×

ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ระหว่าง ‘ความเชื่อ’ กับ ‘ความจริง’ กรณี อิมาน เคลิฟ

02.08.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • ต้นตอของเรื่องเกิดจากกรณีที่เคลิฟเคยถูกตัดสิทธิ์จากการลงแข่งในรายการมวยชิงแชมป์โลกที่เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อเดือนมีนาคมปีกลาย
  • เคลิฟเริ่มชกมวยสมัครเล่นมาตั้งแต่อายุ 19 ปี และเคยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมาแล้วด้วยใน ‘โอลิมปิกที่โตเกียว’ เมื่อปี 2021 แต่พ่ายแพ้ให้แก่ เคลลี แฮร์ริงตัน ตกรอบ 8 คนสุดท้าย
  • สิ่งที่กำลังเป็นที่สงสัยตอนนี้คือ เคลิฟอาจเป็นผู้หญิงที่มีภาวะที่เรียกว่า Differences of Sex Development (DSD) ซึ่งหาได้ยาก คนที่เป็นนั้นเกิดมาเป็นผู้หญิง แต่จะมีโครโมโซม XY ของผู้ชายในตัว รวมถึงมีปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในร่างกายที่ทำให้มีลักษณะเหมือนผู้ชายด้วย
  • คำถามคือ การตรวจสอบของ IOC นั้นให้ความยุติธรรมและความชัดเจนที่มากพอต่อคู่แข่งขันของเคลิฟหรือหลินอวี่ถิงหรือไม่

อิมาน เคลิฟ เป็นนักมวยหญิง ไม่ใช่นักมวยข้ามเพศ

 

นี่คือสิ่งแรกและสำคัญที่สุดที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลชี้แจงและตอบโต้ รวมถึงอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจกันในกรณีประเด็นปัญหาการแข่งขันมวยหญิง โอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงร้อนแรงไปทุกที่ เมื่อเคลิฟ นักมวยทีมชาติแอลจีเรีย ได้รับชัยชนะเหนือ แองเจลา คารินี นักชกสาวอิตาลี ที่ขอถอนตัวจากการแข่งขัน หลังขึ้นชกในยกแรกได้เพียงแค่ 46 วินาที

 

ปมนั้นเกิดจากกระแสข่าวก่อนหน้าการขึ้นชกของทั้งสองคน เมื่อมีการตั้งคำถามถึงคณะกรรมการโอลิมปิกสากลว่า ปล่อยให้นักกีฬาที่เคยมีกรณีปัญหาถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขันชกมวยชิงแชมป์โลกด้วยเหตุผลที่ระบุว่า ‘ลักษณะเพศทางชีวภาพ’ ของเคลิฟเป็น ‘ชาย’ เข้าแข่งขันในการชกมวยหญิงได้อย่างไร 

 

เรื่องนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรกันแน่?

 

กระแสข่าวที่ร้อนแรงที่สุดในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ‘ปารีส 2024’ ตอนนี้คือ เรื่องอื้อฉาวในการแข่งขันมวยหญิง รุ่นเวลเตอร์เวต ระหว่าง แองเจลา คารินี จากอิตาลี กับ อิมาน เคลิฟ จากแอลจีเรีย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา

 

โดยการชกจบลงอย่างรวดเร็วแค่ 46 วินาที เมื่อนักมวยสาวชาวอิตาลีขอถอนตัวจากการแข่งขัน ไม่ยอมกลับมาชกต่อ ทำให้เคลิฟได้รับชัยชนะไปอย่างง่ายดาย

 

หลังเห็นคู่แข่งได้รับการชูมือ คารินีซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ว่าตั้งใจฝึกซ้อมแทบตาย เพราะหวังจะคว้าเหรียญโอลิมปิกมาให้กับพ่อที่จากไปได้ภูมิใจ ก็คุกเข่าก่อนหลั่งน้ำตากลางเวที ที่นำไปสู่ประเด็นใหญ่ของโลกกีฬาทันที

 

เพราะชัยชนะของเคลิฟแบบนี้ตอกย้ำเรื่องประเด็นคำถามที่มีต่อตัวของเธอ – ที่หลายคนเชื่อว่าน่าจะเป็น ‘เขา’ มากกว่า

 

กับกระแสข่าวที่ว่า แท้จริงแล้วเธอเป็นนักมวยที่มีลักษณะเพศทางกายภาพเป็นชาย ซึ่งไม่ควรได้รับอนุญาตให้ขึ้นชกกับนักมวยหญิง เพราะนอกจากจะไม่ยุติธรรมแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายอย่างมากต่อคู่แข่งขันได้

 

 

หรือเธอไม่ใช่ผู้หญิง?

 

ต้นตอของเรื่องเกิดจากกรณีที่เคลิฟเคยถูกตัดสิทธิ์จากการลงแข่งในรายการมวยชิงแชมป์โลกที่เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อเดือนมีนาคมปีกลาย

 

การตัดสิทธิ์นั้นเกิดขึ้นก่อนที่เธอจะขึ้นชกเพื่อชิงเหรียญทองของการแข่งขัน โดย IBA องค์กรที่จัดการแข่งขัน ประกาศว่า เคลิฟถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขันเนื่องจาก ‘ขาดคุณสมบัติที่จะแข่งขัน’ ก่อนที่จะมีการเปิดเผยในเวลาต่อมาว่าการขาดคุณสมบัติของเธอนั้นเป็นปัญหาใหญ่เกี่ยวกับเรื่องเพศ ซึ่งเธอไม่ได้โดนคนเดียว แต่มี หลินอวี่ถิง นักมวยหญิงทีมชาติไต้หวัน ที่ถูกตัดสิทธิ์กรณีเดียวกันด้วย

 

ทางด้านคณะกรรมการโอลิมปิกแอลจีเรียชี้แจงกรณีของเคลิฟในครั้งนั้นว่า มาจากการมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน หรือฮอร์โมนเพศชาย สูงเกินไป ​ซึ่งเป็นผลมาจากเรื่องของการใช้ยา 

 

“มีคนที่ไม่อยากให้แอลจีเรียได้เหรียญทอง นี่เป็นการสมคบคิดครั้งใหญ่ และพวกเราจะไม่ปิดปากเงียบในเรื่องนี้” เคลิฟให้สัมภาษณ์กับสื่อในบ้านเกิดที่แอลจีเรียในเวลานั้น

 

แต่ อูมาร์ เครมเลฟ ประธานของ IBA ซึ่งเป็นองค์กรของรัสเซีย ก็ออกแถลงการณ์ผ่านสำนักข่าว TASS ว่า เหตุผลที่ทำให้เคลิฟและหลินอวี่ถิงถูกตัดสิทธิ์มาจากการตรวจสอบดีเอ็นเอแล้วพบโครโมโซม XY ซึ่งเป็นโครโมโซมชายในร่างกาย หรือในทางเทคนิคแล้วคือ ‘มีลักษณะเพศทางกายภาพ’ เป็นชาย (Biological Male) 

 

ผู้ชายไม่สามารถขึ้นชกมวยกับผู้หญิงได้ เพราะมีข้อได้เปรียบมากทางกายภาพ และนั่นคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ IBA ตัดสิทธิ์ทั้งสองจากการแข่งขัน 

 

กรณีของเคลิฟ IBA ยังเปิดเผยว่า การตรวจสอบนั้นมีขึ้นถึงสองครั้งในปี 2022 และ 2023 โดยที่นักกีฬาพยายามต่อสู้ด้วยการยื่นอุทธรณ์ต่ออนุญาโตตุลาการกีฬา (IOC) แต่ตัดสินใจที่จะยุติการอุทธรณ์ในเวลาต่อมา ซึ่งทำให้การตัดสินของ IBA มีผลผูกพันต่อกรณีนี้

 

นั่นคือที่มาของคำครหาที่รุนแรง และทำให้เคลิฟถูกโจมตีอย่างหนักในชัยชนะเหนือคารินี

 

 

แต่ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง

 

แล้วถ้าบอกว่า อิมาน เคลิฟ เป็นผู้หญิงจริงๆ จะเชื่อไหม?

 

ตามประวัติที่มีการเปิดเผยบนเว็บไซต์ของ UNICEF ซึ่งเธอเป็นหนึ่งในทูตขององค์กร ปัจจุบัน อิมาน เคลิฟ อายุ 25 ปี เป็นนักกีฬาหญิงจากเมืองเทียเรตในประเทศแอลจีเรีย ซึ่งเติบโตมาในครอบครัวที่เคร่งครัดและไม่ได้รับอนุญาตจากพ่อให้ชกมวยได้

 

ด้วยความรักที่มีต่อการชกมวย ทำให้เธอพยายามที่จะหาทางไปเรียนให้ได้ ถึงขั้นเก็บเศษเหล็กไปขายเพื่อหาทุนสำหรับการเข้าค่ายมวย ก่อนที่จะไต่เต้าขึ้นมากลายเป็นนักมวยระดับทีมชาติของแอลจีเรียได้สำเร็จ

 

เคลิฟเริ่มชกมวยสมัครเล่นมาตั้งแต่อายุ 19 ปี และได้อันดับที่ 17 ในการแข่งขันชกมวยสมัครเล่นชิงแชมป์โลกปี 2018 ซึ่งจัดโดย IBA (หรือ AIBA เดิมในขณะนั้น) ก่อนที่จะได้อันดับที่ 19 ในการแข่งขันปี 2019 

 

เธอเคยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมาแล้วด้วยในโอลิมปิกที่โตเกียวเมื่อปี 2021 แต่พ่ายแพ้ให้แก่ เคลลี แฮร์ริงตัน ตกรอบ 8 คนสุดท้าย

 

ในปี 2022 เธอเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศมวยชิงแชมป์โลก แต่พ่ายให้กับ เอมี บรอดเฮิร์สต์ ก่อนจะไปคว้าเหรียญทองได้ในการแข่งมวยชิงแชมป์แอฟริกันและเมดิเตอร์เรเนียนเกมส์ รวมถึงในปี 2023 ได้เหรียญทองในการแข่งขันอาหรับเกมส์

 

เรียกว่าเธอเองก็มีประวัติเส้นทางการชกที่ชัดเจน ซึ่งทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า นักมวยที่ลงแข่งขันในโอลิมปิกทุกคน ‘ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ’ สามารถลงแข่งขันได้ ไม่มีอะไรที่ผิดแม้แต่น้อย

 

เคลิฟผ่านการคัดเลือกมาแข่งขันจากผลงานการชกมวย ชนะ 9 แพ้ 5 (ขณะที่หลินชนะ 19 แพ้ 5 เป็นแชมป์โลก 3 สมัย แชมป์เอเชีย 2 สมัย)

 

“พวกเธอทั้งคู่มีเส้นทางการชกมวยที่ยาวนาน และผ่านคุณสมบัติทั้งอายุและเพศ เราปฏิบัติตามกฎที่เคยมีในการแข่งขันที่โตเกียว และเป็นกฎที่สหพันธ์ตั้งไว้และใช้มาตั้งแต่โอลิมปิกเกมส์ 2016 ด้วย ซึ่งทั้งสองลงแข่งในฐานะผู้หญิง และเราสนับสนุนพวกเธออย่างเต็มที่” มาร์ก อดัมส์ โฆษก IOC ตอบคำถามผู้สื่อข่าว

 

IOC ยังยืนยันว่าตามหนังสือเดินทางของเคลิฟระบุเพศชัดเจนว่าเป็นหญิง

 

อีกทั้งในประเทศแอลจีเรีย การผ่าตัดแปลงเพศหรือการเปลี่ยนเพศบนเอกสารทางราชการเป็นเรื่องผิดกฎหมายอีกด้วย

 

สิ่งเหล่านี้คือหลักฐานที่ยืนยันว่าเคลิฟเป็นผู้หญิงจริง ไม่ใช่ทรานส์อย่างที่ถูกเข้าใจผิด

 

 

ภาวะ DSD สาเหตุของปัญหาที่แท้จริง?

 

คำถามกลับมาที่ผลการตรวจสอบของ IBA ที่ระบุว่าเคลิฟมีโครโมโซม XY 

 

เรื่องนี้เป็นไปได้ไหมที่ผู้หญิงจะมีโครโมโซมของผู้ชาย? คำตอบคือเป็นไปได้

 

สิ่งที่กำลังเป็นที่สงสัยตอนนี้คือ เคลิฟอาจเป็นผู้หญิงที่มีภาวะที่เรียกว่า Differences of Sex Development (DSD) ซึ่งหาได้ยาก คนที่เป็นนั้นเกิดมาเป็นผู้หญิง แต่จะมีโครโมโซม XY ของผู้ชายในตัว รวมถึงมีปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในร่างกายที่ทำให้มีลักษณะเหมือนผู้ชายด้วย

 

นั่นหมายถึงการที่เคลิฟอาจมีร่างกายที่แข็งแกร่งกว่าผู้หญิงปกติ มีมวลกล้ามเนื้อที่สูงกว่า ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อดีกว่า และมีข้อได้เปรียบในเรื่องของโครงกระดูก หรือพูดง่ายๆ ก็คือมีร่างกายเหมือนผู้ชาย จึงแข็งแรงกว่าโดยธรรมชาติ

 

ถ้าแบบนั้นทำไมถึงอนุญาตให้แข่งขันได้ จะไม่เป็นการเอาเปรียบคู่แข่งอย่างนั้นหรือ?

 

คำตอบคือ ในกฎของ IOC มีการระบุเอาไว้ว่า สำหรับนักกีฬาที่มีภาวะ DSD ได้รับอนุญาตให้ร่วมแข่งขันได้ หากมีการตรวจสอบแล้วว่าจะเป็นการยุติธรรมและปลอดภัยต่อนักกีฬาคนอื่น

 

เพียงแต่จุดนี้ยังไม่มีความกระจ่างว่าถ้าเป็น DSD หรือมีฮอร์โมนชายสูง จะอนุญาตให้สูงได้เท่าไรจึงจะอยู่ในเกณฑ์ที่ลงแข่งขันได้

 

กรณีศึกษาจากในวงการอื่น เคยมีกรณีปัญหาของ แคสเตอร์ เซเมนยา นักวิ่งทีมชาติเคนยา ที่เคยถูกห้ามไม่ให้แข่งขันวิ่งระยะตั้งแต่ 400 เมตร – 1 ไมล์ มาตั้งแต่ปี 2018 จนกว่าจะควบคุมปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนได้ต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งหมายถึงการที่เธอต้องใช้ยาตามการสั่งของแพทย์เพื่อควบคุม

 

เรื่องนี้เซเมนยากำลังต่อสู้คดี ยื่นฟ้องร้องต่อองค์การกรีฑาโลก (World Athletics) ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (ECHR) 

 

 

ความยุติธรรมของทุกฝ่าย

 

กรณีของเคลิฟกับการถูกกล่าวหาว่าเป็นนักมวยทรานส์ เอาเปรียบนักมวยหญิง ในมุมของ IOC ถือว่าเป็นอันยุติ เพราะยืนยันการตรวจสอบแล้วว่าเธอเป็นผู้หญิงจริง ไม่ใช่ปลอมตัวมา

 

แต่สิ่งที่น่าคิดคือ การตรวจสอบของ IOC นั้นให้ความยุติธรรมและความชัดเจนที่มากพอต่อคู่แข่งขันของเคลิฟหรือหลินอวี่ถิงหรือไม่

 

การที่คารินี คู่ชกบอกว่ายอมแพ้ “เพราะไม่เคยเจอหมัดหนักแบบนี้มาก่อน”​ และเหตุผลสำคัญคือเพื่อปกป้องชีวิตของตัวเอง นั้นเป็นผลมาจากกระแสข่าวลือที่อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจและความพร้อมของนักกีฬาคู่แข่งหรือเปล่า

 

อย่าลืมว่าสำหรับนักกีฬา กำลังใจสำคัญไม่ได้น้อยกว่ากำลังกาย

 

นี่คือสิ่งที่ IOC จะต้องพยายามทำเรื่องนี้ให้กระจ่างที่สุด เรื่องจะได้จบจริงๆ และหลังจากนี้ต้องขีดเส้นให้ชัดเจนด้วย แม้จะเป็นเรื่องยากและอ่อนไหวแค่ไหนก็ตาม 

 

เพราะในอีกมุมหนึ่ง คนที่เจ็บปวดกับเรื่องนี้ไม่น้อยกว่าคารินีก็คือเคลิฟที่กลายเป็น ‘เหยื่อ’ ในเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน

 

เคลิฟตัดพ้อผ่านโซเชียลมีเดียส่วนตัวว่าเธอ “ถูกเกลียดชังอย่างไม่ยุติธรรม” และ “การได้มาโอลิมปิกของเธอเป็นเพราะพรสวรรค์และความทุ่มเทของเธอ” 

 

การถูกเพื่อนนักกีฬาปฏิเสธการจับมือ ไม่ยอมให้แม้แต่จะแตะตัว โดยที่ถ้าสุดท้ายแล้วเธอไม่ได้ทำอะไรผิดเลย นั่นก็นับว่าน่าเสียใจแล้ว ซ้ำร้ายลงจากเวทีมายังโดนตั้งคำถามและเกิดความเข้าใจผิดมากมายจากคนทั้งโลก

 

ถ้าเป็นเธอบ้างจะรู้สึกอย่างไร?

 

อ้างอิง:

 


 

ติดตามการแข่งขัน โอลิมปิก ปารีส 2024 – Paris 2024 Olympic Games ได้ที่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X