×

Animal Spirits หรือคิดด้วยเหตุผล

18.12.2023
  • LOADING...

เคยสงสัยไหมว่า ราคาหรือดัชนีตลาดหุ้นของแต่ละประเทศทำไมมีความแตกต่างกันมาก และการปรับตัวก็แตกต่างกัน อย่างตลาดหุ้นจีนนั้นราคาก็ถูกมากจนไม่น่าเชื่อ ค่า P/E ของตลาด ถ้าเข้าใจไม่ผิดก็อยู่ที่ประมาณ 10 เท่าบวกลบ แต่พอเราซื้อเข้าไปเพราะคิดแบบ ‘VI’ หรือคิดแบบวิเคราะห์พื้นฐานแล้วว่าคุ้มค่าแน่นอน ราคาและดัชนีหุ้นกลับลดลงไปอีกมาก

 

ส่วนหุ้นอเมริกานั้น ค่า P/E สูงกว่ามาก และราคาก็ขึ้นมาสูงจนเกือบ ‘All Time High’ ที่ไม่น่าจะถูกเลย ‘VI พันธุ์แท้’ ก็มักจะรับไม่ได้ แต่นักลงทุนซึ่งรวมถึง ‘VI รุ่นใหม่’ ซื้อ หุ้นก็วิ่งต่อไปอีกมาก

 

ที่นักลงทุนเจ็บตัวหนักก็คือดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ ‘ปรับตัวลดลงทุกวัน’ หุ้นดีๆ จำนวนมากตกลงมาต่ำกว่าอดีตมากมาย และเราก็ไม่เห็นว่าบริษัทจะแย่ลง พวกเขาก็ยังอยู่อย่างแข็งแกร่ง มีกำไรที่ดีและจ่ายปันผลงดงามเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยที่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็คงไม่สูงไปกว่า 1-4% อย่างที่เห็นในวันนี้ แต่พอเราซื้อไปหลังจากที่มันตกลงมามากและนานแล้ว ราคาหุ้นก็ไม่ไปไหนนอกจากตกลงต่อไปอีก

 

คำถามสำคัญก็คือ ตกลงราคาและดัชนีตลาดหุ้นในแต่ละแห่งนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ มันสะท้อนถึง ‘คุณค่าที่แท้จริง’ ของกิจการโดยเฉลี่ยไหม? อะไรหรือปัจจัยอะไรเป็นตัวกำหนดราคาและดัชนีตลาดหุ้น

 

มีทฤษฎีสองเรื่องที่พยายามจะอธิบายเรื่องของเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ซึ่งขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง และคนที่เป็น ‘บิดา’ ของทั้งสองทฤษฎีต่างก็ได้รับรางวัลโนเบลทั้งคู่

 

ทฤษฎีแรกนั้นเป็นของ Eugene Fama ‘ซือแป๋’ ด้านตลาดหุ้น ที่ได้สร้างทฤษฎีการลงทุนสมัยใหม่ที่เรียกว่า ‘Efficient Market Hypothesis’ หรือ ‘ตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ’ ที่บอกว่านักลงทุนทุกคนเป็นคนที่มีเหตุมีผล และมีข้อมูลสมบูรณ์ในการตัดสินใจลงทุน เขาจะเลือกลงทุนตามพื้นฐานของธุรกิจ และเมื่อคนทุกคนหรือคนส่วนใหญ่คิดและทำแบบนี้ หุ้นก็จะปรับตัวไปตามแรงซื้อและแรงขายของแต่ละคนที่อาจจะคิดไม่เหมือนกัน แต่ในที่สุดราคาก็ปรับตัวจนสมดุลและตรงกับพื้นฐานทางธุรกิจที่แท้จริง และเมื่อมีข้อมูลใหม่ ราคาหุ้นก็จะปรับตัวไปอีกทุกๆ วินาที โดยที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ อย่างไรก็ตาม ราคาที่เราเห็นในกระดานจะสะท้อนราคาที่เหมาะสมเสมอ

 

และไม่ว่าใครจะอ้างว่าตัวเองเก่งแค่ไหน หรือใช้เทคนิคอะไร เช่น VI หรือเทคนิคัล ก็ไม่สามารถซื้อหุ้นถูก ขายหุ้นแพง ทำกำไรสูงกว่าที่ควรเป็นได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน พูดง่ายๆ ในบางช่วงบางตอนอาจจะกำไรสูงกว่าปกติได้ แต่ในระยะยาวแล้ว ผลตอบแทนก็มักจะกลับมาสู่ปกติ เช่น ผลตอบแทนทบต้นในตลาดหุ้นอย่างอเมริกาในช่วง 30 ปี ก็คือไม่เกินปีละ 10% หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่มีใครเป็น ‘เซียน’ จริง มีแต่คนที่ ‘ฟลุก’ ในช่วงไม่กี่ปี และกลายเป็น ‘เซียน’ เช่น เคธี วูด จากกองทุน ARK Invest ที่ทำผลตอบแทนมหาศาลในช่วง 2-3 ปี แล้วก็ขาดทุนมหาศาลหลังจากนั้นที่ ‘โชคไม่ดี’ เป็นต้น

 

ทฤษฎีที่สองนั้น จริงๆ เสนอเป็นครั้งแรกโดย John Maynard Keynes ‘บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาค’ ซึ่งก็เป็นนักเล่นหุ้นตัวยง ‘ระดับเซียน’ ด้วย

 

Keynes บอกว่า คนตัดสินใจทางการเงินซึ่งรวมถึงการซื้อขายหลักทรัพย์หรือหุ้นในช่วงที่เกิดความเครียด วิกฤตทางเศรษฐกิจ หรือภายใต้ความไม่แน่นอนสูงด้วย ‘Animal Spirits’ หรือ ‘สัญชาตญาณของสัตว์’ นั่นก็คือการใช้อารมณ์ เช่น ความกลัว ความกล้า และพฤติกรรมอื่นๆ ซึ่งการทำแบบนั้นจะกระทบกับเรื่องความมั่นใจของการบริโภค ซึ่งก็จะกระทบไปยังเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด

 

ตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่น ถ้าคน ‘กลัว’ ว่าเศรษฐกิจจะแย่ ความมั่นใจของคนก็ลดลง และพวกเขาก็จะลดการใช้จ่ายลงตาม ‘Animal Spirits’ เศรษฐกิจก็จะแย่ลงไปอีก ดังนั้น รัฐบาลก็ควรทุ่มการใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็จะไปเปลี่ยนภาพหรืออารมณ์ของคนให้มีความมั่นใจ และเมื่อมั่นใจพวกเขาก็จะกลับมาใช้จ่ายมากขึ้น เศรษฐกิจก็จะเดินหน้า หลังจากที่ Keynes เสนอไอเดียนี้ในปี 1936 รัฐบาลต่างๆ ที่ประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลัง ‘มหาวิกฤตปี 1929 ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ’ ก็เริ่มเข้ามาแก้ปัญหาโดยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างมหาศาล และยังทำต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

 

เมื่อประมาณกว่า 10 ปีมาแล้ว Robert Shiller ได้เสนอแนวคิดใหม่ที่อิงมาจาก Keynes เรื่อง Animal Spirits และได้อธิบายเรื่องราคาหลักทรัพย์หรือหุ้นใหม่ว่า ราคาของหุ้นนั้นไม่ได้เป็นไปตามทฤษฎี Efficient Market ที่ว่านักลงทุนแต่ละคนตัดสินใจโดยอิสระและอิงจากการวิเคราะห์พื้นฐานเป็นหลัก หากแต่ตัดสินใจโดยใช้อารมณ์และอิงอยู่กับความคิดว่าคนอื่นคิดอย่างไร 

 

โดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับของ Keynes เรื่องการตัดสินในการประกวดนางงามที่อาศัยเสียงโหวตของคนที่เข้าร่วมการแข่งขัน และคนที่เลือกนางงามได้ถูกต้องก็จะได้รับรางวัล ซึ่งในกรณีแบบนี้ นางงามที่มีหน้าตารูปร่างสวยที่สุด ‘สำหรับเขา’ ก็จะไม่ถูกเลือก แต่เขาจะเลือกผู้เข้าประกวดที่เขาคิดว่า ‘คนส่วนใหญ่’ จะชอบและเลือกคนคนนั้นเป็นนางงามที่ ‘มงลง’ เพราะนั่นจะทำให้เขาชนะและได้รางวัลในการเลือกนางงามครั้งนี้

 

และนั่นก็คือ ‘จิตวิทยา’ ของการเลือกหุ้นลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน และนั่นก็คือสิ่งที่กำหนดราคาของหุ้นไฮเทคในช่วงปี 2000 และอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นฟองสบู่ในปี 2005 ก่อนที่จะเกิดวิกฤตซับไพรม์ในปี 2008 นั่นก็คือคนมักตัดสินการเลือกหุ้นลงทุนโดยใช้อารมณ์ซึ่งก็เป็นเรื่องของพฤติกรรมทางการเงิน หรือ Behavioral Finance ที่ในระยะหลังกลายเป็นหัวข้อการเรียนและการวิจัยที่โดดเด่นเหนือแนวคิดเรื่อง Efficient Market และมีส่วนทำให้ Robert Shiller ได้รับรางวัลโนเบลเช่นเดียวกับ Keynes และ Fama ในสาขาเศรษฐศาสตร์

 

ความคิดของผมเองนั้น ผมคิดว่าจิตวิทยามีส่วนอย่างมากต่อการลงทุนในตลาดหุ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่ปี ก็อย่างที่เราเห็นหุ้นบางกลุ่มโดยเฉพาะในหุ้นขนาดเล็กหรือกลางที่มีราคาปรับตัวขึ้นอย่าง ‘เวอร์สุดๆ’ และกลายเป็น ‘ขวัญใจ’ ของนักลงทุนทั่วไป รวมถึง VI ‘ระดับเซียน’ จำนวนมาก แม้ว่าในยามที่ตลาดหลักทรัพย์โดยรวมแทบจะไม่ไปไหนหรือลดลงด้วยซ้ำ ซึ่งผมคิดว่าการตัดสินใจของนักลงทุนแบบนั้นเป็นเรื่องของ Animal Spirits มากกว่าเรื่องของการวิเคราะห์และลงทุนด้วยเหตุผลแบบ VI

 

อย่างไรก็ตาม อย่างที่กล่าวไป เมื่อความกลัวเข้ามาแทนที่ Animal Spirits ก็แสดงออกมาในด้านตรงกันข้าม หุ้นที่เคยขึ้นไปมากจนเกินพื้นฐานไปมากก็ตกลงมาแทบจะกลายเป็นหายนะ ทั้งๆ ที่บริษัทเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่ได้มีพื้นฐานอะไรที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญอะไรเลย อาจจะมีบ้างที่กำไรลดน้อยถอยลง แต่นั่นก็เป็นเรื่องปกติสำหรับธุรกิจที่ไม่ได้แข็งแกร่งและเติบโตระยะยาวอยู่แล้ว ดังนั้น ผมจึงสรุปว่าคนที่เข้าไปเล่นหุ้นในกลุ่มที่มีอาการแบบนั้นใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล และทุกคนก็คิดและทำตามๆ กัน และอาจจะ ‘กลัวตกรถ’ เป็นต้น

 

ผมยังคิดว่าการอธิบายเรื่องราวต่างๆ ทั้งในตลาดหุ้นและเรื่องอื่นๆ สำหรับคนที่เข้าไปทำหรือเข้าไปร่วมซื้อขายโดยอาศัยการวิเคราะห์ ‘ยีน’ ของมนุษย์ น่าจะดีและสะดวกยิ่งกว่าการวิเคราะห์ด้านจิตวิทยาด้วย เหตุผลก็คือยีนนั้นอยู่เบื้องหลังอารมณ์และความคิดของเราในทุกสิ่ง การศึกษาและเข้าใจยีนจะทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมอย่างลึกซึ้งและนำไปใช้ได้ทันที

 

ยิ่งไปกว่านั้น การลงทุนในหลายๆ กรณีนั้น การปล่อยให้เราปฏิบัติตาม ‘ยีน’ โดยที่เราไม่ได้ตระหนัก มักจะเป็นข้อเสียหายของการลงทุน ตัวอย่างที่ชัดเจนก็เช่น เกิดเหตุการณ์ที่คนทั่วไปกลัวว่าจะเกิดวิกฤตและเรารีบขายหุ้นไป แต่มาพบภายหลังว่าเป็นการขายในราคาที่ต่ำเกินไปมาก เป็นต้น

 

ที่จริงเหตุผลหลักในการเรียนรู้เรื่องยีนและพฤติกรรมหรืออารมณ์ที่ตามมา ก็เพื่อที่เราจะได้ปฏิเสธหรือฝืนความต้องการของยีน และใช้การคิดตรึกตรองของสมองและความเป็นเหตุเป็นผลมาแทนที่ในการลงทุน นั่นจะช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้มากกว่า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising