×

ถอดรหัสความสำเร็จของ ‘พรหมลิขิต’ ต้นจัดแล้วปลายจะแรงไหม?

31.10.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • ความดีงามอย่างแรกของ พรหมลิขิต คือ การเล่าถึงช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึง นั่นคือสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง ทั้งในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านจากราชวงศ์ปราสาททองที่เต็มไปด้วยตัวละครหลากสีสัน รวมไปถึงรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระและสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ที่แทบจะไม่เคยพูดถึงในหนังหรือละครไทย
  • ส่วนต่อมาคือ การเรียงลำดับและใช้นักแสดงชุดเดิมจาก บุพเพสันนิวาส เหมือนผู้จัดรู้ใจแฟนๆ ว่าตัวละครในเรื่องนี้เป็นที่รักของคนดู จึงอุทิศอีพีแรกและครึ่งหนึ่งของอีพีที่ 2 เล่าความเป็นไปหลังจากตอนจบของภาคแรกก่อนจะออกสตาร์ทเรื่องราวใหม่ 
  • ฝีมือการแสดงของโป๊ป-เบลล่าเรียกได้ว่าดี สามารถแบ่งแยกบุคลิกตัวละครออกจากกันอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเบลล่าที่ออกแบบสีหน้าแววตาของแม่การะเกดและพุดตานให้ดูเป็นคนละคน แม้จะใช้นักแสดงคนเดียวกันก็ตาม

 

เปิดตัวด้วยกระแสฉ่ำๆ ทั้งตัวเลขเรตติ้งและจำนวนผู้ชมออนไลน์สำหรับละครเรื่อง พรหมลิขิต ภาคต่อของละครยอดฮิต บุพเพสันนิวาส ด้วยตัวเลขเรตติ้งในอีพีแรกที่ 6.4 ก่อนพุ่งไปถึง 6.8 ในอีพีที่ 2 แล้วตกลงไปที่ 6.2 ในอีพี 3 ก่อนจะดีดกลับมาที่ 6.5 ในอีพีที่ 4 ยอดผู้ชมออนไลน์ทะลุล้านแทบทุกตอน (อีพี 3 ที่ 9.5 แสนคน) ติดอันดับ 1 บน Netflix ประเทศไทย และขึ้นเทรนด์ X (Twitter) ในทุกๆ อีพี เรียกได้ว่าเป็นละครที่เปิดตัวด้วยกระแสแรงแบบที่ไม่ได้เห็นมานานในละครทีวีไทย

 

ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่านี่คือผลพวงความสำเร็จจาก บุพเพสันนิวาส ที่สร้างปฏิกิริยาเร่งทั้งในแง่ความสำเร็จบนจอทีวี รวมทั้งผลักดันให้นวนิยายเรื่อง พรหมลิขิต ออกมาสู่ผู้อ่านอย่างรวดเร็ว

 

โดย รอมแพง ผู้ประพันธ์ ได้เขียนไว้ในบทนำว่า เรื่องราวภาคต่อของบุพเพสันนิวาส เธอตั้งชื่อและวางพล็อตเอาไว้ตั้งแต่ปี 2554 โดยตั้งใจให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด จึงลงเรียนปริญญาโททางด้านประวัติศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ตัดสินใจลาออกเพราะภารกิจรัดตัว จนกระทั่งละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ประสบความสำเร็จอย่างมาก จึงต้องเริ่มต้นเขียน พรหมลิขิต พร้อมโจทย์ที่จะถูกสร้างเป็นละคร โดยที่รูปร่างหน้าตาตัวละครหลักต้องมีความคล้ายคลึงกับนักแสดงชุดเดิม แปลว่าไม่มากก็น้อย นวนิยายเรื่องนี้มีความพร้อมที่จะสร้างเป็นละครก่อนจะเขียนเสร็จด้วยซ้ำ

 

 

ความจริงแล้ว พรหมลิขิต น่าจะออกมาสู่สายตาผู้ชมได้เร็วกว่านี้ หากไม่ติดสถานการณ์โควิดเสียก่อน โดยละครเรื่องนี้ได้เปลี่ยนผู้กำกับจากที่เคยวางตัว ภวัต พนังคศิริ มาเป็น สรัสวดี วงศ์สมเพ็ชร (พราวมุก (2564 ), ตราบาปสีชมพู (2561), หนี้รักในกรงไฟ (2562) และ ซ่อนเงารัก (2563) ฯลฯ) และใช้นักแสดงชุดเดิมเกือบทั้งหมด จนกระทั่ง พรหมลิขิต ออกสู่สายตาผู้ชมหลังจาก บุพเพสันนิวาส เป็นระยะเวลาร่วม 5 ปี  

 

ความดีงามอย่างแรกของ พรหมลิขิต คือการเล่าถึงช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึง นั่นคือสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง ทั้งในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านจากราชวงศ์ปราสาททองที่เต็มไปด้วยตัวละครหลากสีสัน รวมไปถึงรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระและสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ที่แทบจะไม่เคยพูดถึงในหนังหรือละครไทย จุดประกายให้คนดูต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มอรรถรสให้ละคร ซึ่งสื่อเองก็พร้อมใจเล่าเรื่องราวเหล่านั้นจนกลายเป็นกระแสตื่นตัวทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่อีพีแรกเลยทีเดียว 

 

 

ส่วนต่อมาคือ การเรียงลำดับและใช้นักแสดงชุดเดิมจาก บุพเพสันนิวาส เหมือนผู้จัดรู้ใจแฟนๆ ว่าตัวละครในเรื่องนี้เป็นที่รักของคนดู จึงอุทิศอีพีแรกและครึ่งหนึ่งของอีพีที่ 2 เล่าความเป็นไปหลังจากตอนจบของภาคแรกก่อนจะออกสตาร์ทเรื่องราวใหม่ รวมทั้งมู้ดแอนด์โทนของเรื่องก็เหมือนจะเอาใจแฟนคลับด้วยการหยอดมุกตลกทุก 2 นาที ถี่กว่า บุพเพสันนิวาส เสียอีก ส่วนทางด้านนักแสดงก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคู่ขวัญ ‘โป๊ป-เบลล่า’ (โป๊ป-ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ – เบลล่า-ราณี แคมเปน) มาแรงเกินต้าน ยากที่จะหาใครมาแทนได้ ทั้งที่รอมแพงเคยเสนอให้ กวาง-กมลชนก เขมะโยธิน และ ก้อง-สหรัถ สังคปรีชา มารับบทการะเกดกับพี่หมื่นในเวอร์ชันสูงวัย แต่สุดท้ายก็มาลงตัวที่คู่ขวัญคู่เดิมที่ต้องเล่นถึง 3 บทบาทในเรื่องเดียว 

 

 

ข้อดีคือ แฟนละครที่ชื่นชอบก็ได้ฟินกับนักแสดงที่ตัวเองรัก ส่วนข้อเสียที่ตามมาคือ ข้อจำกัดเรื่องบทอย่างที่รอมแพงเคยเล่าไว้ว่า นี่คือโจทย์ที่เคยคิดว่าง่ายแต่ยาก นำมาสู่ประเด็นถกเถียงบนโลกออนไลน์ว่าเราจะหลงรักคนที่หน้าตาเหมือนบุพการีตัวเองได้จริงๆ หรือ 

 

ซึ่งในส่วนนี้คือการแก้โจทย์ของผู้ประพันธ์นิยาย เพื่อการให้หน้าตาของตัวละครใหม่คือพุดตาน มีความละม้ายกับเกศสุรางค์ โดยให้เป็นญาติห่างๆ กัน และหากจะย้อนเวลากลับไปช่วงที่ บุพเพสันนิวาส ฮิตสุดๆ ก็มีข่าวลือว่านางเอกใน พรหมลิขิต จะเป็นสาวเสพติดศัลยกรรม จึงทำให้หน้าตาไปคล้ายกับแม่หญิงการะเกด ซึ่งรอมแพงก็เคยคิดว่านี่เป็นหนึ่งทางเลือกอยู่เหมือนกัน 

 

จุดนี้ก็น่าเสียดายว่าถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ บุคลิกของพุดตานก็อาจจะแซ่บซ่ากว่าที่เราได้เห็นอยู่ในตอนนี้ เหมือนนางร้ายหลุดทะลุมิติเข้าไปในสมัยอยุธยา ทำให้เรื่องราวล้อไปกับ บุพเพสันนิวาส ที่ว่าด้วยนางเอกยุคปัจจุบันไปเข้าร่างนางร้ายในสมัยนั้น 

 

 

อย่างไรก็ตาม ฝีมือการแสดงของโป๊ป-เบลล่าเรียกได้ว่าดี สามารถแบ่งแยกบุคลิกตัวละครออกจากกันอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเบลล่าที่ออกแบบสีหน้าแววตาของแม่การะเกดและพุดตานให้ดูเป็นคนละคน แม้จะใช้นักแสดงคนเดียวกันก็ตาม

 

หลังจากที่ได้ดู พรหมลิขิต ออกอากาศมาแล้ว 4 อีพี ก็ต้องบอกว่าทำออกมาได้ดี เป็นละครดูสนุก แต่ในขณะเดียวกันการเดินตามรอยความสำเร็จของ บุพเพสันนิวาส ก็ทำให้ยังขาดเสน่ห์เฉพาะตัว ซึ่งหากให้เปรียบเทียบ บุพเพสันนิวาส ที่มีความสมบูรณ์มาตั้งแต่ฉบับนวนิยายด้วยเรื่องราวสาวอวบแห่งโลกปัจจุบันไปอยู่ในร่างสาวงามร้ายกาจแห่งอยุธยา นำมาซึ่งความเปิ่นโก๊ะและน่ารักน่าชัง แค่อ่านโครงเรื่องก็อาจจะตบเข่าฉาดว่าคิดได้อย่างไร แต่กับ ‘พรหมลิขิต’ ยังไปไม่ถึงความลงตัวแบบนั้น ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปว่าเรื่องราวจะตรงกับใจของผู้ประพันธ์ที่ต้องการเล่าเรื่องราวความรักโรแมนติกย้อนยุคแบบบ้านๆ ได้มากน้อยแค่ไหน

 

 

อีกเรื่องที่น่ายินดีคือ นานๆ ทีเราจะได้เห็นละครไทยที่มีโฆษณาเข้าแบบจุกๆ ทุกเบรกแบบนี้ ก็ถึงเวลาที่ช่อง 3 จะได้ตักตวงเม็ดเงินหลังจากซบเซามานานหลายปี จนไม่แปลกใจที่ละครเรื่อง พรหมลิขิต จะมีความยาวถึง 26 ตอน เฉลี่ยตอนละ 1.10 ชั่วโมง ในขณะที่ บุพเพสันนิวาส มีความยาวที่ 15 ตอน เฉลี่ยตอนละ 1.50 ชั่วโมง เมื่อมาบวกลบคูณหารแล้ว พรหมลิขิต ยาวกว่า บุพเพสันนิวาส อยู่เกือบ 3 ชั่วโมง โดยเดินเรื่องค่อนข้างช้ากว่า เนื้อหาสอดแทรกมุกตลกจนดูรุงรังเกินไป จนอาจกลับมาทำร้ายละครทั้งเรื่องได้เหมือนกัน 

 

ใดๆ ก็ตามละครเรื่องนี้เป็นละครอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้เขียนตั้งใจเชียร์และลุ้นว่าจะสร้างสถิติได้เท่าใด ทำเรตติ้งตอนจบได้ที่ 18.6 แบบ บุพเพสันนิวาส ได้หรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ นี่คือผลงานละครภาคต่อจากค่ายบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด ที่ทำออกมาได้ดีกว่า แรงเงา 2 ไปมากทีเดียว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising