ้น…สู่ 3 น้อยลง’ ดังนี้

 

ประการแรก ‘คนน้อยลง’ สะท้อนให้เห็นจากการที่ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่เข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มตัว โดยในปี 2023 จำนวนประชากรโลกเติบโตเพียงราว 1.0% ต่อปี และมีแนวโน้มจะเติบโตช้าลงอีกในอนาคต โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยสัดส่วนของประชากรอายุมากกว่า 64 ปี เพิ่มขึ้นจาก 5% ในปี 1960 เป็น 10% ในปี 2023 ในขณะที่ประชากรอายุต่ำกว่า 15 ปี ลดลงจาก 37% เหลือ 25% ในช่วงเวลาเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยงานศึกษาจาก NBER พบว่าจะทำให้รายได้ประชาชาติของสหรัฐฯ เติบโตช้าลงประมาณ 0.3% ต่อปีในช่วงปี 2020-2050 ผลกระทบนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศพัฒนาแล้ว แต่กำลังเริ่มส่งผลต่อประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศด้วย รวมถึงประเทศไทย

 

ประการที่สอง ‘ความร่วมมือน้อยลง’ เห็นได้ชัดจากการที่ประเทศมหาอำนาจค้าขายกันน้อยลง โดยมูลค่าการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนลดลงจาก 6.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 เหลือ 5.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 การกีดกันทางการค้ากำลังลุกลามไปยังภาคบริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ ทำให้การแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีระหว่างประเทศเป็นไปได้ยากขึ้น ความร่วมมือระหว่างประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนจากดัชนี Global Cooperation Index หมวด Peace and Security ที่ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ แนวโน้มการแบ่งขั้วทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศมหาอำนาจส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งอาจนำไปสู่การลดประสิทธิภาพในการผลิตโดยรวม

 

ประการที่สาม ‘สภาวะแวดล้อมเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจน้อยลง’ เป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่หลากหลายและเชื่อมโยงกัน ทั้งภัยไซเบอร์ สังคมแบ่งขั้ว ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น ฐานข้อมูลภัยพิบัติ EM-DAT ของประเทศเบลเยียมระบุว่า ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 2010 ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอลง 0.23% ต่อปี มองไปข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้การวางแผนธุรกิจระยะยาวและการลงทุนขนาดใหญ่เป็นไปได้ยากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระยะยาว

 

สถานการณ์ 3 น้อยลงนี้ ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจที่วัดจาก ‘ปริมาณ’ อาจไม่เหมาะสมอีกต่อไป และทำให้เกิดความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวคิดผลิตภาพการผลิตให้สอดคล้องกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป การพิจารณาผลิตภาพการผลิตในยุคปัจจุบันจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยที่ซับซ้อนมากขึ้น และมุ่งเน้นการสร้าง ‘คุณค่าที่ยั่งยืน’ มากกว่าการเพิ่มปริมาณการผลิตเพียงอย่างเดียว 

 

มองไปข้างหน้า สิ่งที่จะมีความสำคัญมากขึ้นคือ ‘คุณภาพ’ ของการเติบโต ทั้งคุณภาพของการได้มาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และคุณภาพที่การเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นจะสร้างต่อชีวิตคนในระบบเศรษฐกิจ 

 

โดย World Economic Forum ได้แบ่ง ‘คุณภาพของการเติบโต’ ออกเป็น 4 มิติสำคัญ ได้แก่ (1) Innovativeness หมายถึงการเติบโตที่มาจากความสามารถของระบบเศรษฐกิจในการปรับตัวและพัฒนาภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สังคม และโครงสร้างเชิงสถาบันโดยรอบ (2) Inclusiveness หมายถึงการเติบโตที่คนในระบบเศรษฐกิจมีส่วนร่วมในโอกาสและผลประโยชน์ที่ได้รับมา (3) Sustainability หมายถึงการเติบโตที่คำนึงถึงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และ (4) Resilience หมายถึงการเติบโตที่ราบรื่นและต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์เลวร้ายที่เกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น สามารถทนต่อผลกระทบจากสถานการณ์เลวร้าย และฟื้นตัวกลับสู่แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้โดยเร็ว

 

ปัจจัยที่เอื้อให้มี ‘ผลิตภาพการผลิต’ ในภูมิทัศน์โลกใหม่

 

ภายใต้โลกที่มีคนน้อยลง ร่วมมือกันน้อยลง และสภาวะแวดล้อมเอื้อน้อยลง ‘ความเก่ง’ หรือผลิตภาพการผลิตบนภูมิทัศน์ใหม่จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยเอื้อ 3 ประการ ได้แก่ Adaptability, Coopetition และ Agility ซึ่งแต่ละปัจจัยมีความสำคัญและบทบาทเฉพาะในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคต

 

Adaptability หรือความสามารถในการปรับตัว เป็นคุณสมบัติสำคัญที่ช่วยให้แรงงานและองค์กรสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและความต้องการของตลาดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การสร้าง Adaptability ทำได้หลายวิธี เช่น การพัฒนาระบบการศึกษาที่เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) การสนับสนุนให้มีการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องในที่ทำงาน และการสร้างระบบประกันสังคมที่เอื้อต่อการเปลี่ยนงานหรือปรับเปลี่ยนอาชีพ นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีนโยบายที่ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างอุตสาหกรรมและภูมิภาค เพื่อให้แรงงานสามารถย้ายไปสู่ภาคส่วนที่มีผลิตภาพสูงกว่าได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์มีโครงการ SkillsFuture ที่ให้เงินสนับสนุนประชาชนในการพัฒนาทักษะตลอดชีวิต ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการปรับตัวของแรงงานในประเทศ

 

Coopetition เป็นแนวคิดที่ผสมผสานระหว่างการแข่งขัน (Competition) และความร่วมมือ (Cooperation) เข้าด้วยกัน ในยุคที่การค้าระหว่างประเทศมีความท้าทายมากขึ้น Coopetition จะช่วยให้ธุรกิจและประเทศต่างๆ รักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ ในขณะเดียวกันก็ได้ประโยชน์จากการร่วมมือกัน ตัวอย่างของ Coopetition ในระดับธุรกิจ เช่น การที่บริษัทคู่แข่งร่วมมือกันในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐาน แต่แข่งขันกันในการนำเทคโนโลยีนั้นไปใช้ในผลิตภัณฑ์ของตน ในระดับประเทศ เราอาจเห็น Coopetition ในรูปแบบของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เช่น ASEAN ที่ประเทศสมาชิกร่วมมือกันในการลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน แต่ยังคงแข่งขันกันในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การส่งเสริม Coopetition อาจทำได้โดยการสร้างเวทีหรือพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างองค์กรหรือประเทศ การสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาร่วม และการสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมร่วมกัน

 

Agility หรือความคล่องตัว เป็นความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่หลากหลาย Agility จะช่วยให้องค์กรและระบบเศรษฐกิจสามารถปรับตัวและฟื้นตัวจากวิกฤตได้เร็วกว่า การสร้าง Agility ในระดับองค์กรอาจทำได้โดยการปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น การใช้โครงสร้างแบบแบนราบ (Flat Organization) หรือการทำงานแบบ Project-based ที่สามารถปรับเปลี่ยนทีมงานได้ตามความต้องการของโครงการ ในระดับประเทศ การสร้าง Agility อาจหมายถึงการมีนโยบายและกฎระเบียบที่สามารถปรับเปลี่ยนได้รวดเร็วตามสถานการณ์ เช่น การมีระบบ Regulatory Sandbox ที่อนุญาตให้ทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ ภายใต้การกำกับดูแลแบบผ่อนคลาย นอกจากนี้ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการเพิ่ม Agility ให้กับองค์กรและระบบเศรษฐกิจ

 

ภายใต้บริบทใหม่นี้ คำนิยามของคนที่ ‘เก่ง’ จึงเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่อาจหมายถึงคนที่ผลิตได้มากที่สุดหรือถูกที่สุด กลายเป็นคนที่ ‘มีความสามารถในการปรับตัว มีความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น และเป็นผู้ที่มีความคล่องตัว’ คุณสมบัติเหล่านี้จะช่วยให้บุคคลสามารถรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น

 

บทสรุป

 

Joseph Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงและเป็นลูกศิษย์คนสำคัญของ Robert Solow เคยกล่าวไว้ว่า “Development is about transforming the lives of people, not just transforming economies.” เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาเศรษฐกิจและการเพิ่มผลิตภาพไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงตัวเลขทางเศรษฐกิจ แต่เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน

 

ในท้ายที่สุด การเพิ่มผลิตภาพในโลกอนาคตจะไม่ใช่เพียงการผลิตให้ได้มากขึ้นด้วยทรัพยากรที่น้อยลง แต่เป็นการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนและครอบคลุมสำหรับทุกคนในสังคม ด้วยการผสมผสานระหว่างนวัตกรรม ความร่วมมือ และความยืดหยุ่น เพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่รออยู่ในอนาคต การปรับเปลี่ยนมุมมองและวิธีการวัดผลิตภาพการผลิตจึงเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่เพียงแต่เติบโต แต่ยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับทุกภาคส่วนของสังคมได้อย่างแท้จริง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X