สำหรับประชาชนไทยและสังคมธุรกิจในประเทศไทย การปฏิรูปบริการจากภาครัฐสู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบจะช่วยให้ประเทศฟื้นตัวจากผลกระทบจากการระบาดครั้งใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจในปีต่อๆ ไป ทั้งนี้ ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าโควิดเป็นตัวเร่งการเข้าสู่ยุค ‘ดิจิทัล’ ให้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านการทำงาน การบริโภค และการมีปฏิสัมพันธ์ ดังนั้นประเทศที่มีกฎหมายและข้อบังคับที่อำนวยความสะดวกและเปิดรับโอกาสทางดิจิทัลอย่างกระตือรือร้นจะได้รับประโยชน์สูงสุด
การใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นส่งผลให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพหลายล้านชั่วโมง และสามารถประหยัดเงินได้หลายพันล้านบาท นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัลของภาครัฐไทยยังทำให้ประเทศสามารถตัดสินใจลงทุนทางสังคมได้อย่างเหนือชั้นพร้อมผลประโยชน์อันมากมายในอนาคต
สำหรับนักลงทุนและประชาชนไทย คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่าภาครัฐควรพยายามอย่างเต็มที่ในการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นดิจิทัลหรือไม่ เรารู้ดีว่าทุกประเทศควรใช้ความพยายามอย่างจริงจังและต่อเนื่องในการ ‘ก้าวสู่ยุคดิจิทัล’ เพราะหากไม่ทำเช่นนั้นจะเกิดความเสี่ยงต่ออนาคตที่ไม่สามารถเจริญรุ่งเรืองได้
แต่คำถามตอนนี้คือภาครัฐจะสามารถเพิ่มความเข้มข้นให้กับกระบวนการก้าวขึ้นมาเป็นสังคมดิจิทัล รวมถึงการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในกระบวนการต่างๆ ขั้นตอนการทำงาน และการใช้ประโยชน์จากคลาวด์คอมพิวติ้งได้อย่างไร การเป็นรัฐที่ใช้ระบบงานดิจิทัลยังเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเป้าหมายของแนวทางเร่งการปฏิรูปกฎหมายอย่างเร่งด่วน (Fast Track Regulatory Reform) เพื่อขจัดกฎหมายและข้อบังคับที่ซ้ำซ้อน
เพื่อทำความเข้าใจโรดแมปสู่ความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของภาครัฐให้ดียิ่งขึ้น หอการค้าอเมริกันจึงได้จัดเสวนาโดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและธุรกิจ เพื่อแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับเป้าหมายและความท้าทายที่ต้องเผชิญในการบรรลุเป้าหมายของประเทศไทย โดยผู้เข้าร่วมเสวนามีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่ารัฐบาลไทยมีโอกาสในการทำให้การเข้าสู่ยุคดิจิทัลนั้นเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม และช่วยให้ประเทศชาติแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในสถานะ ‘Smart Nation’ และผู้นำในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนั้นผู้เข้าร่วมเสวนายังนำเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับภาครัฐ เพื่อนำไปพิจารณาและดำเนินการ ดังนี้
สำหรับ ปวีร์ เจนวีระนนท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาธนาคารโลก กล่าวว่า โอกาสของภาครัฐต่อการใช้คลาวด์คอมพิวติ้งและบิ๊กดาต้าเพื่อช่วยในการตัดสินใจในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสังคมมีศักยภาพอย่างไม่จำกัด โดยชี้แจงว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยคาดการณ์ความจำเป็นของประเทศในอนาคตและกำหนดนโยบายที่ดีที่สุดให้สอดคล้องกับความจำเป็นนั้นๆ ตัวอย่างของชุดข้อมูลที่ภาครัฐสามารถใช้เพื่อพัฒนาการบริการสาธารณะให้ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การคืนภาษี ภาพถ่ายดาวเทียม รูปแบบการจราจร การดูแลสุขภาพ การเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน และการเรียกร้องสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน
นอกจากนี้ ปวีร์ยังกล่าวว่า บิ๊กดาต้าเป็น ‘โอกาสอันยิ่งใหญ่’ ที่ภาครัฐควรตระหนักหากต้องการรักษาความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ซึ่งหากปราศจากการเข้าถึงบิ๊กดาต้าเชื่อว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจของรัฐบาลจะขาดข้อมูลเชิงลึกที่จำเป็นอย่างยิ่งในการบริหารการลงทุนด้วยงบประมาณสาธารณะอย่างชาญฉลาด และยังขาดการสนับสนุนที่สำคัญต่อการแข่งขันในตลาดโลก
สุทัศน์ คงดำรงเกียรติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำประเทศไทย บริษัท เอ็นทีที จำกัด มีความเห็นว่า ภาครัฐของไทยจะได้รับประโยชน์จากการขยายมุมมองออกไปกว้างกว่าพรมแดนของประเทศ โดยกำหนดให้ไทยเป็นศูนย์กลางของประเทศในอาเซียน
โดยสุทัศน์ชี้ให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบในภาคการธนาคารของประเทศไทยเป็นผู้นำระดับโลก และเชื่อว่าหากภาครัฐสามารถประยุกต์ใช้แนวทางเชิงนวัตกรรมที่กำหนดและจัดทำโดยหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงิน ประเทศจะได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ สุทัศน์ยังได้ให้คำแนะนำโดยรวมว่า หากภาครัฐเปิดรับความร่วมมือกับภาคเอกชนจะช่วยให้การเติบโตของประเทศไทยก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ากรอบความคิดนี้ต้องรวมถึงการให้โอกาสแก่เยาวชนคนรุ่นใหม่มากขึ้นด้วย
“ประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะรับการลงทุนด้านดิจิทัลจากต่างประเทศ และหากรัฐบาลสามารถสร้างกรอบนโยบายที่ชัดเจนแก่นักลงทุนต่างชาติก็จะยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ผลลัพธ์ที่จะได้ก็คือโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศที่เติบโตและระบบนิเวศด้านดิจิทัลที่ดีขึ้น” สุทัศน์กล่าว
ศิรัญญา หรูวรรธนะ จากบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จํากัด เห็นด้วยว่าภาครัฐสามารถทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้นจริงและรวดเร็วยิ่งขึ้นในการดำเนินการด้านดิจิทัลด้วยความคิดในการร่วมมือกับภาคเอกชน นอกจากนั้น ศิรัญญายังกล่าวอีกว่า ภาครัฐควรเป็นผู้นำและทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกเพื่อเปิดทางและส่งเสริมการลงทุนทางธุรกิจ
“เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็น Smart Nation ภาครัฐของไทยควรนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ และเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน”
ศิรัญญาเสริมต่อว่า ประเทศไทยมีกรอบกฎหมายที่มุ่งส่งเสริมให้เกิด Smart Government และเป็น Smart Nation อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายทางกฎหมายบางประการที่ต้องการความชัดเจนเพิ่มขึ้นในแง่ของการตีความและการใช้บังคับ การนำมาใช้ในทางปฏิบัติ และแนวทางที่เหมาะสมโดยหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ เช่น ประเด็นข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยทางไซเบอร์
ระหว่างการสนทนา ศิรัญญาชี้ให้เห็นว่าเอสโตเนียในฐานะที่เป็นประเทศที่ได้รับชื่อเสียงความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมดิจิทัลของภาครัฐ เป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในสังคมดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก เนื่องจากภาครัฐได้สร้างอีโคซิสเต็มที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และโปร่งใส โดยมีการให้บริการจากภาครัฐ 99% อยู่บนออนไลน์
ในขณะที่ประเทศไทยยังห่างไกลจากเกณฑ์มาตรฐานนี้มาก เป็นที่แน่ชัดว่ามีโอกาสอีกมากมายรออยู่และความร่วมมือจากภาคเอกชน รวมถึงความชัดเจนเกี่ยวกับกฎหมายที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจดิจิทัล สามารถช่วยปลดปล่อยศักยภาพของข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการตัดสินใจของภาครัฐที่เหมาะสม ประชาชนไทยและกลุ่มธุรกิจทั้งในประเทศและข้ามชาติพร้อมที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลง และดูเหมือนว่ารัฐบาลอาจพร้อมที่จะเริ่มดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลมากขึ้นด้วยเช่นกัน
เพื่อเป็นการเริ่มต้น สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA อยู่ในสถานะที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการออกแบบและดำเนินการตามแนวทางของรัฐบาลทั้งหมด
ทั้งนี้ บทบาทของภาคเอกชนยังคงเป็นกุญแจสำคัญในการให้คำแนะนำและสนับสนุนนโยบายที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อให้แน่ใจว่าโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น การรักษาความปลอดภัยแบบ End-to-End และความสมบูรณ์ของการโอนถ่ายข้อมูลนั้นเหมาะสม ทั้งนี้ หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดรู้สึกว่าพวกเขาได้ช่วยกำหนดกฎเกณฑ์เท่านั้น เราจึงจะสามารถคาดหวังการปฏิบัติตามอย่างกว้างขวางเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันมากกว่าที่จะกลัวบทลงโทษ กล่าวคือผลลัพธ์ ‘อินเทอร์เน็ตที่เชื่อถือได้ (Trusted Internet)’ เป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับระบบนิเวศทางดิจิทัลที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถสนับสนุนศักยภาพทางเศรษฐกิจที่สดใสของประเทศไทยได้ ดังนั้นการสร้างสิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงต้องการความร่วมมือที่แท้จริงระหว่างภาครัฐและเอกชน
ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจจากภาครัฐของไทยต้องเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าและคว้าโอกาสที่อยู่ตรงหน้า การทำเช่นนี้จะทำให้ประชาชนไทยและทุกธุรกิจในราชอาณาจักรไทยได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและทันท่วงทีได้ดีขึ้น พร้อมบริการจากภาครัฐที่มีประสิทธิภาพและดีขึ้น