ข่าวที่เจอในหน้าฟีดโซเชียลมีเดียของดิฉันในช่วงที่ผ่านมาก็คือ ข่าวของว่าที่นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐไอร์แลนด์ที่เป็นเกย์
อัตลักษณ์ทางเพศเกย์ หรือที่ดิฉันเรียกภาษาปากว่าเก้งกวางนั้น รวมถึงรสนิยมทางเพศของเขาด้วยที่เป็นคนรักเพศเดียวกัน นับเป็นข่าวใหญ่ของสื่อในต่างประเทศ โดยเฉพาะสำนักข่าวและเพจของกลุ่มสิทธิ LGBT ที่ต่างนำเสนอและยินดีกับ ลีโอ วารัดคาร์ (Leo Varadkar) ว่าที่นายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดและเปิดเผยตัวตนทางเพศตั้งแต่สมัยที่เป็นนักการเมือง เป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการทำงานสวัสดิการสังคม
มองกลับมาอ่านข่าวในประเทศไทย หลายคนคงตกใจไม่น้อยว่ามีนายกฯ ที่เป็นเกย์ได้ด้วยหรือ ในกลุ่มที่เป็นพี่น้องผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นต่างชื่นชมยินดีกับข่าวแบบนี้เป็นที่สุด เพราะนับเป็นอีกก้าวของผู้แทนในนามคน LGBT ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดในรัฐบาล
มีคนจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามถึงความเป็นเพศภาวะว่า เกย์ กะเทย เลสเบี้ยน เป็นนายกฯ ได้จริงหรือ ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้คำตอบแล้วว่าเกย์ก็เป็นนายกฯ ได้ แล้วนายกฯ คนนี้ก็ไม่ใช่คนแรกของโลกด้วย (แต่ไม่ใช่ใครๆ ก็เป็นนายกฯ ได้แบบในบ้านเรา)
เนื่องด้วยศักยภาพและภาวะผู้นำที่หนุนเสริมให้เกิดความนิยมและเป็นที่ไว้วางใจ หากตัดเรื่องเพศภาวะออกไปก็นับเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่แล้วบนเส้นทางการเมือง การหาเสียง การชูนโยบาย การเลือกตั้ง จนกว่าจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี
ข่าวนี้ทำให้ดิฉันนึกย้อนไปเมื่อปี 2014 ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานประชุมสิทธิมนุษยชนโลก (WorldPride Human Rights Conference) ณ เมืองโทรอนโต ประเทศแคนาดา ซึ่งได้พบกับอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไอซ์แลนด์คือ โยฮันนา ซิกูร์ดาร์ด็อตเทียร์ ที่เป็นผู้หญิงคนแรกของประเทศ และเป็นนายกฯ คนแรกของโลกที่เป็นเลสเบี้ยนด้วย
ซึ่งโยฮันนาได้มากล่าวเปิดงานประชุมพร้อมกับคู่ชีวิตของเธอ และได้ปาฐกถาในเรื่องประสบการณ์การทำงานและการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทางเพศหลากหลาย
สิ่งที่โยฮันนาได้ทำไว้คือการพิสูจน์เรื่องอัตลักษณ์ทางเพศว่าไม่ได้เป็นส่วนที่ทำให้ศักยภาพคนสูญหายไป ความเป็นคนไม่ได้เสียไปจากการเป็นเลสเบี้ยนของเธอ สิ่งที่น่าใส่ใจคือนายกฯ ที่เป็นบุคคลผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศก็ไม่ใช่ว่าจะเดินหน้าเรื่องสิทธิ LGBT อย่างเดียว แต่ที่ผ่านมาระบบการเมืองก็ทำให้ผู้นำเหล่านั้นต่างใช้วิธีการทางการเมืองในการนำเสนอนโยบายเพื่อคนทุกคนในสังคม ด้วยความหวังเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและทั่วถึง แต่อย่างน้อยก็เป็นภาพความทรงจำหนึ่งที่บอกสังคมโลกว่าสังคมที่เป็นธรรมควรเป็นอย่างไร
ข่าวนี้ได้ทำให้เกิดข้อสังเกตว่าในประเทศไทยยังไม่เคยมีรัฐมนตรีที่ประกาศตัวเป็นเกย์ เลสเบี้ยน หรือนักการเมืองที่ประกาศอัตลักษณ์ทางเพศของตนต่อสังคม ถึงมีก็มีในระดับท้องถิ่นที่มีข่าวผู้ใหญ่บ้านเป็นกะเทย หรือมีสมาชิก อบจ. เป็นคนข้ามเพศ
แต่ในต่างประเทศ การออกมาประกาศบอกว่าตัวเองมีตัวตนทางเพศอย่างไรนับเป็นการแสดงออกถึงความภาคภูมิใจ และเป็นการหาเสียงไปในตัวกับกลุ่มคนที่สนับสนุน
ประเด็นความภาคภูมิใจในความเป็น LGBT ในไทยยังไม่เกิด โดยเฉพาะในทางการเมือง ที่น่าตกใจคือ นักการเมืองไทยไม่ได้มีความพยายามหาความรู้ความเข้าใจในกลุ่มประชากรเพศหลากหลาย เห็นได้จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา (นานแล้ว) ซึ่งยังไม่เคยได้ยินได้ฟังนโยบาย LGBT จากพรรคไหนเลย
สาเหตุที่การเมืองไทยยังไม่ได้สนใจเรื่องเพศหลากหลายในสังคม เป็นผลมาจากวิธีคิดแบบอคติทางเพศและไม่ได้สนใจต่อสถานการณ์การเลือกปฏิบัติทางเพศในสังคม พรรคการเมืองไม่ได้มีนโยบายที่ถูกคิดและถูกนำเสนอจากความต้องการของประชาชนในด้านนี้
ซ้ำร้ายในแวดวงการเมืองไทยยังเต็มไปด้วยการกดขี่ทางเพศ หญิงชายทั่วไปยังเกิดการกดขี่ทางเพศโดยเฉพาะสัดส่วนของนักการเมืองหญิง หรือตำแหน่งรัฐมนตรีที่ไม่เคยคิดเรื่องสัดส่วนเพศ ไม่ว่าพรรคไหนก็ไม่สามารถจะก้าวข้ามจากอคติทางเพศไปได้จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งที่ความต้องการต่อการมีนโยบายใหม่ๆ ในการสนับสนุนสิทธิความหลากหลายทางเพศเป็นทิศทางของการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนและเป็นทิศทางของโลก
แม้ไม่ใช่ LGBT ก็สามารถที่จะเป็นผู้สนับสนุนหรือเป็นผู้ผลักดันนโยบายเพื่อสิทธิทางเพศได้ นับตั้งแต่ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีของประเทศแคนาดา ออกมาจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีที่มีสัดส่วนผู้หญิงผู้ชายให้มีจำนวนเท่ากัน และเป็นนายกฯ ที่ลงไปร่วมเดินงาน Gay Pride จนได้ใจกลุ่มเพศหลากหลายในแคนาดาเป็นจำนวนมาก
ตามด้วย เอ็มมานูเอล มาครง นายกรัฐมนตรีประเทศฝรั่งเศส ที่ประกาศใช้หลักมิติทางเพศเพื่อจัดสรรให้ทีมรัฐมนตรีมีความสมดุลเรื่องเพศ จึงทำให้เห็นถึงความตั้งใจของผู้นำโลกรุ่นใหม่ที่มีความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะ เห็นวิธีคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนของประเทศนั้นๆ ว่ามีพื้นฐานของการทำความเข้าใจเรื่องคนเท่ากัน และเรียนรู้ที่จะอยู่กันท่ามกลางหลากวัฒนธรรมและเคารพในความแตกต่างในฐานะพลเมืองเป็นอย่างดี
ดิฉันเคยเข้าร่วมประชุมระดับสูงกับองค์การสหประชาชาติ ได้มีโอกาสพบผู้แทนหลายประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีในหลายประเทศ ซึ่งต่างแสดงทัศนะในการทำงานด้านสิทธิทางเพศ และถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะหลายคนสามารถกล่าวในที่ประชุมได้อย่างประทับใจ เข้าใจประเด็น และมีข้อเสนอที่เห็นกลไกความร่วมมือ
หลายคนคงคิดว่าในการประชุมระหว่างประเทศ จะพูดหรืออ่านบทสุนทรพจน์อะไรออกมาก็ได้ในที่ประชุม จะเอาคำพูดสวยหรูแค่ไหนก็ได้
แต่จากที่ดิฉันได้เฝ้าติดตามการประชุมต่างๆ ก็ได้เห็นผู้นำหลายประเทศมีวิธีการนำนโยบายไปปฏิบัติ และผลักดันจนมีผลงานการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชน ทำให้ศักยภาพของการบริหารประเทศมีมุมด้านสิทธิทางเพศมากขึ้น และที่สำคัญที่สุดก็คือ สะท้อนไปถึงพื้นฐานความเข้าใจสิทธิของประเทศนั้นๆ ที่ได้คิดวางแผนและลงมือทำมันออกมาในรูปของนโยบาย กฎหมาย เช่น กฎหมายการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน กฎหมายการรับรองเพศ และถือเป็นการส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิให้กับประชาชน
หากประเทศนั้นมีผู้นำเป็นเพศหลากหลายก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นชัดว่า ประเทศมีกลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ดีจึงทำให้ประชาชนเลือกคนตามความสามารถและมองไปไกลกว่าความเป็นเพศของผู้นำ อีกอย่างคือ ตำแหน่งผู้นำไม่ใช่เวลาพิสูจน์ตัวตนทางเพศ แต่ในระดับผู้บริหารประเทศมันคือช่วงเวลาของการแสดงถึงคุณภาพของผู้นำเพื่อสร้างคุณภาพของสังคม
หากมองเรื่องเพศติดอยู่ที่ระหว่างขา ก็อย่าได้หวังว่าจะเงยหน้ามองเห็นเรื่องอื่นๆ