ในปัจจุบัน เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่หันมาเลี้ยงสัตว์เลี้ยงและปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัวจริงๆ แทนที่จะมีลูก จนกลายเป็นเทรนด์ที่เรียกว่า Pet Parent เทรนด์นี้ไม่เพียงแต่เป็นการแสดงออกถึงความรักและความเอาใจใส่ต่อสัตว์เลี้ยง แต่ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในสังคมที่มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพที่สูงขึ้นและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจทุกวันนี้ ที่ทำให้หลายคนรู้สึกว่าการมีลูกอาจไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสม นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของการทำงานแบบรีโมตยังเปิดโอกาสให้ผู้คนมีเวลามากขึ้น การใช้เงินและเวลาในการดูแลสัตว์เลี้ยงจึงกลายเป็นเรื่องที่หลายคนยินดีที่จะทำ
เทรนด์นี้ได้เปิดช่องทางสร้างโอกาสให้กับธุรกิจที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงมากมาย เราเห็นการเกิดขึ้นของโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของ “Pet Parents ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและสุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยง สถานพยาบาลสัตว์ (Pet Hospital/Pet Clinic) และบริการต่างๆ เพื่อสัตว์เลี้ยง เช่น บริการอาบน้ำ-ตัดขน-สปา (Pet Grooming) บริการรับฝากเลี้ยง (Pet Hotel) บริการสระว่ายน้ำและสถานที่ออกกำลังกาย รวมไปถึงธุรกิจบริการดูแลและรักษาสัตว์เลี้ยงแบบครบวงจร หรือ Pet Wellness Center หรือแม้กระทั่งการเพิ่มขึ้นของคอนโด Pet-friendly ที่อนุญาตให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเลี้ยงสัตว์ได้
ธุรกิจสัตว์เลี้ยงกับความท้าทายด้านกฎหมายที่ต้องพิจารณา
เมื่อเราพิจารณาถึงการเติบโตของตลาดสัตว์เลี้ยงดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ชัดว่าความต้องการในการลงทุนในธุรกิจนี้กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญที่ผู้ลงทุนควรพิจารณาเป็นลำดับแรกๆ คือข้อกำหนดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในธุรกิจใหม่ หรือด้วย การควบรวมกิจการ
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสัตว์เลี้ยงคือ กฎหมายด้านปศุสัตว์ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์ รวมถึงกฎหมายด้านสาธารณสุข ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข และกฎหมายท้องถิ่นที่อาจเกี่ยวข้อง โดยธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่มีลักษณะเฉพาะและมีรายละเอียดในการดำเนินการที่ต่างกัน ก็จะมีกฎหมายข้อบังคับที่ต่างกันออกไปในหลายประเด็น เช่น
ร้านขายอาหารและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง (Pet Shop) การผลิตและนำเข้าอาหารสัตว์
กฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการด้านนี้ คือ กฎหมายด้านปศุสัตว์ โดยมีพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์เป็นกฎหมายหลัก โดยผู้ผลิต ขาย นำเข้า เก็บรักษา อาหารสัตว์ จะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดรวมถึงต้องมีใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง
ในส่วนของผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงนอกเหนือจากอาหารสัตว์ เช่น ผลิตภัณฑ์ทรายแมว ผ้าเปียกสำหรับสัตว์เลี้ยง แชมพูเพื่อล้างคราบสกปรกโดยทั่วไปสำหรับสัตว์เลี้ยง แม้จะไม่ถูกควบคุมภายใต้กฎหมายด้านการปศุสัตว์เป็นการเฉพาะ แต่ผู้ที่ประสงค์จะขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังคงจะต้องพิจารณาถึงกฎหมายอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมฉลากสินค้า เป็นต้น
นอกจากนี้ กิจการผลิตอาหารสัตว์ยังอาจสามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (The Board of Investment of Thailand: BOI) หากกิจการเป็นไปตามเงื่อนไขของสำนักงาน เพื่อขอรับการส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์ในการประกอบธุรกิจได้อีกด้วย
Pet Wellness Center
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริการอาบน้ำ-ตัดขน-สปา บริการรับฝากเลี้ยง บริการสระว่ายน้ำ และสถานที่ออกกำลังกายสำหรับสัตว์เลี้ยง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีพระราชบัญญัติการสาธารณสุขเป็นกฎหมายหลัก การประกอบกิจการเหล่านี้ถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ต่างๆ เช่น การรักษามลพิษทางเสียงจากเสียงร้องของสัตว์เลี้ยง และมลพิษทางกลิ่นจากมูลหรือของเสียอื่นๆ ของสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
สถานพยาบาลสัตว์
ข้อกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลสัตว์ คือ พระราชบัญญัติสถานพยาบาลสัตว์ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์ ผู้ที่จะดำเนินการจะต้องได้รับใบอนุญาตในการจัดตั้งสถานพยาบาลสัตว์ โดยสถานพยาบาลสัตว์จะแบ่งเป็น สถานพยาบาลสัตว์ประเภทที่ไม่มีสัตว์ป่วยไว้ค้างคืน และสถานพยาบาลสัตว์ประเภทที่มีสัตว์ป่วยไว้ค้างคืน โดยผู้ขออนุญาตจัดตั้งสถานพยาบาลสัตว์ต้องมีผู้ดำเนินการและผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ตามชั้นและจำนวนที่กฎหมายกำหนด
การควบรวมกิจการ
ในการควบรวมกิจการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง จะต้องพิจารณารูปแบบและโครงสร้างของการควบรวมกิจการ เนื่องจากข้อกำหนดของใบอนุญาตต่างๆ มีความแตกต่างกัน ใบอนุญาตบางใบสามารถโอนได้ บางใบอนุญาตไม่สามารถโอนได้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้รับโอนเพื่อประกอบการอนุญาตโอนใบอนุญาตด้วย
นอกจากนี้ หากผู้ที่สนใจประกอบกิจการหรือผู้ลงทุนเป็นคนต่างด้าว ก็ต้องดำเนินการตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวด้วยเช่นกัน เช่น หากจะเข้าถือหุ้นในธุรกิจ Pet Wellness Center ผู้ลงทุนที่เป็นคนต่างด้าวอาจต้องพิจารณาถึงทุนขั้นต่ำที่คนต่างด้าวจำเป็นต้องใช้ตามกฎหมายในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย เป็นต้น
ทิศทางกลยุทธ์สำหรับการเข้าลงทุนในธุรกิจสัตว์เลี้ยง
ธุรกิจสัตว์เลี้ยงมีโอกาสเติบโตที่ดีในอนาคต และยังคงมีผู้ประกอบการขนาดใหญ่จำนวนไม่มาก ถือว่ากำลังเป็นช่วงสร้างตัวของธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง ทำให้ธุรกิจสัตว์เลี้ยงเป็นตลาดที่กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนและบริษัทต่างๆ เพราะสถานการณ์นี้เป็นโอกาสสำหรับการระดมทุน การลงทุน และการควบรวมกิจการ อย่างไรก็ตาม ผู้สนใจลงทุนควรทำการวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์เพื่อคัดเลือกโอกาสทางธุรกิจหรือส่วนตลาดที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องเชิงกลยุทธ์ รวมถึงมีโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับธุรกิจเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ มี 3 ปัจจัยหลักที่ควรคำนึงถึงในการวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ ได้แก่ ทิศทางกลยุทธ์โดยรวมขององค์กร ศักยภาพในการเติบโตของส่วนตลาดที่สนใจลงทุน และความสามารถในการแข่งขัน โดยการวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์จะทำให้ทราบได้ว่าควรจะเข้าลงทุนในส่วนใดของตลาดสัตว์เลี้ยง ซึ่งจะสามารถใช้เป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจในอนาคตได้
สรุป
สำหรับผู้ที่สนใจที่จะลงทุนหรือผู้ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงนั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่า ท่ามกลางโอกาสทางธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงมากมายที่มาพร้อมกับเทรนด์ Pet Parent นี้ ผู้ประกอบการและนักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์และการเตรียมพร้อมในเรื่องระบบบัญชี ภาษี การควบคุมภายใน รวมถึงระบบซอฟต์แวร์สนับสนุนธุรกิจต่างๆ เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการศึกษาและทำความเข้าใจในกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะเป็นพื้นฐานการเติบโตทางธุรกิจที่ยั่งยืน
ภาพ: Bogdan Kurylo / Getty Images