บริษัทหลายแห่งเริ่มเปลี่ยนนโยบายให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศทุกวันตามเดิม แต่กลับเกิดแรงต่อต้านจากพนักงานบริษัทในทั่วโลก โดยคาดหวังให้บริษัทกลับไปใช้นโยบาย Work from Home ตามเดิม และเป็นไปได้สูงที่แรงงานคนรุ่นใหม่จะเลือกบริษัทที่เปิดโอกาสให้เลือกทำงานแบบ Remote Working มากกว่าบริษัทที่บังคับเข้าออฟฟิศอีกด้วย
🟡 ทำไมองค์กรระดับโลกถึงต้องการให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศ?
แม้ WFH จะเป็นที่นิยม แต่ผลสำรวจระบุว่า 79% ของ CEO จากบริษัทยักษ์ใหญ่ในอเมริกาอยากให้พนักงานกลับมาเข้าออฟฟิศแบบ full time ภายใน 3 ปีข้างหน้า จากข้อเสียที่พวกเขาเห็น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการสื่อสารที่ผิดพลาดได้ง่ายกว่าการสื่อสารต่อหน้า การวัดผลการทำงานที่ยากขึ้น และที่สำคัญคือ 68% ของผู้บริหารมีความกังวลว่าพนักงานที่ทำงานระยะไกลจะไม่สามารถซึมซับวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างเต็มที่ ซึ่งขัดต่อพื้นฐานในการสร้างการเติบโตให้กับองค์กร
🟡 พนักงานโต้ตอบนโยบายนี้ด้วย Revenge Quitting
เมื่อองค์กรบางแห่งเริ่มมีนโยบายให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศ ก็เกิดการตอบสนองในหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการลาออกของบุคลากร ทั้งพนักงานทั่วไป พนักงานระดับสูง ไปจนถึงระดับบริหาร โดยพวกเขาให้เหตุผลว่านโยบายดังกล่าวขัดกับวิถีการทำงานที่มีประสิทธิภาพของตนเอง นอกจากนี้ ยังเกิดเทรนด์ ‘Revenge Quitting’ หรือการลาออกล้างแค้น ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อนโยบายที่ไม่เคารพความต้องการของพนักงาน
🟡 การกลับเข้าออฟฟิศอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับคนทำงานอีกต่อไป
ผลสำรวจมากมายชี้ให้เห็นว่าการเข้าออฟฟิศเต็มเวลาไม่ตอบโจทย์คนทำงานอีกต่อไป
🔸87% ของพนักงานจะรับข้อเสนองานใหม่ที่ให้ความยืดหยุ่นในการทำงานมากกว่า
🔸58% ของพนักงานจะมองหางานใหม่หากถูกบังคับให้กลับเข้าออฟฟิศเต็มเวลา
🔸91% ของพนักงานต้องการรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น ไม่ว่าจะเป็นแบบ Hybrid หรือ Remote
🔸34% ของพนักงานรุ่นใหม่ (Gen Z และ Millennials) จะลาออกทันทีหาก CEO ประกาศให้กลับเข้าออฟฟิศ
และสำหรับผู้ที่กำลังมองหางานใหม่ บริษัทที่เปิดโอกาสให้ทำงานแบบ Hybrid มีความน่าสนใจ (sexy) มากกว่าในสายตาของผู้สมัครงาน เพราะตอบโจทย์ความต้องการของคนทำงานยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ Work-Life Balance และอิสระในการทำงานอีกด้วย
🟡 องค์กรไทยจะรับมือเทรนด์นี้อย่างไร
การตัดสินใจว่าจะให้พนักงาน Work from Home ต่อ หรือกลับเข้าออฟฟิศ อาจพิจารณาได้จาก 3 ปัจจัยหลัก
🔸Cost Saving: องค์กรที่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับออฟฟิศได้ดี อาจพิจารณาให้พนักงาน WFH ต่อไป เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
🔸การควบคุมการทำงาน: หากองค์กรต้องการควบคุมการทำงานของพนักงานให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างใกล้ชิด การให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า
🔸วัฒนธรรมองค์กร: หากองค์กรให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างมาก และมองว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน การดึงพนักงานกลับมาทำงานร่วมกันในออฟฟิศอาจเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากว่า
อย่างไรก็ตาม องค์กรก็ต้องตระหนักว่า งานบางประเภทอาจไม่สามารถทำแบบ WFH ได้ หรือต้องมีการทำงานร่วมกันแบบเจอหน้า ดังนั้น องค์กรจึงต้องพิจารณาลักษณะงานและลักษณะของทีมให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ
ชมคลิป: https://youtu.be/OwgEs9Sr1TI