×

All We Imagine as Light (2024) หลากหลายชีวิตที่แสงสว่างสาดส่องไม่ถึง

27.12.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 MIN READ
  • ในขณะที่ผู้ชมทั่วโลกรู้จักภาพยนตร์บอลลีวูดของอินเดีย และอาจจะเหมารวมว่านั่นคือภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดความเป็นอินเดียในแบบที่พวกเรารู้จักและคุ้นเคย ซึ่งก็ไม่ผิด ทว่าภาพยนตร์อย่าง All We Imagine as Light ของ Payal Kapadia ซึ่งไม่ใช่ภาพยนตร์ในสารบบของบอลลีวูดด้วยประการทั้งปวง ทั้งภาษาหลักที่ใช้ในเรื่องอันได้แก่ภาษามลยาฬัม ไม่ใช่ฮินดี ไวยากรณ์ทางด้านภาพยนตร์ที่ไม่ได้ฉูดฉาดบาดตา ขนบในการเล่าเรื่องที่ไม่ได้ประโลมโลก หรือสอดแทรกเอาไว้ด้วยฉากร้องเพลงเต้นรำในแบบอลังการงานสร้าง ก็ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ย่อหย่อนหรือบกพร่องในการสะท้อนความเป็นอินเดียแต่อย่างใด ตรงกันข้าม นี่คือความเป็นอินเดียในแบบที่คนนอกอย่างเราๆ ท่านๆ ไม่ค่อยได้ประสบพบเห็น และเป็นเรื่องน่าตื่นตาและเย้ายวนชวนมองในแบบฉบับของมัน
  • หนึ่งในความแยบยลของการเล่าเรื่อง ได้แก่ การสอดแทรกกลวิธีแบบภาพยนตร์สารคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากเริ่มต้นที่เป็นภาพเคลื่อนไหวแนวระนาบ ซึ่งเผยให้เห็นชีวิตน้อยใหญ่ที่ดิ้นรนกระเสือกกระสนอยู่ข้างถนนหนทาง ระหว่างนั้นเราได้ยินเสียงให้สัมภาษณ์ของใครหลายๆ คนที่ชวนให้อนุมานได้ว่ามันน่าจะทดแทนความรู้สึกนึกคิดของคนพลัดถิ่นนับล้าน ณ ดินแดนแห่งนี้ หนึ่งในนั้นบอกว่า เขาอยู่มุมไบมา 23 ปี แต่ก็ยังคงไม่กล้าเรียกที่นี่ว่าบ้าน เนื่องเพราะเขาไม่รู้ว่าจะต้องระเห็จไปจากเมืองนี้วันหนึ่งวันใดหรือไม่

 

สมมติเล่นๆ ว่าถ้าหากจะมีใครจัดประกวดการตั้งชื่อภาพยนตร์ (ภาษาอังกฤษ) ยอดเยี่ยมประจำปี All We Imagine as Light ของ Payal Kapadia ผู้กำกับหญิงชาวอินเดีย ก็สมควรถูกเสนอชื่อเข้าชิงหรืออาจถึงขั้นชนะรางวัล เพราะมันเป็นชื่อที่ตั้งได้เรียบง่าย แต่กลับเพราะพริ้งราวบทกวี อีกทั้งถ้าหากพินิจพิเคราะห์เชื่อมโยงกับสิ่งที่ภาพยนตร์บอกเล่า มันก็เป็นชื่อที่แฝงความนัยที่ชักชวนให้คนดูเสาะหาความหมายและตีความ 

 

หรือจะว่าไปแล้ว ชื่อภาพยนตร์ที่ถอดความหมายคร่าวๆ ได้ทำนองว่า ‘ความสว่างไสวที่พวกเรานึกฝัน’ (ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับชื่อในภาษามลยาฬัมของหนังเรื่องนี้) ก็ฟังดูเหมือนถ้อยคำรำพึงรำพัน หรือบางทีมันอาจจะเป็นประโยคที่ไม่สมบูรณ์และเชื้อเชิญให้คนดูนึกสงสัยว่าสถานการณ์แบบไหนที่ดลบันดาลให้ตัวละครเอ่ยประโยคที่ฟังดูเหมือนอยู่ในห้วงแห่งภวังค์ทำนองนี้ออกมา

 

 

แต่ชื่อหนังที่ตั้งได้โรแมนติก อ้างว้าง เดียวดาย และชวนฝัน ซึ่งตัว Payal Kapadia บอกว่าเธอหยิบยืมมาจากชื่อภาพเขียนของแม่เธอเอง ก็เป็นแง่งามหรือความหมดจดหยดย้อยเพียงส่วนเดียวของภาพยนตร์สัญชาติอินเดียเรื่องนี้ และในความเป็นภาพยนตร์ที่นำพาคนดูไปสอดส่องชีวิตของผู้หญิง 3 คนใน 3 ช่วงวัยที่ว่ายเวียนอยู่ในนครมุมไบ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่ผู้คนอาศัยอยู่กันอย่างแออัดยัดทะนานที่สุดในโลก กระทั่งตัวละครคนหนึ่งเอ่ยทำนองว่า การมีอยู่หรือหายไปของใครสักคนก็แทบไม่มีความหมายแต่อย่างใด ภาพยนตร์ของ Payal Kapadia กลับถ่ายทอดให้คนดูได้สัมผัสถึงความอ่อนหวาน อ่อนโยน และความเป็นมนุษย์ของคนตัวเล็กๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตและเลือดเนื้อ ความสุขและ (ส่วนใหญ่เป็นเรื่อง) ความทุกข์ ได้อย่างซาบซึ้งชวนให้ตื้นตัน และไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ใครๆ ที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้จะพากันแซ่ซ้องสรรเสริญอย่างพร้อมเพรียง

 

ประธานาธิบดี Barack Obama ผู้ซึ่งเป็นนักเสพศิลปะตัวยง ถึงกับเลือกให้เป็น 1 ใน 10 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2024 อีกทั้งภาพยนตร์ยังเข้าชิงและเก็บกวาดรางวัลจากหลากหลายสถาบัน ประเดิมด้วยรางวัลใหญ่ อันได้แก่ Grand Prix จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (ซึ่งเป็นการชนะรางวัลครั้งแรกในรอบ 30 ปีของคนทำภาพยนตร์อินเดีย), การเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ และนั่นทำให้โอกาสที่ภาพยนตร์จะมีชื่อติดอยู่ในสาขาต่างๆ ของการประกวดรางวัลออสการ์ก็ไม่ใช่เรื่องเกินเอื้อม

 

 

ไม่ว่าจะอย่างไร เรื่องตลกที่หัวเราะไม่ออกซึ่งเกี่ยวเนื่องกับรางวัลออสการ์ ได้แก่ การที่ภาพยนตร์ไม่ได้ถูกคัดเลือกในฐานะตัวแทนประเทศไปชิงรางวัลในสาขาภาพยนตร์นานาชาติ และเรื่องที่ถูกส่ง ได้แก่ Laapataa Ladies ซึ่งสุดท้ายแล้วภาพยนตร์ก็ไม่ผ่านการตัดตัวรอบแรก ว่ากันตามจริงการเลือกภาพยนตร์เรื่องไหนก็ถือเป็นเอกสิทธิ์ของกรรมการ และผลแพ้ชนะเป็นเรื่องพิสูจน์ทราบไม่ได้แน่ชัดเหมือนการวิ่งแข่งร้อยเมตร แต่ส่วนที่จุดประเด็นความขัดแย้ง ได้แก่ การออกมาให้เหตุผลที่ค่อนข้างคร่ำครึของกรรมการสมาพันธ์ภาพยนตร์อินเดียทำนองว่า All We Imagine as Light ดูเป็นภาพยนตร์ยุโรปมากกว่าภาพยนตร์อินเดีย นอกจากเทคนิคของภาพยนตร์จะแย่มากแล้ว ตัวภาพยนตร์ก็ยังไม่ได้สะท้อนความเป็นอินเดีย (Indianness) อย่างแท้จริง

 

น่าสงสัยว่าคำว่า ‘ความเป็นอินเดีย’ ในที่นี้หมายถึงอะไร เพราะในโลกที่การสื่อสารไม่มีพรมแดนอีกแล้ว ตลอดจนการผสมผสานและการลื่นไหลทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศเกิดขึ้นตลอดเวลา ความเป็นอินเดีย (หรือความเป็นชาติไหนๆ) ในภาพยนตร์เรื่องหนึ่งๆ ไม่สมควรถูกแช่แข็งด้วยนิยามตายตัวเพียงหนึ่งเดียว ตราบเท่าที่ภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ยังคงถ่ายทอดให้คนดูได้รับรู้ถึงชีวิต ความนึกคิด ค่านิยม และวิถีปฏิบัติของผู้คนในสังคมหรือชุมชนนั้นๆ หรืออีกนัยหนึ่งตัวละครห่มส่าหรีนั่งรถไฟลอยฟ้าที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน ก็ไม่ควรถูกมองว่ามันสะท้อนความเป็นอินเดียน้อยไปกว่าทัชมาฮาล

 

 

และในขณะที่ผู้ชมทั่วโลกรู้จักภาพยนตร์บอลลีวูดของอินเดีย และอาจเหมารวมว่านั่นคือภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดความเป็นอินเดียในแบบที่พวกเรารู้จักและคุ้นเคยซึ่งก็ไม่ผิด ทว่าภาพยนตร์อย่าง All We Imagine as Light ของ Payal Kapadia ซึ่งไม่ใช่ภาพยนตร์ในสารบบของบอลลีวูดด้วยประการทั้งปวง ทั้งภาษาหลักที่ใช้ในเรื่องอันได้แก่ภาษามลยาฬัม ไม่ใช่ฮินดี ไวยากรณ์ทางด้านภาพยนตร์ที่ไม่ได้ฉูดฉาดบาดตา ขนบในการเล่าเรื่องที่ไม่ได้ประโลมโลก หรือสอดแทรกเอาไว้ด้วยฉากร้องเพลงเต้นรำในแบบอลังการงานสร้าง ก็ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ย่อหย่อนหรือบกพร่องในการสะท้อนความเป็นอินเดียแต่อย่างใด ตรงกันข้าม นี่คือความเป็นอินเดียในแบบที่คนนอกอย่างเราๆ ท่านๆ ไม่ค่อยได้ประสบพบเห็น และเป็นเรื่องน่าตื่นตาและเย้ายวนชวนมองในแบบฉบับของมัน

 

หนึ่งในความแยบยลของการเล่าเรื่อง ได้แก่ การสอดแทรกกลวิธีแบบภาพยนตร์สารคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากเริ่มต้นที่เป็นภาพเคลื่อนไหวแนวระนาบ ซึ่งเผยให้เห็นชีวิตน้อยใหญ่ที่ดิ้นรนกระเสือกกระสนอยู่ข้างถนนหนทาง ระหว่างนั้นเราได้ยินเสียงให้สัมภาษณ์ของใครหลายๆ คนที่ชวนให้อนุมานได้ว่ามันน่าจะทดแทนความรู้สึกนึกคิดของคนพลัดถิ่นนับล้าน ณ ดินแดนแห่งนี้ หนึ่งในนั้นบอกว่า เขาอยู่มุมไบมา 23 ปี แต่ก็ยังคงไม่กล้าเรียกที่นี่ว่าบ้าน เนื่องเพราะเขาไม่รู้ว่าจะต้องระเห็จไปจากเมืองนี้วันหนึ่งวันใดหรือไม่

 

โดยปริยาย สถานการณ์ชีวิตของตัวละครผู้หญิงทั้ง 3 คนก็ตกอยู่ในความไม่แน่ไม่นอนแบบเดียวกัน คนหนึ่ง ได้แก่ แม่ครัวสูงวัยที่ชื่อ Parvaty (Chhaya Kadam) ผู้ซึ่งล่าสุดถูกยื่นโนติสให้ย้ายออกจากแฟลตซอมซ่อ เนื่องจากมันกำลังถูกรื้อเพื่อสร้างคอนโดหรู ทั้งๆ ที่เธอก็เหมือนกับเสียงที่ให้สัมภาษณ์ เธอพักอาศัย ณ สิ่งปลูกสร้างนี้มาตั้งแต่ที่สามียังอยู่ จนกระทั่งสามีตาย ความโชคร้ายของการไม่มีเอกสารเรียกค่าชดเชย นำพาให้อนาคตของเธอ ณ มหานครแห่งนี้ริบหรี่เต็มทน เพราะมูลค่าของที่ดินละแวกที่ทำงานกลายเป็นทองคำไปหมดแล้ว

 

 

และอีกหนึ่ง ได้แก่ Anu (Divya Prabha) พยาบาลสาวที่กำลังถูกพ่อแม่จับคลุมถุงชนและส่งอินบ็อกซ์ภาพของหนุ่มฮินดูมาให้คัดเลือกมากหน้าหลายตา ทั้งๆ ที่เจ้าตัวรักใคร่ชอบพอกับหนุ่มมุสลิมหน้ามนที่ชื่อ Shiaz (Hridhu Haroon) อยู่แล้ว แต่ก็อย่างที่คนดูรับรู้ได้และคนทำภาพยนตร์ไม่ต้องพูดโต้งๆ นี่เป็นความสัมพันธ์ต้องห้าม กระทั่งเพื่อนพยาบาลด้วยกันก็ยังแอบซุบซิบนินทา ช็อตที่ฉลาดมากๆ ช่วงต้นเรื่องและบอกถึงความสัมพันธ์ในแบบลักลอบของทั้งคู่ได้อย่างแยบยลก็คือตอนที่เราได้เห็นภาพระยะไกลของ Anu กำลังยืนรอไฟแดงที่สี่แยกและผู้คนพลุกพล่าน ก่อนที่ Shiaz ซึ่งตามหลังมาติดๆ จะเดินมาจับมือคนรักของเขาข้ามถนน และโดยที่ทั้งสองคนไม่ต้องหันมามองหน้ากัน รูปการณ์เหมือนกับสายลับสองคนกำลังแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และว่าไปแล้วความเป็นเมืองใหญ่ที่ไม่มีใครสนใจใครก็ช่วยอำพรางสิ่งที่คนทั้งสองคนต้องปกปิดซ่อนเร้นได้เป็นอย่างดี

 

 

ตัวละครที่น่าเห็นอกเห็นใจกว่าเพื่อนก็คือ Prabha (Kani Kusruti) พยาบาลรุ่นพี่และเป็นรูมเมตของ Anu ผู้ซึ่งชีวิตของเธอดูเหี่ยวแห้งอับเฉา และที่แน่ๆ แสงสว่างส่องไม่ถึง (น่าสังเกตว่าชื่อ ‘ประภา’ ในภาษาสันสกฤตก็แปลว่าแสงสว่างเช่นกัน) เพื่อนๆ พยาบาลเพียรพยายามชวนเธอไปดูภาพยนตร์ แต่มันดูเหมือนชีวิตของเธอดำดิ่งอยู่ในความหม่นเศร้าเกินกว่าจะแสวงหาความสนุกสนานชั่วครู่ยาม แต่ก่อนที่ภาพยนตร์จะพาคนดูไปรับรู้เบื้องหน้าและเบื้องหลังของตัวละคร สิ่งที่เราสรุปได้เกี่ยวกับ Prabha ก็คือความเป็นคนจิตใจดีงาม ทั้งการเป็นธุระหาที่ปรึกษาทางกฎหมายให้กับ Parvaty ผู้ซึ่งอย่างที่เอ่ยข้างต้น อยู่ในภาวะมืดแปดด้าน หรือการออกค่าเช่าล่วงหน้าให้กับ Anu ผู้ซึ่งเงินเดือนของเธอชักหน้าไม่ถึงหลังเป็นประจำ

 

แล้วจู่ๆ วันหนึ่ง Prabha ก็ได้รับพัสดุขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อแกะกล่องออกมาก็พบว่าข้างในคือหม้อหุงข้าวที่ผลิตในประเทศเยอรมนี และไม่มีข้อความอื่นใดมากกว่านั้น แต่สำหรับ Prabha นั่นก็เป็นข้อมูลที่ชัดแจ้งเพียงพอที่เธอจะสรุปได้ว่าใครเป็นคนส่งมา และไม่นานหลังจากนั้นเรื่องแต่หนหลังของตัวละครก็พรั่งพรู ซึ่งลึกๆ แล้วชวนให้อนุมานได้ว่าเรื่องของ Prabha ก็อาจหมายถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น Anu นั่นเอง หรือสรุปสั้นๆ Prabha ถูกพ่อแม่จับแต่งงานกับคนที่เธอไม่รู้จัก และเขาก็จากไปใช้แรงงานที่เยอรมนีและแทบจะไม่ได้มีการติดต่อกันเลย จนกระทั่งเธอได้รับหม้อหุงข้าวใบนี้ 

 

 

หนึ่งในช็อตที่ประหลาดแต่ก็น่าจดจำของภาพยนตร์ ได้แก่ เหตุการณ์ในยามวิกาลที่ Prabha นำหม้อหุงข้าวที่เธอซุกไว้ตรงไหนสักแห่งในห้องพักมากกกอดไว้ด้วยความรู้สึกดื่มด่ำและโหยหา บางทีหม้อหุงข้าวอาจจะทำให้เธอนึกถึงสามีที่แทบไม่รู้จักมักคุ้นและอยู่แดนไกล หรือบางทีเธออาจกำลังนึกถึงหมอ Manoj (Azees Nedumangad) ผู้ซึ่งคนดูได้เห็นว่าเขาชอบพอในตัวเธอ ทว่าข้อขัดข้องหลายประการทำให้ความสัมพันธ์ที่แทบจะยังไม่เริ่มต้น-ไปไหนต่อไม่ได้ แถมเขาก็ยังเป็นอีกคนที่กำลังจะไปจากเมืองนี้ หรือบางทีเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นผลพวงจากความรู้สึกเดียวดายและเคว้งคว้าง และเจ้าตัวอยู่ในภาวะที่ต้องหาอะไรสักอย่างยึดเหนี่ยวเอาไว้

 

แต่ก็นั่นแหละ เนื้อหาในส่วนที่แปลกประหลาดจริงๆ น่าจะอยู่ในช่วงท้ายเรื่องที่ Prabha จับพลัดจับผลูช่วยชีวิตใครคนหนึ่งที่จมน้ำทะเล และบทสนทนาระหว่างเธอกับชายแปลกหน้าคนนั้นก็ค่อยๆ พัฒนาไปสู่การสำรวจก้นบึ้งความรู้สึกของตัวเธอเอง หรือจะว่าไปแล้วการเลือกนำเสนอฉากดังกล่าวด้วยฉันทลักษณ์แบบเหนือจริงก็ไม่เพียงปลดล็อกเรื่องตรรกะและเหตุผล ตลอดจนความน่างุนงงสงสัยของเหตุการณ์ หากยังเป็นแท็กติกที่เฉียบแหลมและนำพาคนดูไปสู่แก่นสารที่ผู้กำกับต้องการสื่อสารได้อย่างคมคาย

 

 

หรือพูดรวมๆ แล้ว วิธีการเล่าเรื่องในลักษณะของการถักทอส่วนเสี้ยวต่างๆ ของชีวิตตัวละครเข้าไว้ด้วยกัน และโดยที่ภาพยนตร์ไม่ได้มีเส้นเรื่องหลักเพียงหนึ่งเดียว บวกกับงานกำกับภาพที่ถ่ายทอดบรรยากาศกึ่งจริงกึ่งฝัน ก็ช่วยตบแต่งให้ภาพยนตร์มีสัมผัสที่สุดแสนพิเศษจริงๆ อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ก็คือดนตรีประกอบแนว Experimental ฝีมือการประพันธ์ของ Topshe ที่คงจะไม่เกินเรื่องเลยหากจะบอกว่าสรรพสำเนียงที่เปี่ยมด้วยเสน่ห์และมนตร์ขลังช่วยจุดประกายให้ภาพยนตร์ของ Payal Kapadia ซึ่งเหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในยามค่ำคืน กลับส่องแสงในห้วงจินตนาการของคนดู หรือแม้กระทั่งช่วยส่งพวกเราและตัวละครออกไปจากเรื่องทั้งหมดด้วยความหวังเรืองรอง

 

กล่าวโดยสรุปอย่างสั้นๆ ง่ายๆ All We Imagine as Light เป็นภาพยนตร์ที่ละเมียดละไมและเฉลิมฉลองการมีชีวิตในแบบที่เป็นตัวของตัวเอง และในความเป็นภาพยนตร์ที่ถือสัญชาติอินเดีย เส้นแบ่งในเชิงพรมแดนหรือวัฒนธรรมกลับไม่มีอยู่จริง

 

 

All We Imagine as Light (2024)

กำกับโดย Payal Kapadia

นำแสดงโดย Kani Kusruti, Divya Prabha, Chhaya Kadam และ Azees Nedumangad

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising