เผื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ชมขาจร หนังเรื่อง Perfect Days ของผู้กำกับเยอรมันชั้นครู Wim Wenders ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่นเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาหนังนานาชาติ และในบรรดาหนังที่ถูกส่งเข้าประกวดจาก 92 ประเทศ (รวมถึง เพื่อน(ไม่)สนิท จากเมืองไทย) ผลปรากฏว่าหนังเรื่อง Perfect Days ได้รับโหวตให้เข้ารอบ 1 ใน 5 เรื่องสุดท้าย ซึ่งไม่ว่าชื่อของหนังจะถูกประกาศบนเวทีหรือไม่ มันก็เป็นชัยชนะที่สมควรปรบมือให้ในหลายมิติด้วยกัน นั่นรวมถึงการที่สมาคมผู้อำนวยการสร้างของญี่ปุ่นคัดเลือกหนังเรื่องนี้ในฐานะตัวแทนประเทศตั้งแต่ต้น
เพราะถ้าหากจะโยนเรื่องชาตินิยมทิ้งไปก่อน นี่เป็นปีที่หนังญี่ปุ่นแข็งแกร่งจริงๆ ด้วยผลงานของคนทำหนังสำคัญหลายเรื่อง เรียงตั้งแต่ The Boy and the Heron ของ Hayao Miyazaki, Monster ของ Hirokazu Koreeda, Evil Does Not Exist ของ Ryusuke Hamaguchi (ซึ่งอาจไม่เข้าเกณฑ์ในแง่ของวันฉาย) ขณะที่ Godzilla Minus One ของ Takashi Yamazaki (ผู้กำกับ Always: Sunset on Third Street) ก็ประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และเสียงวิจารณ์อย่างล้นหลามทีเดียว
หรือพูดอย่างย่นย่อ ถึงแม้ Perfect Days จะชนะรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งล่าสุด นั่นก็ไม่ได้ทำให้หนังเรื่องนี้ดูมีภาษีหรือแต้มต่อเหนือกว่าหนังที่อ้างถึงข้างต้น (ซึ่งก็ล้วนไปได้สวยในเทศกาลหนังและเสียงวิจารณ์เช่นกัน) เป็นไปได้ว่าสมมติว่า Perfect Days ไม่ถูกเลือกก็คงจะไม่มีใครว่าอะไร
แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ ความห่วงกังวลเรื่องผู้กำกับเป็นคนต่างชาติ (ซึ่งจะมาเข้าใจความเป็นญี่ปุ่นได้อย่างไร) ก็ไม่ใช่ประเด็นที่ใครทึกทักไปเอง และเป็นตัว Wenders นั่นเองที่ตั้งคำถามในเชิงท้าทายคนดูรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลหนังแห่งกรุงโตเกียวว่า หลังจากที่ทั้งหมดดูหนังจบแล้ว พวกเขายังจะคิดว่านี่เป็นหนังที่ชาวเยอรมันเป็นคนสร้างหรือไม่ เพราะเจ้าตัวบอกด้วยความเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เขาค้นพบระหว่างการทำหนังเรื่องนี้ก็คือจิตวิญญาณของความเป็นญี่ปุ่น
ฟังผิวเผินก็ดูเหมือนยาหอมที่ Wenders พูดเอาใจเจ้าภาพและไม่ต้องถือสาหาความ แต่ใครที่ติดตามดูหนังของ Wenders มาอย่างต่อเนื่องก็จะพบอย่างไม่มีวันผิดพลาดว่า คนทำหนังที่มีอิทธิพลทั้งในแง่ของความคิดและสไตล์การนำเสนออย่างเหลือล้นก็คือ Yasujiro Ozu และหนังสารคดีเรื่อง Tokyo-Ga (1985) ของ Wenders ซึ่งเจ้าตัวเป็นคนให้เสียงบรรยาย ก็ไม่เพียงพาคนดูไปสำรวจสถานที่ต่างๆ ในกรุงโตเกียวที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นฉากหลังในหนังของ Ozu หลายเรื่อง ทว่าเสียงรำพึงรำพันของเขาเกี่ยวกับดินแดนแห่งนี้ก็ฟังดูเหมือนคนที่กำลังเสาะแสวงหาสิ่งที่เรียกว่า ‘Japanese Soul’
แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ความเป็นญี่ปุ่น หรือเยอรมัน หรือสัญชาติอะไรก็แล้วแต่ ก็อาจจะไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะเอาเข้าจริงๆ ในมุมมองของ Wenders ภาพยนตร์สำหรับเขาไม่เคยมีสัญชาติ (“For me, cinema has never been a national story”) และหนังเรื่องแล้วเรื่องเล่าพูดถึงความเป็นมนุษย์ที่เส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศไม่มีความหมายจริงๆ จังๆ
โดยปริยาย ฉากหลังของ Perfect Days อาจจะได้กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทว่าเนื้อแท้ของหนังก็คลับคล้ายจะเป็นการชวนคนดูสนทนาธรรมเกี่ยวกับชีวิต ความสุข ความทุกข์ คุณค่า และแก่นแท้ของมัน ซึ่งเกี่ยวโยงกับผู้คนไม่ว่าพวกเราจะซุกตัวอยู่มุมไหนของโลก และทั้งหมดของแง่มุมที่น่าครุ่นคิดก็ค่อยๆ ซึมซับเข้ามาในการรับรู้ของเราทีละเล็กละน้อยด้วยท่าทีการนำเสนอที่อ่อนไหวและอ่อนโยน สำรวมและถ่อมตน
หรือเปรียบไปแล้ว Wenders ก็เป็นเหมือนกับ ‘เซนมาสเตอร์’ ผู้ซึ่งสอดแทรกปรัชญาชีวิตที่ล้ำลึกผ่านปริศนาธรรมที่สุดแสนเรียบง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ อันได้แก่ ชีวิตทุกเมื่อเชื่อวันของพนักงานทำความสะอาดห้องน้ำสาธารณะในกรุงโตเกียวที่ชื่อ Hirayama (Koji Yakusho) ผู้ซึ่งน่าสังเกตว่าเกือบครึ่งค่อนเรื่องของหนังก็ว่าได้ที่คนดูแทบจะไม่ได้ยินสุ้มเสียงของตัวละคร
และตลอดช่วงเวลาทั้งหมดของหนังซึ่งกินเวลาฉาย 2 ชั่วโมง คนดูถูกกำหนดให้จดจ่ออยู่กับกิจวัตรที่คล้ายกันแทบทุกวันของชายวัยกลางคน ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า รดน้ำต้นไม้ในกระถางเล็กๆ นอกหน้าต่าง เปิดประตูบ้านด้วยสีหน้ายิ้มแย้มรับวันใหม่ ขับรถตู้ขนาดกะทัดรัดตระเวนไปตามห้องน้ำซึ่งอยู่ ณ ที่ต่างๆ ในกรุงโตเกียวท่ามกลางเสียงเพลงยุค 60-70 จากเทปคาสเซตต์ ซึ่งในมุมของนักสะสม คอลเล็กชันเพลงเก่าของเขาล้วนมีสถานะเป็น ‘แรร์ไอเทม’ มากๆ (House of the Rising Sun, Perfect Days, Feeling Good) หรืองานอดิเรกอีกอย่างของ Hirayama ก็คือการถ่ายภาพต้นไม้ใบหญ้าและแสงสว่างของแต่ละช่วงเวลาด้วยกล้องฟิล์มปัญญาอ่อนตามประสาของคนยุคอนาล็อก ขณะที่ตอนท้ายของวันก็สิ้นสุดด้วยการชำระล้างร่างกาย ณ โรงอาบน้ำสาธารณะ ดื่มกินในบาร์เจ้าประจำเป็นครั้งคราว อ่านนิยายของนักเขียนรุ่นคลาสสิก (William Faulkner, Aya Koda, Patricia Highsmith) ก่อนนอน และฝันเป็นภาพแอ็บสแตรกต์ที่หลายครั้งมีบุคคลที่เขาพบเจอในวันนั้นๆ เข้าไปปะปน
แต่ก็อีกนั่นแหละ ความเหมือนกันแทบทุกวันของ Hirayama (ผู้ซึ่งชื่อของเขาพ้องพานกับชื่อตัวละครในหนังเรื่องสุดท้ายของ Ozu เรื่อง An Autumn Afternoon ซึ่งพูดถึงชีวิตตามลำพังในช่วงบั้นปลาย) ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งจะต้องย้ำรอยเดิม เพราะข้อเท็จจริงก็คือ รายละเอียดปลีกย่อยที่เกิดขึ้นก็ทำให้แต่ละวันแตกต่าง มีรสชาติ และลักษณะเฉพาะในแบบฉบับของมัน และนั่นตอกย้ำว่าชีวิตมีแต่ ‘ดำเนินไปข้างหน้า’ และไม่เคยมีวันไหนที่วนเวียนซ้ำซากอย่างแท้จริง
ความน่าทึ่งของ Perfect Days ก็อย่างที่ได้เกริ่นไว้ก่อนหน้า นี่เป็นหนังที่จะว่าไปแล้วเกือบไม่มีเส้นเรื่อง นั่นรวมถึงเหตุการณ์ดรามาติกช่วงครึ่งหลัง ซึ่งอาจจะทำให้คลื่นลมที่เคยสงบนิ่งในจิตใจของเขาเกิดแรงกระเพื่อมขึ้นมาบ้าง แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตของหนุ่มใหญ่พลิกผันหรือเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ตรงกันข้าม ทั้งหมดนั้นกลับเน้นย้ำสิ่งที่เรียกว่า จุดยืน อุดมการณ์ และความเชื่อของตัวละครให้ยิ่งแน่นหนามากขึ้น
หรือถ้าหากจะพูดอย่างรวบยอด Perfect Days เป็นหนังที่พูดถึงความงาม และในขณะที่ประโยคต่อไปนี้อาจจะฟังดูน้ำเน่า สำเร็จรูป หรือแม้กระทั่งหลงละเมอ แต่หนังของ Wenders ถ่ายทอดได้อย่างโน้มน้าวชักจูงให้เห็นว่า คุณค่าที่จรรโลงและปลอบประโลมความรู้สึกนี้ได้แก่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่อยู่รอบตัวเรา และ Hirayama เป็นคนที่โชคดีเพราะดวงตาของเขามองเห็นธรรม บางทีประเด็นอาจจะไม่ได้อยู่ที่การตั้งคำถามว่าตัวละครอย่าง Hirayama มีอยู่จริงหรือไม่ในโลกใบนี้ แต่ใช่หรือไม่ว่าความสามารถในการเพ่งพินิจหรือมองหา ‘สุนทรียะ’ ที่แอบซ่อนอยู่ในสิ่งละอันพันละน้อย เป็นวัตรปฏิบัติที่ใครก็สามารถฝึกฝนขัดเกลา และความละเอียดและอ่อนไหวนี่แหละที่นำมาซึ่งความเห็นอกเห็นใจและความเข้าอกเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
เพราะเหตุนี้เองที่เกือบตลอดทั้งเรื่องเรามักจะได้เห็นใบหน้าที่ยิ้มแย้มและเปี่ยมไปด้วยความสุขของตัวละคร และพื้นที่สำหรับความทุกข์ ความโศกเศร้า ตลอดจนเรื่องแย่ๆ ซึ่งรู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และอยู่คู่กับด้านที่สว่างไสวของชีวิตเหมือนกลางวัน-กลางคืน ก็ถูกจำกัดให้อยู่ในขอบเขตที่เจ้าตัวรับมือได้
และแน่นอนว่าหนึ่งในความงดงามที่ตราตรึงความรู้สึกมากๆ ของหนังเรื่อง Perfect Days ได้แก่บรรดาห้องน้ำสาธารณะแต่ละแห่ง ซึ่งในแง่ของสถาปัตยกรรรมมันถูกออกแบบได้อย่างวิจิตรบรรจงและดึงดูดสายตาราวกับเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (ซึ่งเอาจริงๆ มันก็ควรจะมีบรรยากาศแบบนั้นเพื่อการทำธุระอย่างมีสมาธิ) อีกทั้งยังเปี่ยมไปด้วยรสนิยมและกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลบอกโดยอ้อมถึงคุณภาพชีวิตของผู้คน และคนนอกอย่างเราๆ ท่านๆ ได้แต่เฝ้ามองด้วยความอิจฉา และคงไม่ต้องเอ่ยถึงความสะอาดสะอ้าน ซึ่งใครที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นก็คงประสบพบเห็นด้วยตัวเองว่าสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดในหนังเรื่องนี้ไม่ใช่การสร้างภาพหรือโฆษณาชวนเชื่อ และมันเชื่อมโยงกับความเป็นประเทศ ที่หนึ่งในหลากหลายซอฟต์พาวเวอร์ก็คือห้องน้ำที่เป็นมิตรและน่าใช้มากที่สุดในโลก
อีกส่วนหนึ่งที่ถูกใช้ประโยชน์ได้อย่างแนบเนียนและแยบยลก็คืออัตราส่วนจอภาพแบบ 4:3 ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นฟอร์แมตหนังโบราณที่ใช้โอ้อวดความอลังการงานสร้างไม่ได้ (หนังของ Ozu ทุกเรื่องก็ใช้ภาพสัดส่วนนี้) แต่ในทางกลับกันกรอบภาพที่เกือบจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสนี้ก็เหมาะสมมากๆ เวลาถ่ายสิ่งปลูกสร้างขนาดย่อม เช่น ห้องน้ำ หรือห้องหับขนาดกะทัดรัดของหนุ่มใหญ่ หรือสร้างความสัมพันธ์ระยะประชิดระหว่างคนดูกับตัวละคร และแน่นอนว่าโมเมนต์ทรงพลังช่วงท้ายเรื่อง อันได้แก่ การจับภาพโคลสอัพใบหน้าตัวละคร ผู้ซึ่งความรู้สึกอันหลากหลายของเขาหลั่งไหลออกมาอย่างท่วมท้นและพรั่งพรู ได้รับอานิสงส์จากกรอบภาพแบบนี้โดยตรง และเชื่อมั่นได้อย่างหนึ่งว่า ภาพจอกว้างซึ่งมาพร้อมกับพื้นที่ว่างซ้าย-ขวา จะไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกควบแน่น หรือแม้กระทั่งลดทอนความเข้มข้นทางอารมณ์
และองค์ประกอบที่ถือเป็นชีพจรของหนังทั้งเรื่องก็คือการแสดงของ Koji Yakusho ผู้ซึ่งน่าเชื่อว่าบทบาทคนทำความสะอาดห้องน้ำที่ตกผลึกกับชีวิตจะถูกจดจำไปแสนนาน ดังที่กล่าวข้างต้น ความที่ตัวละครแทบจะไม่พูดจาช่วงครึ่งเรื่องแรก ก็เหมือนกับจะทำให้ช่องทางสื่อสารของเขาลดลง แต่ก็นั่นแหละ แก่นแกนของตัวละครอยู่ตรงนี้เอง อันได้แก่ ความเป็นคนช่างสังเกตสังกา ตลอดจนใส่ใจในรายละเอียดปลีกย่อยของชีวิต นั่นรวมถึงหลายๆ โมเมนต์ที่เขาแอบมองคนจรจัดที่ป้วนเปี้ยนอยู่แถวนั้น และพวกเราได้แต่สงสัยว่าหนุ่มใหญ่นึกคิดอะไร หรือฉากที่เขาฉีกยิ้มอย่างรู้สึกสนุกในตอนที่เล่นเกม ‘โอเอ็กซ์’ กับคู่ต่อสู้นิรนาม ซึ่งทีละน้อยมิตรภาพก็งอกงามเหมือนต้นไม้ในกระถางเล็กๆ ที่เขาฉีดน้ำให้ความชุ่มชื้นตอนเช้า หรือฉากที่เขากับใครอีกคนเล่น ‘เหยียบเงา’ ซึ่งน่าจะชวนให้หลายๆ คนนึกย้อนกลับไปว่าครั้งสุดท้ายที่พวกเราเล่นอะไรที่ดูเหลวไหลและน่าขันคือเมื่อใด
Perfect Days เป็นหนังที่มองสรรพสิ่งรอบข้างด้วยสายตาอ่อนหวาน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่เคยหันหลังให้กับโลกอันแสนโหดร้ายของความเป็นจริง และอย่างหนึ่งที่แน่ๆ ก็คือโลกทัศน์และชีวทัศน์ของ Wim Wenders ที่บอกเล่าผ่านหนังของเขาก็เป็นอย่างเดียวกับของ Yasujiro Ozu นั่นเอง ที่มองเห็นชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องน่าผิดหวัง และพวกเราล้วนลงเอยด้วยความอ้างว้างเดียวดาย แต่อย่างน้อยแสงเงาระยิบระยับซึ่งลอดผ่านแมกไม้ที่ขยับเขยื้อนเป็นจังหวะตามสายลมในแต่ละช่วงวันก็ช่างงดงามและให้ความรู้สึกปลอบโยน และสำหรับคุณ Hirayama วันที่ย่ำแย่ของเขาก็ไม่ได้ถึงกับเลวร้ายเกินไป
Perfect Days (2023)
กำกับ: Wim Wenders
ผู้แสดง: Koji Yakusho, Tokio Emoto, Arisa Nakano, Aoi Yamada
ภาพ: MONGKOL CINEMA