×

ไทย ควรก้าวไปจุดไหนใน อุตสาหกรรมการบิน และ ป้องกันประเทศ หลัง เศรษฐา เยือน ฝรั่งเศส

18.05.2024
  • LOADING...

การเดินทางเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศสของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถือว่ามีความคืบหน้าที่น่าสนใจ ซึ่งนอกจากประเด็นเรื่องการค้าการลงทุนแล้ว ยังมีประเด็นที่สำคัญในด้านการบินและการป้องกันประเทศด้วย

 

ด้านการบินนั้น นายกรัฐมนตรีได้กล่าวปาฐกถาในการประชุม Thailand-France Business Forum ที่ยืนยันว่า รัฐบาลต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน ทั้งในแง่ของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า โดยจะเร่งการสร้างสนามบินแห่งใหม่และปรับปรุงสนามบินเดิม พร้อมวางแผนการพัฒนาการซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งเป็นการอ้างถึงแผน Aviation Upgrade ที่นายกรัฐมนตรีแถลงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา 

 

โดยมีโครงการสำคัญ เช่น การขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออกและตะวันตก รวมถึงโครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือของสนามบินสุวรรณภูมิ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 และการสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ทั้งท่าอากาศยานล้านนาและอันดามัน

 

ไทยและฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ด้านการบินมาเป็นเวลายาวนาน โดยนักบินชุดแรกของไทยก็เรียนรู้การบินที่ฝรั่งเศส พร้อมซื้อเครื่องบินจากฝรั่งเศสเข้ามาบินเป็นครั้งแรกเมื่อกว่า 100 ปีก่อน มาจนถึงในปัจจุบัน การบินไทยซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติก็จัดหาเครื่องบินจากบริษัท Airbus ที่จริงแล้วเป็นบริษัทร่วมทุนของยุโรป แต่ก็มีรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นผู้ร่วมถือหุ้นและมีสายการผลิตอยู่ที่เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส รวมถึงในประเทศไทยนั้นแท้จริงแล้วมีบริษัทที่ลงทุนด้านการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานอยู่เป็นจำนวนมากและมีมูลค่าส่งออกหลายหมื่นล้านต่อปี 

 

แม้ว่าถ้าพูดถึงอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคอาเซียนเราจะนึกถึงสิงคโปร์ที่เป็นผู้นำ แต่จริงๆ แล้วเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานนั้นเป็นเทคโนโลยีที่ประเทศไทยมีพื้นฐาน เพราะไทยมีอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เข้มแข็ง ซึ่งแค่ปรับมาตรฐานและรับรองมาตรฐานด้านการบินก็สามารถผลิตชิ้นส่วนอากาศยานได้ 

 

ซึ่งในฐานะที่ประเทศไทยไม่มีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กับชาติมหาอำนาจ ก็เป็นข้อได้เปรียบที่ไทยสามารถที่จะผลิตชิ้นส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินของชาติต่างๆ ได้ ในทางกลับกัน ไทยสามารถเสนอตัวเป็นทางเลือกที่มีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ต่ำสำหรับผู้ผลิตอากาศยานในการกระจายความเสี่ยงของซัพพลายเชนของตนได้เช่นกัน

 

แต่สิ่งที่ไทยยังต้องดำเนินการให้มากขึ้นและเข้มแข็งขึ้นก็คือ อุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งแม้ไทยจะมีความได้เปรียบด้านพื้นที่ แต่ก็ยังขาดการสนับสนุนและการผลักดันให้เกิดธุรกิจนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องกฎระเบียบที่ไม่เอื้อให้การทำธุรกิจประสบความสำเร็จ ซึ่งการบินไทยและ Airbus เคยมีความพยายามจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศไทย แต่สุดท้ายโครงการก็ล้มเหลวไปก่อนที่การบินไทยจะเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ รวมถึงด้านการบริการที่แม้ตลาดของไทยจะมีศักยภาพ แต่ส่วนมากแล้วเป็นสายการบินต่างชาติที่ได้ประโยชน์ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยจะต้องพยายามให้มากกว่านี้

 

 

นอกจากด้านการบินแล้ว นายกรัฐมนตรียังได้ลงนามในความตกลงด้านกลาโหมและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งทางฝรั่งเศสมีข้อเสนอให้ไทยในหลายส่วน ทั้งเครื่องบิน รถถัง โดรน และความมั่นคงทางไซเบอร์ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญก้าวหนึ่งของความร่วมมือระหว่างสองประเทศ

 

ที่ผ่านมาความร่วมมือด้านการทหารและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศระหว่างไทยและฝรั่งเศสยังมีไม่มากนัก และมักจะเป็นไปในทางที่ไทยเป็นลูกค้าจัดหายุทโธปกรณ์จากฝรั่งเศสมากกว่า เช่น ปืนใหญ่อัตตาจร CAESAR ของกองทัพบกที่ผลิตโดย Nexter Systems หรือระบบเรดาร์และระบบอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัท Thales ที่ติดตั้งอยู่บนเรือรบและเครื่องบินรบของกองทัพเรือและกองทัพอากาศไทย 

 

แต่ในภาพใหญ่นั้น ฝรั่งเศสมีนโยบายที่ต้องการกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียน และให้ความสำคัญกับอาเซียนเป็นความเร่งด่วนสูงสุดภูมิภาคหนึ่งของฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Development Partner) กับอาเซียน และหนึ่งในเป้าหมายที่ต้องการกระชับความสัมพันธ์ก็คือด้านการป้องกันประเทศ

 

จริงๆ แล้วกระทรวงกลาโหมของไทยก็มีความพยายามในการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศอยู่หลายครั้งผ่านการออกนโยบายจำนวนมาก แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถผลักดันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เข้มแข็งได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะสุดท้ายถึงผลิตออกมาได้ก็ไม่มีข้อกำหนดให้กองทัพซื้อเข้าประจำการอยู่ดี

 

ดังนั้นการลงนามร่วมกันระหว่างไทยและฝรั่งเศสในครั้งนี้จึงถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าจะดียิ่งขึ้นก็ไม่ควรจะลงนามโดยมีเป้าหมายแค่ให้ฝรั่งเศสมาขายของให้กับกองทัพไทยเท่านั้น แต่ควรจะเป็นความร่วมมือในลักษณะที่ฝรั่งเศสมาลงทุนในประเทศไทย มาร่วมกับบริษัทของคนไทยในการผลิตหรือสนับสนุนยุทโธปกรณ์ที่ฝรั่งเศสจะขายให้กับกองทัพไทย ซึ่งในทางกลับกัน กองทัพไทยก็ต้องสนับสนุนยุทโธปกรณ์ของคนไทยหรือยุทโธปกรณ์ที่แม้เป็นของต่างชาติแต่มีฐานผลิตในประเทศไทยด้วย จึงจะเกิดประโยชน์และเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศอย่างแท้จริง

 

สิ่งที่จะสามารถร่วมมือได้ เช่น การให้บริษัทของไทยเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ พัฒนา และติดตั้ง ระบบการรบต่างๆ ที่อยู่บนเรือรบ ซึ่งบริษัทฝรั่งเศสมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ค่อนข้างมาก เช่น ระบบอำนวยการรบ ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่ควบคุมและสั่งการในการรบของเรือ ระบบเรดาร์ ระบบควบคุมการยิง รวมถึงระบบอาวุธต่างๆ ของเรือรบ ซึ่งประเทศไทยพอจะมีศักยภาพในการสนับสนุนได้ เช่นเดียวกับเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ที่ไทยสามารถที่จะพัฒนาตัวเอง เพื่อสนับสนุนและตอบสนองความต้องการด้านไซเบอร์ในประเทศได้เช่นกัน

 

ดังนั้นกล่าวโดยรวมก็คือ ถ้ามองในแง่อุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศนั้น การเดินทางเยือนฝรั่งเศสของนายกรัฐมนตรีก็ถือได้ว่ามีความคืบหน้าและมีผลงานที่น่าพอใจ แต่ถ้าจะเปลี่ยนข้อตกลงในกระดาษเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นจริง ประเทศไทยยังจำเป็นที่จะต้องทำงานอีกมากเพื่อให้ถึงจุดนั้น ซึ่งก็ต้องการการสนับสนุนที่จริงจังจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพไทย ที่ต้องแสดงความจริงใจในการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยด้วยการจัดหาเข้าประจำการ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นได้ สุดท้ายผลประโยชน์ก็จะตกอยู่ที่กองทัพไทยและประชาชนคนไทย รวมถึงระบบเศรษฐกิจของไทยนั่นเอง

 

ภาพ: Antoine Gyori – Corbis / Corbis via Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X