×

มาตรการกระตุ้นภาครัฐ ส่งความหวังเศรษฐกิจไทยฟื้นครึ่งปีหลัง

22.04.2024
  • LOADING...

ตลาดหุ้นไทยปิด ณ สิ้นไตรมาส 1/67 ที่ 1377.94 จุด โดยปรับตัวลดลงจากปลายปี 2566 ที่ 1415.85 จุด คิดเป็นปรับตัวลดลง 2.68% หากพิจารณาผลตอบแทนในปี 2566 ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงมากที่สุดตลาดหนึ่งของโลก คือปรับตัวลดลงถึง 15% ในขณะที่ตลาดในเอเชียและตลาดโลกสามารถพลิกฟื้นกลับมา และปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ระหว่าง 3-7% เหตุผลหนึ่งของการปรับตัวลดลงนี้เป็นผลจากเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดมาก โดย GDP ของไทยในปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.9% เทียบกับตอนต้นปีที่คาดว่าจะโตได้ราว 3-4% การฟื้นตัวที่ช้านี้ท้ายที่สุดกลับมากระทบกำไรของบริษัทจดทะเบียนปี 2566 ที่ทำได้เพียง 9.6 แสนล้านบาท ซึ่งลดลง 2% จากปีก่อนหน้า 

 

เศรษฐกิจที่อ่อนแอส่วนหนึ่งเกิดจากรายจ่ายภาครัฐที่ออกมาน้อย ซึ่งเป็นผลจากความล่าช้าของพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดินปี 2567 อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า แม้รายจ่ายประจำส่วนใหญ่จะสามารถใช้กรอบงบประมาณปีก่อนหน้าไปก่อนได้ แต่รายจ่ายงบลงทุนสำหรับโครงการใหม่ๆ ต้องรอ พ.ร.บ.งบประมาณฉบับใหม่ โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (เดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2566) ค่าใช้จ่ายเงินลงทุนของรัฐบาลอยู่เพียงแค่ 5 หมื่นล้านบาท หากเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่สูงถึง 1.2 แสนล้านบาท จะเห็นได้ว่าแตกต่างถึง 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนต่างนี้เทียบเท่ากับ 1.5% ของ Nominal GDP ผลของ พ.ร.บ.งบประมาณ ที่ล่าช้าส่งผลให้ภาครัฐมีข้อจำกัดมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมาตรการกระตุ้นภาครัฐที่พอสามารถทำได้ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นมาตรการที่ไม่ได้ใช้งบประมาณที่มากนักอย่าง มาตรการฟรีวีซ่าให้กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีน หรือมาตรการควบคุมราคาพลังงานในประเทศ (โดยใช้เงินนอกงบประมาณของภาครัฐ เช่น ผ่านกองทุนน้ำมันหรือให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยแบกรับภาระ) 

 

แต่หลังจากวันที่ 26 มีนาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่วุฒิสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท และนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณ ได้ในช่วงกลางเดือนเมษายนนี้ ทำให้คาดหวังว่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่จะมีมากขึ้น เมื่อรัฐบาลได้งบประมาณมาบริหารประเทศ โดยคาดว่ารัฐบาลน่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายๆ อย่างออกมา และหากพิจารณาถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการส่วนใหญ่อาจจะอยู่ในรูปแบบเงินโอน เนื่องจากทำได้ง่าย ใช้เวลาไม่นาน แต่มีผลสูงในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้จะมีผลไม่นานก็ตาม มาตรการเงินโอนที่กล่าวถึงอาจเป็นได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเงินโอนให้กับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งกลุ่มรายได้น้อย กลุ่มผู้สูงอายุ หรือเกษตรกรที่ผ่านการอุ้มราคาสินค้าเกษตรหรือพักชำระหนี้ นอกจากนี้ อาจรวมถึงเงินโอนให้กับรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในชนบท (คล้ายกับโครงการกองทุนหมู่บ้าน) ซึ่งยังไม่รวมถึงมาตรการสำหรับกลุ่มธุรกิจโดยเฉพาะ เช่น มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศและมาตรการภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่มีโอกาสถูกนำมาใช้เช่นกัน 

 

โดยมาตรการที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเหล่านี้ใช้เงินลงทุนในจำนวนไม่มาก และเคยทำมาแล้วในอดีต ซึ่งนำมาปรับใช้ได้ง่าย แม้จำนวนเงินในแต่ละมาตรการอาจไม่เยอะมาก แต่ว่ามีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกัน มาตรการเหล่านี้จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตที่ระดับปกติมากขึ้น โดยในต้นปีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจยังอ่อนแอในระหว่างที่ยังไม่มี พ.ร.บ.งบประมาณ แต่มีโอกาสสูงที่การขยายตัวอาจเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และอาจหวังได้ว่า GDP จะกลับไปขยายตัวราว 3% ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 

 

นอกจากนี้ เศรษฐกิจอาจเร่งตัวได้มากขึ้นอีก หาก พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 ไม่ล่าช้า นั่นหมายความว่า ในช่วงปลายปีนี้อาจได้เห็นเงินจาก พ.ร.บ.งบประมาณ ถึง 2 ฉบับ ทำให้เศรษฐกิจโดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวได้ดีมากก็เป็นได้ นี่ยังไม่รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยที่หากมีแผนการลดดอกเบี้ยก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยเพิ่มได้อีกทางหนึ่ง โดยเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้มากขึ้นก็จะส่งผลบวกต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งคาดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนจะกลับมาขยายตัวได้มากกว่า 10% ในปีนี้ หลังจากหดตัวลงในปีก่อนหน้า รวมถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุปสงค์จากภายนอก เช่น กลุ่มท่องเที่ยว จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากมาตรการฟรีวีซ่า 

 

ทั้งนี้ คาดว่าหุ้นในกลุ่มค้าปลีกยังจะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่สุด จากการที่รัฐบาลน่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการส่งเสริมให้มีการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น และคาดกลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็นอย่างเสื้อผ้าหรือสินค้าตกแต่งบ้าน อาจจะเร่งตัวขึ้นได้ดีกว่า เนื่องจากที่ผ่านมายอดขายค่อนข้างอ่อนแอ ขณะที่กลุ่มสินค้าจำเป็น ยอดขายยังคงทรงตัวเนื่องจากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาช่วยบริโภค รวมถึงกลุ่มไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์เช่นกัน โดยลูกค้าของกลุ่มนี้อ่อนแอลงมากตามภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้หนี้เสียปรับสูงขึ้นมาก กดดันต่อค่าใช้จ่ายการตั้งสำรอง หากเศรษฐกิจสามารถฟื้นขึ้นได้ คุณภาพสินทรัพย์ต่างๆ ก็ควรจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ภาระในการตั้งสำรองก็จะลดลง ผลักดันให้กำไรขยายตัวได้ดีขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising