แนวคิดเกี่ยวกับข้อตกลงมาร์อาลาโก หรือ Mar-a-Lago Accord ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ภายหลังการแต่งตั้งสตีเฟน มิแรน ให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ (Council of Economic Advisers: CEA) ของสหรัฐฯ เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมิแรน เคยเสนอแนวคิดที่บ่งชี้ว่า ปัญหาด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นั้น เป็นผลมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์
แนวคิดดังกล่าวนั้น สอดคล้องไปกับความต้องการของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อยากฟื้นฟูภาคการผลิตของสหรัฐฯ ซึ่งค่าเงินที่แข็งค่านับเป็นปัจจัยบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิต สะท้อนผ่านแนวทางการดำเนินนโยบายอย่างการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ในเบื้องต้น หมายถึงอำนาจซื้อในรูปของสกุลเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวลง ชี้นำให้ความต้องการถือเงินดอลลาร์นั้นปรับตัวลงตาม ซึ่งอาจกระทบกับสถานะสกุลเงินดอลลาร์ในระบบการเงินโลก ซึ่งทั้ง มิแรนและทรัมป์ ต่างยังคงต้องการรักษาให้เงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลักของโลกไว้เช่นเดิม
ความย้อนแย้งดังข้างต้น นำมาสู่แนวคิด Mar-a-Lago Accord ที่มีจุดมุ่งหมายให้ประเทศต่างๆ ปรับทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve) โดยลดสัดส่วนการถือครองเงินดอลลาร์ และหันมาถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 100 ปี ที่ไม่มีเงื่อนไขการจ่ายดอกเบี้ย (Zero-coupon bond) ซึ่งข้อตกลงดังข้างต้นนี้ มีแนวโน้มถูกนำมาใช้เป็นข้อเสนอสำหรับการละเว้นหรือผ่อนปรนการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าของรัฐบาลสหรัฐฯ
โดยปกติแล้ว พันธบัตรระยะยาว มักมีความเสี่ยงมากกว่าพันธบัตรระยะสั้น และสกุลเงินที่มีคุณสมบัติสถานะสกุลเงินปลอดภัยอย่างเงินดอลลาร์ จากสภาพคล่องที่ต่ำกว่า และความไม่แน่นอนของมูลค่าที่สูงกว่า ดังนั้น ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น อาจกระทบสถานะทางการเงินของประเทศที่จำเป็นต้องร่วมทำข้อตกลงดังกล่าว
จากประเด็นข้างต้น อาจชี้นำให้ธนาคารกลางของประเทศที่ต้องทำข้อตกลง เลือกเพิ่มการถือครองทองคำมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงของทุนสำรองฯ เนื่องด้วยสถานะสินทรัพย์ปลอดภัยของทองคำที่มีสภาพคล่องสูง ซึ่งแนวทางการเพิ่มสัดส่วนการถือทองคำสำรอง แม้เป็นแนวทางปกติที่ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังดำเนินการ อันเป็นผลให้สัดส่วนการถือเงินดอลลาร์ของธนาคารกลางปรับลดลง ตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ระบุว่า ค่าเงินดอลลาร์ถูกปรับลดสัดส่วนในทุนสำรองฯ ลงมากกว่า 10% หรือลดลงจากระดับ 71% ในปี 1999 สู่ระดับ 57.4% ในไตรมาส 3 ปี 2024
ขณะเดียวกัน การเข้าซื้อทองคำก็เพิ่มขึ้นมาตลอดด้วยเช่นกัน โดยธนาคารกลางมีการเข้าซื้อทองคำสุทธินับตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 ขณะที่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หรือช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 ธนาคารกลางต่างเร่งเข้าซื้อทองคำสุทธิสูงกว่าระดับ 1,000 ตันต่อปี และเมื่อพิจารณาจากผลสำรวจความคิดเห็นธนาคารกลาง 57 แห่งทั่วโลก จากสภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC) ฉบับล่าสุด บ่งชี้ว่า 66% ของธนาคารกลาง มีแนวโน้มเพิ่มสัดส่วนทองคำในทุนสำรองฯ สู่ 17-25% ในอีก 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่ระดับเฉลี่ย 16%
อย่างไรก็ดี Mar-a-Lago Accord ที่ทำให้ธนาคารกลางไม่สามารถเพิ่มการถือสกุลเงินหลักในทุนสำรองฯ ได้อย่างที่ต้องการ ทำให้แม้ประเทศที่ร่วมทำข้อตกลง จะเข้าถือพันธบัตรสหรัฐฯ ในทุนสำรองมากยิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกัน อาจต้องเพิ่มสัดส่วนการถือครองทองคำให้มากขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้ด้วยเช่นกัน
ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารกลางของประเทศที่ไม่ได้ทำข้อตกลงดังกล่าว ก็อาจต้องเพิ่มสัดส่วนทองคำสำรอง เช่นเดียวกับธนาคารกลางในประเทศที่ต้องทำข้อตกลงด้วยเช่นกัน เนื่องด้วยความมุ่งมั่นในการทำให้มูลค่าของเงินดอลลาร์ลดลง อาจมีส่วนลดทอนความแข็งแกร่งในฐานะสกุลเงินปลอดภัยลง ประกอบกับมูลค่าพันธบัตรสหรัฐฯ ที่อาจผันผวนมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ หาก Mar-a-Lago Accord ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อาจทำให้ธนาคารกลางมีการเข้าซื้อทองคำสุทธิ สูงกว่าระดับ 1,000 ตันต่อปี อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นสถานการณ์ที่หนุนการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในระยะยาว