×

Dunkirk โฉมหน้าที่แท้จริงของสงคราม

22.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • การดูหนังเรื่องนี้ซึ่งถ่ายทำด้วยระบบไอแม็กซ์บนจอขนาดยักษ์ของโรงหนังไอแม็กซ์ กลายเป็นประสบการณ์ที่ท่วมท้นจริงๆ มันให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าก่อนหน้านี้เราดูหนังสงครามแบบหรี่ตามาโดยตลอด และระบบไอแม็กซ์ทำให้เราไม่ถูกรบกวนด้วยกรอบภาพสี่เหลี่ยมผืนผ้าอีกต่อไป
  • โนแลนทำหนังเรื่องนี้โดยปลอดจากการยัดเยียดอุดมการณ์ความเชื่อ หรือถ้าหากมันจะได้รับการสอดแทรกอยู่บ้างก็เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ที่แน่ๆ เขาเลือกที่จะไม่ให้ผู้ชมพาตัวเองไปเกี่ยวข้องและผูกพันกับตัวละครคนหนึ่งคนใดเป็นพิเศษ และเราไม่ค่อยได้รู้ตื้นลึกหนาบางของแต่ละคนสักเท่าใดนัก

 

     อย่างแรกที่สุดเลยก็คือ Dunkirk ผลงานล่าสุดของ คริสโตเฟอร์ โนแลน เป็นหนังสงครามที่ระดับของความประณีตพิถีพิถันในส่วนของงานสร้างอยู่ในขั้นที่พูดได้เต็มปากว่าน่าตื่นตะลึง หลายต่อหลายช่วงชวนให้พิศวงงงงวยว่าถ่ายทอดออกมาได้อย่างไร เปรียบไปแล้ว คริสโตเฟอร์ โนแลน ก็เหมือนกับเดวิด ลีน แห่งยุคสมัยนี้ที่ทำหนังด้วยคำสองคำในห้วงคิดคำนึง นั่นก็คือ ‘เต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน’ และ ‘ไม่ประนีประนอม’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการจำลองสถานการณ์การสู้รบ และแน่นอน การล่าถอยของกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร ณ สมรภูมิแห่งเมืองดันเคิร์กในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองได้อย่างโน้มน้าวชักจูง ข้อสำคัญ ชวนให้เชื่อว่าเรื่องราวน้อยใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งกระนั้นเป็นอย่างที่ปรากฏบนจอภาพจริงๆ

     และจำเป็นต้องกล่าวควบคู่ไปด้วยว่า การดูหนังเรื่องนี้ ซึ่งถ่ายทำด้วยระบบไอแม็กซ์บนจอขนาดยักษ์ของโรงหนังไอแม็กซ์ กลายเป็นประสบการณ์ที่ท่วมท้นจริงๆ มันให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าก่อนหน้านี้เราดูหนังสงครามแบบหรี่ตามาโดยตลอด และระบบไอแม็กซ์ทำให้เราไม่ถูกรบกวนด้วยกรอบภาพสี่เหลี่ยมผืนผ้าอีกต่อไป หรืออีกนัยหนึ่ง ขอบเขตของความเป็นหนังกว้างไกลแบบเต็มองศาการมองเห็น และส่งผลต่อการนำพาตัวเองไปเกี่ยวข้องและมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์เบื้องหน้าประหนึ่งอยู่ในโมเมนต์นั้นโดยตรง

     มีสองฉากเป็นอย่างน้อยที่ระบบภาพแบบไอแม็กซ์น่าจะถึงกับทำให้ผู้ชมเกิดอาการวิงเวียนกว่าการดูหนังในระบบปกติ เหตุการณ์หนึ่งอยู่ในตอนต้นเรื่องที่ทหารหนุ่มวิ่งหนีลูกกระสุนของฝ่ายตรงข้าม และกล้องบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบแฮนด์เฮลด์ในลักษณะคล้ายกับพวกเราวิ่งตาม กับอีกเหตุการณ์ ได้แก่ ฉากต่อสู้ขับเคี่ยวของเครื่องบินขับไล่กลางเวหา และภาพจากภายในห้องนักบินฝ่ายสัมพันธมิตรที่ต้องบินฉวัดเฉวียนหลบลูกกระสุนฝ่ายตรงข้าม ก็สามารถทำให้ผู้ชมเกิดอาการหลงเส้นขอบฟ้าได้อย่างง่ายดาย ความเหมือนกันของทั้งสองกรณีก็เป็นดังที่กล่าวข้างต้น ความมหึมาของจอภาพในระดับที่เกินกว่ามุมมองของผู้ชมทำให้พวกเราไม่มีกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าของจอไว้ใช้อ้างอิงกับโลกความเป็นจริง ไม่มากไม่น้อย มันให้ความรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในความฉุกละหุกของหนังโดยไม่ทันได้ตั้งตัว

 

 

     ความอลังการทางด้านเทคนิคก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนที่ต้องปรบมือให้อย่างกึกก้องคือยุทธวิธีในการบอกเล่า ซึ่งสะท้อนถึงความมีสติสัมปชัญญะของคนทำหนังมากๆ พูดอย่างกำปั้นทุบดิน หนังเรื่อง Dunkirk ไม่ใช่ Hacksaw Ridge (หนังของเมล กิบสัน ที่ออกฉายปีกลาย และอาศัยฉากหลังสงครามโลกครั้งที่สองเหมือนกัน) ที่ไม่รู้ใครว่าอย่างไร แต่ส่วนตัวมองว่าหนังของกิบสันเรื่องนั้นทั้งหลงละเมอเพ้อพก สะท้อนความเชื่อความศรัทธาอย่างงมงายและไม่ลืมหูลืมตา (ผ่านข้อแก้ตัวว่าทั้งหมดนั้นสร้างมาจากเรื่องจริง) ในทางตรงกันข้าม โนแลนทำหนังเรื่องนี้โดยปลอดจากการยัดเยียดอุดมการณ์ความเชื่อ หรือถ้าหากมันจะได้รับการสอดแทรกอยู่บ้างก็เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ที่แน่ๆ เขาเลือกที่จะไม่ให้ผู้ชมพาตัวเองไปเกี่ยวข้องและผูกพันกับตัวละครคนหนึ่งคนใดเป็นพิเศษ และเราไม่ค่อยได้รู้ตื้นลึกหนาบางของแต่ละคนสักเท่าใดนัก หน้าที่หลักของพวกเขาเหล่านั้นประกอบด้วย ทหารหนุ่มที่พยายามดิ้นรนหาทางขึ้นเรือเพื่อไปจากสภาวะอับจน นักบินขับไล่ที่คอยลาดตระเวนขัดขวางเครื่องบินของศัตรู และชายสูงวัยที่ต้องการทำในส่วนที่ตัวเองทำได้เพื่อประเทศชาติ ก็คือการนำพาผู้ชมไปเผชิญกับสถานการณ์ที่คุกรุ่นและเดือดพล่านขึ้นเรื่อยๆ

     หรือหากจะว่าไปแล้ว ตัวละครหลักของเรื่องก็คือเหตุการณ์ที่ค่อยๆ คลี่คลายเบื้องหน้าผู้ชมนั่นเอง อันได้แก่ สภาวะจนตรอกของบรรดาทหารสัมพันธมิตรเกือบสี่แสนคน ซึ่งพากันมากระจุกตัว ณ บริเวณชายหาดของเมืองท่าทางตอนเหนือของฝรั่งเศส เพื่อเฝ้าคอยการอพยพกลับไปตั้งหลัก ณ ประเทศอังกฤษ จากที่หนังนำเสนอ สถานการณ์ช่างอ่อนไหว เปราะบาง และดูสิ้นหวังเหลือเกิน ทั้งหมดอยู่ในสภาพอิดโรย ไม่อยู่ในฐานะที่จะต่อกรกับกองกำลังอันแข็งแกร่งของเยอรมันได้อีกต่อไป ปืนของพวกเขากลายเป็นสากกะเบือ แต่อะไรก็ไม่น่าสมเพชเวทนาเท่ากับในระหว่างที่ทั้งหมดยืนเข้าแถวเรียงเดี่ยวอย่างยาวเหยียดเพื่อรอขึ้นเรือ ซึ่งไม่มีใครบอกได้ว่าจะมาถึงเมื่อใด (หรือจะมาหรือเปล่าก็ไม่มีใครรู้ และรูปการณ์ก็ดู absurd พอๆ กับในละครของซามูเอล เบ็กเก็ตต์ เรื่อง คอยโกโดต์) ทั้งหมดยังตกเป็นเป้านิ่งให้กับเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายตรงข้ามเลือกถล่มเอาตามอำเภอใจในสภาพที่เหมือนติดกับดัก หนีไปไหนไม่ได้ ความเป็นความตายกลายเป็นเรื่องของโชคชะตาหรือการเดาสุ่มโดยสิ้นเชิง

 

 

     จริงๆ แล้วองค์ประกอบแทบทุกส่วนล้วนเอื้ออำนวยให้คนทำหนังโหมกระพือแง่มุมทางด้านดราม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด การบาดเจ็บล้มตาย ความโหดร้ายทารุณของสงคราม แต่หลายครั้งหลายครา ผู้ชมเหมือนถูกกำหนดให้เฝ้ามองสิ่งที่เกิดขึ้นในฐานะของผู้สังเกตการณ์ หรือเจือปนท่าทีที่ค่อนข้างเย็นชา อย่างน้อยคนทำหนังก็ดูเหมือนไม่พยายามใช้ไวยากรณ์ทางด้านภาพ เช่น ภาพระยะโคลสอัพ หรือการตัดต่อแบบปืนกล เพื่อดึงผู้ชมเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อย่างชนิดล่มหัวจมท้าย หรือตั้งตนเป็นผู้พิพากษาในสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างจริงๆจังๆ

     ยกตัวอย่างสองฉาก หนึ่ง เหตุการณ์ที่นักบินติดอยู่ในเครื่องบินขับไล่ที่ตกกลางมหาสมุทร ระดับน้ำในห้องนักบินเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มว่าเขาจะไม่รอด ข้อน่าสังเกตก็คือ เรารับรู้ได้ถึงความจวนเจียน บีบคั้น โดยเฉพาะการต่อสู้กับกระแสน้ำและกาลเวลาที่เหลืออยู่ไม่มากนัก กระนั้นก็ตาม ความเป็นความตายของเขาก็ดูเหมือนไม่ใช่สาระสำคัญนัก บางทีอาจเป็นเพราะเราไม่รู้จักตัวละครมากพอ อีกหนึ่งคือ ‘เหตุการณ์พิสูจน์สัญชาติใต้ท้องเรือ’ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนทำหนังได้บิลด์อย่างชนิดสุดลิ่มทิ่มประตู แต่จนแล้วจนรอด เรื่องกลับพลิกผันไปในหนทางที่กลไกทางด้านดราม่าไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพของมัน

 

 

     สุดท้ายแล้วกลายเป็นว่า พาร์ตที่ทำงานกับอารมณ์ของคนดูอย่างหนักหน่วงจริงๆ ก็คือดนตรีประกอบของฮันส์ ซิมเมอร์ ที่ทั้งกระแทกกระทั้น ยึดครองโสตประสาทการรับรู้ และมีส่วนอย่างยิ่งยวดในการไล่ต้อนพวกเราให้เข้าไปอยู่ภายใต้ภาวะความตึงเครียด กดดัน และปัจจุบันทันด่วนของสงคราม

     และที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ก็คือแท็กติกในการร้อย 3 เส้นเรื่องสลับกลับไปมา ทั้งๆ ที่กรอบเวลาของเรื่องเหล่านั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อันได้แก่ เหตุการณ์บริเวณชายหาดที่บรรดาทหารเฝ้าคอยการอพยพซึ่งกินเวลาหลายวัน การเดินทางมาช่วยเหลือของบรรดาเรือลำเล็กลำน้อยของชาวบ้าน ซึ่งกลายเป็นหนทางเดียวที่เป็นไปได้และใช้เวลาราวๆ 1 วัน และการบินสกัดเครื่องบินทิ้งระเบิดของอากาศยานขับไล่ของฝ่ายสัมพันธมิตรจำนวน 3 ลำ ซึ่งใช้เวลาเพียง 1-2 ชั่วโมง

     ไม่ว่าจะอย่างไร แต่ละมุมมองที่หนังบอกเล่าก็ช่วยให้ผู้ชมปะติดปะต่อโฉมหน้าของสงครามในภาพที่คมชัดขึ้น ข้อน่าสังเกตก็คือ หลายคร้ังคนทำหนังเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้วซ้ำ ทว่าจากมุมมองที่แตกต่างออกไป ซึ่งช่วยให้เราประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรอบด้าน และทักษะในการเล่าเรื่องที่ปราดเปรื่องสุดๆ ของโนแลน ได้แก่ ในช่วงเวลาหนึ่ง เส้นเรื่องทั้งสามพาดผ่าน ณ ตำแหน่งแห่งที่เดียวกัน ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ก่อนที่แต่ละเรื่องจะดำเนินต่อไปสู่บทสรุปของมันเอง ซึ่งก็ต้องบอกว่าไม่ใช่ช่วงเวลาของการตีฆ้องร้องป่าวด้วยความฮึกเหิมยินดี

     อย่างที่หน้าประวัติศาสตร์บันทึกไว้ ปฏิบัติการอพยพทหารเกือบสี่แสนคน ณ ชายหาดของเมืองดันเคิร์กสิ้นสุดลงด้วยผลลัพธ์ที่เหนือความคาดหมาย ในเวลาต่อมาถึงกับมีคนเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าปาฏิหาริย์ (Miracle of Dunkirk) ซึ่งฟังดูเหมือนให้เครดิตกับ ‘เบื้องบน’ มากเกินไป และละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของมนุษย์ล้วนๆ อาจกล่าวได้ว่าหนังเรื่อง Dunkirk ของคริสโตเฟอร์ โนแลน มีส่วนช่วยขจัดปัดเป่ามายาคติเหล่านั้น และนำพาผู้ชมไปเผชิญกับความเป็นจริงของสงคราม ที่หลายครั้งหลายครา ปัญหาเฉพาะหน้าของบรรดาทหารในสมรภูมิมีเพียงแค่ ‘อยู่หรือตาย’

     ข้อสำคัญ นั่นไม่ใช่แม้แต่สิ่งที่สามารถเลือกได้ด้วยซ้ำ

 

Dunkirk (2017)

ผู้กำกับ: คริสโตเฟอร์ โนแลน

นักแสดง: เฟนน์ ไวต์เฮด, มาร์ค ไรแลนซ์, ทอม ฮาร์ดี

FYI

Waiting for Godot (คอยโกโดต์) วรรณกรรมการละครโดย ซามูเอล เบ็กเก็ตต์ (นักเขียนรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมในปี 1969) เล่าเรื่องราวของตัวละครชายสองคนที่รอคอยการมาถึงของ ‘โกโดต์’ โดยที่พวกเขาไม่รู้ว่าโกโดต์คือใคร จะมาเมื่อไร และทำไมจึงต้องรอ เป็นการเสียดสีให้เห็นถึงการรอคอยอันไร้จุดหมายปลายทาง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X