เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ภายใต้รัฐบาลใหม่ที่นำโดยนายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ (Shigeru Ishiba) จากพรรค Liberal Democratic Party (LDP) กลุ่มรัฐบาลเสียงข้างน้อยในรัฐสภาที่มีเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการปรับเพิ่มค่าจ้าง กระตุ้นการบริโภค และขยายฐานรายได้ที่ไม่เสียภาษีเพื่อเสริมกำลังซื้อ ซึ่งนโยบายเหล่านี้มีแนวโน้มส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสร้างเงินเฟ้อที่ขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์ (Demand-Pull Inflation) ที่จะเป็นผลบวกในระยะสั้นถึงกลาง
อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นยังเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง เพราะเป็นปัจจัยที่มีโอกาสกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคได้หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น ดังนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจกับการควบคุมเงินเฟ้อ รวมถึงการที่ต้องได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจและสถาบันการเงินเพื่อเสริมความเชื่อมั่นและลดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สถานะเสียงข้างน้อยของรัฐบาลอาจเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการเจรจาต่อรองนโยบายที่ตอบโจทย์สถานการณ์เศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสมและยืดหยุ่นมากขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการหนี้และนโยบายการคลัง เพื่อรักษาเสถียรภาพในระยะยาวอีกด้วย
สำหรับด้านนโยบายการเงินนั้น ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กำลังปรับนโยบายให้เข้าสู่ภาวะปกติ (Normalization) ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของเศรษฐกิจของญี่ปุ่นหลังจากใช้นโยบายผ่อนคลายมากว่าทศวรรษ โดยเริ่มต้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและยกเลิกนโยบายดอกเบี้ยติดลบ ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นในการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ยั่งยืน อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ในตลาดคาดการณ์ไว้ว่า ค่าจ้างพื้นฐานจะยังมีโอกาสเติบโตเฉลี่ยราว 3% ภายในปี 2568 ขณะที่คาดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) จะขยายตัวประมาณ 2% ต้นๆ ซึ่งจะช่วยสร้างวัฏจักรเชิงบวกระหว่างค่าจ้างและเงินเฟ้อ สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว แต่หากเงินเยนกลับไปอ่อนค่าใกล้ระดับ 160 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐอีกครั้ง อาจทำให้ต้นทุนการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นและผลักดันให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้น เป็นโจทย์ที่ BOJ จะต้องพิจารณาเพื่อรักษาสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและเป้าหมายเงินเฟ้อในระยะยาว
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นกำลังปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่
การปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ของญี่ปุ่นด้วยแนวคิดที่ว่าการอ่อนค่าของเงินเยนจะเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นญี่ปุ่นนั้นกำลังถูกท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและกลยุทธ์ของธุรกิจในปัจจุบัน แม้ว่าในอดีตการอ่อนค่าของเงินเยนจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกและหนุนผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน แต่ทว่าตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับการขาดดุลการค้าที่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2565 ที่มีการขาดดุลมากถึง 20 ล้านล้านเยน สะท้อนถึงบทบาทที่ลดลงของภาคส่งออก ซึ่งอยู่ในฐานะตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ หลายบริษัทของญี่ปุ่นปรับตัวด้วยการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศและนำกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงด้านค่าเงินมาใช้ เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินเยนที่มีต่อผลประกอบการของบริษัท ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วง 2-3 เดือนล่าสุด ดัชนีตลาด TOPIX ของญี่ปุ่นแกว่งตัวออกข้างแบบมีเสถียรภาพแม้ว่าค่าเงินเยนจะผันผวนอย่างมากก็ตาม
การลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีศักยภาพการเติบโตที่โดดเด่น โดยได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ การปรับขึ้นค่าแรง และการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในครัวเรือน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายของ BOJ สู่ภาวะปกติ ช่วยเสริมความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศมีแนวโน้มได้รับประโยชน์โดยตรงจากปัจจัยเหล่านี้ ในขณะที่หุ้นกลุ่มส่งออกมีแนวโน้มเติบโตจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่างจีนและสหรัฐฯ รวมถึงความต้องการกลุ่มสินค้าเทคโนโลยี ทำให้ประเมินได้ว่าหุ้นขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนมากขึ้นในระยะยาวที่ขับเคลื่อนด้วยการฟื้นตัวของอุปสงค์โลก แทนการพึ่งพาการอ่อนค่าของเงินเยนเหมือนเช่นในอดีต
การเปลี่ยนแปลงของญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคเงินเฟ้อที่ยั่งยืนมีโอกาสเป็นตัวเร่งสำคัญสำหรับเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ด้วยการกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวของค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้น การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ปรับตัวดีขึ้น ช่วยขับเคลื่อนความคาดหวังต่อการเติบโตของกำไรในระยะยาว บวกกับความเสี่ยงของปัจจัยภายในประเทศที่มีแนวโน้มลดลงจากเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพและสมดุลมากขึ้น คาดว่าจะช่วยหนุนให้นักลงทุนในตลาดประเมินมูลค่าหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว
ภาพ: Alexander Spatari / Getty Images