×

กลยุทธ์จัดพอร์ตฝ่าวิกฤตภัยธรรมชาติผันผวน

06.04.2025
  • LOADING...

เมื่อพื้นดังสนั่น…ตลาดการเงินก็สั่นไหวตาม เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ได้ส่งแรงสั่นสะเทือนทางกายภาพมาถึงเมืองหลวงของประเทศไทยอย่างรุนแรง แม้จะอยู่ห่างจากศูนย์กลางกว่า 1,000 กิโลเมตร ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะ กรณีอาคารสำนักงานหนึ่งที่กำลังก่อสร้างในเขตจตุจักรถล่มลงทั้งหลังและมีผู้ เสียชีวิตจำนวนมาก เหตุการณ์นี้ไม่เพียงสร้างความสูญเสียโดยตรง แต่ยังส่งผลกระทบกว้างต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงถึง 4 แสนคนในเดือนเมษายน ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจจากที่คาดการณ์ถึง 2-3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมสูงก็ได้รับผลกระทบจากความกังวลเรื่องความปลอดภัยของโครงสร้างอาคาร

 

ภัยพิบัติทางธรรมชาติกับผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ

 

ผลกระทบจะเกิดขึ้นใน 3 ระลอกที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละระยะเวลาก็ส่งผลต่อธุรกิจและการลงทุนในรูปแบบที่ต่างกันออกไป

 

ระลอกที่ 1: ผลกระทบทันที (Immediate Impact)

 

จากกรณีแผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ เราเห็นผลกระทบเฉพาะหน้าชัดเจน ทั้งความเสียหายต่ออาคารและระบบสาธารณูปโภค ความแตกตื่นของประชาชน การอพยพจากอาคารสูง และการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงนี้ ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดมักเป็นการท่องเที่ยว การค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์แนวดิ่ง และธุรกิจบริการ ขณะที่หุ้นกลุ่มประกันภัยมักเผชิญแรงขายจากความกังวลเรื่องการจ่ายสินไหมทดแทน จากการศึกษาข้อมูลในอดีต ตลาดหุ้นมักตอบสนองต่อภัยพิบัติธรรมชาติขนาดใหญ่ด้วยความผันผวนในระยะสั้น โดยประเทศกำลังพัฒนามักมีความอ่อนไหวมากกว่า ทั้งนี้ ปฏิกิริยาของตลาดมักเป็นไปตามระดับความไม่แน่นอนและความชัดเจนของข้อมูลความเสียหาย และมักจะเริ่มฟื้นตัวเมื่อความไม่แน่นอนเริ่มคลี่คลาย

 

ระลอกที่ 2: การฟื้นฟูและซ่อมแซม (Reconstruction Phase)

 

หลังจากความเสียหายเริ่มได้รับการประเมินและการฟื้นฟูเริ่มต้นขึ้น เศรษฐกิจจะเข้าสู่ช่วงฟื้นตัว ในกรณีของกรุงเทพฯ การตรวจสอบอาคารสูงกว่า 200 แห่ง และความเป็นไปได้ที่จะมีการทบทวนมาตรฐานความปลอดภัยของอาคารต่อแรงแผ่นดินไหวในอนาคต จะนำไปสู่การลงทุนเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ช่วงนี้กลุ่มธุรกิจที่มักได้ประโยชน์ ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง ผู้รับเหมา และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากการฟื้นฟูและซ่อมแซมมักต้องการวัสดุและแรงงานในปริมาณมาก

 

ระลอกที่ 3: การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง (Structural Changes)

 

ผลกระทบระยะยาวที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและนโยบาย ในกรณีของไทย เราอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการก่อสร้างอาคาร การปรับปรุงระบบการจัดการภัยพิบัติ และการพัฒนาเทคโนโลยีเตือนภัย เช่น ระบบแจ้งเตือนภัย CBS ที่รัฐบาลประกาศจะเร่งพัฒนาให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 3/2568 การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะสร้างโอกาสการลงทุนในธุรกิจด้านความปลอดภัย เทคโนโลยีการก่อสร้างที่ต้านทานภัยพิบัติ และบริษัทที่มีนวัตกรรมในการบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลต่อรูปแบบการอยู่อาศัยในเมือง โดยอาจทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยแนวราบเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป

 

การเกิดแผ่นดินไหวในช่วงเวลานี้มีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากเกิดขึ้นท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจอื่นๆ ในเวลาเดียวกัน สำหรับประเทศไทยอาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2568 เป็นไปอย่างช้าลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากภาคการส่งออกซึ่งเป็นกำลังหลักของเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ดังนั้น การจัดพอร์ตลงทุนท่ามกลางภาวะเช่นนี้จึงควรทำแบบมีกลยุทธ์

 

โดยทั่วไป ในช่วงที่เกิดภัยพิบัติหรือวิกฤตการณ์ต่างๆ พฤติกรรมราคาของสินทรัพย์มักแตกต่างไปจากภาวะปกติ ความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ในช่วงวิกฤตเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการบริหารพอร์ตการลงทุน นักลงทุนที่เข้าใจรูปแบบนี้จะสามารถวางแผนการกระจายความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาจพิจารณาปรับสัดส่วนในสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มจะเคลื่อนไหวแตกต่างกันหรือสวนทางกันในช่วงที่ตลาดผันผวน ช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนต่อพอร์ตโดยรวม

 

3 กลยุทธ์การจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อรับมือกับความผันผวน

 

การจัดพอร์ตการลงทุนในช่วงที่ต้องเผชิญทั้งผลกระทบจากภัยพิบัติและความท้าทายทางเศรษฐกิจอื่นๆ จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้รวดเร็ว สามารถพิจารณาได้ 3 กลยุทธ์ต่อไปนี้ เช่น

 

  1. กลยุทธ์ปรับการกระจายความเสี่ยงให้สอดคล้องกับสภาวะตลาด โดยอาจพิจารณาเพิ่มสัดส่วนในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ตราสารหนี้ระยะสั้น เงินฝากประจำ และทองคำ ในสัดส่วน 30-40% ของพอร์ต  กระจายการลงทุนในตลาดหุ้นข้ามประเทศ โดยมุ่งเน้นตลาดที่มีความเชื่อมโยงกับไทยต่ำ เช่น สหรัฐฯ และยุโรป  และเพิ่มสินทรัพย์ทางเลือกเช่น อสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณภาพ ในสัดส่วน 10-15% เพื่อรับผลตอบแทนที่มีเสถียรภาพ

 

  1. กลยุทธ์การทยอยลงทุนอย่างมีวินัย โดยทยอยลงทุนแบบ Dollar-Cost Averaging (DCA) คือเพิ่มเงินลงทุนในทุกเดือนโดยไม่สนใจราคาตลาด จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเข้าลงทุนผิดจังหวะ นอกจากนี้ ยังควรพิจารณาเทคนิค Value Averaging โดยปรับเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเมื่อราคาสินทรัพย์ปรับตัวลงมากกว่าปกติ และลดเงินลงทุนเมื่อราคาปรับตัวขึ้นแรง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนในช่วงตลาดผันผวน

 

  1. กลยุทธ์ลงทุนผ่านกองทุนรวม สำหรับนักลงทุนที่ต้องการความสะดวกในการบริหารพอร์ตการลงทุน การลงทุนผ่านกองทุนรวมเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ โดยกองทุนที่อาจพิจารณาในช่วงนี้ ได้แก่

 

  • กองทุนที่เน้นปัจจัยคุณภาพ (Quality Funds) เช่น กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Thai Equity Quality Portfolio (SCBQUALITYA) ที่เน้นลงทุนในหุ้นที่มีกำไรที่ต่อเนื่องมั่นคง ซึ่งมักมีความทนทานต่อความผันผวนได้ดี
  • กองทุนที่เน้นความผันผวนต่ำ (Low Volatility Funds) เช่น กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นไทย Low Beta (SCBLOWBETA) ที่เน้นลงทุนในหุ้นที่มีความผันผวนต่ำกว่าตลาด ช่วยลดความเสี่ยงในช่วงที่ตลาดปรับตัวลง
  • กองทุนผสมที่มีการบริหารแบบยืดหยุ่น (Flexible Mixed Funds): กองทุนประเภทนี้มีความยืดหยุ่นในการปรับสัดส่วนระหว่างหุ้นและตราสารหนี้ตามสภาวะตลาด ช่วยให้สามารถปรับตัวได้ดีในช่วงที่ตลาดมีความไม่แน่นอนสูง

 

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ เป็นเพียงหนึ่งในความท้าทายที่นักลงทุนต้องเผชิญในปี 2568 ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มตึงเครียดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์จากวิกฤตในอดีตแสดงให้เห็นว่า ตลาดมักฟื้นตัวและสร้างโอกาสใหม่เสมอ โดยนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จคือผู้ที่สามารถปรับตัว มีวินัย และมองหาโอกาสท่ามกลางความท้าทายได้

 

หมายเหตุ:

  • การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน
  • สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ไทยพาณิชย์ หรือโทร. 0 2777 7777
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising