×

‘An Armada for the Nation’ คิดใหม่ ทำใหม่ ยุทธศาสตร์การต่อเรือเพื่ออนาคต

02.05.2025
  • LOADING...

จากบทความ ทำไมไทยต้องต่อเรือฟริเกตในประเทศ?(https://thestandard.co/why-thailand-needs-frigates/) ทำให้เห็นว่าการมีเรือฟริเกตเป็นความจำเป็นด้านความมั่นคงทางทะเล ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม บทความยังมีการพูดถึงข้อเสนอ ปัญหาทางเทคนิค และนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้อง ส่วนบทความนี้จะทำการศึกษาต่อยอดจากมุมมองในบทความดังกล่าว ในแง่มุมใหม่ๆ เพื่อผู้ที่สนใจจะได้พิจารณาเพิ่มเติมอีก 4 เรื่อง ที่น่าจะส่งผลลัพธ์เชิงบวกต่อโครงการเรือฟริเกตที่ไม่ใช่สำหรับกองทัพเรือเท่านั้น แต่เป็นเรือฟริเกตสำหรับประเทศไทยด้วย

 

เรื่องแรก เป็นเรื่องการพิจารณาภารกิจของกองทัพเรือตามแนวคิดกองทัพเรือหลังสมัยใหม่ (Post Modern Navy) เรื่องที่สองเป็นเรื่องของจำนวนเรือ (Ask not for a Ship, But an Armada) เรื่องที่สามเป็นเรื่องความเหนือกว่าของเทคโนโลยีที่ต่ำกว่า (Low Technology Supremacy) เรื่องที่สี่เป็นเรื่อง Mothership Concept หรือฐานปฏิบัติการยานไร้คนขับทั้งทางอากาศ ผิวน้ำ และใต้น้ำ

 

 

1. แนวคิดกองทัพเรือหลังสมัยใหม่ (Post-Modern Navy) เป็นแนวคิดของ Geoffrey Till สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติของรัฐและภัยคุกคามปัจจุบันในยุคหลังสงครามเย็น ที่กองทัพเรือประเทศต่างๆ ต้องเผชิญ แนวคิด Post-Modern Navy นี้ เน้นไปที่ความร่วมมือ การพึ่งพิงระหว่างกัน (Interdependence) ให้ความสำคัญกับระบบระหว่างประเทศมากกว่าระบบรัฐ (เน้น System-Centered มากกว่า State-Centered) เน้นความเชื่อมโยงระหว่างทะเลกับกิจการบ้านเมืองบนฝั่ง การให้ความสำคัญกับภัยคุกคามนอกแบบ เช่น การก่อการร้ายข้ามชาติ อาชญากรรมทางทะเล และปัญหาสิ่งแวดล้อม มากกว่าการเตรียมสู้รบแบบเรือต่อเรือตามแนวคิดแบบ Mahan ดั้งเดิม 

 

นอกจากนี้ กองทัพเรือหลังสมัยใหม่มองทะเลเป็นพื้นที่สาธารณะของโลก ที่ต้องได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัยสำหรับทุกคน และทุกผู้มีส่วนได้เสีย ผ่านหลักการ freedom of navigation และระบบเศรษฐกิจเสรีแบบตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เส้นทางการค้าระหว่างประเทศทางทะเล ที่กลายเป็นเส้นเลือดหลักของระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน กองทัพเรือแบบหลังสมัยใหม่ก็มองว่าต้องเปลี่ยนแนวคิดจากการ ‘ควบคุมทะเล’ หรือ Sea Control มาเป็น การกำกับดูแลทะเล (Sea Supervision) หรือการปฏิบัติการเพื่อสร้างเสถียรภาพ (Stability Operations) มากกว่าการปฏิบัติการเพื่อความมั่นคงแบบเดิม (Traditional Security Operations)*

 

สำหรับประเทศไทยนั้น แนวคิด กองทัพเรือหลังสมัยใหม่ ควรถูกนำมาใช้วิเคราะห์และกำหนดยุทธศาสตร์ของการได้มาซึ่งเรือฟริเกต เนื่องจากบทบาทและขีดความสามารถของฟริเกตไม่ใช่แค่เพื่อรบตามแบบเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ในภารกิจที่หลากหลาย เช่น การช่วยเหลือภัยพิบัติ การค้นหาและกู้ภัย การรักษาความปลอดภัยชายฝั่ง และการสนับสนุนการทูตทางทะเล (naval diplomacy) อีกด้วย 

 

ดังนั้น เรือฟริเกตตามแนวคิด Post-Modern Navy จะต้องมีขีดความสามารถแบบอเนกประสงค์ หรือ multi-role and purpose เพื่อรองรับภารกิจของโลกยุคหลังสมัยใหม่ได้ครบวงจร หรือมากพอเท่าที่จะทำได้ มีเครื่องมือ เซ็นเซอร์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ระบบอาวุธ เช่น ปืนเรือ ตอร์ปิโด และอาวุธนำวิถีเป็นเรื่องที่ต้องมีอยู่แล้ว แต่อุปกรณ์สำหรับภารกิจอื่นๆ ที่สลับซับซ้อนขึ้นไปก็ควรได้รับการติดตั้งด้วย เช่น ห้องผ่าตัดและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความพร้อม ห้องศูนย์ยุทธการที่เชื่อมโยงการติดต่อโดยตรงกับรัฐบาลกลาง ขีดความสามารถของการเป็นฐานปล่อย unmanned capability ทั้งทางอากาศ ทางผิวน้ำ และใต้น้ำ (สัมพันธ์กับสิ่งที่จะกล่าวต่อไปในข้อ 4) หรือขีดความสามารถด้าน C4ISR ในฐานะที่เป็น node การสื่อสารโทรคมนาคมหลักของกองเรือ ก็ควรได้รับการพิจารณาด้วย นอกจากนี้ กองทัพเรือต้องไม่ลังเลที่จะสถาปนาเป็นเครื่องมือทางยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงทะเลกับกิจการบนบก หรือภารกิจใกล้ฝั่ง (littoral mission) มากกว่าเดิม เพราะ Goeffrey Till เชื่อว่าภารกิจของกองทัพเรือในทะเลเปิดมีน้อยลง แต่ภารกิจใกล้ฝั่งมีมากขึ้น ทหารเรือก็ต้องให้น้ำหนักความสนใจเรื่องใหม่นี้มากกว่าเดิม ทำให้กองทัพเรือมีบทบาทมากขึ้นในบริบทของความมั่นคงที่เปลี่ยนไป กล่าวง่ายๆ คือ maritime domain นั้นเป็นเพียงที่มาเท่านั้น บทบาทของกองทัพเรือต้องพินิจพิเคราะห์และตอบสนองระบบการปกครองของบ้านเมืองส่วนกลาง ตามหลักอำนาจพลเรือนเหนือกองทัพ (Civilian Control of the Military) และพร้อมที่จะรับภารกิจการปฏิบัติการโพ้นทะเล (Expeditionary Operations) ในฐานะเครื่องมือทางทหารและทางการทูตของรัฐบาลอีกด้วย

 

ในภาพรวม แนวคิด Post-Modern Navy ได้ขยายภารกิจ เพิ่มบทบาทใหม่ของกองทัพเรือไทยให้สอดคล้องกับพลวัตของภูมิภาคและโลก และเสริมความชอบธรรมของการมีเรือฟริเกตในประเทศเดิมในสถานะ ‘กองเรือรบ’ ไปสู่ ‘กองเรือเพื่ออนาคต’ ที่ไม่ใช่เพียงเพื่อกองทัพเรือ แต่เป็นภารกิจของประเทศไทยทั้งหมดด้วย*

 

 

2. เรื่องของจำนวนเรือ ผู้เขียนเสนอว่าการต่อเรือฟริเกต (ไม่ว่าทางเลือกจะเป็นการต่อในหรือต่างประเทศ) ไม่ควรจะต่อครั้งละหนึ่งลำ แต่ควรต่อเรือครั้งละหลายลำเป็นกองเรือ (Ask not for a Ship, But an Armada) เพราะการต่อเรือเป็นกองเรือละหลายลำนั้น จะทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกตั้งแต่เริ่มโครงการ เพราะราคาต่อหน่วยจะลดลงมากกว่าต่อทีละลำ อำนาจการเจรจาต่อรองมีน้ำหนักกว่า เนื่องจากมีความต่อเนื่องของโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และเกิดความประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ระหว่างการดำเนินโครงการ โดยจะเกิดการสร้างงานทักษะสูง การประกอบระบบย่อย โครงสร้าง เครื่องมือ อุปกรณ์และการใช้แรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทักษะและองค์ความรู้เกิดการสะสม (Accumulation of Knowledge and Skills) เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐขนานใหญ่ของประเทศ ภายในเรือแบบเดียวกันนั้น หลังการดำเนินโครงการก็จะก่อให้เกิดการดูแล การซ่อมบำรุงรักษาที่พึ่งพาตนเองได้ (Sustainable Maintenance, Repair, and Overhaul- MRO) ที่มีประสิทธิภาพกว่าเรือแบบ A, B, C, D ที่ไม่สามารถเข้ากันได้ และต้องพึ่งพาผู้ประกอบการหลายราย หลายประเทศ ดังนั้น Fleet Commonality ก็จะไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นด้วยความยากลำบาก 

 

กล่าวโดยภาพรวมนั้น การต่อเรือฟริเกตเป็นกองเรือ (ที่ควรจะเป็น 3-4 ลำขึ้นไป) เป็นทางเดียวที่จะทำให้กองทัพเรือบรรลุแนวทางการพัฒนาที่เน้น ‘การลดประเภทและแบบของยุทโธปกรณ์ (Focused Force) ด้วยการต่อเรือ/จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ชุดเดียวกัน เพื่อให้เกิดความง่ายในการบริหารจัดการ”** อันเป็นเนื้อหาตามที่ได้บรรจุไว้ในสมุดปกขาวกองทัพเรือ พ.ศ. 2566 และเป็นแนวทางเดียวกับประเทศอำนาจระดับกลาง (Middle Powers) อาทิ ออสเตรเลีย ที่ได้ระบุไว้หลังจากทำการทบทวนยุทธศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมาว่า ควรออกแบบโครงสร้างกำลังรบให้มีความเฉพาะทางและสามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น***

 

หากลองสังเกตประเทศที่เป็นประเทศอำนาจระดับกลางแบบเดียวกับไทยนั้น ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย และเวียดนาม จะพบว่าเรือฟริเกตเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ ที่ไม่ใช่ของกองทัพเรือเท่านั้น แต่เป็นสินค้ายุทธศาสตร์ของประเทศ ที่เน้นความต่อเนื่อง มีสเกลการสร้างที่ใช้งบประมาณมหาศาล และพบว่า ยิ่งต่อเรือจำนวนมากขึ้น เริ่มมีบางประเทศดำเนินการต่อเรือที่ประเทศผู้ซื้ออีกด้วย ดังข้อมูลด้านล่างต่อไปนี้ 

 

 

ในการวิเคราะห์ของผู้เขียน โครงการที่มีนัยสำคัญต่อการศึกษาเรียนรู้ คือโครงการต่อเรือฟริเกตของซาอุดีอาระเบียและอินโดนีเซีย เนื่องจากประเทศเหล่านี้อยู่ในระยะแรกของการพัฒนาขีดความสามารถด้านการต่อเรือฟริเกต และมีบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือในวงการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงสูง ทั้งยังริเริ่มการต่อเรือในประเทศผู้ซื้อบางส่วน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศผู้ซื้อด้วย อีกประการหนึ่ง ซาอุดีอาระเบียและอินโดนีเซียมี Offset Policy ที่ชัดเจนในกฎหมายสามารถคำนวณและประเมินค่าโครงการออฟเซตได้อย่างชัดเจนอีกด้วย 

 

3. เรื่องที่สามเป็นเรื่องความเหนือกว่าของเทคโนโลยีที่ต่ำกว่า (Low Technology Supremacy) เรื่องนี้เป็นการมองนอกกรอบออกมากบ้าง เป็นการพิจารณาภัยคุกคามรูปแบบปกติที่เรือฟริเกตอาจจะต้องเผชิญหน้าในภาวะสงครามปกติ (เช่น เรือรบฝ่ายตรงข้าม อากาศยานทิ้งระเบิด) แต่เรื่องนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า ในโลกยุคใหม่ ภัยคุกคามทางทะเลไม่ได้จำกัดอยู่ที่ข้าศึกที่มีเรือรบทันสมัย หรือระบบนำวิถีความแม่นยำสูง แต่เริ่มมาจากสิ่งที่ใช้เทคโนโลยีต่ำกว่า และง่ายกว่า และตรวจจับได้ยากกว่า เช่น เรือเร็วติดจรวด, เรือประมงติดอาวุธ ระบบยิงจรวดราคาถูก อากาศยานไร้คนขับหย่อนระเบิด เรือไร้คนขับติดระเบิด หรือแม้กระทั่งระบบปฏิบัติการกึ่งทหารที่ไม่มีอัตลักษณ์ทางรัฐ (non-state maritime actors) อีกด้วย อันเป็นข้าศึกที่หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยตรง (ตรงข้ามกับเรือฟริเกตที่ต้อง ‘แสดงตน’ ในเขตความขัดแย้ง) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จุด choke point ปากอ่าว หรือบริเวณที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ที่กล่าวนี้ไม่ได้หมายความว่าเรือฟริเกตสมัยใหม่ ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นต่ำตามไปด้วย แต่หมายความว่า ทั้งผู้ออกแบบ ผู้ใช้งาน ต้องเข้าใจกลยุทธ์ของข้าศึกที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีชั้นเดียวกันอย่างถ่องแท้ 

 

อาวุธเทคโนโลยีต่ำที่เป็นภัยคุกคามปัจจุบันจากสภาวะสงครามอสมมาตร ที่เดิมทีอยู่บนบก ในรูปแบบที่เราอาจจะเข้าใจมันในเรื่องของ การก่อความไม่สงบ (Counter Insurgency) หรือ ความขัดแย้งที่มีความเข้มข้นต่ำ (Low- Intensity Conflicts) ปัจจุบันภัยเหล่านี้ ลามมายังทางชายฝั่ง หรือทางทะเลด้วย อุปกรณ์เทคโนโลยีต่ำพวกนี้ มีจุดแข็งอยู่ที่ราคาต่อหน่วยของยุทโธปกรณ์ ที่ต้องถูกกดให้ต่ำที่สุด สายการผลิตต้องรักษาให้ยาวนานที่สุด ส่งกำลังบำรุงง่ายที่สุด คงคลังสำรองมากที่สุด ซ่อมบำรุงง่ายที่สุด และพร้อมที่จะเสียหายหรือสิ้นเปลืองมากที่สุด โดยเสียดายน้อยที่สุด โดยไม่ต้องมีเทคโนโลยีขั้นสูงที่สุด หรือไม่ต้องแข็งแกร่งทนทานจากการใช้งานมากที่สุด เพื่อให้แต่ละฝ่ายสามารถใช้งานอาวุธขั้นพื้นฐานเหล่านั้นได้อย่างยาวนาน และเมื่อฝ่ายใดหมดกำลัง หรือทรัพยากรก่อน หรือแลกไม่คุ้มที่จะเสีย ฝ่ายนั้นจะพ่ายแพ้ไปในที่สุด โดยเมื่อแลกกับเทคโนโลยีขั้นสูงหรือเป้าหมายที่มีมูลค่าสูง (High Valued Targets) แล้ว มีความคุ้มค่าที่จะดำเนินการด้วย ตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อไม่นานมานี้ ได้ปรากฏในสถานการณ์จริงอีกด้วย เช่น การโจมตีทางทะเลใส่กองทัพเรือสหรัฐและอังกฤษด้วยอากาศยานไร้คนขับ/เรือผิวน้ำโดยกลุ่มฮูตีในทะเลแดง***** หรือการที่เรือ ต.299 ถูกโจมตีด้วยระเบิด****** เป็นต้น 

 

4. เรื่องที่สี่ เรื่องนี้เป็นมุมสะท้อนกลับของเรื่องที่สามที่ยานไร้คนขับเป็นภัยคุกคาม เป็นเรื่องการพิจารณาขีดความสามารถยานไร้คนขับทั้งทางอากาศ ทางผิวน้ำ และใต้น้ำ (Unmanned Capability) หรือ Mothership Concept******* ของเรือฟริเกต ที่หมายถึงการพัฒนาขีดความสามารถให้เรือฟริเกตปฏิบัติการในฐานะ ‘ยานแม่’ หรือฐานปล่อยยานไร้คนขับที่หลากหลาย โดยเฉพาะน่านน้ำที่มีความวุ่นวายและมีความเสี่ยงหรือสถานการณ์วิกฤต แทนการส่งกำลังพลลงเรือเล็กหรือเรือยาง ตามแบบที่เคยดำเนินการมาในอดีต (ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า โดรนจะทำงานแทนชุดตรวจค้น แต่ควรจะมีการลาดตระเวนเป้าหมายด้วยโดรนก่อน เพื่อประเมินสถานการณ์ก่อนเข้าตรวจค้น เป็นต้น) เรื่องนี้เน้นที่ยานไร้คนขับ โดยเรือฟริเกตในสมัยปัจจุบัน ถ้าจะกล่าวว่าถูกออกแบบมาเพื่อการปฏิบัติการสามมิติแล้ว มีความจำเป็นต้องมีขีดความสามารถทางยานไร้คนขับทั้งสามมิติด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องสามารถเป็นฐานบัญชาการยานรบไร้คนขับที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles- UAVs) ได้เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระการปฏิบัติการของเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือทั้งภารกิจทางทหารและภารกิจทางมนุษยธรรม (อาทิ อากาศยานไร้คนขับ Schiebel S-100 Camcopter อากาศยานไร้คนขับ RQ-21 Blackjack และอากาศยานไร้คนขับ Orbiter-3B ที่กองทัพเรือมีใช้ในราชการ)******** หรือยานผิวน้ำไร้คนขับ (Unmanned Surface Vehicles- USV) ที่ทำงานได้ระยะไกล ช่วยภารกิจในการลาดตระเวน ตรวจหาและทำลายทุ่นระเบิดผิวน้ำ รวมทั้งการตรวจสภาพสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ (เช่น น้ำมันรั่วกลางทะเล) (หนึ่งตัวอย่างประเทศใกล้เคียงที่มีการใช้งานลักษณะนี้คือ สิงคโปร์ ที่มีการใช้ยานผิวน้ำไร้คนขับ MARSEC USV ที่วิจัยและพัฒนาขึ้นเองในประเทศมาปฏิบัติภารกิจการลาดตระเวนและตรวจการณ์ร่วมกับเรือรบของตน)********* และยานใต้น้ำไร้คนขับ ช่วยในภารกิจ

 

ตรวจหาและทำลายทุ่นระเบิดใต้น้ำ ตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานใต้น้ำ เช่น ท่อส่งก๊าซ สายเคเบิลในทะเล หรือเป็น Passive Acoustic Devices เพื่อตรวจจับเรือดำน้ำในพื้นที่ เช่น ช่องแคบ เป็นต้น อันเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับภารกิจ Post-Modern Navy ในเรื่องที่ 1 ทั้งสิ้น

 

กล่าวโดยสรุป หลังจากที่บทความก่อนหน้าได้วางรากฐานถึงความจำเป็นของเรือฟริเกตในฐานะอาวุธยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือและประเทศชาติ ไม่ว่าจะในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ หรืออุตสาหกรรม บทความนี้ได้ไปสำรวจมิติใหม่อีกสี่ประการ อาจจะดูแยกจากกัน แต่ถ้าศึกษาจริงๆ แล้วมีความยึดโยงกันอยู่ด้วย ประเด็นเหล่านี้ ยังไม่ค่อยถูกหยิบมาวางอยู่กลางโต๊ะสาธารณะ แต่จริงๆ แล้ว อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดว่า ทำไมการตัดสินใจของรัฐไทยในการต่อเรือฟริเกตครั้งถัดไปต้อง ‘เปลี่ยนแปลงวิธีคิด’ ไปจากเดิมอยู่พอสมควร

 

การเปลี่ยนแปลงนั้น เริ่มต้นจากการเข้าใจว่ากองทัพเรือในสมัยใหม่นั้น ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หากในอดีตกองทัพเรือถูกนิยามด้วยการรบเรือต่อเรือและการเผชิญหน้าในแนวหน้าของสมรภูมิ วันนี้ภารกิจเหล่านั้นยังอยู่ แต่กลับกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก ดังเช่น แนวคิด ‘กองทัพเรือหลังสมัยใหม่’ (Post-Modern Navy) ที่ Geoffrey Till ได้เสนอไว้ ถัดจากบทบาทและภารกิจที่เปลี่ยนไป คำถามที่ท้าทายยิ่งกว่าคือ “เราควรมีแค่ลำเดียวหรือ?” นี่คือประเด็นที่บทความนี้อยากขยาย เพราะการต่อเรือฟริเกตไม่ควรเป็นเพียงการตัดสินใจทางเทคนิค ทางวิศวกรรม เพียงเพื่อให้ได้เรือ 1 หรือ 2 ลำมาใช้งาน แต่คือการกำหนดยุทธศาสตร์ระดับชาติในลักษณะ long-term commitment ที่หากรัฐไทย ถ้ายังมองเรือฟริเกตเป็นยุทโธปกรณ์เฉพาะทางของกองทัพเรือ การต่อทีละลำคือเรื่องปกติ แต่ถ้ามองมันเป็นเครื่องมือทางยุทธศาสตร์ของชาติ ตอบสนองภารกิจของชาติ ที่เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม การศึกษา การจ้างงาน และความรู้ความสามารถในประเทศ การต่อเรือทีละกองเรือ จะเป็นการวางโครงสร้างเพื่อยกระดับระบบเทคโนโลยีและห่วงโซ่อุตสาหกรรมของไทยทั้งระบบ การสั่งต่อเรือจำนวนมากในแบบเดียวกัน ยังสะท้อนแนวคิด Focused Force ที่จะลดความซับซ้อนของระบบยุทโธปกรณ์ ลดต้นทุนตลอดอายุการใช้งาน และสร้างระบบซ่อมบำรุงในประเทศได้จริงๆ อีกด้วย

 

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ ภัยคุกคามที่รัฐไทยต้องรับมือไม่ได้มาในรูปแบบเรือบรรทุกเครื่องบิน หรือเรือพิฆาต แต่กลับมาในรูปแบบที่ “เล็กกว่า อันตรายกว่า และคาดเดายากกว่า” นั่นคือภัยจากเทคโนโลยีต่ำที่ใช้ต้นทุนต่ำแต่ผลกระทบสูง บทเรียนนี้ไม่ควรถูกมองข้าม การออกแบบฟริเกตจึงไม่อาจยึดติดกับแนวคิด ‘เหนือกว่าด้วยเทคโนโลยีเสมอ’ แต่ควรมองว่าความเหนือกว่าบางครั้งอยู่ที่ความยืดหยุ่นในสภาพแวดล้อมการสู้รบที่อสมมาตร ที่อาจจะเป็นรากฐานของชัยชนะในสงครามยุคใหม่

 

ท้ายที่สุด บทความนี้อยากจะเปิดพื้นที่ให้กับประเด็นทางเทคโนโลยีนอกเหนือไปจากการต่อเรือตัวฟริเกต อันเป็นหัวข้อที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดอย่างจริงจัง นั่นคือความสามารถของเรือฟริเกตที่จะทำหน้าที่เป็นฐานหรือยานควบคุม ยานไร้คนขับทั้งทางอากาศ ทางผิวน้ำ และใต้น้ำ หากเราพูดกันว่าฟริเกตยุคใหม่คือ ‘ระบบปฏิบัติการทางทะเล’ ที่ปฏิบัติการสามมิติบนพื้นน้ำ ใต้น้ำ และอากาศ เราต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีไร้คนขับกำลังกลายเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน ฟริเกตรุ่นต่อไปจึงควรถูกออกแบบโดยมี UAV, USV, และ UUV เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างแต่แรก มิใช่การนำมาติดตั้งภายหลัง การมีระบบ Open Architecture ที่รองรับการควบคุมระบบไร้คนขับได้อย่างหลากหลาย ทำให้เรือฟริเกตสามารถตอบสนองกับภารกิจทางทะเลที่ทันสมัย และรองรับภัยคุกคามปัจจุบันได้มากขึ้น

 

ภาพ: DVIDS

อ้างอิง:

  • *Bodin Suntud, “Analyzing Geoffrey Till’s Post Modern Navy Enabler of Defence Industry: An Assessment of Leading Naval Industries in ASEAN”, Def. Technol. Acad. J., vol. 4, no. 9, pp. 28–45, Aug. 2022.
  • **สมุดปกขาว กองทัพเรือ พ.ศ. 2566, หน้า 17
  • ***Department of Defence, National Defence: Defence Strategic Review 2023 (Canberra: Commonwealth of Australia, 2023).
  • ****บดินทร์ สันทัด, โครงการนโยบายออฟเซตเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), 2562. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:167303
  • ***** P. Stewart, “U.S., UK forces shoot down Houthi missile, drone attack in Red Sea – U.S. military,” Reuters, Jan. 10, 2024. [Online]. Available: https://www.reuters.com/world/us-uk-forces-shoot-down-houthi-missile-drone-attack-red-sea-us-military-2024-01-10/
  • ****** [1] MGR Online, “ซ่อมเสร็จแล้วเรือตรวจการณ์ ‘ต.229’ หลังถูกโจรใต้ระเบิดเสียหาย,” MGR Online, 9 มิ.ย. 2557. [Online]. Available: https://mgronline.com/south/detail/9570000064605
  • ******* J. Katz, “Navy eyeing Littoral Combat Ships as ‘mothership’ for unmanned platforms, SecNav tells lawmakers,” Breaking Defense, Feb. 15, 2023. [Online]. Available: https://breakingdefense.com/2023/02/navy-eyeing-littoral-combat-ships-as-mothership-for-unmanned-platforms-secnav-tells-lawmakers/
  • ********กองทัพเรือไทย, ทัพเรือภาคที่ 1 ส่ง UAS Schiebel S-100 Camcopter ขึ้นบินตรวจการณ์เพลิงไหม้ มาบตาพุด แทงค์เทอร์มินัล จ.ระยอง,” Facebook, 1 พฤษภาคม 2025. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.facebook.com/search/top?q=camcopter%20
  • *********F. Bahtić, “Singapore Navy deploys MARSEC USVs to enhance maritime security,” Naval Today, Feb. 6, 2025. [Online]. Available: https://www.navaltoday.com/2025/02/06/singapore-navy-deploys-marsec-usvs-to-enhance-maritime-security
FYI
  • คำว่า Armada มีรากฐานมาจากภาษาสเปน แปลว่า กองเรือ กองเรือรบ หรือกองเรือขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างเป็นระบบ เป็นทางการ เน้นการปฏิบัติการทางทหารเป็นหลัก ใกล้เคียงกับภาษาอังกฤษว่า Fleet 
  • ในบทที่ 5 เรื่อง Navies and Technology ของหนังสือ Sea Power ได้กล่าวถึงแนวคิด Distributed Lethality (DL) หรือการกระจายศักยภาพการทำลายล้าง/ อำนาจกำลังยิง ไว้ด้วย เป็นแนวคิดที่มองว่า เรือรบขนาดเล็กกว่าหรือจำนวนมากกว่าที่ไม่ใช่แค่เรือหลัก เช่น เรือฟริเกต (frigates) หรือเรือคอร์เวต (corvettes) ให้สามารถปฏิบัติการรบอย่างมีอิสระ โดยไม่ต้องอิงกับกองเรือหลักที่รวมศูนย์อยู่ที่เรือบรรทุกเครื่องบิน หรือเรือพิฆาต (destroyer) ขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ลำ ทำให้เกิดการคาดเดาการปฏิบัติฝ่ายเราได้ยากขึ้น ลดการสูญเสียมูลค่าสูง เพิ่มอำนาจกำลังยิงให้กับเรือขนาดเล็กให้ ‘หมัดหนัก’ ขึ้น หรือที่เรียกว่า Making every ship a shooter รวมทั้งตอบสนองสงครามอสมมาตรและขยายพื้นที่การแสดงตัว (Naval Presence) ได้มากขึ้นด้วย กล่าวคือ เน้นเรื่องอำนาจกำลังยิงและเทคโนโลยีอาวุธให้กระจายใน Platform เล็กลง ที่ Geoffrey Till เรียกว่า Swarming Attack มากกว่าการสร้าง Platform เพิ่มนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น่านน้ำที่มีความขัดแย้ง คับคั่งและแออัด (Contested and Congested Littoral)
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising