×

กุลธิดา วูดส์ สาวเมืองกาญจน์ผู้ชุบเลี้ยง ‘พญาเสือ’ ด้วยหัวใจ

05.02.2025
  • LOADING...

คำโบราณท่านว่า “อยากได้ลูกเสือ ต้องเข้าถ้ำเสือ”

 

แต่ไม่ใช่ทุกครั้งและทุกคนหรอกนะครับที่จะได้ลูกเสือมาง่ายๆ เพราะคุณต้องเจอกับแม่เสือก่อน และแน่นอนว่าแม่เสือย่อมรักและหวงลูกของเธอยิ่งกว่าอะไร

 

โดยเฉพาะแม่เสืออย่าง กุลธิดา วูดส์ หญิงสาวจากเมืองกาญจนบุรีคนนี้ ไม่ยอมให้อะไรมาทำร้ายลูกชายของเธออย่างเด็ดขาด 

 

และเพราะมีเธอคนนี้ ไทเกอร์ เอลดริก วูดส์ จึงเติบใหญ่กลายมาเป็น ‘พญาเสือ’ หนึ่งในตำนานผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งวงการกอล์ฟ

 

 

กุลธิดา พันธุ์สวัสดิ์ ที่ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็น วูดส์ หรือในชื่อ ‘ธิดา’ (Tida) ที่คนเมืองฝรั่งเขาเรียกกัน เดิมเป็นหญิงสาวธรรมดาๆ คนหนึ่งที่เกิดและเติบโตในจังหวัดกาญจนบุรี เธอพบรักกับ เอิร์ล วูดส์ ทหารหนุ่มชาวอเมริกันในช่วงสงครามเวียดนาม โดยในเวลานั้นเธอเป็นสาวน้อยวัยที่ทำงานในแผนกต้อนรับของฐานทัพสหรัฐอเมริกาที่มาตั้งอยู่ในประเทศไทยในช่วงปีทศวรรษ 1960

 

ความรักระหว่างทั้งสองคนผลิบานอย่างรวดเร็ว และนั่นทำให้เมื่อเอิร์ลต้องเดินทางกลับบ้านเกิดที่สหรัฐฯ หลังสงครามสิ้นสุด เขาได้ขอให้กุลธิดากลับไปด้วยกันเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ แม้ทั้งสองคนจะเพิ่งพบและคบหากันได้ไม่กี่เดือน

 

สำหรับสาวน้อยที่ไม่เคยเดินทางไกลไปนอกประเทศมาก่อน การตัดสินใจเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก

 

แต่ความรักก็ช่วยนำทางให้เอิร์ลและกุลธิดาไปสู่นิวยอร์ก ก่อนจะตกลงแลกแหวนและคำมั่นสัญญาที่จะใช้ชีวิตร่วมกันไม่ว่าจะยามทุกข์หรือยามสุขไปตลอดชีวิตในปี 1969 และเดินทางข้ามไปฝั่งตะวันตกเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยกันในเมืองไซเปรส รัฐแคลิฟอร์เนีย

 

ที่นี่คือถ้ำเสือ และลูกเสือไทเกอร์ก็เกิดที่นี่เองในวันก่อนถึงวันส่งท้ายปี 1975

 

โดยที่กุลธิดาได้มอบชีวิตทั้งหมดที่มีของเธอให้แก่ลูกชาย คนที่เอิร์ลตั้งชื่อตามเพื่อนรักที่ร่วมรบด้วยกันมาในเวียดนาม

 

แม่เสือเลี้ยงลูกเสืออย่างดีที่สุดเท่าที่แม่คนหนึ่งจะทำให้ได้ กุลธิดาไม่เคยรับงานพาร์ตไทม์หรือจ้างพี่เลี้ยงเด็กเลย เพราะเธอต้องการเลี้ยงดูไทเกอร์ด้วยตัวเองโดยไม่ให้ห่างกายและห่างใจ

 

ความลับของความรักนั้นเกิดจากปมความหลังฝังใจของเธอที่มีชีวิตวัยเด็กที่ไม่น่าจดจำนัก เพราะพ่อและแม่ของเธอหย่าร้างและแยกทางกันตั้งแต่เธอยังเล็กๆ อายุแค่ 5 ขวบ ก่อนจะโดนส่งตัวเข้าโรงเรียนประจำ

 

ช่วงเวลา 5 ปีที่อยู่ในโรงเรียน กุลธิดาไม่เคยได้กลับไปเยี่ยมที่บ้านเลย

 

และที่เจ็บปวดกว่านั้นคือ ตลอดช่วงเวลานั้นเธอหวังมาตลอดว่าจะมีสักวันที่พ่อหรือแม่จะมาเยี่ยมเธอบ้าง แต่ก็ไม่เคยมีใครมาหาเธอเลยแม้แต่ครั้งเดียว

 

“มันเป็นเรื่องที่ยากสำหรับฉัน” เธอเคยให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ไว้กับ Golf Digest

 

อย่าว่ากระนั้นเลย ตลอดชีวิตเธอไม่เคยได้รับการสวมกอดจากพ่อ หรือได้ยินคำว่า “รัก” จากปากของพ่อแม้แต่คำเดียว และนั่นคือเหตุผลที่สำคัญที่สุดที่เธอตัดสินใจจะมอบความรักและอุทิศทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเพื่อดูแลไทเกอร์ให้ดีที่สุด

 

 

“นั่นคือเหตุผลที่ฉันกอดไทเกอร์และบอกรักเขาเสมอ เพราะตัวฉันไม่เคยได้รับสิ่งเหล่านี้” คือปณิธานชีวิตว่าจะไม่ยอมให้ลูกต้องรู้สึกว่า ‘ขาด’ เหมือนที่เธอเคยขาดมาก่อน แม้ว่าที่สุดแล้วความสัมพันธ์ระหว่างเธอและพ่อกับแม่จะไม่ได้ถึงกับขาดสะบั้นก็ตาม เพราะในช่วงไทเกอร์ยังเด็ก คุณยายของเขาก็มาช่วยเลี้ยงบ้าง และคุณตาของเขาก็เคยมอบพระพุทธรูปให้ไทเกอร์ไว้บูชาในตอนที่เขามาเที่ยวเมืองไทยครั้งแรกตอนอายุ 9 ขวบ

 

แต่ไทเกอร์กับกอล์ฟนั้นเริ่มต้นก่อนนั้นเสียอีก และกุลธิดาคือคนที่พาไทเกอร์ในวัย 4 ขวบไปเข้าเรียนกอล์ฟกับ รูดี ดูแรน รวมถึงเป็นคนขับรถพาลูกชายตะลอนแข่งไปทั่วแคลิฟอร์เนียใต้ 

 

แม้เธอจะเป็นผู้หญิงธรรมดาที่ไม่ได้มีวิชากอล์ฟ แต่กุลธิดาก็เก่งพอจะสอนวิชาชีวิตให้ลูกชาย และเธอสอนแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก

 

ตัวอย่างเล็กๆ ที่น่ารัก เช่น ในวัยเด็กถ้าวันไหนไทเกอร์แสดงกิริยาไม่น่ารักในระหว่างการแข่ง เธอซึ่งเป็นคนจดสกอร์จะใส่เพิ่มเข้าไปอีก 1 สโตรก เพื่อเป็นการตักเตือน

 

และถึงไทเกอร์จะเกิดและเติบโตที่แคลิฟอร์เนีย แต่กุลธิดาก็สอนให้เขารู้จักวิถีชีวิตในแบบความเป็นไทยอยู่ตลอดเวลา สอนให้เขารู้จักผู้ที่อาวุโสกว่า และเดินทางไปกราบพระในวัดแห่งหนึ่งเป็นประจำทุกปี รวมถึงการบอกใครต่อใครอย่างภาคภูมิใจว่า “ผมคือลูกครึ่งไทย” แม้ว่ามันจะทำให้คนในชุมชนที่อยู่อาศัยใกล้กันไม่ค่อยชอบใจนักก็ตาม

 

เพราะเป็นหญิงสาวจากแดนไกล ในสถานการณ์ของชีวิตเช่นนั้นกุลธิดาจึงต้องแกร่งเกินกว่าที่ใครจะมาข่มเหงรังแกเธอและลูกได้ โดยที่เธอพร้อมจะปกป้องเขาด้วยชีวิตและหัวใจ รวมทั้งสอนในสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เขา

 

ครั้งหนึ่งเธอพาไทเกอร์เข้าคลับกอล์ฟแห่งหนึ่งแล้วถูกหยามเหยียดในเรื่องชาติพันธุ์ เธอหันไปบอกกับลูกว่า “มันเป็นปัญหาของพวกเขา ไม่ใช่ปัญหาของพวกเรา จงภูมิใจในตัวตนของลูก” 

 

และสิ่งนี้ถูกถ่ายทอดให้แก่ลูกชายของเธอทั้งหมด

 

“เราไม่มีวันทำให้ใครพอใจได้ทั้งหมดหรอกลูก ทำในสิ่งที่เหมาะสมกับลูกเถอะ”

 

หรือ “ในเกมกีฬาอย่าใจอ่อน ต้องจัดการคู่ต่อสู้ให้เด็ดขาด”

 

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ช่วยทำให้ไทเกอร์กลายเป็นตำนานแห่งวงการกอล์ฟ เป็นนักกอล์ฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง และเป็นแรงบันดาลใจของยุคสมัย 

 

เสื้อแดงอันเป็นเอกลักษณ์ของเขาก็มาจากกุลธิดาที่บอกให้เขาใส่เสื้อสีแดงในการแข่งวันสุดท้าย เพราะกอล์ฟจะแข่งขันกันวันอาทิตย์เป็นวันสุดท้าย ซึ่งสำหรับคนไทยแล้ว ‘วันอาทิตย์สีแดง’ และไทเกอร์ที่เกิดในราศีกรกฎด้วย สีแดงเป็นสีนำโชคของเขา

 

เธอยังปักที่สวมไม้กอล์ฟให้ไทเกอร์เป็นข้อความภาษาที่เรียบง่ายแต่มาจากหัวใจ

 

“รักจากแม่” 

 

 

แต่ถึงจะรักและเอาใจใส่ขนาดนี้ สำหรับไทเกอร์…กุลธิดาคือแม่เสือที่ไม่ว่าจะโตสักแค่ไหนเขาก็ไม่มีวันกล้าหือ

 

ถ้าแม่บอกว่าใช่ก็ใช่ ถ้าแม่บอกว่าไม่ก็ไม่ ระหว่างเขาและเธอไม่มีความจำเป็นต้องพูดอะไรให้มากมาย

 

แม้กระทั่งในวันที่ไทเกอร์ทำผิดพลาดที่สุดในชีวิต เมื่อเขานอกใจภรรยาในปี 2009 แม้ว่าเธอจะเป็นคนที่ดุด่าลูกชายที่กระทำผิดมากที่สุด แต่ในวันที่เขาแถลงข่าวขอโทษต่อสาธารณชน เธอคือคนที่นั่งอยู่แถวหน้าสุด แม้ว่าจะเจ็บปวดที่สุดที่ลูกละทิ้งคำสอนสั่งที่เคยให้ไว้ 

 

อย่างน้อยในวันที่เจ็บปวดที่สุด เขาก็ไม่ได้เจ็บปวดคนเดียว แม่ยังนั่งอยู่ตรงนี้ไม่ไกล

 

สุดท้ายไทเกอร์ก็หาทางกลับมามีชีวิตที่ดีได้อีกครั้งแม้จะใช้ระยะเวลาหลายปี และไม่เคยจะได้กลับไปสู่จุดสูงสุดของอาชีพอีกเลยก็ตาม

 

แต่ที่ผ่านมาเขาก็ประสบความสำเร็จมากมายแล้ว โดยที่ตลอดช่วงเวลาไม่ว่าจะดีหรือร้าย สุขหรือทุกข์ คนที่อยู่เคียงข้างเขาเสมอก็คือคุณแม่อย่างกุลธิดา คนที่ไม่ว่าการแข่งจะเป็นอย่างไรก็ตาม ไทเกอร์รู้ว่าเมื่อกลับไปบ้านเขายังมีความรักรออยู่เสมอ

 

น่าเสียดายที่ตลอดไปไม่มีอยู่จริง

 

ไทเกอร์ประกาศข่าวร้ายว่ากุลธิดาได้จากเขาและทุกคนไปแล้วในวัย 80 ปี เป็นช่วงเวลาที่เจ็บปวดสำหรับพญาเสือผู้ยิ่งใหญ่

 

ที่ไม่ว่าเขาจะยิ่งใหญ่ขนาดไหนก็ตาม ในสายตาของแม่เสืออย่างกุลธิดา เขาก็คือลูกเสือตัวน้อยๆ ที่เธอรักและเป็นห่วงเสมอ

 

คนที่เธอจะคิดถึงเสมอยามสวดมนต์ก่อนเข้านอนทุกคืน

 

“ถ้าชาติหน้ามีจริง ขอให้ไทเกอร์เกิดมาเป็นลูกของแม่อีกนะ” 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising