ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ดูเหมือนบรรยากาศของการเชียร์ฟุตบอลทีมชาติไทยในเวลานี้จะแปลกและแตกต่างจากที่ผ่านมาอยู่ไม่น้อย
ความสนุก ความคึกคัก ความตื่นเต้นที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ได้คลายตัวลงอย่างสัมผัสได้
กรณีเหล่านี้เข้าใจครับว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราเองไม่มีลุ้นในการไปฟุตบอลโลก ปี 2018 ที่ประเทศรัสเซียแล้ว
แต่อีกส่วนเป็นเพราะทีม ‘ช้างศึก’ ที่เพิ่งผ่านศึกภายในกันมาได้ไม่กี่เดือน มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญด้วยการแต่งตั้งโค้ชต่างชาติที่มี ‘ดีกรี’ และ ‘ประสบการณ์’ ในการพาทีมผ่านเข้ารอบฟุตบอลโลกมาแล้วอย่าง มิโลวาน ราเยวัช เข้ามาแทนที่เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ที่อำลาตำแหน่งไปด้วยเหตุผลหลายหลากประการ
อย่างไรก็ดีนายใหญ่ชาวเซิร์บเพิ่งจะทำหน้าที่ในฐานะโค้ชทีมชาติไทยได้เพียงแค่เกมเดียวเท่านั้นในเกมที่บุกไปพ่ายต่ออุซเบกิสถานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นเกมที่มองได้หลากหลายมุม
แต่เกมดังกล่าวเป็นแค่การอุ่นเครื่องเท่านั้น โดยที่เกมอย่างเป็นทางการจริงๆ คือเกมฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชียกับทีมชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในค่ำวันอังคารที่ 13 มิ.ย. นี้ ที่ราชมังคลากีฬาสถาน
เกมที่อาจจะถือเป็นการ ‘นับหนึ่ง’ แบบจริงจังของทีมชาติไทยในยุคใหม่ และมีหลายประเด็นที่น่าสนใจที่เราต้องจับตามองไปพร้อมกัน ในเกมที่ถือเป็นบททดสอบสำคัญของทั้งโค้ช นักฟุตบอล
หรือแม้กระทั่งแฟนบอลเองก็ตาม
1. เกมอย่างเป็นทางการนัดแรก และเส้นตายที่เรียกว่าชัยชนะ
อย่างที่บอกครับว่าเกมกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คือเกมแข่งขันอย่างเป็นทางการ (competitive match) นัดแรกของราเยวัช
ความเข้มข้น จริงจัง และความคาดหวังย่อมแตกต่างจากเกมอุ่นเครื่องกับอุซเบกิสถานแน่นอน
ถึงไทยจะไม่มีลุ้นในการเข้ารอบแล้ว แต่ใน 3 นัดที่เหลืออยู่ของรอบคัดเลือกในเกมกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (เหย้า, 12 มิ.ย.) อิรัก (เหย้า, 31 ส.ค.) และออสเตรเลีย (เยือน, 5 ก.ย.) ทุกคนอยากเห็น ‘ช้างศึก’ เก็บชัยชนะนัดแรกให้ได้
ไม่ใช่แค่เพื่อศักดิ์ศรี หรือเพื่อขวัญและกำลังใจที่หายไปในช่วงก่อนหน้านี้จะได้กลับมา
แต่มันคือหลักหมุดหมายสำคัญที่จะบอกว่าทีมชาติไทยดีพอที่จะเอาชนะทีมในระดับท็อปของเอเชียได้เช่นกัน
นั่นคือภารกิจที่หนักหนาและกดดันไม่น้อยสำหรับ ‘คนมาใหม่’ อย่างกุนซือชาวเซิร์บ เพราะหากทำไม่ได้ เครื่องหมายคำถามตัวโตคูณด้วยตัวแปรของกระแสที่ติดลบอยู่ในเวลานี้จะยิ่งรุนแรงขึ้น และทำให้การทำงานในอนาคตยากขึ้นอีกหลายเท่า
โอกาสสำคัญจริงๆ อยู่ที่ 2 เกมในบ้านในการพบกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิรัก ซึ่งราเยวัชรู้ดี พร้อมประกาศว่า
ถ้าชนะในการแข่งขันได้จะเป็นเรื่องที่ดีมาก
หรือถ้าไม่ชนะเกม อย่างน้อยที่สุดก็ควรเล่นให้ ‘ชนะใจ’ แฟนบอล ที่ไม่ว่าจะดูอยู่บนอัฒจันทร์หรือติดตามผ่านหน้าจอทีวีก็ตาม
แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยโดยเฉพาะในเกมนี้ซึ่งไทยเองไม่มีกำลังสำคัญหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ชนาธิป สรงกระสินธ์, ธีราทร บุญมาทัน, สุริยา สิงห์มุ้ย รวมถึงธีรศิลป์ แดงดา ที่ไม่สมบูรณ์พร้อมจะช่วยทีม
ขณะที่ ‘ยูเออี’ ก็นำมาโดยตัวแสบอย่างนักเตะยอดเยี่ยมชาวเอเชียอย่าง โอมาร์ อับดุลราห์มาน ที่เคยแผลงฤทธิ์กับไทยมาแล้วในนัดแรกที่พบกัน
2. จาก ‘กัปตันตี๋’ สู่ ‘กัปตันตอง’ …แล้ว ‘กัปตันอุ้ม’?
กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ ผู้รักษาประตูมือหนึ่งทีมชาติไทยและกัปตันทีมระหว่างการฝึกซ้อมที่สนาม สนามเกียรติธานีฟุตบอล แคมป์
หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่สำคัญของทีมชาติไทยก่อนเกมกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คือการแต่งตั้ง ตอง-กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ เป็นกัปตันทีม และเป็นกัปตันทีมคนที่ 2 ในยุคของเขาที่เป็นผู้รักษาประตูต่อจาก ตี๋-สินทวีชัย หทัยรัตนกุล ที่ทำหน้าที่ในเกมอุ่นเครื่องกับอุซเบกิสถาน
โดยในนัดที่แล้วสินทวีชัยได้รับเลือก เพราะเป็นผู้เล่นที่มีประสบการณ์สูงที่สุดในทีม
ส่วนกวินทร์เปิดเผยว่าโค้ชเลือกตน เพราะต้องการให้ผู้รักษาประตูเป็นกัปตันทีม เนื่องจากเป็นคนที่มองเห็นเกมทั้งหมด ต้องสั่งเกม และควบคุมทุกอย่าง บวกกับบุคลิกส่วนตัวที่ใจถึงพึ่งพาได้ น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ราเยวัชเลือกเป็นกัปตันทีมในเกมนี้
สิ่งที่น่าสนใจคือการที่ราเยวัชเลือก ‘ตอง’ เป็นกัปตันทีม จะเป็นการแต่งตั้งเฉพาะกิจสำหรับเกมนัดนี้ หรือมีโอกาสจะแต่งตั้งถาวรแทนที่ กัปตันอุ้ม-ธีราทร บุญมาทัน ไปเลยหรือไม่?
เรื่องนี้สำคัญและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
3. เกมรับคือรากฐานของความสำเร็จ?
ทีมชาติไทย 11 ตัวจริงแรกภายใต้การคุมทีมของราเยวัชในวันที่คุมทีม ลงสนามอุ่นเครื่องกับ อุซเบกิสถาน เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2560
บิดเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปในเกมนัดที่พ่ายต่ออุซเบกิสถาน
ถึงจะแพ้แต่มีเสียงชื่นชมแท็กติกการเล่นของทีม โดยเฉพาะเกมรับที่ถูก ‘ขันชะเนาะ’ จนแน่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ซัมเวล บาบายาน โค้ชอุซเบกิสถาน ยังอดชมไม่ได้ว่า ‘วินัย’ ของทีมชาติไทยแตกต่างจากช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้
สิ่งที่เห็นได้ต่อมาคือความสมดุลของทีมที่มีมากขึ้น ไม่ว่าจะในเกมรับหรือเกมรุก เพียงแต่ความบกพร่องทางรายละเอียดการเล่น ไม่ว่าจะเป็น ความผิดพลาดในการสื่อสารกันระหว่างกองหลังกับผู้รักษาประตู และกองหน้าที่ขาดความเฉียบคมทำให้แมตช์แรกของราเยวัชจบลงด้วยความพ่ายแพ้
จึงพอสรุปได้คร่าวๆ ว่าทีมชาติไทยในยุคนี้จะเน้นที่เรื่องของเกมรับ วินัย แท็กติก มากกว่าความสามารถเฉพาะตัว หรือความเข้าใจกันเฉพาะกลุ่มของผู้เล่นเหมือนในยุคที่ ‘โค้ชซิโก้’ คุมทีม
แต่คำถามที่น่าสนใจคือการเลือกใช้ ‘เกมรับ’ เป็นรากฐานของความสำเร็จนั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับทีมชาติไทยที่โดยธรรมชาติแล้วเป็นฟุตบอลสายเทคนิคหรือไม่
ฟุตบอลแบบนี้ถูกจริตกับนักฟุตบอลไทยจริงหรือเปล่า
และในอีกด้านดูเหมือนการ ‘โฟกัส’ ที่เกมรับมากเป็นพิเศษของราเยวัชค่อนข้างมาก ยังทำให้มีการตั้งคำถามในหมู่แฟนบอล โดยเฉพาะการตัดชื่อ ธีรเทพ วิโนทัย นักเตะที่เรียกเสียงฮือฮาได้มากจากเกมที่แล้วหลังได้รับการเรียกตัวกลับมาติดทีมชาติอีกครั้ง
เหตุผลเพราะแนวรุกที่แทบไม่เหลือใครให้ใช้งาน เนื่องจากพี่ใหญ่อย่าง ธีรศิลป์ แดงดา มีอาการบาดเจ็บหมดสิทธิ์ลงสนาม ขณะที่อดิศักดิ์ ไกรษร ไม่สมบูรณ์นัก จึงเหลือแค่น้องเล็กอย่างสิโรจน์ ฉัตรทอง ที่ไม่ใช่นักเตะกองหน้าโดยธรรมชาติ
ตรงนี้ราเยวัชต้องพิสูจน์ว่าความคิดตัวเองไม่ผิด
และแนวทางนี้คือแนวทางที่จะพัฒนาฟุตบอลไทยให้ก้าวไปอีกระดับได้อย่างยั่งยืน
4. บทพิสูจน์พลังศรัทธาแฟนบอลไทย
หากใช้ตั๋วเข้าชมการแข่งขันเป็น ‘ดัชนี’ ชี้วัดกระแสของทีมชาติไทยแล้ว การที่ตั๋วเข้าชมการแข่งขันในเกมกับ ‘ยูเออี’ ที่จนถึงเที่ยงวันจันทร์ที่ 12 มิ.ย. ยังจำหน่ายไม่หมดก็น่าจะพอบ่งบอกอะไรได้บ้างด้วยตัวของมันเอง
กระแส ‘ฟีเวอร์’ ที่ปลุกจิตวิญญาณสายเลือดลูกหนังไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้เสร็จสิ้นการทำหน้าที่ของมันแล้ว และทุกอย่างกำลังกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
มันก็จะเงียบๆ หน่อยแค่นั้น
อย่างที่บอกในตอนต้นครับว่าการหมดลุ้นไปฟุตบอลโลกก็ถือว่ามีส่วนทำให้กระแสซบเซา แต่ปัญหาภายในที่หนักหน่วงอยู่ไม่น้อยก็ส่งผลกระทบกระเทือนต่อแฟนบอลจนบอบช้ำกันอยู่ไม่ใช่น้อย
พอฟุตบอลเตะกันในช่วงเย็นวันทำงาน ในฤดูฝน ในวันที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ในวันที่ผลงานไม่ค่อยดี ทุกอย่างเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าทำไมแฟนบอลจะไม่อยากเหน็ดเหนื่อยเพื่อเข้ามาชมเกมในสนาม
แต่มองในมุมกลับ นี่ก็เป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญของแฟนฟุตบอลไทยเช่นกันว่า ในยามที่ฟ้าสีเทาและฝนกำลังโรยตัวลงมาจากฟ้าแบบนี้ พวกเขาจะยังพร้อมจะยืนหยัดเคียงข้างทีมเหมือนเดิมไหม
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ช้างศึก’ มาถึงทุกวันนี้ได้ เพราะพลังของนักเตะคนที่ 12 ที่ปลุกเร้าและเป็นขวัญกำลังใจของนักเตะในสนามเสมอ
เรียกว่าถ้าไม่มี ‘เรา’ ก็ไม่ค่อยมี ‘แรง’ เหมือนกัน
มิโลวาน ราเยวัช และกวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ เป็นตัวแทนทีมชาติไทย แถลงข่าวความพร้อมก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย รอบ 3 กลุ่มบี นัดที่ 8 ระหว่างทีมชาติไทย พบกับทีมสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง ซึ่งอาจจะยังมีมุมมองหรือเรื่องราวอื่นๆอีกหลายเรื่องที่ทีมชาติไทยในยุคของราเยวัชยังต้องตอบคำถามไม่ว่ากับแฟนบอลหรือสื่อมวลชนเองก็ตาม
อย่างไรก็ดีนี่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เปรียบไปแล้วก็เหมือนเป็นช่วง coming of age ของทีมชาติไทยที่จะก้าวผ่านจากการเป็นวัยรุ่นที่สนุกสนานสู่วัยผู้ใหญ่ที่จริงจังกับชีวิตมากขึ้น
ช่วงเวลาแบบนี้สิ่งสำคัญคือ ‘ความเข้าใจ’ และ ‘กำลังใจ’ ครับ
จะถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ เดี๋ยวค่อยมาคุยกันทีหลังได้
ให้โอกาส และให้เวลากันก่อนครับ