เดวิด เบ็คแฮม อยู่ในชุดสีขาวที่ดูแปลกตา
ภาพในความทรงจำของเราคือ เบ็คแฮมในชุดเสื้อสีขาวของทีมชาติอังกฤษหรือชุดเยือนของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในมาดองอาจสมกับการเป็นหนึ่งในนักฟุตบอลที่มีบุคลิกดี โดดเด่น และสง่างามที่สุดเท่าที่โลกใบนี้เคยมีมา
แต่ชุดสีขาวแปลกตานั้นคือภาพของชุดชาวไร่ที่เอาไว้ใส่ป้องกันแมลง สังเกตได้ว่าที่ชุดนั้นมีตัวอักษรปักเอาไว้ชัดเจน ‘DB’
อดีตซูเปอร์สตาร์ลูกหนังเดินนำไปสู่บริเวณหนึ่งในบ้านพักของเขา ที่ที่เขาเลี้ยงผึ้งเอาไว้ ก่อนที่เขาจะใส่ที่ครอบศีรษะเพื่อป้องกันอันตรายจากการไปลักเอาของเหลวสีทองสดใสที่ค่อยๆ ไหลย้อยออกมาใส่โหลขนาดเล็กที่เตรียมไว้ด้วย
“ตกลงคุณเรียกน้ำผึ้งนี้ว่าอะไรนะ” คำถามดังขึ้นมา
“จริงๆ ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันในบ้านอยู่ ผมคิดว่าจะเรียกสิ่งนี้ว่า Golden Bees” เบ็คแฮมหันมาบอก ก่อนจะยิ้มแล้วบอกว่า “แต่วิกตอเรียเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ของเหนียวเหนอะหนะของ DB’”
คำถามดังขึ้นอีกครั้ง “แล้วงานอดิเรกของคุณมีอะไรอีกนะ”
“ต่อเลโก้”
เมื่อน้ำผึ้งหยดจนเต็มขวดแล้ว เบ็คแฮมยื่นมันให้กับช่างภาพ ซึ่งความจริงแล้วคือ ฟิชเชอร์ สตีเวนส์ ผู้กำกับภาพยนตร์ที่จะเป็นผู้เก็บทุกเรื่องราวในชีวิตของเขาและครอบครัว มาร้อยเรียงให้ทุกคนได้เห็นภาพในมุมที่อาจไม่เคยมีใครได้เห็นมาก่อน
“มันดูน่ามหัศจรรย์มากเลยใช่ไหม คุณลองชิมสิ”
ฟิชเชอร์ชิมแล้วบอกว่า “ดีจริงนะไอ้เจ้าของเหนียวเหนอะหนะของ DB เนี่ย” ที่ทำให้เบ็คแฮมหันกลับมาบอกว่า “เห็นไหม คุณเริ่มติดชื่อนี้แล้ว”
นี่คือฉากเปิดของสารคดีลูกหนังชั้นเยี่ยม BECKHAM กับเรื่องราวของนักฟุตบอลที่มีเท้าชั่งทองไม่ต่างอะไรจากสีของน้ำผึ้ง
รสชาติชีวิตที่หอมหวาน
ความเจ็บปวดจากเหล็กใน
และทุกสิ่งทุกอย่างที่เริ่มต้นขึ้นจากลูกยิงไกลครึ่งสนามลูกนั้น
เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน สวมกอดกับ เดวิด เบ็คแฮม หลังแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คว้าแชมป์พรีเมียร์ชิป ในฤดูกาล 1995/96 ได้สำเร็จ
ย้อนกลับไปในวันเปิดฤดูกาล 1996/97 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก (หรือพรีเมียร์ชิปในขณะนั้น) ต้องเดินทางลงใต้มาเยือนวิมเบิลดัน
ปกติแล้วสนามเซลเฮิร์สต์พาร์กไม่ได้เป็นสนามที่จะมีบรรยากาศสวยสดงดงามอะไรมากมายนัก แต่วันนั้นบรรยากาศในลอนดอนฤดูร้อนนั้นแจ่มใสอย่างมาก ฟ้าเป็นฟ้า มีแสงแดดทอประกายอ่อนๆ
เดวิด เบ็คแฮม ในวัย 21 ปี ได้รับโอกาสในการลงสนามเป็นตัวจริงของเกมดังกล่าวพร้อมกับเสื้อหมายเลข 10 ที่อาจไม่ได้เป็นเสื้อที่มีความหมายยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับทีมปีศาจแดง แต่สำหรับเด็กที่ก้าวมาจากอะคาเดมี การได้หมายเลขเสื้อแบบนี้หมายถึงการยอมรับในตัวของเขาจากบุรุษผู้ยิ่งใหญ่อย่าง เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน
การยอมรับนั้นเกิดขึ้นจากการที่เบ็คแฮมได้พิสูจน์ตัวเองให้เห็นมาตั้งแต่ครั้งที่ได้โอกาสในการเซ็นสัญญาเข้าอะคาเดมีของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เมื่อปี 1991 ก่อนที่จะได้เป็นหนึ่งในขุนพลชุดแชมป์เอฟเอยูธคัพอันลือลั่น ‘Class of ‘92’ ร่วมกับ ไรอัน กิกส์, พอล สโคลส์, นิกกี บัตต์ และพี่น้องเนวิลล์
ขณะที่กิกส์ ปีกพ่อมดชาวเวลส์ เป็นคนที่แจ้งเกิดได้อย่างรวดเร็วที่สุด เบ็คแฮมคือคนที่เดินตามมาด้วยการได้โอกาสประเดิมสนามในเกมฟุตบอลอาชีพในเกมลีกคัพ เดือนกันยายน ปี 1992 นัดที่พบกับไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบียน โดยลงสนามมาแทน อังเดร แคนเชลสกี ปีกจรวดชาวรัสเซีย
หลังการลงสนามเกมนั้น เบ็คแฮมได้รับสัญญานักฟุตบอลอาชีพฉบับแรก และแน่นอนว่าเขาต้องเซ็นสัญญาต่อหน้า Gaffer (ผู้จัดการทีม) อย่างเฟอร์กี
เพียงแต่หลังจากนั้นเขาต้องเข้าๆ ออกๆ ระหว่างทีมชุดใหญ่ ทีมสำรอง และทีมเยาวชน ก่อนจะโดนส่งตัวไปเก็บประสบการณ์ในการเป็นนักเตะอาชีพที่แท้จริงกับ สโมสรฟุตบอลเปรสตัน นอร์ท เอนด์ ในช่วงสั้นๆ ของปลายฤดูกาล 1994/95 ซึ่งถือเป็นการ ‘ติวเข้ม’ ครั้งสุดท้าย
เมื่อผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ เบ็คแฮมจึงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมชุดใหญ่เต็มตัวในฤดูกาล 1995/96 ซึ่งถือว่าทำผลงานได้ดีในทุกครั้งที่ได้รับโอกาสในการลงสนามจากเฟอร์กี ที่แม้จะยังไม่ดีพอที่ เทอร์รี เวนาเบิลส์ จะเรียกตัวติดทีมชาติอังกฤษชุดลุยยูโร 1996 ในปีนั้น
แต่เขาทำให้เฟอร์กีเห็นแล้วว่าเขาดีพอสำหรับการเป็นตัวจริงของทีมและเสื้อหมายเลข 10 ที่เคยเป็นของ ‘สปาร์กี’ หรือ มาร์ก ฮิวจ์ส ตำนานหัวหอกจอมโลดโผนที่อำลาทีมไปหลังจบฤดูกาลก่อน ไม่ต่างอะไรจากรางวัลของความพยายามตลอดมา
เบ็คแฮมกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ทันทีหลังลูกยิงครึ่งสนาม ได้เซ็นสัญญาเป็นพรีเซนเตอร์ให้รองเท้า Adidas Predator ที่เป็นรองเท้าคู่ใจตลอดชีวิต
เพียงแต่เฟอร์กีไม่ได้คิดหรือคาดหวังว่าเขาจะได้เห็นอะไรที่พิเศษเหนือคำบรรยายตั้งแต่เกมแรกของฤดูกาลแบบนั้น
“ยอร์ดี ครอยฟ์ พยายามจะยิงข้ามผู้รักษาประตู” เบ็คแฮมเล่าย้อนถึง ‘The Kick’ ลูกเตะที่เปิดตำนานให้กับเขา
จังหวะนี้เดวิดคนหนุ่มหันไปมองที่ม้านั่งสำรอง ซึ่งดูเหมือนความพยายามนี้จะไม่เป็นที่สบอารมณ์ของเฟอร์กีมากนัก
“เวลาที่ลองทำอะไรแบบนี้แล้วมันไม่ได้ผล เจ้านายจะเดือดมาก เขาพร้อมจะเชือดคุณทันที”
แต่ในสถานการณ์ที่แมนฯ ยูไนเต็ด นำเจ้าถิ่นอยู่ 2-0 จากการยิงของ เอริก คันโตนา กับ เดนิส เออร์วิน แล้วทีมตัดบอลกลับมาได้ที่กลางสนาม บอลถูกส่งมาให้กับเบ็คแฮมที่ใกล้กับเส้นกึ่งกลางสนาม
เขาเงยหน้าเพื่อเหลือบมองนิดหนึ่งและเห็นว่า นีล ซัลลิแวน ผู้รักษาประตูของวิมเบิลดัน ก็ยังคงติดนิสัยที่ชอบออกมายืนห่างจากเส้นประตู ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ ยอร์ดี ลูกชายของ โยฮัน ครอยฟ์ นักเตะเทวดาในตำนาน พยายามลักไก่ยิงประตูก่อนหน้านี้แต่ไม่สำเร็จ
ช่วงเวลาประมาณ 1-2 วินาทีต่อจากนั้น เบ็คแฮมชั่งใจกับตัวเองว่าเขาจะลองบ้างดีไหม
และอาจเพราะความเป็นคนหนุ่มที่แอบมีความขบถในตัวพอสมควร ทำให้ปล่อยบอลไหลมาถึงเส้นกึ่งกลางสนาม เขาก็ตัดสินใจ
“ลองดูหน่อยก็ได้”
มิดฟิลด์หนุ่มน้อยที่ก้าวขึ้นมาแทนที่ของ ‘แคนแคน’ แคนเชลสกี ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มสตาร์ที่ถูกเฟอร์กีโละออกจากทีมก่อนหน้านี้ วางเท้าตักบอลด้วยน้ำหนักที่แม่นยำ ก่อนที่บอลจะพุ่งขึ้นสู่กลางอากาศ
ในช่วงเวลาระหว่างที่บอลกำลังเดินทาง สนามเซลเฮิร์สต์พาร์กเหมือนถูกมนตร์สะกดให้อยู่ในความเงียบงัน
“พวกเรานั่งดูอยู่ที่หลังประตูด้วยในวันนั้น” แซนดรา เบ็คแฮม คุณแม่ของเดวิด บอกว่า “ตอนบอลออกจากเท้าของเขา ทุกอย่างมันเงียบเสียจนเหมือนไม่ได้อยู่ในสนามฟุตบอล”
ส่วนลูกชายของคุณแม่เล่าความทรงจำของเขาว่า “ผมจำได้ว่าบอลมันโค้งเหมือนจะออกขวา แต่มันวนกลับมาทางซ้าย”
“มีลุ้น”
แล้วบอลก็มุดลงมาก่อนจะเข้าประตูไปอย่างสุดที่จะเชื่อ แฟนวิมเบิลดันได้แต่อ้าปากค้างกับสิ่งที่พวกเขาได้เห็น ส่วนแฟนแมนฯ ยูไนเต็ด ที่เดินทางลงจากแดนเหนือลงมาเชียร์ถึงลอนดอน พวกเขาเฮกันสนั่น และได้เป็นประจักษ์พยานของการแจ้งเกิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลกลูกหนัง
เบ็คแฮมชูแขนขึ้นฟ้าแบบสบายๆ พร้อมกับรอยยิ้มที่มุมปากที่บ่งบอกความรู้สึก ‘ยืด’ เล็กๆ ที่สะท้อนถึงความมั่นใจในตัวเองของเด็กคนนี้
กับประตูที่ผู้บรรยายทางโทรทัศน์บอกว่า “เด็กหนุ่มวัย 21 ปี เดวิด เบ็คแฮม ทำประตู ที่จะเป็นหนึ่งในลูกยิงที่สุดยอดที่สุดในยุคสมัย และจะเป็นประตูที่จะเป็นที่พูดถึงไปอีกนานเท่านาน”
สิ่งที่เล่ามาทั้งหมดนี้คือ 4 นาทีแรกของสารคดี BECKHAM ซึ่งเป็นสารคดีกีฬาชุดพิเศษที่ Netflix ภูมิใจนำเสนอ และน่าจะเป็นสารคดีกีฬาที่น่าติดตามมากที่สุดหลังจาก The Last Dance ที่สร้างปรากฏการณ์เมื่อ 3 ปีก่อน
โดยสารคดีชุดนี้มีทั้งสิ้น 4 ตอนด้วยกัน นับว่าเป็นสารคดีที่ไม่ได้มีความยาวมากนัก
เพียงแต่ในช่วงระยะเวลาราว 4 ชั่วโมงของการรับชมทั้งหมดนั้น เบ็คแฮมจะพาทุกคนเดินทางข้ามกาลเวลาไปสู่ทุกหมุดหมายในชีวิตของเขา ไม่ใช่เพียงแค่ชีวิตการเล่นฟุตบอล แต่เป็นชีวิตในวัยเด็กด้วย
ความเจ็บปวดที่เผชิญทั้งใบแดงในฟุตบอลโลก 1998, การถูกเนรเทศออกจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด โดยคนที่เขารักและเคารพเหมือนพ่ออย่างเฟอร์กี, การไปเรอัล มาดริด เพื่อเจอฝันร้าย เพราะโค้ชไม่เคยต้องการเขา และอีกมากมาย
เดวิด เบ็คแฮม กับ วิกตอเรีย อดัมส์ คู่รักที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้น
รวมถึงเรื่องลึกลับที่สุดที่เขาแทบไม่ค่อยเปิดเผยอะไรออกมา อย่างเช่น ชีวิตรักและความสัมพันธ์กับ วิกตอเรีย อดัมส์ สาว ‘พอชสไปซ์’ แห่งวง Spice Girls ที่ทั้งคู่ได้พบ รู้จัก และรักกันมาอย่างยืนยาว โดยที่อดีตนักร้องสาวเป็นลมใต้ปีกที่ช่วยพัดพาให้เบ็คแฮมไม่เพียงแต่ก้าวไปไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ในชีวิตลูกหนัง เขายังอยู่ยั้งยืนยง เป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลและได้รับการยอมรับนับถือมากที่สุดจนถึงปัจจุบัน และเป็นแบรนด์ที่ทรงพลังตลอดกาล
และเรื่องปริศนาของ รีเบคกา ลูส์ ผู้ช่วยสาวที่เคยเกือบทำให้ครอบครัวเบ็คแฮมต้องแตกแยก
ฟิชเชอร์ ในฐานะผู้กำกับยืนยันว่า เราจะได้รู้เรื่องราวทุกแง่มุมของเบ็คแฮมจริงๆ จากการที่เขาใช้เวลาสัมภาษณ์รวมกันนานกว่า 30 ชั่วโมง ผ่านการสัมภาษณ์นับสิบครั้ง ซึ่งปกติแล้วเขาจะให้ใครก็ตามสัมภาษณ์ได้เพียงไม่เกิน 20 นาทีเท่านั้น
สิ่งหนึ่งที่เป็นความตั้งใจของเบ็คแฮมคือ บางทีเขาก็อยากให้คนรู้และเข้าใจเขาและครอบครัวเหมือนกัน
เพราะบางคนอาจจะรู้เรื่องหรือเคยได้ยินมา แต่นี่จะเป็นครั้งแรกที่จะได้ฟังจากปากของเขาหรือวิกตอเรียเอง
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการได้รู้เรื่องราวของเขาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่แฟนแมนฯ ยูไนเต็ด ที่ยังคงรักและผูกใจไว้กับเขาจะได้รับคือ การเดินทางย้อนเวลากลับไปในวันเก่าๆ
ภาพความยิ่งใหญ่ของแมนฯ ยูไนเต็ด ในวันที่เสียงเพลง Glory Glory Man United ยังคงมีความหมายดังเนื้อเพลง
“จริงๆ วันนั้นก็ดีนะ…”
เพจลูกหนังแห่งหนึ่งโพสต์ขึ้นมา แทนความรู้สึกของใครหลายคนได้เป็นอย่างดี
อ้างอิง: