เราทุกคนต่างล้วนต้องเคยเจอลูกค้า เจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงาน ‘คอมเมนต์’ งานของเราอยู่เสมอ หรือหลายครั้งเราเองก็อยู่ในตำแหน่งที่ต้อง ‘คอมเมนต์’ งานคนอื่น
และคงมีไม่น้อยที่เราอาจจะเจอการคอมเมนต์ประเภท ‘คอมเมนต์วนไป ไม่รู้ว่าต้องการอะไร แถมยังไปต่อไม่ได้ แก้งานไปมา’ หลายครั้งเราก็ทำงานแบบนั้นโดยไม่รู้ตัว
มารู้ตัวอีกทีก็เสียเวลาไปมากแล้ว เลยกลับไปเอาแบบเดิมดีกว่า
ดังนั้นเรามาดูวิธีการ ‘คอมเมนต์งาน’ อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลตามที่ต้องการกันว่า มีเทคนิคและหลักการอย่างไรกันบ้าง
เราขอแนะนำให้รู้จักสองคำนี้ครับ
การคอมเมนต์งานแบบ Objectives คือการคอมเมนต์งานโดยเอาจุดประสงค์เป็นตัวตั้ง
ส่วนการคอมเมนต์งานแบบ Subjectives คือเอาอารมณ์เป็นตัวตั้ง ใช้ความชอบส่วนบุคคลเป็นหลัก
ทีนี้สิ่งที่อยากจะยกขึ้นมาพูดคุยกันก่อนและมักจะเป็นปัญหาของการคอมเมนต์งานมากที่สุดคือ การคอมเมนต์แบบ Subjectives
ซึ่งผมขอยกตัวอย่างด้วยคำถามสมมติต่อไปนี้
4 คนในภาพด้านล่าง ใครหล่อที่สุดในสายตาคุณ?
ทราบไหมครับว่าคนไหนได้รับการโหวตให้เป็นอันดับที่หนึ่ง
แน่นอนว่าแต่ละคนคงมีคำตอบไม่เหมือนกันแน่ และนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งครับว่า อารมณ์ความชอบด้านสุนทรียะของมนุษย์มีไม่เท่ากัน
อะไรสวย อะไรไม่สวย อะไรใหญ่ไป อะไรเล็กไป อะไรหล่อ ไม่หล่อ เท่ ไม่เท่ ของพวกนี้คือสิ่งที่เป็นความรู้สึกด้านอารมณ์ทั้งนั้น
ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากอารมณ์ รสนิยม การสั่งสมด้านสัญชาตญาณในการมองงาน วิชาชีพที่เรียนมาเฉพาะด้าน ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ Subjectives หรือไม่มีเหตุผลมารองรับทุกเรื่องทั้งนั้น ดังนั้นบางครั้งเราอาจจะต้องเชื่อใจนักดีไซน์ นักคิดสร้างสรรค์ หรือคนทำงานสายศิลป์ที่อาจจะมีพรสวรรค์ทางด้านอารมณ์ เพราะหลายครั้งชิ้นงานดีไซน์ด้านความคิดสร้างสรรค์ที่คนยกย่องชื่นชมมักจะทำให้เรารู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจเสมอ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความคิดสร้างสรรค์และชิ้นงานเหล่านั้นจะทรงประสิทธิภาพที่สุดก็ต่อเมื่อมันตอบจุดประสงค์ และนั่นคือสิ่งที่เราสามารถใช้การคอมเมนต์เชิง Objectives ในการคอมเมนต์งานให้ทรงประสิทธิภาพได้
การคอมเมนต์งานแบบมีวัตถุประสงค์ มีวิธีการดังนี้
- กลับมาที่บรีฟ หรือกลับมาที่ว่าเราต้องการอะไรจากชิ้นงานนี้
- กลับมามองในมุมของผู้ใช้งาน หรือผู้บริโภค อย่ามองผ่านความชอบของตัวเอง
- กำหนดให้ชัดว่าภาพความสำเร็จของงานคืออะไร อะไรคือสิ่งที่อยากได้
- เป็นชิ้นงานใหม่ ไม่ได้นำมาจากที่ใดหรือเปล่า
- ต้องทำได้จริง เป็นไปได้ ไม่ใช่งานเพ้อฝัน
- และสุดท้าย การคอมเมนต์ต้องคอมเมนต์แบบเป็นลำดับขั้น ไม่ใช่คอมเมนต์มั่วๆ หรือให้คนหลายคนมารุมคอมเมนต์ ควรคุยกันก่อน
เมื่อเราชัดเจนกับการคอมเมนต์งานแบบมีจุดประสงค์แล้ว ที่เหลือจงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักคิดสร้างสรรค์ในการทำงานให้ตอบวัตถุประสงค์ของเราออกมาให้ได้มากที่สุด
วิธีการดังกล่าวสามารถนำไปใช้ได้กับทุกสถานการณ์ที่เราต้องมีการคอมเมนต์อะไรก็ตามในชีวิตว่า การคอมเมนต์ที่สามารถทำให้งานดีขึ้นได้ ต้องกลับมาที่การคอมเมนต์แบบมีวัตถุประสงค์ทุกครั้ง ส่วนที่เหลือปล่อยให้เป็นหน้าที่ของความคิดสร้างสรรค์ให้ได้มีพื้นที่ในการละเลงไอเดียใหม่ๆ ลงไปบ้างครับ
สำหรับคำเฉลยว่าใครหล่อที่สุด… ดูที่นี่ครับ
ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan