×

ส่งสัญญาณดีเดือนเมษายน

07.04.2023
  • LOADING...

สำหรับเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีเหตุการณ์มากมาย เนื้อในใจความคงมีเรื่องหลักๆ อยู่ 3 เรื่อง เรื่องแรกเป็นประเด็นของสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ถ้าเล่าเรื่องยาวก็คือกรรมเก่า แต่ถ้าเรื่องสั้นก็เป็นเรื่องสภาพคล่อง เรื่องที่สองก็คงเป็นเรื่องของแนวรบหลักของผู้ดูแลเศรษฐกิจในแต่ละประเทศกำลังเผชิญกันอยู่ คือ ภาวะเงินเฟ้อและความกังวลที่มีต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่พยายามจะให้เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป (Soft Landing) เรื่องที่สามอันนี้ก็เป็นเรื่องในประเทศของเรา ซึ่งก็ไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งมาดูกันว่าอะไรมาดึงหรือมาฉุดเศรษฐกิจกันแน่ เกริ่นมาหลายบรรทัดแล้ว ก็ตามมาดูเนื้อหากันเลยครับ

 

เรามาเริ่มเรื่องปัญหาระบบสถาบันการเงินโลกกันเลย โดยเริ่มที่ธนาคาร SVB ที่เกิดปัญหาสภาพคล่องจากปัญหาคนแห่ถอนเงิน (Bank Run) ตามมาด้วยการสั่งปิดธนาคาร แถมมีการสั่งปิดเพิ่มอีกธนาคารคือ Signature Bank จากปัญหาที่คนกังวลเรื่องผลขาดทุนของธนาคารนำเงินฝากไปลงทุนในตราสารหนี้ และมีผลขาดทุน (Realized Loss) จากการที่ถูกบังคับให้ขายตราสารในราคาขาดทุน เพื่อนำเงินมาคืนผู้ฝากเงินจากภาวะดอกเบี้ยตลาดที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก จนสุดท้ายรัฐบาล ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และสถาบันประกันเงินฝากของสหรัฐฯ ได้เข้าไปอุ้มผู้ฝากเงิน และอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดเพื่อพยุงความเชื่อมั่นของตลาด และป้องกันไม่ให้ปัญหาลามไปยังธนาคารอื่นๆ ตามมาด้วยธนาคาร Credit Suisse (CS) ที่มีปัญหาแต่เดิมอยู่แล้ว จนท้ายสุดทางการสวิตเซอร์แลนด์ได้สั่งให้ควบรวมกับธนาคาร UBS จากที่ธนาคารกลางได้เข้ามาแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ทำให้ตลาดค่อยๆ คลายความกังวล 

 

จะพบว่าในช่วงหลังธนาคารกลางส่วนใหญ่จะพยายามเข้าอุ้มสถาบันการเงินที่มีปัญหาอย่างรวดเร็วและไม่ปล่อยให้ปิดตัวลงพร้อมกับหนี้สินมากมาย เพราะจากบทเรียนที่ผ่านมา การปล่อยให้ล้มไปตามธรรมชาติกลับก่อให้เกิดปัญหามากมายที่ต้องแก้ไขทั้งในด้านการเงินและรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นต้นทุนมหาศาล ทำให้เลือกที่จะเข้าจัดการเองทันทีและรวดเร็ว 

 

ส่วนที่ผมพูดถึงกรรมเก่าที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงคือ ธนาคารเหล่านี้ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นพวกธุรกิจเกิดใหม่ Start-up และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin ซึ่งประสบปัญหาอย่างรุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จุดร่วมเหล่านี้ก็เริ่มมาปะทุเอาช่วงที่ต้นทุนการเงินปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้แผนธุรกิจเดิมเริ่มมีปัญหา และนำมาซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ 

 

หันมาดูอีกด้านหนึ่งของประเทศที่เป็นศูนย์กลางปัญหาเศรษฐกิจของโลก ณ ตอนนี้คือ สหรัฐฯ หลังจากจัดการกับปัญหาธนาคารได้ ก็หันมาจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจแบบกัดฟันสู้ โดย Fed ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% เป็น 4.75-5% แต่ก็ส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว ท่ามกลางความกังวลจากปัญหาสถาบันการเงิน ทำให้คาดกันว่าจะเกิดภาวะการชะลอปล่อยสินเชื่อ (Credit Tightening) จากเงินฝากลดลง และธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยกู้ ส่งผทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ต่างก็คาดการณ์ไปในทางเดียวกันว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็น่าจะใกล้ถึงจุดสิ้นสุด และอาจจะมีนัยไปถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าได้ ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้น

 

มาถึงประเทศไทย ก็ต้องพูดแบบตรงไปตรงมาว่าการท่องเที่ยวเป็นพระเอกตัวจริง ระดับราคาค่าห้องพักโรงแรมปรับตัวสูงขึ้นไปกว่าช่วงก่อนโควิดแล้ว ไม่นับรวมค่าจ้างของบุคลากรและค่าขนส่งโลจิสติกส์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวก็ปรับขึ้นแซงจุดสูงสุดในอดีตไปหมดแล้ว รวมๆ ก็น่าจะพอสู้ได้ 

 

สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นช่วงกลางเดือนพฤษภาคมก็น่าจะเป็นสีสันที่ดีต่อบรรยากาศการลงทุนในไทย ถือว่าเป็นตัวกระตุ้นในช่วงสั้นๆ ห้ามหวังยาวนะครับ 

 

ส่วน กนง. ก็ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้อีก 0.25% ขึ้นมาเป็น 1.75% ซึ่งมองว่าอาจจะเป็นระดับสูงสุดของปีนี้ อย่างไรก็ตามยังมีการระบุถึงความกังวลที่มีต่อแรงกดดันเงินเฟ้อ โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐาน พร้อมมีการปรับเพิ่มคาดการณ์การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ และสมมติฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งหมดนี้ทำให้บรรยากาศการลงทุนในเดือนเมษายนน่าจะอยู่ในเกณฑ์ดี

 

สิ่งที่ต้องจับตาและนักลงทุนให้ความสำคัญ คือ ความกังวลเรื่องสภาพคล่องของธนาคารอื่นๆ เพิ่มเติม หลังจากที่ Silvergate Bank, Signature Bank, SVB และ CS โดยตลาดน่าจะคลายกังวลหลังทางการออกมาให้ความเชื่อมั่น เสริมสภาพคล่อง และรับประกันเงินฝากของธนาคาร ตามมาด้วยตัวเลข Manufacturing PMI (ดัชนีที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้สภาวะทางเศรษฐกิจของภาคการผลิต) ที่เริ่มขยับตัวขึ้นเล็กน้อยโดยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีน อินเดีย ไทย เวียดนาม ที่อยู่เกิน 50 ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่น ยังอยู่ต่ำกว่า 50 ส่วนตัวเลข Service PMI (ดัชนีที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้สภาวะทางเศรษฐกิจของภาคบริการ) ได้ปรับตัวขึ้นเกิน 50 ทั้งกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

 

สำหรับมุมมองการลงทุนในเดือนเมษายน เรื่องของการแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั้งสหรัฐฯ ยุโรป อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ถึงแม้ว่าภาพในประเทศไทยจะดูดี แต่ก็ประมาทไม่ได้ โดยพอร์ตคงน้ำหนักการลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้น 20% และตราสารหนี้เอกชนระยะกลางเน้นที่มีระดับความเสี่ยงที่สามารถลงทุนได้ Investment Grade ประมาณ 15% อีก 15% แบ่งเป็นทองคำ น้ำมัน และ REITs อย่างละเท่ากัน สำหรับที่เหลืออีก 50% ลงในหุ้น แบ่งเป็นหุ้นไทย 20% และอีก 30% แบ่งเป็นสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ประเทศละ 10% เท่าๆ กัน

 


บทความที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising