มองในภาพกว้าง ภาพยนตร์สยองขวัญสัญชาติออสเตรเลียเรื่อง Late Night with the Devil (2023) ก็เป็นเหมือนลูกหลานพันธุ์ทางของภาพยนตร์สยองขวัญคลาสสิกเรื่อง The Exorcist (1973) ซึ่งถูกสร้างออกมานับไม่ถ้วนตลอดระยะเวลาครึ่งศตวรรษที่ผ่านพ้นไป อันส่งผลให้โดยรูปการณ์แล้ว มันก็ไม่น่าจะหลงเหลือแง่มุมผิดแผกแตกต่างให้สำรวจหรือขุดคุ้ยได้อีกแล้ว นั่นรวมถึงรสชาติสดใหม่และหอมหวานที่จะสามารถดึงดูดหรือหว่านล้อมความสงสัยใคร่รู้ของผู้ชม
เซอร์ไพรส์ก็คือ ภาพยนตร์ของสองผู้กำกับและคนเขียนบท Colin Cairnes และ Cameron Cairnes สามารถหลบเลี่ยงกับดักความซ้ำซากจำเจได้อย่างคล่องแคล่วและช่ำชอง จะเรียกว่าภาพยนตร์ของทั้งสองคนโชว์ให้เห็นทักษะของการเล่นแร่แปรธาตุที่ทั้งเจ้าเล่ห์และเปี่ยมด้วยพรสวรรค์ก็คงได้ ที่แน่ๆ ก็คือ มันสร้างความรู้สึกน่าฉงนสนเท่ห์ผ่านชั้นเชิงในการบอกเล่าที่คนดูไม่อาจรู้ล่วงหน้าว่าเรื่องทั้งหมดจะหันเหไปทิศทางใด ผนวกกับความละเอียดและประณีตในส่วนของงานสร้างที่จำลองรายการสดทางโทรทัศน์ยุควินเทจได้แนบเนียนและชวนเชื่อมากๆ (อัตราส่วนจอภาพแบบ 4:3, ภาพและสีที่เหลื่อมซ้อน, ฉากของห้องส่งที่สร้างขึ้นแบบลวกๆ, การที่ภาพยนตร์ต้องแทรก ‘สิ่งที่น่าสนใจจากผู้มีอุปการคุณ’ อยู่เนืองๆ ไปจนถึงช่วงเวลาขัดข้องทางเทคนิค และสถานีต้องขึ้นสไลด์ภาพนิ่งให้คนดูจ้องมองเป็นเวลานาน เป็นต้น)
ผลลัพธ์โดยรวมก็คือ Late Night with the Devil กลายเป็นภาพยนตร์ที่โดดเด้งจากกรุภาพยนตร์สยองขวัญเทือกเดียวกันที่ผลิตออกมาอย่างซ้ำๆ ซากๆ และระยะเวลาราวๆ ชั่วโมงครึ่งของภาพยนตร์ผ่านการรับรู้ไปอย่างไม่ทันตั้งตัว กระทั่งรู้สึกว่ามันสั้นเกินไป
ว่าไปแล้ว สารตั้งต้นของ Late Night with the Devil ไม่ได้คลี่คลายมาจากภาพยนตร์สยองขวัญขึ้นหิ้งเพียงอย่างเดียว หากยังหยิบยืมสไตล์การนำเสนอแบบ Found Footage ซึ่งก็อย่างที่รู้กันว่า มันเป็นตระกูลย่อยของภาพยนตร์สยองขวัญที่ตกยุคตกสมัยไปแล้วเพราะถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อ แต่ก็นั่นแหละ อานิสงส์ของความเป็นภาพยนตร์ Found Footage ซึ่งในกรณีของ Late Night. มันคือเทปบันทึกรายการสดแนวทอล์กโชว์ทางโทรทัศน์ที่เพิ่งจะถูกค้นพบ ก็สร้างเงื่อนไขหรือข้อแก้ตัวชั้นดีในการพาคนดูย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่ปั่นป่วนยุ่งเหยิงที่สุดครั้งหนึ่ง ซึ่งก็คือทศวรรษ 1970 และอารัมภบทช่วงราวๆ สิบนาทีแรกของภาพยนตร์ก็สรุปอารมณ์และบรรยากาศของยุคสมัยได้อย่างรัดกุม
มันคือช่วงเวลาของสงครามเวียดนาม คดีวอเตอร์เกต วิกฤตพลังงาน การเหยียดผิว ความรุนแรงบนท้องถนน ฆาตกรโรคจิต ลัทธิบูชาซาตานและความเชื่อบ้าบอคอแตก รวมทั้งผู้คนในสังคมดำดิ่งอยู่ในความตื่นตระหนกและหวาดระแวงด้วยเรื่องสารพัดสารพัน อันส่งผลให้โทรทัศน์กลายเป็นหนึ่งในสันทนาการเพียงไม่กี่ช่องทางที่นำพาพวกเขาหลบลี้หนีไปจากโลกความเป็นจริง
แต่ขณะที่ภาพเบื้องหน้าของบรรดารายการโทรทัศน์ต่างหยิบยื่นความบันเทิงราคาถูกให้กับผู้คนหน้าจอ ผู้ซึ่งไม่มีทางเลือกในชีวิตมากนัก สงครามเรตติ้งเบื้องหลังเพื่อแย่งชิงคนดูระหว่างช่องก็ดำเนินไปอย่างดุเดือดเลือดพล่าน ในตอนที่ภาพยนตร์เรื่อง Late Night. เริ่มต้น
ข้อมูลที่คนดูรับรู้เกี่ยวกับ Jack Delroy (David Dastmalchian) พิธีกรรายการทอล์กโชว์ที่ใช้ชื่อว่า Night Owls ก็คือชีวิตที่เรียกได้ว่าขึ้นสุดลงสุดเหมือนรถไฟเหาะตีลังกา เขาเริ่มต้นในฐานะคนหนุ่มไฟแรง ผู้ซึ่งกำลังจะมาทาบรัศมี Johnny Carson ที่เปรียบเสมือนก็อดฟาเธอร์ของรายการทอล์กโชว์ และโอกาสที่เขาจะก้าวขึ้นไปเป็นเบอร์หนึ่งก็อยู่เพียงแค่เอื้อม แต่จนแล้วจนรอดยอดเขาเอเวอเรสต์ก็สูงเกินไป แย่ไปกว่านั้นก็ตรงที่เขาต้องเผชิญกับมรสุมชีวิตส่วนตัว อันได้แก่ การจากไปด้วยโรคร้ายของภรรยาสุดที่รัก และหลังจากนั้นเส้นกราฟของทั้งชีวิตและหน้าที่การงานของเขาก็ดำดิ่งสู่ก้นเหว
และถ้าหากจะสรุปอย่างรวบรัด เทปบันทึกรายการสดในค่ำคืนฮาโลวีนที่เพิ่งถูกค้นพบและกำลังเผยแพร่ให้พวกเราได้ดูตอนนี้ เปรียบได้กับการเดิมพันครั้งสุดท้ายของ Jack Delroy ในความพยายามจะกลับมาต่อลมหายใจของรายการอีกครั้ง ทำนองว่าถ้าไม่ปังก็พัง ไม่เปรี้ยงปร้างก็รูดม่านปิดฉากได้เลย และเสียงบรรยายของบุคคลที่สามตอนต้นเรื่องก็ให้เงื่อนงำทำนองว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ‘ช็อก’ คนทั้งประเทศ
ส่วนที่ต้องปรบมือดังๆ ให้กับผู้สร้างก็คือ บทภาพยนตร์ที่เลือกเล่าผ่านรายการโทรทัศน์ที่กำลังจนตรอกสุดๆ และต้องทำทุกอย่างเพื่อเรียกเรตติ้ง นั่นทำให้พวกเขาไม่ต้องเหนียมอายเรื่องรสนิยมและการเล่นมุกตลกแบบตึงโป๊ะเพื่อสร้างเสียงหัวเราะเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าอับอายขายหน้าอะไร
ในแง่หนึ่ง การกำหนดเงื่อนไขให้เป็นรายการสด ก็สร้างความรู้สึกปัจจุบันทันด่วนได้อย่างน่าสนใจ ทำนองว่าความผิดพลาดหรือเรื่องหน้าแตกใดๆ ก็ถือเป็นความเสี่ยงตามปกติและเกิดขึ้นได้ (ซึ่งก็เกิดขึ้นจริงๆ) แต่ปมขัดแย้งหลักของเรื่องเบ่งบานมาจากแขกรับเชิญของรายการที่ถูกออกแบบมาให้ ‘หาเรื่อง’ กันโดยตรง และนั่นคือตอนที่ดีกรีความเข้มข้นของภาพยนตร์พลุ่งพล่าน
สั้นๆ ง่ายๆ คอนเซปต์ของรายการก็คือ การพิสูจน์ว่าภูตผีปีศาจหรือชีวิตหลังความตายมีจริงหรือไม่ สามารถอัญเชิญมาประทับให้คนในห้องส่งได้รู้เห็นเป็นพยานได้หรือไม่ และก็อย่างที่ใครๆ ก็คงนึกออกและบ้านเราก็มีรายการทำนองนี้ดาษดื่น ปมขัดแย้งคลาสสิกก็คือ ฝ่ายหนึ่งทั้งเชื่ออย่างไม่มีข้อกังขาและเผยแพร่ความเชื่อและศรัทธานี้อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ขณะที่อีกฝ่าย อันได้แก่ ตัวละครที่ชื่อ Carmichael Haig (Ian Bliss) ผู้ซึ่งถูกนำเสนอในบุคลิกที่เย่อหยิ่ง หลงตัวเอง ชอบพูดจาเหน็บแนมถากถางคนอื่น และไม่แปลกที่ใครจะรู้สึกหมั่นไส้ ก็มองเห็นว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นปาหี่และการจัดฉากทั้งเพ และเขาพยายามจับผิดและเปิดโปงความกำมะลอ
ความฉลาดของบทภาพยนตร์ ได้แก่ การให้คนดูได้รู้เห็นเป็นพยานการปะทะกันของสองขั้วความเชื่อที่สวนทางและขัดแย้งอย่างไม่ลดราวาศอก จนกระทั่งราวๆ 15 นาทีหลังสุดนั่นแหละที่แต่ละคนคงต้องไปทบทวนเอาเองว่าสิ่งที่เพิ่งผ่านการรับรู้ของพวกเราคืออะไร
แน่นอน ประเด็นผีหรืออำนาจเหนือธรรมชาติมีจริงหรือไม่ ไม่ใช่แก่นสารที่คนทำภาพยนตร์บอกเล่า ขณะที่การอวดอ้างความเป็นภาพยนตร์แนว Found Footage ก็เป็นแง่มุมที่ถือสาหาความจริงจังไม่ได้ เพราะว่าไปแล้วคนทำภาพยนตร์ก็ ‘ถือวิสาสะ’ ใส่สีตีไข่ด้วยแท็กติกและกลวิธีต่างๆ นานา ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อความเข้มข้นและสนุกสนานเป็นสำคัญ
สุดท้ายแล้วมี 2-3 อย่างที่น่าพูดถึง อย่างแรกสุดก็คือ ชั้นเชิงในการบอกเล่า หนึ่งในฉากตื่นเต้นระทึกขวัญที่ล้ำค่ามากๆ คือตอนที่ Jack ขอให้ทีมงานในห้องส่งเล่นเทปย้อนหลังแบบเลื่อนภาพทีละเฟรม เพราะเขาคิดว่าแอบเห็นอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ และจังหวะในการยั่วล้อกับความคาดหวังและความอยากรู้อยากเห็นของคนดู ก็สร้างสภาวะการรอคอยที่สุดแสนจะทานทน หรือการสอดแทรกอารมณ์ขันในช่วงไคลแม็กซ์ท้ายเรื่องก็นับเป็นความกล้าหาญชาญชัย เมื่อตัวละครคนหนึ่งซึ่งไม่รู้จะต่อกรกับปีศาจร้ายอย่างไร เอ่ยประโยคไล่ผีของหลวงพ่อ Merrin จากภาพยนตร์เรื่อง The Exorcist ซึ่งไม่ได้ผลด้วยประการทั้งปวง กระนั้นก็ตาม วิธีการนำเสนอฉากดังกล่าวที่ดูสติแตกมากๆ ก็เป็นไปได้ว่าคนดูอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองควรจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไร ระหว่างตื่นตระหนกหวาดผวากับหัวเราะเสียงดังสนั่นหวั่นไหว
การแสดงก็นับเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สร้างบรรยากาศที่ขึงขังจริงจัง ดังที่กล่าว นักแสดงสมทบที่ชื่อ Ian Bliss ประสบความสำเร็จในการทำให้คนดูขัดหูขัดตากับคาแรกเตอร์นักจ้องจับผิดของเขาได้อย่างพร้อมเพรียง กระทั่งรู้สึกสมน้ำหน้าในตอนที่เจ้าตัวประสบเคราะห์กรรม
ขณะที่ใครอีกคนหนึ่งที่เรารู้สึกได้ถึงความพิลึกกึกกือตั้งแต่แรกพบก็คือตัวละครที่ชื่อ Lilly (Ingrid Torelli) ผู้ซึ่งได้รับการแนะนำว่าเธอมีปีศาจร้ายสิงสู่อยู่ในเรือนร่าง และทั้งสายตาที่จ้องเขม็งมาที่กล้องในห้องส่ง (และคนดู) รวมถึงรอยยิ้มที่ซ่อนเลศนัยของตัวละคร ก็กลายเป็นภาพติดตาและสร้างความรู้สึกหลอกหลอนทีเดียว
แต่คนสำคัญที่สุดของภาพยนตร์ทั้งเรื่องและการแสดงของเขาก็ช่างน่าทึ่งก็คือ David Dastmalchian ในบทพิธีกรที่ดูเป็นคนอ่อนไหว อ่อนโยน และที่แน่ๆ ไม่ได้มีบุคลิกแบบพิธีกรทอล์กโชว์ที่มักจะมองโลกด้วยสายตาเย้ยหยัน แดกดัน กระนั้นก็ตาม อีกด้านหนึ่งที่ภาพยนตร์ค่อยๆ เผยให้เห็น ทั้งเรื่องความยุ่งเกี่ยวกับลัทธิประหลาด และบางทีเขาอาจจะเป็นพวกขายวิญญาณหรือความสัมพันธ์พิเศษกับใครบางคน ก็ทำให้คนดูไว้เนื้อเชื่อใจตัวละครนี้ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
พูดอย่างแฟร์ๆ ในความเป็นภาพยนตร์สยองขวัญที่มุ่งขายความอกสั่นขวัญแขวนและหลายช่วงก็กระตุกขวัญคนดูอย่างได้ผล ภาพยนตร์เรื่อง Late Night with the Devil ก็ยังนับว่าห่างชั้นจากภาพยนตร์ชั้นครูทั้งหลาย กระนั้นก็ตาม ส่วนผสมของความเป็นภาพยนตร์ตลกร้ายและล้อเลียนเสียดสีก็ทำให้ภาพยนตร์ไม่ต้องแข่งขันในสนามใหญ่ที่เต็มไปด้วยเสือ สิงห์ กระทิง แรด เต็มตัว
ขณะที่เนื้อหาที่ว่าด้วยคนทำงานสื่อต้องงัดทุกกลเม็ดเพื่อดึงดูดความสนใจของคนดู ซึ่งใครที่เป็นแฟนภาพยนตร์ยุค 1970 ก็คงจะนึกโยงไปถึงภาพยนตร์ปี 1976 เรื่อง Network ที่พิธีกรรายการโทรทัศน์ในภาพยนตร์เรื่องนั้นประกาศฆ่าตัวตายเพื่อเรียกเรตติ้ง ก็เป็นหัวข้อที่ไม่เคยตกยุคตกสมัยจริงๆ เพราะถึงแม้ว่าเรตติ้งจะไม่ใช่คำที่ร้อนแรงหรือศักดิ์สิทธิ์เหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว และในยุคสื่อสังคมออนไลน์มันทดแทนด้วยการ ‘กดไลก์ กดแชร์ กดซับสไครบ์’ แต่ก็นั่นแหละ แนวรบไม่เคยเปลี่ยนแปลง
มองในแง่มุมนี้ คนผลิตสื่อ (รวมถึงคนเขียนด้วย) ที่ดูเหมือนความอยู่รอดของพวกเราผูกติดอยู่กับตัวเลข ก็น่าจะตกเป็นจำเลยกันถ้วนหน้า
Late Night with the Devil (2023)
ผู้กำกับ: Colin Cairnes และ Cameron Cairnes
นักแสดง: David Dastmalchian, Laura Gordon, Ian Bliss และ Ingrid Torelli ฯลฯ