– เด็กรุ่นใหม่ที่วิ่งตามฝันต้องแต่งตัวไม่เหมือนใคร
– แม่ค้าออนไลน์ที่เป็นพริตตี้ด้วย ขายครีมด้วย
– ชาวบ้านใส่ชุดชาวนาผูกผ้าขาวม้าตัวคล้ำยืนมุงดูเหตุการณ์
– คนกวาดถนน พี่วิน คนขับรถเมล์ รปภ. ที่เป็นตัวแทนของอาชีพที่ชาวบ้านเป็น
– ผู้หญิงที่มีปัญหาด้านการขับรถ
– คนอีสานที่เป็นตัวแทนของคนต่างจังหวัดหรือบ้านนอก
– เถ้าแก่ที่เป็นคนจีนขี้โวยวาย ส่งเสียงดังไทยคำ จีนคำ
– เด็กแว้นตัวร้าย เดินโย่งๆ โยกๆ ไม่มีใครอยากเข้าใกล้
– เจ้านายฝรั่ง ที่เท่จนลูกน้องกรี๊ดกร๊าด
– ฯลฯ
เหล่านี้คือตัวละครที่เรามักพบเห็นได้จากภาพยนตร์โฆษณาหลายๆ เรื่อง รวมไปถึงโฆษณาออนไลน์ทั่วไป ซึ่งเป็นภาพที่คุ้นตา และคงไม่ต้องบอกว่าคนที่คิดตามได้และเห็นภาพในตัวละครด้านบนแทบจะทันทีคือคนเมืองที่เสพสื่อออนไลน์และโซเชียลเป็นประจำ
เป็นปกติของการแสดงหรือบทละครที่จำเป็นต้องมีตัวละครที่ใช้ถ่ายทอดเรื่องราวให้ผู้ชมรู้สึกอินตามในเรื่องที่กำลังดูอยู่ เพื่อถ่ายทอดข้อความ หรือ ‘message’ ที่เราต้องการ และตัวละครที่ยิ่งใกล้เคียงกับชีวิตเรา หรือตัวละครที่ถ่ายทอดอารมณ์การแสดงความรู้สึกออกมาได้ดีก็มักจะทำให้เรา ‘อิน’ มากขึ้น
หรือให้สรุป หนังโฆษณาจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จคือเนื้อเรื่องที่ถ่ายทอดผ่านตัวละคร และการเล่าเรื่องที่สามารถเข้าถึง ‘อารมณ์คนดู’
ปกติแล้วหลักพื้นฐานของการแสดงของตัวละครมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบคือ
1. ตัวเองแสดงเป็นตัวเอง
2. เป็นตัวเอง แต่แสดงเป็นบทบาทอื่น – อารมณ์ประมาณซันนี่ที่เล่นเป็นตัวเองในบทบาทอื่นๆ
3. เป็นคนอื่นด้วย และแสดงในบทบาทอื่นด้วย – ต้องเปลี่ยนคาแรกเตอร์ตัวเอง และเล่นในบทบาทอื่น
การแสดงที่ยากที่สุดคือ ข้อ 3 เพราะยิ่งถ้าเราแสดงเป็นคนอื่นหรือบทบาทอื่นที่ไม่เข้าใจบทบาทนั้นจริงๆ ยิ่งต้องอาศัยความสามารถของผู้แสดงอย่างมาก รวมไปถึงผู้กำกับที่ต้องกำหนด ‘บทบาท’ ให้นักแสดงแสดงออกมาได้สมจริงที่สุด
ทีนี้ย้อนกลับมาที่ตัวละครที่ผมกล่าวถึงด้านบน เราพบว่านี่คือบทบาทของตัวละครที่เรานึกภาพไว้ในหัว เป็นสิ่งที่เราสร้างกรอบความคิดด้านตัวละครขึ้นมา
เป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘stereotype’
Stereotype เกิดจากประสบการณ์ของเราที่สั่งสมมาจากอดีตผ่านทางสื่อโทรทัศน์ ละคร นิยาย หรือพบเจอจนกระทั่งเกิดเป็นกรอบความคิดแบบเหมาๆ ว่า จะต้องเป็นแบบนี้แหงๆ และแน่นอนสิ่งนี้มันฝังอยู่ในความคิดของเราโดยไม่รู้ตัว
และความคิดนั้นส่งมาถึงตอนที่เรานำมาคิดในงานโฆษณา ทำละคร หรือ งานการแสดง ที่ถ้าตกผลึกไม่พอมันจะเป็นการตอกย้ำประสบการณ์ของคนดูผ่านสื่อนี้ไปอีกทอดหนึ่ง กลายเป็น stereotype ต่อไปไม่มีวันจบสิ้น
และส่วนใหญ่แล้วการกำหนดบทบาทที่เกิดจาก stereotype มักจะทำให้งานที่จะเข้าถึงอารมณ์เข้าถึงแบบมีประเด็นอยู่ในใจ
ประเด็นนี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่มองไปได้ถึงแนวคิดในระดับสังคม
เป็นประเด็นที่สามารถแบ่งความคิดเห็นคนได้เป็นสองแบบและพร้อมจะใส่ดราม่ากันได้โดยง่าย เมื่อคนที่ดูโฆษณาและเห็นตัวละครที่คล้ายกับตัวเองกำลังแสดงบทบาทที่ไม่ใช่แบบที่เราเป็นอยู่
และเมื่อคนดูปัจจุบันดูโฆษณามากที่สุดในสื่อออนไลน์หรือโซเชียล สื่อที่เราสามารถคอมเมนต์ แสดงความคิดเห็น แสดงความชอบ ความเกลียดได้แทบจะทันที ประเด็นละเอียดอ่อนเหล่านี้ก็จุดดราม่าติดได้โดยง่ายถ้ามีคนใดคนหนึ่ง ‘เริ่ม’
โฆษณาหลายตัวที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ใช้ตัวละครด้านบนเหมือนกัน แต่สิ่งที่ต่างกันคือการสร้างบทบาทที่ ‘จริง’ ปราศจากบทบาทที่อยู่ในชุดกรอบความคิด
เช่น โฆษณาหลายชิ้นของผู้กำกับระดับโลกอย่าง พี่ต่อ-ธนญชัย ศรศรีวิชัย ที่เคยบอกหลักในการทำงานอย่างชัดเจนของแกว่า
ต้องไปใช้ชีวิตร่วมกับพวกเขา
ไปใช้ชีวิตร่วมกับตัวละคร
ถ้าคุณอยากเข้าใจชาวบ้าน คุณต้องไปใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้าน
คุณอยากเข้าใจวินมอเตอร์ไซค์ คุณต้องไปเป็นวินมอเตอร์ไซค์
คุณอยากเข้าใจเด็กแว้น คุณต้องไปคลุกคลีกับพวกเขาสัก 2-3 วัน
แล้วเมื่อนั้นคุณจะสามารถเข้าใจบทบาทและเขียนมันออกมาได้ดี และงานโฆษณาของคุณจะ ‘จริง’ และเข้าถึงอารมณ์ได้อย่างไม่มีประเด็นในใจ
ครับ สิ่งสำคัญในการคิดงานโฆษณาทุกวันนี้คือ ทำอย่างไรเราจะเข้าใจบทบาทของคน และสร้างโฆษณาที่ ‘จริง’ ที่สุด เพื่อเข้าถึงใจคนได้อย่างไม่มีข้อแม้ใดๆ และไม่ได้สร้างกรอบความคิดให้ใครต่อไปอีก
เป็นการบ้านชิ้นใหญ่ที่เราทุกคนต้องช่วยคิดด้วยกัน
ภาพประกอบ: AeA oranun