×

‘ล็อบบี้’ ผลประโยชน์ธุรกิจผิดไหม?

07.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ในยุโรปการล็อบบี้ของกลุ่มธุรกิจ กลุ่มผลประโยชน์ และอุตสาหกรรมต่างๆ ต่อสถาบันและองค์กรสหภาพยุโรป (อียู) เป็นเรื่องธรรมดา เป็นไปอย่างมีแบบแผน โปร่งใส ได้รับการควบคุม เพื่อป้องกันไม่ให้มีการติดสินบนมาเกี่ยวข้อง
  • ทุกๆ บริษัทหรือแม้แต่ประเทศต่างๆ ต้องมีล็อบบี้ยิสต์คอยติดตามความเคลื่อนไหว เพื่อให้ข้อมูลและบอกเหตุผลสนับสนุนต่างๆ กับเจ้าหน้าที่ เพื่อพยายามโน้มน้าวการกำหนดนโยบายและกฎหมายของยุโรป
  • ยุโรปมองว่ากระบวนการล็อบบี้เป็นส่วนหนึ่งของการมีสิทธิมีเสียงของภาคธุรกิจและประชาชน ในกระบวนการกำหนดนโยบายและออกกฎหมายของยุโรปหรือที่เรียกกันว่า Public Consultation
  • เกมการล็อบบี้มีด้านมืด เพราะกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่สามารถจ้างล็อบบี้ยิสต์ที่มีความเชี่ยวชาญสูงหรือใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง รู้ข่าวความเคลื่อนไหววงใน ซึ่งดูเหมือนจะมีโอกาสในกระบวนการโน้มน้าวมากกว่าธุรกิจเล็กๆ อียูจึงพยายามทำให้กระบวนการนี้โปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด

     พูดถึงการล็อบบี้เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ หลายคนมักนึกไปในเชิงลบเสียก่อน เพราะมองว่าคงเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ หรือการติดสินบน ต้องยอมรับว่าในโลกธุรกิจ ไม่ว่าจะยุโรปหรือที่ไหน การล็อบบี้นั้นมีอยู่จริง

     แต่ในยุโรปนั้น การล็อบบี้ของกลุ่มธุรกิจ กลุ่มผลประโยชน์ และอุตสาหกรรมต่างๆ ต่อสถาบันและองค์กรสหภาพยุโรป (EU) เป็นเรื่องธรรมดา เป็นไปอย่างมีแบบแผน โปร่งใส ได้รับการควบคุม เพื่อป้องกันไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางและไม่ให้มีการติดสินบนมาเกี่ยวข้อง

     กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เป็นศูนย์กลางการออกกฎหมาย กฎระเบียบ และการกำหนดนโยบายสำคัญต่างๆ ของอียู ที่ประเทศสมาชิก 28 ประเทศต้องนำไปปรับใช้ ทำให้มีล็อบบี้ยิสต์อยู่หลายหมื่นคนที่มาจากหลากหลายสาขาอุตสาหกรรมและนานาประเทศ

     ทุกๆ บริษัทหรือแม้แต่ประเทศต่างๆ ต้องมีล็อบบี้ยิสต์คอยติดตามความเคลื่อนไหวกันทั้งนั้น และคอยวิ่งเข้าหาอียูเพื่อให้ข้อมูลและบอกเหตุผลสนับสนุนต่างๆ กับเจ้าหน้าที่ เพื่อพยายามโน้มน้าวการกำหนดนโยบายและกฎหมายของยุโรป เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของตน ก่อนที่กฎหมายหรือกฎระเบียบอียูจะปรับใช้แล้วสายเกินแก้ หรือไปสนับสนุนธุรกิจหรืออุตสาหกรรมอื่นๆ

     ยุโรปมองว่าการกระบวนการล็อบบี้แบบที่พูดถึงมานี้ (ไม่ใช่การติดสินบน) เป็นส่วนหนึ่งของการมีสิทธิมีเสียงของภาคธุรกิจและประชาชน ในกระบวนการกำหนดนโยบายและออกกฎหมายของยุโรปหรือที่เรียกกันว่า Public Consultation โดยทำกันอย่างโปร่งใสและมีระบบ เพื่อป้องกันและภาครัฐจะได้รับฟังความคิดเห็น และมองเห็นผลกระทบของกฎหมายและนโยบายนั้นๆ ก่อนที่จะบังคับใช้จริง ในประเทศไทยก็มีกระบวนการนี้ แต่คงต้องพัฒนาอีกสักพักในเรื่องระดับความโปร่งใส เปิดกว้าง และทำให้เป็นแบบระบบสำหรับทุกๆ กฎหมายและทุกภาคส่วน

     มองกลับมาที่อียูซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ ทำงานเสมือนเครื่องจักรใหญ่ที่มีความซับซ้อน แต่ก็มีกระบวนการกำหนดนโยบายและการออกกฎระเบียบที่เปิดกว้าง และรับความคิดเห็นจากภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อนำมากำหนดทิศทางกฎหมายและนโยบายต่างๆ ได้อย่างโปร่งใสและเป็นระบบ น่ามองเป็นตัวอย่าง

     ในช่วงของการร่างกฎหมาย คณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งเป็นสถาบันที่มีหน้าที่ร่างกฎหมายเพื่อส่งไปให้สภายุโรปและคณะมนตรียุโรปพิจารณาอนุมัติ จะเปิดกระบวนการปรึกษาหารือและรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน ทั้งจากภายในอียูเองและจากประเทศที่สาม ช่องทางนี้เองที่กลุ่มล็อบบี้ยิสต์ใช้เป็นโอกาสในการโน้มน้าวทิศทางกฎหมายและนโยบายของอียู

     เครื่องมือสำคัญในการล็อบบี้คือข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ เป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงที่ได้รับการสนับสนุนด้วยสถิติหรือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เพราะกฎหมายและกฎระเบียบอียูเป็นเรื่องเทคนิคเสียมาก ดังนั้นกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ จึงต้องจ้างล็อบบี้ยิสต์เพื่อเตรียมข้อมูล พร้อมสร้างพันธมิตรกับกลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มประเทศอื่นๆ เพราะจะมีน้ำหนักมากขึ้นในการหารือกับอียู

     แต่แน่นอน เกมการล็อบบี้ลักษณะนี้ก็มีด้านมืด กลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่สามารถจ้างล็อบบี้ยิสต์ หรือมีผู้แทนที่มีความเชี่ยวชาญสูง หรือใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง รู้ข่าวความเคลื่อนไหววงใน ก็ดูเหมือนจะมีโอกาสในกระบวนการโน้มน้าวมากกว่าธุรกิจเล็กๆ อียูจึงพยายามทำให้กระบวนการนี้โปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด

     สำหรับประเทศไทยเมื่อคิดจะล็อบบี้อียู แน่นอนภาครัฐมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศในอียู มีหน้าที่หลักในการสร้างกรอบและบรรยากาศทางการค้าที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ อาทิ การเจรจาทางการค้า การเจรจาเพื่อปกป้องสิทธิพิเศษต่างๆ ของไทย แต่พอให้ลงลึกถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจและอุตสาหกรรมรายสาขา ภาคธุรกิจไทยต้องมีบทบาทนำ

     เสียดายที่ยังไม่เห็นสมาคมการค้าของไทยมีผู้แทนไปอยู่ในยุโรป โดยเฉพาะที่กรุงบรัสเซลส์ เหมือนประเทศอื่นๆ ที่มีผู้แทนของกลุ่มธุรกิจคอยเป็นหูเป็นตาและทำงานควบคู่ไปกับภาครัฐเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น, บราซิล, จีน, อินเดีย เพื่อนบ้านของเราในอาเซียนก็เริ่มเดินหน้าการล็อบบี้อียูมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

     ท่ามกลางกระแสการแข่งขันในเวทีการค้าโลก แม้การเจรจาการค้ากับอียูยังไม่คืบหน้า (เพราะเหตุผลทางการเมือง) แต่ธุรกิจไทยต้องเร่งดำเนินธุรกิจแบบโปรแอ็กทีฟ อย่ารอให้กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ปรับออกมาใช้ แล้วส่งผลกระทบต่อธุรกิจตนแล้วสายเกินแก้ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมการล็อบบี้อียูเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของธุรกิจไทยจึงมิใช่เรื่องเสียหาย แต่เป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำ อย่าให้ไทยตกขบวนในเวทีการค้าโลกกับยุโรป

 

ภาพประกอบ: narissara k.

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising