“ปัญหาการเมืองในเมียนมาเป็นเหมือนเช่นทุกครั้งคือ ไม่มีคำตอบง่ายๆ (ให้แก่เรา)”
Andrew Selth
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2024 เป็นวาระครบรอบ 3 ปีของการรัฐประหารในเมียนมา แต่ดูจะเป็นวาระครบรอบที่ไม่เป็นกำลังใจที่ดีให้กับผู้นำและคณะทหารแต่อย่างใด เพราะหลังจาก ‘องค์กรติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์’ (Ethnic Armed Organizations) 3 กลุ่ม หรือที่เรียกชื่อจากการร่วมมือกันในทางทหารว่า ‘กลุ่มพันธมิตร 3 พี่น้อง’ ได้เปิดปฏิบัติการทางทหารเข้าตีกองทัพเมียนมาในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ ภายใต้ ‘ยุทธการ 1027’ ซึ่งเปิดการยุทธ์ในวันที่ 27 ตุลาคม 2023 และเป็นจุดเริ่มต้นที่สะท้อนให้เห็นถึงภาวะ ‘พลิกผัน’ ของสงคราม
การเปิดยุทธการเช่นนี้ในอีกด้านหนึ่งเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงการให้ความสนับสนุนทางทหารจากจีนแก่ ‘กองกำลัง 3 พี่น้อง’ ดังกล่าวในการเข้าตีฐานที่มั่นและค่ายทหารของฝ่ายรัฐบาลที่อยู่ในพื้นที่ที่เป็นรอยต่อกับพรมแดนจีน เนื่องจากรัฐบาลจีนตกอยู่ในสภาวะ ‘ทนไม่ไหว’ กับการก่ออาชญากรรมที่กระทำกับชาวจีน ทั้งในเรื่องของการหลอกลวงและการค้ามนุษย์ ยาเสพติด และปัญหาส่วนสำคัญคือ ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ ที่หลอกลวงทางโทรศัพท์ และก่อให้เกิดการสูญเสียเงินของคนเป็นจำนวนมาก ทั้งในจีน ไทย และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดมิโนล้มต่อเนื่อง
แต่หลังจากปีใหม่แล้วผลสืบเนื่องจากยุทธการ 1027 คือภาพการสูญเสียเมืองและฐานที่มั่นของกองทัพฝ่ายรัฐบาลเป็นสิ่งที่เกิดอย่างต่อเนื่อง จนชัยชนะขององค์กรติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์กำลังเป็นดัง ‘การล้มของโดมิโน’ สำหรับฝ่ายรัฐบาล แน่นอนว่าภาพของความพ่ายแพ้ที่เกิดติดต่อกันมากลายเป็น ‘ปัจจัยในการสร้างขวัญกำลังใจ’ อย่างดีให้แก่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล หรืออีกนัยหนึ่งภาพของชัยชนะที่เกิดขึ้นเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (Soft Power) อย่างดีในการสร้างการเคลื่อนไหวให้แก่รัฐบาลประเทศต่างๆ ในการไม่สนับสนุนรัฐบาลทหารเนปิดอว์ เพราะในอดีตเราแทบไม่เคยเห็นภาพการยอมแพ้ของกองทัพรัฐบาลจะเกิดในขอบเขตใหญ่ดังเช่นที่เกิดในปัจจุบันแต่อย่างใด
ในทางกลับกัน ทั้งจากภาพและข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เผยแพร่ออกไปในวงกว้างของสังคมโลกนั้นดูจะเป็นการปัจจัยบั่นทอน ‘ขวัญกำลังใจในการสู้รบ’ ของกำลังพลฝ่ายรัฐบาลได้เป็นอย่างดี ข้อมูลจากสื่อและจากการสัมภาษณ์ทหารเมียนมาหลายนายสะท้อนให้เห็นอย่างตรงไปตรงมาว่าทหารรัฐบาลมีขวัญกำลังใจอยู่ใน ‘ระดับต่ำ’ กล่าวคือ ทหารหลายนายมีความรู้สึกไม่อยากรบ และนำไปสู่การ ‘หนีทหาร’ ที่เกิดในหลายกรณี พร้อมกับในทางยุทธการ กองทัพเมียนมาถอยร่นในหลายพื้นที่การรบ
อย่างไรก็ตาม ‘ชัยชนะใหญ่’ ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลนั้นอาจไม่ใช่สิ่งที่เกิดอย่างรวดเร็วแบบข้ามคืนเช่นที่หลายคนคาดหวัง รัฐบาลทหารยังมีกองทัพขนาดใหญ่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา อีกทั้งยังเป็นฝ่ายที่ควบคุมเมืองและระบบการบริหารประเทศไว้ ซึ่งถือว่าเป็น ‘ปัจจัยของความได้เปรียบ’ ที่รัฐบาลถือไว้ในมือเสมอ ดังนั้นการจินตนาการภาพเชิงเปรียบเทียบว่าเนปิดอว์อาจตกอยู่ในวงล้อมจากการโจมตีขององค์กรติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ และจะเกิดอาการ ‘แตก’ อย่างรวดเร็วเช่นที่เราเคยเห็นจากประวัติศาสตร์ของยุคสงครามเย็นคือ การแตกของไซ่ง่อนในเดือนเมษายน 1975 นั้นอาจไม่เป็นจริงเท่าใดนัก
สิ่งที่คาดคะเนได้หลังจากภาวะ ‘โดมิโนเมียนมา’ ที่ปรากฏให้เห็นคือ สงครามกลางเมืองน่าจะขยายพื้นที่และขยายตัวแสดง โดยอาจมีองค์กรติดอาวุธที่เข้าร่วมในสงครามมากขึ้น ซึ่งน่าสนใจว่าสงครามกลางเมืองเมียนมาในปี 2024 จะยกระดับขึ้นเพียงใด
ในช่วงปี 2023 ซึ่งเป็นปีที่ 3 ของสงครามนั้น การยกระดับไม่ใช่เพียงภาพใหญ่ที่เราเห็นถึง ‘ยุทธการ 1027’ เท่านั้น แต่ในมุมของสงคราม กองทัพอากาศของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในรูปแบบของ ‘โดรน’ เปิดปฏิบัติการโจมตีและสร้างความเสียหายได้อย่างชัดเจน ในด้านหนึ่ง ‘สงครามโดรน’ ในเมียนมาช่วยตอกย้ำถึงกำลังรบทางอากาศของฝ่ายที่อ่อนแอกว่าที่สามารถตอบโต้ฝ่ายที่เหนือกว่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในอีกด้านหนึ่งปฏิบัติการของโดรนทำให้เห็นถึงภาวะของสงครามทางอากาศในศตวรรษที่ 21 ที่ ‘เวหานุภาพ’ (Air Power) จะไม่ใช่เป็นเรื่องของเครื่องบินรบที่ต้องมีนักบินในแบบที่เราคุ้นเคยอีกต่อไป
สงครามใหม่-สนามรบเก่า
สงครามโดรนปรากฏตัวทั้งในสนามรบที่ยูเครนและในเมียนมา และต่างเป็นบทเรียนของกันและกันในทางทหาร ฉะนั้นกองทัพอากาศของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในรูปแบบของโดรนจึงเป็นสัญญาณที่ชี้ถึงการยกระดับของสงครามในตัวเอง เพราะแต่เดิมสงครามในเมียนมาเป็นสงครามกองโจรที่รบด้วยอาวุธเบาหรืออาวุธขนาดเล็ก (Light Weapons and Small Arms) และไม่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่แต่อย่างใด แต่ในครั้งนี้เราเห็นปฏิบัติการโดรนแล้ว และรัฐบาลก็ตอบโต้ด้วยการใช้อากาศยานรบโจมตีทั้งในส่วนที่เป็นเครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธ ซึ่งทำให้สงครามในปีที่ 3 เห็นถึงความแตกต่างที่ชัดเจนขึ้นและมีมิติใหม่ๆ มากขึ้นด้วย
แต่สงครามจะเดินต่ออย่างไรในปีที่ 4 เป็นประเด็นที่ต้องจับตามองอย่างมาก โดยเฉพาะอนาคตรัฐบาลทหาร และตัวผู้นำทหารในระดับสูงสุดคือนายพลมิน อ่อง หล่าย จะเดิน ‘เกมสงคราม’ ต่อไปอย่างไร และจะเหนี่ยวรั้งเมืองและฐานที่มั่นของกองทัพรัฐบาลไม่ให้ตกอยู่ในภาวะ ‘โดมิโนล้ม’ อย่างไรในปี 2024 หรือบางทีก็อดคิดไม่ได้ว่า โดมิโนจะต้องล้มอีกเท่าใด สงครามจึงจะจบ!
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดูจะเป็น ‘ลางร้าย’ ของฝ่ายกองทัพจากปลายปี 2023 ต่อเข้าต้นปี 2024 คือความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือที่เรียกในบทความนี้ว่า ‘โดมิโนเมียนมา’ ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่เป็น ‘ลางดี’ ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลคือ ‘ขวัญกำลังใจรุกรบ’ ที่เป็นผลจากความพ่ายแพ้ของทหารรัฐบาล ถ้าเช่นนั้นแล้วองค์กรติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์จะขับเคลื่อนสงครามให้เดินต่อไปข้างหน้า เพื่อนำไปสู่ชัยชนะที่มากขึ้นในปี 2024 นี้อย่างไร โดยจะต้องไม่ให้เกิดสภาพย้อนรอยสงครามยูเครนที่ ‘การรุกกลับ’ (Counteroffensive) ของกองทัพยูเครน ซึ่งประสบความสำเร็จในตอนปลายปี 2022 และต้นปี 2023 แต่หลังจากนั้นแล้วสงครามกลับตกอยู่ในสภาวะ ‘หยุดนิ่ง’ (Stalemate) ที่กองทัพสองฝ่ายรบในแบบของ ‘การยันกัน’ ในทางทหาร
คำถามสืบเนื่องจากสถานการณ์เช่นนี้จึงได้แก่ บทบาทของรัฐภายนอกที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น และในภูมิภาคคืออาเซียน รวมถึงไทยเองด้วย คิดถึงประเด็นนี้อย่างไรในอนาคต แต่ก็เหมือนกับคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญเมียนมาอย่าง Andrew Selth กล่าวไว้ว่า ไม่เคยมีคำตอบง่ายๆ สำหรับการแก้ปัญหาแต่อย่างใด
แต่กระนั้นก็เห็นได้ชัดเจนว่าจากปลายปีที่ 3 ต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 4 นั้น เรากำลังเห็นถึงภาวะ ‘สงครามใหม่ สนามรบเก่า’ ในเมียนมานั่นเอง อันเป็นความท้าทายทั้งทางการเมืองและการทหารควบคู่กันไป
ความท้าทายในปีที่ 4
ในสภาวะที่เกิดความพลิกผันในสนามรบมากขึ้นหลังจากยุทธการ 1027 นั้น อาจทำให้เราต้องประเมินภาพรวมด้วยคำถามสำหรับอนาคตในปีที่ 4 ของการรัฐประหาร ดังนี้
- พันธมิตรของ ‘องค์กรติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์’ เกิดขึ้นในลักษณะของการรวมตัวแบบหลวมๆ อันเป็นผลจากการรัฐประหารกุมภาพันธ์ 2021 พวกเขามีความแตกต่างกันในหลายเรื่อง และที่สำคัญมีผลประโยชน์แตกต่างกันในหลายเรื่องด้วย แม้จะมีความฝันร่วมกันที่จะรบชนะรัฐบาลทหาร และแยกตัวออกจากการปกครองของรัฐบาลเดิม เพื่อนำไปสู่การจัดตั้ง ‘สมาพันธรัฐ’ (Federal State) แต่การเดินทางไปสู่ความฝันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และความแตกต่างที่กล่าวมาแล้วนั้นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ความขัดแย้งใหม่’ ของยุคหลังสงครามได้ (ถ้ากองทัพรัฐบาลแพ้) การดำรงจุดหมายร่วมกันของทุกกลุ่มการเมืองในยุคหลังสงครามจึงเป็นความท้าทายอย่างมาก
- สถานะของรัฐบาลพลัดถิ่น หรือ ‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ (National Unity Government: NUG) ได้รับการยอมรับมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ ความท้าทายสำคัญคือ หากฝ่ายต่อต้านได้รับชัยชนะแล้ว รัฐบาลนี้จะมีบทบาทอย่างไรในการจัด ‘ภูมิทัศน์การเมืองใหม่’ สำหรับเมียนมา แต่ความท้าทายในปัจจุบันคือ รัฐบาลนี้จะทำหน้าที่ประสานและจัดการความสัมพันธ์ขององค์กรติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ให้เดินไปด้วยความมีเอกภาพร่วมกันอย่างไร หรือโดยนัยคือ จะทำอย่างไรให้เกิดความไว้วางใจในการร่วมรบในครั้งนี้
- กองกำลังของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลคือ ‘กองกำลังของประชาชน’ (People’s Defense Force: PDF) มีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านกำลังอาวุธ เพราะกองทัพรัฐบาลเริ่มพึ่งพาการโจมตีทางอากาศแบบไม่จำแนกมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียแก่ประชาชนในหลายส่วน อีกทั้งการได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงดุลยภาพในสนามรบ เช่น อาวุธประทับไหล่ต่อต้านอากาศยาน แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่าการสนับสนุนด้านอาวุธจากภายนอกยังไม่เกิดเท่าใดนัก และกองกำลังนี้ยังคงรบด้วยอาวุธที่ยึดจากกองทัพรัฐบาลที่ยอมแพ้ และอาวุธในส่วนนี้รวมทั้งกระสุนมีจำนวนมากขึ้น แต่กองทัพรัฐบาลยังคงมีอาวุธเหลือมากพอที่จะรบต่อไปได้ เป็นแต่เพียงภาวะที่เกิดความพ่ายแพ้ในสนามรบหลายจุดส่งผลอย่างมากในทางจิตวิทยาที่ทหาร ‘ขวัญเสีย’
- แม้รัฐบาลพลัดถิ่นของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลคือรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติจะถือกำเนิดขึ้น อันเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่สำคัญของสงครามกลางเมืองชุดนี้ และเป็นตัวที่ทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อกับประเทศตะวันตกได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นที่ยอมรับของฝ่ายตะวันตก แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าจีนและรัสเซียจะตัดสินใจ ‘เท’ รัฐบาลทหาร แม้จีนจะให้ความสนับสนุนอย่างชัดเจนต่อ ‘กลุ่มพันธมิตร 3 พี่น้อง’ ที่เปิดปฏิบัติการทางตอนเหนือของประเทศ แต่ก็มิได้บอกว่าจีนได้ทิ้งรัฐบาลทหารไปแล้ว เพราะจีนมักจะใช้ ‘การทูตหลายฝ่าย’ ที่เชื่อมต่อฝ่ายต่างๆ ไว้เสมอ ส่วนรัสเซียนั้นเป็นมหาอำนาจที่รัฐบาลทหารเมียนมามีความใกล้ชิด เพราะในอีกด้านกองทัพเมียนมาไม่ไว้วางใจจีน อันเป็นผลจากปัญหาประวัติศาสตร์ และการเมืองปัจจุบัน และในส่วนของประชาชนเองก็ไม่พอใจต่อบทบาทของจีน เพราะมองว่าจีนไม่เพียงให้การสนับสนุนรัฐบาลทหาร แต่ยังเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ไปจากเมียนมา โดยเฉพาะในเรื่องของอัญมณี เป็นต้น
- ความต้องการทางด้านมนุษยธรรมยังเป็นหัวข้อสำคัญเสมอ ดังจะเห็นได้ว่าโอกาสที่จะเกิดปัญหาผู้อพยพขนาดใหญ่มีความเป็นไปได้มาก อันจะทำให้เกิด ‘วิกฤตมนุษยธรรม’ โดยเฉพาะตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ดังนั้นหากสงครามเกิดการขยายตัวแล้ว การเตรียมการในเรื่องของ ‘ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม’ จากภายนอก ทั้งจากโลกตะวันตกและอาเซียนจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก
- ความอยู่รอดของรัฐบาลทหารขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมกองทัพ และผู้นำทหารยอมที่จะเอากองทัพเข้ามาเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้แก่ผู้นำอย่างมิน อ่อง หล่าย และไม่ชัดเจนในอนาคตว่าหากสงครามทวีความรุนแรง และกองทัพมีความเพลี่ยงพล้ำในสนามรบมากขึ้นแล้ว กำลังพลจะยอม ‘แปรพักตร์’ เข้าร่วมกับกองกำลังของฝ่ายต่อต้านหรือไม่ หรือในสภาวะที่ความตึงเครียดมีมากขึ้นแล้วจะเกิดภาวะ ‘กบฏทหาร’ ในกองทัพเมียนมาหรือไม่
- ความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากยุทธการ 1027 จะทำให้เกิดข้อถกเถียงใหญ่ทางทหารในหมู่ผู้นำกองทัพหรือไม่ หรือจะเกิดความแตกแยกทางความคิดในการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่มากน้อยเพียงใด เพราะหากเกิดสภาวะเช่นนี้แล้วย่อมจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนของการต่อสู้ภายในกองทัพ แม้ในอีกด้านหนึ่งเราอาจเชื่อว่ากองทัพเมียนมามีเงื่อนไขของ ‘วัฒนธรรมองค์กร’ ที่เป็นอำนาจนิยมและมีการควบคุมภายในอย่างเข้มงวด การแตกแยกภายในอาจถูกควบคุมไว้ด้วย ‘ระบอบเสนานิยม’ ภายในกองทัพที่เข้มงวด จนแม้จะมีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจริงก็ยังมีปัจจัยที่เป็น ‘ตัวช่วย’ ควบคุมไม่ให้สภาวะดังกล่าวบานปลายเป็นความขัดแย้งใหญ่ในกองทัพ
- จวบจนปัจจุบันยังไม่เห็น ‘ข้อเสนอสันติภาพเมียนมา’ ที่จะเป็นพื้นฐานของการสร้างสันติภาพและยุติความรุนแรงในเมียนมา แม้จะมีภาพชัดเจนของตัวแสดง 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือรัฐบาลทหารที่ใช้กำลังในการปราบปรามประชาชน กับอีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายต่อต้านที่จับอาวุธลุกขึ้นสู้ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องจากภายนอกทุกฝ่ายตระหนักดีว่า ‘ปัญหาสันติภาพเมียนมา’ ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดได้โดยง่าย เพราะมีประเด็นที่มีความซับซ้อน มีความขัดแย้งในตัวเองของปัญหา และทับซ้อนด้วยความหวาดระแวงของปัญหาชาติพันธุ์ ปัจจัยเช่นนี้ทำให้ความพยายามในการสร้างสันติภาพไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน แต่ก็มิได้หมายความว่าไม่ควรที่จะผลักดัน
- การแก้ปัญหาในเมียนมาต้องคำนึงถึง ‘ประเด็นทับซ้อน’ ที่สำคัญ และเป็นปัญหาประการหนึ่งที่สำคัญในปัจจุบันคือปัญหา ‘จีนเทา’ สันติภาพเมียนมาต้องไม่ใช่การเปิดพื้นที่ใหม่ให้แก่อาชญากรรมจีนในพื้นที่แถบนี้ รัฐบาลปักกิ่งควรใช้โอกาสนี้แสดงท่าทีในการช่วยประเทศในภูมิภาคกวาดล้างกลุ่มเหล่านี้ด้วย
- บทบาทของตัวแสดงจากภายนอกมีความสำคัญเสมอในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งที่มีความเป็น ‘สงครามกลางเมือง’ แต่ก็มีบทเรียนเสมอเช่นกันว่า การมีบทบาทของรัฐภายนอกในการยุติสงครามกลางเมืองนั้นอาจไม่ได้ ‘ผลลัพธ์ทางการเมือง’ (Political Outcome) อย่างที่ต้องการได้ทั้งหมด เพราะในหลายครั้งรัฐมหาอำนาจภายนอกที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็มีผลประโยชน์ของตนเองด้วย
- ปัญหาการยุติสงครามและสร้างสันติภาพในเมียนมาท้าทายต่อบทบาทของอาเซียนในฐานะความเป็นองค์กรระหว่างประเทศในภูมิภาคว่าอาเซียนจะสามารถดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร ทั้งยังท้าทายต่อบทบาทของ สปป.ลาว ในฐานะของการเป็นประธานอาเซียน 2024 อีกด้วย
- ปัญหานี้ท้าทายต่อรัฐบาลใหม่ของไทยที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2023 โดยตรง เพราะไทยในฐานะประเทศที่มีพรมแดนทางบกติดกับเมียนมายาวที่สุดคือ 2,400 กิโลเมตรนั้น ปัญหาทางการเมือง ความมั่นคง และมนุษยธรรมที่เกิดในเมียนมา ย่อมกระทบโดยตรงต่อไทยเสมอ ยุทธศาสตร์เดิมของรัฐบาลทหารที่ดำเนินนโยบายแบบใกล้ชิดบนความสัมพันธ์ของ ‘คู่แฝดรัฐประหาร’ ไม่น่าจะตอบสนองต่อผลประโยชน์ของไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน และน่าจะถึงเวลาของการ ‘คิดใหม่-ทำใหม่’ สำหรับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ที่จะต้องสลัดตัวเองออกจาก ‘พันธะของนักรัฐประหาร’ ได้แล้ว (ใช้คำขวัญของพรรคไทยรักไทยในอดีต ที่เป็นต้นทางของพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน)
ทั้งหมดนี้ตอบเราอย่างเดียวว่า สันติภาพเมียนมาเป็นหัวข้อที่ท้าทายอย่างมากสำหรับปัญหาการเมือง-ความมั่นคงในปี 2024 และคำถามสุดท้ายเหลือแต่เพียงประการเดียวว่า แล้วรัฐบาลไทยจะดำเนินการในการสร้างบทบาทของไทยต่อประเด็นปัญหานี้อย่างไร!