×

ส่องความเห็นผู้ประกอบการต่อมาตรการล็อกดาวน์แบบเข้มข้น พบ ‘รายเล็ก’ หนุน แต่ ‘รายใหญ่’ คัดค้าน ห่วงคนตกงานเยอะ

โดย THE STANDARD TEAM
11.01.2021
  • LOADING...
ความเห็นผู้ประกอบการต่อมาตรการล็อกดาวน์

HIGHLIGHTS

  • การกลับมาระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ มีความรุนแรงมากกว่าในระลอกแรก สะท้อนผ่านจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่สูงทำนิวไฮ
  • การใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเข้มข้นในรอบแรกส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนัก ทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจล็อกดาวน์เป็นบางจุด เพื่อสกัดการระบาดในรอบนี้
  • ผู้ประกอบการมีความเห็นที่แตกต่างกันถึงมาตรการล็อกดาวน์ ในส่วนของรายใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะใช้การล็อกดาวน์แบบเข้มข้น เพราะเกรงว่าจะทำให้คนตกงานจำนวนมาก
  • ด้านผู้ประกอบการรายเล็กมองว่า การล็อกดาวน์แบบเข้มข้นเหมือนรอบแรก แม้จะต้องเจ็บตัวบ้าง แต่ก็ทำให้สถานการณ์จบเร็ว

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบใหม่ ดูจะรุนแรงและหนักหน่วงกว่าการระบาดในรอบแรกพอสมควร แต่บทเรียนจากการล็อกดาวน์แบบเข้มข้นในการระบาดรอบแรก ทำให้รัฐบาลไม่ต้องการนำวิธีดังกล่าวมาใช้กับการแพร่ระบาดในรอบนี้ 

 

โดยการล็อกดาวน์แบบเข้มข้นในรอบแรกช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2563 ทำให้เศรษฐกิจไทยช่วงเวลานั้นหยุดชะงักอย่างฉับพลัน ส่งผลต่อตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปี 2563 ที่หดตัวลึกถึง 12.2% หนักสุดในรอบ 22 ปี นับจากวิกฤตต้มยำกุ้ง

 

แต่ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า การใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเข้มข้นช่วยสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แบบชะงักงัน เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มต่ำกว่าหลักสิบคนในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม จนกระทั่งไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศเลยนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา

 

การกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่นี้ แม้รัฐบาลจะใช้มาตรการล็อกดาวน์เป็นจุดๆ และขอความร่วมมือประชาชนงดการเดินทางข้ามจังหวัด และให้รักษาระยะห่างทางสังคม แต่ยังไม่มีคำสั่งปิดสถานที่สำคัญบางแห่งเหมือนในรอบแรก เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด และร้านอาหาร เป็นต้น 

 

อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ เริ่มมีข้อถกเถียงกันบ้างแล้วว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่หนักหน่วงรุนแรงกว่ารอบแรก การล็อกดาวน์เป็นจุดๆ แม้จะไม่สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจเท่ารอบแรก แต่จะคุมสถานการณ์ได้อยู่หมัดหรือไม่ เพราะถ้าปล่อยให้สถานการณ์ลากยาวแบบนี้ไปเรื่อยๆ ความเสียหายเชิงเศรษฐกิจคงไม่ต่างกัน ที่สำคัญภาคธุรกิจบางกลุ่มที่ถูกสั่งให้ต้องปิดกิจการชั่วคราว อาจจะต้องปิดยาวไปเรื่อยๆ 

 

ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ได้สำรวจความเห็นของผู้ประกอบการต่างๆ ทั้งรายใหญ่และรายเล็กที่มีต่อความเห็นเรื่องการล็อกดาวน์ ว่าแบบไหนสร้างความเสียหายเชิงเศรษฐกิจน้อยที่สุด ซึ่งดูเหมือนว่าผู้ประกอบการรายเล็ก อยากให้กลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มข้นแบบรอบแรก เพราะแม้จะเจ็บแรง แต่จะจบได้เร็ว แตกต่างจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เชื่อว่า การล็อกดาวน์เฉพาะสถานที่เสี่ยงบางจุดดีอยู่แล้ว

 

 

ความเห็นผู้ประกอบการต่อมาตรการล็อกดาวน์

ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG

 

ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG กล่าวว่า การล็อกดาวน์โดยปิดสถานที่เสี่ยงเป็นจุดๆ น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากกว่า เพราะธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้ และรอบนี้ก็มีเรื่องวัคซีนที่จะมาเป็นตัวช่วยสำคัญ ซึ่งไม่นานเราคงได้ใช้กัน

 

สำหรับ CRG ด้วยการเปลี่ยนแปลงของการแข่งขันที่รวดเร็ว มีรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เข้ามามาก ทั้งรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ สินค้า และรูปแบบการนำเสนอใหม่ แพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์การให้บริการลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องตอบสนองให้ทัน และเลือกทิศทางการดำเนินธุรกิจให้ถูกต้อง

 

รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอน ทำให้เราต้องปรับแผนให้มีความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจ ทั้งรูปแบบการขายและการบริหารต้นทุนและทรัพยากร ที่สำคัญเราต้องบริหารธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นและบริหาร Portfolio ธุรกิจ ให้มีการกระจายความเสี่ยง

 

ในแง่ของแผนการลงทุนได้ พิจารณาเลื่อน/ลดการลงทุนลงในช่วงปีนี้ โดยเฉพาะการเพิ่มความระมัดระวังในการเปิดร้านใหม่ ขณะเดียวกันรูปแบบร้านอาหารใหม่ๆ ที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ใกล้มากขึ้นจะได้เห็นออกมาอย่างแน่นอน รวมไปถึงการร่วมลงทุนและทำงานกับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เป็นสิ่งที่เรายังคงให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง

 

ความเห็นผู้ประกอบการต่อมาตรการล็อกดาวน์

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN

 

ZEN ห่วงล็อกดาวน์เข้มข้นกระทบจ้างงานอื้อ

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN กล่าวว่า มาตรการล็อกดาวน์แบบแบ่งเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษอย่างที่รัฐบาลใช้อยู่ในปัจจุบันน่าจะสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ได้ และสามารถประคับประคองเศรษฐกิจโดยรวมไปได้ อย่างไรก็ตาม มุมมองนี้อยู่บนพื้นฐานข้อมูลว่า ประเทศไทยจะเริ่มได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564

 

ส่วนตัวมองว่า การกลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์เหมือนปี 2653 อาทิ การปิดห้างสรรพสินค้า โรงแรม หรือร้านอาหารห้ามนั่งรับประทานในร้าน จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคบริการ ซึ่งใช้แรงงานคนจำนวนมาก อีกทั้งการกลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์เหมือนปี 2563 รัฐบาลจะต้องใช้งบสำหรับชดเชยความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นอีกมาก

 

CPN เชื่อ ล็อกดาวน์เข้มข้นกระทบเศรษฐกิจมหาศาล

ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) กล่าวว่า ถ้าล็อกดาวน์ไปเลย คนจะตกงานเยอะมาก มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหาศาล โดยตอนนี้รัฐกำลังผ่อนปรนระหว่างการควบคุมโรคและเศรษฐกิจ พยายามหาจุดสมดุลอยู่

 

การเพิ่มมาตรการเป็นขั้นๆ ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ก็ต้องจับตามองสถานการณ์ต่อไป ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง หากเพิ่มเป็นหลักพัน การล็อกดาวน์อาจเป็นมาตรการที่เลี่ยงไม่ได้

 

“ข่าวดีคือตอนนี้เรามีวัคซีน ที่นี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน แต่อย่างน้อยก็สร้างความมั่นใจให้เรา มีส่วนช่วยในเรื่องจิตวิทยา ขณะที่ภาครัฐสิ่งที่ต้องทำคือ การจัดสรรการฉีดวัคซีนให้เป็นธรรมและครอบคลุมให้เร็วที่สุด”

 

เดอะมอลล์ห่วงล็อกดาวน์เข้มข้น เจ็บแต่ไม่จบ

วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ตอนนี้สิ่งที่ต้องทำคือ จะทำอย่างไรให้ลดความเสี่ยงมากกว่า มีหลายสถานการณ์ที่ต้องดูให้รอบด้าน ถามว่าถ้าล็อกดาวน์ เจ็บแต่จบ แต่จบจริงหรือเปล่า จะครอบคลุมได้ 100 เปอร์เซ็นต์ไหม แทนที่จะหยิบเครื่องมือทั้ง 10 ตัวมาใช้พร้อมกัน การหยิบมาใช้สัก 2 ตัว แต่ลดความเสี่ยงได้ น่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสม

 

อย่างไรก็ตาม ถึงจุดหนึ่งอาจจะต้องตัดสินใจแล้ว แต่ตอนนี้เรายังตัดสินใจอะไรมากไม่ได้ เพราะสถานการณ์ยังไม่นิ่ง ทำให้การบริหารทำได้ยาก เนื่องจากมีหลายปัจจัยมาก

 

“ส่วนตัวเข้าใจหมดเลย ปิดเร็วไปก็มีปัญหา อย่างคราวก่อนมีคนได้รับผลกระทบทันทีที่ปิด สิ่งสำคัญตอนนี้ต้องคุยกันในทุกภาคส่วน แต่ในสถานการณ์ที่แย่ที่สุด ควรมีมาตรการอะไรไว้รองรับ

 

“เชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ จะดีขึ้น หากมีความชัดเจนเรื่องวัดซีน โดยเฉพาะในแง่ของประสิทธิภาพ ซึ่งหากได้วัคซีนมา ก็เหมือนได้เบรก ตอนนี้ทุกคนอยากได้เบรก แต่คำถามคือเบรกที่ว่านี้ต้องหยุดได้จริงๆ ไหม และมีประสิทธิผลหรือเปล่า”

 

ความเห็นผู้ประกอบการต่อมาตรการล็อกดาวน์

จิตชัย นิมิตรปัญญา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ หรือ JWD

 

JWD ชี้ ล็อกดาวน์เข้มข้นช่วยสกัดโควิด-19 ดีที่สุด 

จิตชัย นิมิตรปัญญา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ หรือ JWD กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าการล็อกดาวน์แบบเข้มข้นในพื้นที่เสี่ยงเป็นมาตรการที่น่าจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ อย่างไรก็ตาม การล็อกดาวน์แบบนี้ต้องมาพร้อมกับความชัดเจน ทั้งนิยามพื้นที่เสี่ยงสูง แผนปฏิบัติของผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ รวมถึงกฎเกณฑ์สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องสัญจรผ่านพื้นที่

 

โดยจากประสบการณ์ของผู้ประกอบการในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นจังหวัดแรกๆ ที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก รวดเร็ว และถูกล็อกดาวน์เป็นจังหวัดแรกนั้น ประเมินว่า รัฐบาลรับมือได้ไม่ชัดเจน การให้นโยบายหรือให้อำนาจตัดสินใจสั่งการต่างๆ เต็มไปด้วยความสับสน และทำให้ประชาชนไม่เข้าใจและไม่รู้จะปฏิบัติตามอย่างไรในที่สุด

 

ทั้งนี้ หากรัฐบาลสามารถสร้างมาตรฐานการรับมือกับสถานการณ์ และมีมาตรการล็อกดาวน์ที่เป็นมาตรฐาน น่าจะช่วยให้ลดความตื่นตระหนกของภาคเอกชนและภาคประชาชนได้ อีกทั้งยังเพิ่มความตระหนักรู้ให้เท่าทันกับการแพร่ระบาดของไวรัสได้ด้วย

 

“ในมุมมองส่วนตัวมองว่า ควรมีกฎหมายพิเศษที่กำหนดข้อปฏิบัติต่างๆ ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าใครมีบทบาทอย่างไร และควรปฏิบัติไปในทิศทางใด เพื่อให้เกิดการประสานที่มีประสิทธิภาพและมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน”

 

มารุต ชุ่มขุนทด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งร้านกาแฟ Class Cafe กล่าวว่า ตอนนี้เป็นความยาก ในจังหวะแบบนี้เป็นจุดที่ความเชื่อมั่นของลูกค้าหายไป จากเดิมที่เราจะเห็นว่าในร้านกาแฟ ช่วงเช้าลูกค้าจะแน่น ตอนนี้ลดลงไปค่อนข้างมาก ส่วนสาขาในห้างอาการหนักสุด ค่อนข้างเงียบ

 

ในแง่ของความเชื่อมั่น จังหวะที่อึมครึมจะเป็นจังหวะที่น่ากลัวมาก เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นว่าควรล็อกดาวน์ เพราะถ้าเจ็บแต่จบจริงๆ และหยุดไป 14 วัน แล้วฟื้นคืนได้ เรายังมั่นใจได้มากขึ้น 

 

ด้านความช่วยเหลือ หากอยู่ในโซนสีแดง เราเริ่มเห็นมาตรการจากธนาคารออมสินออกมาช่วยเหลือแล้ว แต่ถ้าอยู่นอกโซน ยังไม่เห็นความช่วยเหลือ นี่คือคำที่พูดถึงว่า ล็อกดาวน์แล้วดีกว่า เพราะหากล็อกดาวน์ มาตรการเหล่านี้มาถึงทันที ก็จะกลายเป็นว่าได้รับความช่วยเหลือ แต่ถ้ายังลากแบบไม่ล็อกดาวน์ ก็จะยังไม่มีใครช่วย ต้องดูแลตัวเองไปก่อน

 

“เราต้องพยายามส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐตื่นตัวขึ้นว่า รีบออกมาช่วยเหลือเถอะ เพราะตอนนี้ผู้ว่ามีแค่อำนาจในการสั่งปิด แต่ไม่มีอำนาจในการช่วยเหลือเยียวยา”

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising